Tesla ลงทุนอินโดนีเซีย

ทำไม “Tesla” ถึงสนใจลงทุนในอินโดนีเซีย ?

2 min read  

ฉบับย่อ

  • Tesla ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารายใหญ่จากสหรัฐได้ส่งทีมไปเยือนอินโดนีเซียเพื่อหาลู่ทางลงทุนในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • อินโดนีเซียเป็นแหล่งแร่นิกเกิล ซึ่งใช้สำหรับการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่ใหญ่ที่สุดในโลก 
  • รัฐบาลอินโดนีเซีย ภายใต้การนำของ “โจโกวี” ได้ผลักดันให้อินโดนีเซียสามารถดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนด้วยการลดความยากในการทำธุรกิจ 
  • นอกเหนือจาก Tesla แล้ว ผู้ผลิตจากจีนและเกาหลีใต้ก็สนใจลงทุนในอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน ขณะที่สตาร์ทอัพก็สามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของโลกอย่าง Google Amazon และ Facebook ได้สำเร็จ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย หรือที่มีชื่อเล่นว่า “โจโกวี” ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับทางสำนักข่าวรอยเตอร์สว่า ทางการอินโดนีเซียกำลังส่งคนไปเพื่อพูดคุยกับผู้บริหารของ Tesla ผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ของสหรัฐ และไม่ถึงเดือนถัดมา Tesla ได้ประกาศเตรียมส่งคนมาเยือนอินโดนีเซียเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการลงทุน 

การส่งคนมาเยือนอินโดนีเซียในครั้งนี้ สร้างกระแสไปทั่วโลกว่าผู้ผลิตรถยนต์ EV รายใหญ่ของโลก ภายใต้การนำของผู้ประกอบการชื่อดังอย่าง Elon Musk กำลังสนใจลงทุนในอินโดนีเซียอยู่

วันนี้พี่ทุยจะพาทุกคนไปไขข้อข้องใจว่า เพราะเหตุใด Tesla ถึงสนใจลงทุนในอินโดนีเซีย 

“อินโดนีเซีย” แหล่งแร่นิกเกิลของโลก

อินโดนีเซียเป็นเหมืองแร่นิกเกิลที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยผลิตมากถึง 8 แสนตันเมื่อปี 2019 เพิ่มขึ้นจาก 6 แสนตันในปี 2018 มากกว่าผู้ผลิตอันดับสองอย่างฟิลิปปินส์ถึงเกือบเท่าตัว และยังได้ชื่อว่ามีปริมาณแร่สำรองมากที่สุดในโลกถึง 21 ล้านตัน จากการคำนวณของหน่วยงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ 

แร่นิกเกิลเป็นหนึ่งในแร่ที่สำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า โดยก่อนหน้านี้ในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งสำคัญของเทสล่า เมื่อเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ได้ประกาศชัดในการลดการใช่แร่โคบอลต์ และเพิ่มการใช้แร่นิกเกิลแทน เนื่องจากมีราคาถูกกว่า

Tesla ประสบปัญหาในการขยายกำลังการผลิตมาโดยตลอด ด้วยต้นทุนต่อหน่วยในการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สูง ซึ่งเทสล่าคำนวณว่า หากเปลี่ยนมาใช้นิกเกิลจะช่วยให้ Tesla ประหยัดต้นทุนสำหรับการผลิตแบตเตอรีได้มากถึง 15%

เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของ “อินโดนีเซีย” 

โจโกวีได้เน้นย้ำมาตลอดนับตั้งแต่ชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 2014 ได้เป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ไม่ได้มีพื้นเพมาจากกองทัพว่า ต้องการให้อินโดนีเซียเปลี่ยนตัวเองจากประเทศที่เน้นการผลิตและส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์มาเป็นประเทศที่เน้นอุตสาหกรรมมากขึ้น

“ภายในปี 2045 เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะต้องมีขนาดถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินโดนีเซียจะกลายเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกโดยแทบไม่มีอัตราความยากจน และเป้าหมายนี้ คือสิ่งที่เราต้องไปถึงให้จงได้” – โจโกวีกล่าวในปี 2019 

ความจริงจังนั้นพิสูจน์ให้เห็นได้จากการสั่งห้ามส่งออกแร่นิกเกิลดิบไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น จีน เพื่อเป็น “ยาแรง” ในการผลักดันให้เกิดการแปรรูปซึ่งเพิ่มมูลค่าให้แร่นิกเกิลในประเทศ โดยเริ่มต้นการยกเลิก Fast Track ในการส่งออกแร่นิกเกิลมาตั้งแต่ต้นปี 2020 ซึ่งเร็วกว่าที่อุตสาหกรรมผู้ผลิตนิกเกิลคาดกันไว้ถึง 2 ปี 

นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ อินโดนีเซียยังได้พยายามลดข้อจำกัดในการทำธุรกิจลงมาโดยตลอด โดยอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) จัดทำโดยธนาคารโลก (World Bank) ประจำปี 2020 อินโดนีเซียอยู่อันดับที่ 79 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ขึ้นมาจากอันดับ 120 ก่อนหน้าที่โจโกวีจะรับตำแหน่ง 

สำหรับการแก้ปัญหาในปีที่ผ่านมาเพื่อให้การทำธุรกิจในอินโดนีเซียง่ายขึ้น ธนาคารโลกได้ยกตัวอย่างการเปิดให้ธุรกิจสามารถขอใบอนุญาตต่าง ๆ ได้ผ่านช่องทางออนไลน์เช่นเดียวกับการเปิดช่องทางการแจ้งภาษีทางออนไลน์ ไปจนถึงเสถียรภาพของการจ่ายไฟฟ้าในตัวเมืองสุบารายา เมืองใหญ่อันดับ 2 ของอินโดนีเซีย

อย่างไรก็ตาม แม้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของอินโดนีเซียจะดีขึ้นมาก แต่ยังคงตามหลังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ที่อยู่ในอันดับ 2 ของโลก มาเลเซียที่อยู่อันดับที่ 12 ไทยที่อยู่ในอันดับที่ 21 และเวียดนามที่อยู่ที่อันดับ 40 อยู่ จึงทำให้โจโกวีต้องผลักดันการปฏิรูปมากขึ้นไปอีก

เพิ่มความง่ายในการทำธุรกิจ

เพื่อแก้ปัญหาความซับซ้อนยุ่งเหยิงของกฎหมายการลงทุน การจัดตั้งธุรกิจ ประเด็นทางสิ่งแวดล้อม และด้านมาตรฐานแรงงาน โจโกวีจึงได้พยายามผลักดันกฎหมายฉบับหนึ่งที่ชื่อว่า “Omnibus Law” อย่างมากในปีนี้ 

Omnibus Law เป็นกฎหมายที่ครอบคลุมทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับการทำธุรกิจถึง 11 ด้าน โดยรวมไปถึงกฎหมายแรงงาน การลงทุน การขอใบอนุญาตในการทำธุรกิจ การปฏิรูปภาษีธุรกิจ ไปจนถึงการได้มาซึ่งที่ดินภายในอินโดนีเซีย

เช่น อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประกอบไปด้วยหมู่เกาะต่าง ๆ และมีรัฐบาลท้องถิ่นประจำภูมิภาค ทำให้การขอใบอนุญาตในการทำธุรกิจเมื่อก่อนนี้ จะต้องขอมากกว่า 1 ใบกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ และกับรัฐบาลท้องถิ่นอีกหลายแห่ง 

หากใช้ Omnibus Law จะทำให้การขอใบอนุญาตทำได้ง่ายขึ้นภายใต้การดูและของคณะกรรมการเพื่อการร่วมมือการลงทุนแห่งชาติ ซึ่งสำหรับนักลงทุนต่างชาติ การขอใบอนุญาตจะทำแค่ครั้งเดียวผ่านระบบออนไลน์โดยไม่จำเป็นต้องไปเยือนทุกกระทรวงหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องซ้ำอีกดังเช่นที่ผ่านมา

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากความพยายามใช้ Omnibus Law ในการผลักดันธุรกิจ คือ การลดภาษีธุรกิจจาก 25% ให้เหลือ 20% ในช่วงระหว่างปี 2021-2023 และยังลดอีก 3% ให้กับบริษัทที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียอย่างน้อย 40% ด้วย ซึ่งการลดภาษีต่างๆ จะช่วยให้อินโดนีเซียดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ชาวอินโดนีเซียหลายพันหลายหมื่นคนได้เดินขบวนประท้วงกฎหมายนี้ เนื่องจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและการผ่อนปรนข้อกำหนดต่าง ๆ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยกฎหมาย Omnibus Law เปลี่ยนจากการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำตามอุตสาหกรรมเป็นการให้รัฐบาลท้องถิ่นประจำภูมิภาคเป็นผู้กำหนด ลดเงินชดเชยจากการเลย์ออฟ จากที่ได้สูงสุด 32 เดือนเหลือเพียง 19 เดือน

รัฐบาลอินโดนีเซียผลักดันกฎหมายนี้สำเร็จในเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา ท่ามกลางการประท้วงอย่างหนักจากภาคประชาชนที่ได้แต่กัดฟันภาวนาว่ากฎหมายนี้จะเอื้อต่อชาวอินโดนีเซียอย่างแท้จริง

ไม่ใช่แค่ Tesla ที่จ้องจะเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย

Tesla ไม่ใช่เจ้าแรกที่จ้องจะเข้าไปลงทุนในอินโดนีเซีย ก่อนหน้านี้ผู้ผลิตแบตเตอร์รี่รายใหญ่จากจีนอย่าง Contemporary Amparex Technology ได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอร์รี่สำหรับรถ EV ด้วยเม็ดเงิน 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ไม่เพียงเท่านั้น Hyundai ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติเกาหลีใต้ ได้ประกาศตั้งแต่ปี 2019 แล้วว่าจะเข้าไปลงทุนตั้งโรงงานอินโดนีเซียด้วยวงเงิน 1,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐจนถึงปี 2030 และจะเริ่มต้นผลิตในต้นปี 2021 

แม้ปีที่แล้วทาง Hyundai จะอยู่แค่ขั้นตอนพิจารณาผลิตรถ EV ในอินโดนีเซีย แต่ในปีนี้ Lee Kang Hyun รองประธานและ COO ของ Hyundai Motor Asia Pacific ได้ประกาศว่า ศูนย์การผลิตรถยนต์ EV ของบริษัทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดำเนินการสร้างเสร็จไปแล้วถึง 65% 

นอกเหนือจากด้านอุตสาหกรรมรถยนต์แล้ว สตาร์ทอัพของอินโดนีเซียยังสามารถดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนได้จากต่างชาติ โดยมีบิ๊กเนมอย่าง Google, Microsoft, Facebook และ Paypal ได้เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพของอินโดนีเซีย 

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นซึ่งมีมูลค่าบริษัทมากกว่าพันล้านดอลลาร์สหรัฐถึง 5 แห่ง มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นประเทศบ้านเกิดของสตาร์ทอัพที่คนไทยคุ้นหูกันดีอย่าง Gojek และ Traveloka ด้วย  

พี่ทุยคิดว่าอินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าจับตามองอย่างยิ่งทีเดียว..

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย