Saudi Aramco คือใคร ทำไมบริษัท "ซาอุดิอาระเบีย" ถึงมีมูลค่าสูงสุดในโลก

Saudi Aramco คือใคร ทำไมบริษัทถึงมีมูลค่าสูงสุดในโลกแซงหน้า Apple

3 min read  

ฉบับย่อ

  • วันที่ 11 พ.ค. 2022 Saudi Aramco ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก มีมูลค่าแซงหน้า Apple ขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่าที่สุดในโลก เนื่องจากหลายปัจจัย ทั้งน้ำมันขาขึ้น และการแห่กันถอนเงินออกจากหุ้นเทคโนโลยี
  • Saudi Aramco มีชื่อจริงว่า Saudi Arabian Oil Company โดยเป็นของรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่ปกครองโดยระบบกษัตริย์ และเป็นของรัฐบาล 100% มาตั้งแต่ปี 1981
  • อย่างไรก็ตาม ความพยายามเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจภายใต้การนำของมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้ทำให้เกิดการผลักดันขายหุ้นของผู้ผลิตน้ำมัน เพื่อระดมทุนจากต่างชาติ 
  • นับตั้งแต่การเปิดเผยในปี 2016 Saudi Aramco กว่าจะเข้าตลาดหุ้นได้จริงก็ในปลายปี 2019 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ฟื้นขึ้น ทำให้แรงกดดันที่จะขายหุ้นเพิ่มทุนให้บริษัทจึงน้อยลงตามไปด้วย ประกอบการการโจมตีของกลุ่มกบฏยิ่งทำให้ตารางการออกขาย IPO ไม่แน่นอน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เมื่อวันที่ 11 พ.ค.ที่ผ่านมา Saudi Aramco ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกจาก “ซาอุดิอาระเบีย” ได้แซงหน้า Apple ขึ้นเป็นบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าสูงถึง 2.43 ล้านล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับ Apple ที่ 2.37 ล้านล้านดอลลาร์

มีหลายปัจจัยเลยทีเดียวที่ทำให้ Saudi Aramco กลับมาแซงหน้า Apple ได้ โดยเหตุผลหนึ่งก็เนื่องมาจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้น และแน่นอนว่า ส่งผลให้รายได้ของบริษัทน้ำมันอู้ฟู่ตามไปด้วย

ขณะที่พี่ทุยว่า เป็นเพราะช่วงนี้ทางนักลงทุนต่างเทขายหุ้นเทคโนโลยี เนื่องมาจากความเสี่ยงหลายประการ ตั้งแต่เงินเฟ้อไปจนถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ จนมูลค่าหุ้นของ Apple ลดลงราว 20% จากจุดสูงสุดที่ 184 ดอลลาร์ เมื่อต้นปี 2021 

แต่กว่าที่ Saudi Aramco จะได้เข้าตลาดมาเพื่อเป็นข่าวหน้าหนึ่งในทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย บทความนี้พี่ทุยจะพาทุกคนไปรู้จักกับผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก

Saudi Aramco คืออะไร?

Saudi Aramco มีชื่อเต็ม ๆ ว่า Saudi Arabian Oil Company หรือบริษัทน้ำมันของ “ซาอุดิอาระเบีย” โดยมีผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลซาอุดิอาระเบีย ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบกษัตริย์ ภายใต้ราชวงศ์ซาอุดิอาระเบีย

หลายทศวรรษก่อนที่จะเกิดสงคราม Yom Kippur (ยอมคิปปูร์) ในปี 1973 บริษัทน้ำมันของซาอุดิอาระเบียมีการให้ต่างชาติเข้าถือหุ้นมาโดยตลอด 

แต่เมื่อสงครามเกิด ความต้องการน้ำมันก็เพิ่มมากขึ้น สวนทางกับการผลิตที่น้อยลงจากผลกระทบของสงครามระหว่างแนวร่วมรัฐอาหรับและอิสราเอล ทำให้บรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันต่างพยายามเข้าควบคุมบริษัทน้ำมันของตนเอง และทำให้ในปีนั้น ซาอุดิอาระเบียได้เข้าถือหุ้นใน Saudi Aramco 25% ก่อนเพิ่มขึ้นเป็น 60% ในปีต่อมา

ในที่สุด ปี 1981 ทางซาอุดิอาระเบียได้เข้าควบคุมบริษัทน้ำมันของตนเองโดยสมบูรณ์ โดยไม่เปิดเผยข้อมูลใด ๆ ทั้งแผงผังขององค์กร รายได้ หรือแม้แต่การตรวจสอบบัญชี 

จึงไม่แปลกที่ต่างชาติจะจ้องตาเป็นมันกับ “เพชร” เม็ดงามแห่งซาอุดิอาระเบีย และยิ่งไม่แปลกเข้าไปใหญ่ที่เส้นทางการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ด้วยการออกหุ้นเสนอขายครั้งแรกหรือ IPO ของ Saudi Aramco จะไม่ราบรื่นเอาเสียเลย

ทำไม “ซาอุดิอาระเบีย” ต้องขายหุ้น Saudi Aramco

ในปี 2016 มกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อชื่อดังในแวดวงเศรษฐกิจอย่างนิตยสาร The Economist ว่า กำลังให้ความสนใจจะขายหุ้นส่วนหนึ่งของ Saudi Aramco ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งสร้างความสั่นสะเทือนให้กับแวดวงการลงทุนขณะนั้นทีเดียว เพราะ Saudi Aramco อาจมีมูลค่าถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์

ในปีเดียวกันนั้นเอง เจ้าชายแห่งซาอุดิอาระเบีย ได้ทรงเปิดแผนยุทธศาสตร์ Saudi Vision 2030 โดยมีใจความหลักในการปรับเศรษฐกิจให้ลดการพึ่งพาน้ำมัน ซึ่งคิดเป็น 30-40% ของ GDP ซาอุดิอาระเบีย

แม้รายได้จากน้ำมันจะช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจของซาอุดิอาระเบีย และทำให้ประชาชนซาอุดิอาระเบียมีสวัสดิการที่อู้ฟู่ แต่หากปราศจากรายได้ของน้ำมันแล้ว คงทำให้เศรษฐกิจของล้มลงได้ไม่ยาก 

ราคาน้ำมันหลุดลงจาก 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2008 มาอยู่ที่ 40 ดอลลาร์กว่า ๆ ในปี 2016 ซึ่งจุดคุ้มทุนในการผลิตน้ำมันของซาอุดิอาระเบียอยู่ที่ประมาณ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามข้อมูลของ Knoema ผู้ให้บริการด้านข้อมูล 

การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาถือหุ้นของ Saudi Aramco จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มกำลังเงินให้กับเพชรน้ำงามของชาติ 

ทำไม IPO จึงไม่ง่าย ?

นอกเหนือจากการเกิดกระแสต้านอย่างเงียบ ๆ ภายในประเทศที่วิจารณ์ว่า เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน กำลังเอาไก่ที่ออกไข่เป็นทองคำของประเทศไปขายให้กับต่างชาติแล้ว การนำหุ้นของบริษัทที่อยู่ภายใต้การบริหารของราชวงศ์มาโดยตลอดมาจดทะเบียนขายในตลาดต่างชาติไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะต้องผ่านขั้นตอนยุ่งยาก ทั้งการต้องให้บริษัทต่างชาติเข้ามาตรวจสอบการทำบัญชี และการร่วมมือกับแบงก์ข้ามชาติต่าง ๆ ก่อนถึงจะสามารถออกหุ้นเสนอขายครั้งแรกได้ ไม่ใช่ปุบปับจะทำได้เลย

แผนการในตอนแรก เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน ตรัสว่าต้องการจะขายหุ้นสัดส่วน 5% ของบริษัทที่มีมูลค่าถึง 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่ประธานบริหาร Amin Nasser ของ Saudi Aramco จะประกาศว่า จะนำหุ้นเข้าตลาดหุ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศภายในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2018 

แต่ตลอดปี 2018 มีรายงานมาตลอดทั้งปีว่า การออก IPO ของซาอุดิอาระเบียกำลังประสบความยากลำบาก หรือมีแม้กระทั่งรายงานว่าทางซาอุดิอาระเบียจะยกเลิกการออก IPO ไปเลยด้วยซ้ำ 

ทางซาอุดิอาระเบียขณะนั้นให้การปฏิเสธ และระบุว่า การออก IPO อาจช้าไปจากกำหนด เพราะราคาน้ำมันที่ฟื้นขึ้น ทำให้แรงกดดันที่จะหาเงินทุนจากต่างชาติลดน้อยลงไปด้วย หรือก็คือ การออก IPO ลดความสำคัญลงไป 

ในเดือน มี.ค.ปี 2019 รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบียได้ยืนยันว่า การ IPO จะออกได้ภายในสองปี ก่อนที่ในเดือน ก.ย. ของปีเดียวกันนั้นเอง ฐานผลิตของ Saudi Aramco จะโดนทิ้งระเบิด จนต้องหยุดการผลิตน้ำมันดิบกว่าครึ่ง 

แม้การโจมตีดังกล่าว จะส่งผลให้ราคาน้ำมันเด้งขึ้นสูงในรอบเกือบ 30 ปี แต่ก็ทำให้เกิดคำถามตัวโตๆ ว่า การออก IPO จะเลื่อนอีกหรือไม่ เพราะการโจมตีนั้นทำให้การประเมินมูลค่าบริษัทเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน โดยสถาบันจัดอันดับเครดิตอย่าง Fitch ออกมาลดระดับความน่าเชื่อถือของ Saudi Aramco 

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ธ.ค. 2019 ในที่สุด Saudi Aramco ก็สามารถออก IPO ได้สำเร็จ โดยสามารถเพิ่มทุนไปได้ 2.56 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งกลายเป็น IPO ที่ใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้า Alibaba ที่เข้าตลาดเมื่อปี 2014 ซึ่งเพิ่มทุนไปได้ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์

การเพิ่มทุนครั้งนี้ Saudi Aramco เอาหุ้นมาออกขายแค่ 1.5% ของมูลค่าทั้งบริษัท ซึ่งน้อยกว่าบริษัทเอกชน 100% อย่าง Apple ที่ 84% ของหุ้นทั้งหมด ซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ 

พ้นจากจุดวิกฤต

ในปี 2020 อย่างที่รู้กันว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง และยังทำให้ราคาน้ำมันในตลาดซื้อขายล่วงหน้าล่วงลงไปต่ำกว่า 0 ดอลลาร์เสียด้วย เรียกได้ว่า ตังค์ไม่เอาแถมน้ำมันไปด้วยอีกต่างหาก

ในปีนั้น ผลกำไรของ Saudi Aramco อยู่ที่เพียง 4.9 หมื่นล้านดอลลาร์ ลดลงจากปี 2019 ที่ 8.82 หมื่นล้านดอลลาร์ และปี 2018 ที่ 1.11 แสนล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม จากการจับมือกันระหว่างพันธมิตรผู้ผลิตน้ำมันคือกลุ่ม OPEC และประเทศนอกสมาชิก เพื่อลดกำลังการผลิต และผลักดันให้ราคาน้ำมันขึ้น ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทำให้ปี 2021 Saudi Aramco มีกำไรมากถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์ เกือบเท่ากับปี 2018 

ก่อนที่จะมาแซงหน้า Apple ในที่สุดอย่างที่พี่ทุยเล่าไปในข้างต้น

Saudi Aramco ซาอุดิอาระเบีย

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย