ตอนนี้ไม่ว่าพี่ทุยจะเดินผ่านไปตลาดนัด เข้าห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ในโลกออนไลน์ ก็เห็นแต่ “หม่าล่า” เต็มไปหมด ทว่าหมาล่ามาจากไหน? แล้วฮิตแค่เฉพาะในไทย หรือประเทศอื่นก็ฮิต วันนี้พี่ทุยจะเล่าให้ฟัง
หม่าล่า หมายถึงอะไร
ก่อนอื่น พี่ทุยต้องบอกว่า หม่าล่าเป็นชื่อภาษาจีน มาจากคำว่า “麻辣” (สะกด pinyin ว่า málà) โดย หม่า หมายถึง อาการชาที่ปลายลิ้น ส่วน ล่า คือรสชาติเผ็ด รวมกันก็คือ เผ็ดจนลิ้นชา ซึ่งก็ถือว่าเป็นชื่อที่ตรงตัวบ่งบอกถึงอาการที่สัมผัสได้ หลังจากรับประทานหมาล่าเข้าไป
โดยรวมแล้ว หม่าล่าคือ เครื่องปรุงรสจีน ที่มีรสชาติเผ็ดจนชาลิ้น มีส่วนผสมมาจากเครื่องเทศหลายอย่าง หลัก ๆ ก็คือ ฮวาเจียว เป็นพริกไทยเสฉวน ที่มีกลิ่นฉุน มีความเผ็ดระดับลิ้นชา นอกจากนั้นก็คือ พริกแห้ง พริกป่น
อย่างที่พี่ทุยบอกไปว่า ส่วนผสมหลักของหมาล่าคือพริกไทยเสฉวน ฉะนั้นบ้านเกิดของหมาล่า ก็คือ มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน นั่นเอง
ซึ่งเริ่มต้นจากในเสฉวน หมาล่าเป็นรสชาติหนึ่งของอาหารประเภทหม้อไฟ ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ของคนที่อาศัยอยู่ในมณฑลเสฉวน รวมถึงคนที่อยู่ในแถบตอนเหนือของจีน โดยการรับประทาน ก็จะอยู่บนโต๊ะอาหารมื้อค่ำ
ต่อมาก็มีการวิวัฒนาการ จากที่ทำเป็นหม้อไฟเลย ก็เพิ่มเติมเป็นการประยุกต์ให้รับประทานได้ง่ายและไวขึ้น เป็น หม่าล่าทัง (麻辣烫 – pinyin: málàtàng) คือ การทำอาหารที่ลวกด้วยซอสหม่าล่า
ต้นกำเนิดของ หม่าล่าทัง ก็มาจากคนที่อาศัยอยู่บนเรือลากจูงในแม่น้ำแยงซีที่อยู่ใกล้กับเสฉวน เนื่องจากพวกเขาต้องทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ชื้นและมีหมอกลง ซึ่งเป็นสภาพอากาศที่ทำให้รู้สึกป่วยได้ง่าย เมื่อหิวจึงต้องการปรุงอาหารด้วยเครื่องเทศเผ็ดลิ้นชาอย่างหมาล่า เพื่อขจัดความชื้นในร่างกาย
และในที่สุดก็คือผู้ที่เห็นโอกาสทางธุรกิจและนำหม่าล่าทังไปขยายตลาดเป็นวงกว้างทั่วเมืองจีน เป็นอาหาร Street Food ที่หาซื้อได้เวลาเดินตามท้องถนน รับประทานแบบจานเดียวด่วน ๆ ได้ หรือจะซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านก็ได้ ต่างจากหม้อไฟที่ต้องรอรับประทานบนโต๊ะอาหารอย่างเดียว
หม่าล่า โด่งดังทั่วอาเซียน
พี่ทุยต้องบอกว่า หมาล่า เป็นเครื่องปรุงรสที่ช่วยแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในต่างประเทศได้อย่างทรงพลังทีเดียว โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่แหละ
อย่างเช่น เมียนมาร์ ที่หม่าล่าน่าจะบุกเข้าไปเป็นสิบปีแล้ว มีตั้งแต่ในร้านอาหารระดับไฮเอนด์ ไปจนถึงร้านค้าตามท้องถนน โดยเมนูที่ขาย ได้แก่ หม้อไฟหม่าล่า และ หม่าล่าทัง ขณะที่ในซุปเปอร์มาร์เก็ตแบรนด์ท้องถิ่นของเมียนมาเอง ก็มีขายซอสปรุงรสหมาล่าที่ใช้ในทำหม้อไฟ
ขณะที่ สิงคโปร์ มีการศึกษาพบว่า จริง ๆ แล้ว เมนูหมาล่ามีขายในสิงคโปร์มานานเกือบสิบปีแล้ว แต่ว่ายังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก โดยเริ่มต้นจากเมนูหม้อไฟหม่าล่า บนโต๊ะอาหารมื้อค่ำ จนกระทั่งในช่วงปี 2021-2022 ที่การเปิดร้านหม้อไฟหม่าล่ามากขึ้น และเริ่มมีการเปิดร้านขายหมาล่าทัง และในที่สุดปี 2023 เมนูหมาล่าก็กลายเป็นอาหารมื้อค่ำที่คนสิงคโปร์คุ้นเคยไปแล้ว โดยปัจจุบัน เมนูอื่นๆ ก็มีการประยุกต์ปรุงรสหมาล่าเช่นกัน อย่างเช่น พิซซ่า
ส่วนในประเทศอื่น ๆ ที่พบเห็นเมนูหม่าล่าได้ ก็เช่น เกาหลีใต้ และสหรัฐฯ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ ตลาดการค้าเครื่องเทศนานาชาติอวี้หลิน ในเมืองอวี้หลิน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน พบว่า ในแต่ละปีมีปริมาณการซื้อขายเครื่องเทศในเมืองอวี้หลิน ประมาณ 800,000 ตัน ซึ่งในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ มีคนทำงานอยู่กว่า 100,000 คน
และจากความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ Regional Comprehensive Economic Partnership (RCEP) ก็ทำให้การค้าขายเครื่องเทศของจีน เครื่องปรุงรสอย่างหมาล่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตต่อเนื่อง เพราะรสชาติของเครื่องเทศก็ตรงกับรสนิยมของคนท้องถิ่นในภูมิภาคนี้
หม่าล่าถูกค้นหาเยอะในไทยปี 2565 แต่มีอยู่ในประเทศมานานแล้ว
คราวนี้ ลองมาดูความฮอตฮิตของหมาล่าในไทยกันดีกว่า โดยถ้านั่งย้อนอดีตดูว่า หม่าล่าเป็นที่รู้จักของคนไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็ต้องบอกว่า เรื่องนี้ตอบยากสักนิด เพราะเอาเข้าจริง ๆ ถ้าใครเคยเดินทางไปเที่ยวหรือทำงานในจีน โดยเฉพาะแถบมณฑลเสฉวน ก็คงเคยได้ลิ้มลองรับประทานอาหารหม้อไฟ หรือเมนูที่มีหมาล่ากันมาแล้ว เพียงแต่ช่วงเวลานั้น ยังไม่ได้มีเมนูฮิตที่มีส่วนผสมของหมาล่าขายในเมืองไทยมากขนาดนี้
และถ้าถามว่า หม่าล่าเริ่มเข้ามาบุกตลาดในไทยเมื่อไหร่ อันนี้ก็อาจจะตอบยากเช่นกัน แต่ก็ต้องบอกว่า เราได้เห็นคำว่าหม่าล่า ถูกค้นหาในไทยมานานแล้ว แต่อาจจะในระดับที่ไม่ได้หวือหวามากนัก โดยถ้านับยอดการค้นหาผ่าน Google Trend ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก็จะพบว่า คำว่า หมาล่า หรือ หม่าล่า ก็ถูกค้นหามาเรื่อย ๆ แต่ว่าช่วงที่ถูกค้นหากันเยอะสุด ๆ ก็ช่วงเดือน ก.ค. 2566 นั่นเอง
ฉะนั้นอาจจะพอสรุปได้ว่า คนไทยส่วนหนึ่งก็รู้จักหมาล่า แล้วก็มีความสนใจหมาล่ากันมาสักพักแล้วแหละ ส่วนที่เริ่มเข้ามาไทยนั้น มีการสันนิษฐานกันว่า ชาวจีนยูนนานที่อาศัยอยู่ในอำเภอแม่สาย จ.เชียงราย เป็นผู้ริเริ่มเปิดร้านหม่าล่าในไทย พอขายดีก็เลยมีคนแห่เปิดตาม ๆ กันมา จากที่ฮิตเปิดร้านทางภาคเหนือ ก็เลยเริ่มแผ่ขยายความฮอตมาจนถึงกรุงเทพฯ และกระจายทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวสำคัญที่นักท่องเที่ยวจีนชอบเดินทางไป
สรุปความนิยมของเมนูหมาล่าในไทย ปี 2566
- LINEMAN WONGNAI ระบุ ปี 2566 มีออเดอร์อาหารหม่าล่า 1 ล้านออเดอร์ +45% จากปี 2565
- แพลตฟอร์ม DXT360 ทำ Social Listening เกี่ยวกับ หม่าล่า วันที่ 31 ส.ค. – 11 ก.ย. 2566 พบว่า
- มีการพูดถึง หม่าล่า ถึง 3,697 ข้อความ Engagement 315,561 ครั้ง
- Twitter 2,691 ข้อความ Engagement 4,875 ครั้ง
- Facebook 455 ข้อความ Engagement 175,225 ครั้ง
- Instagram 281 ข้อความ Engagement 95,804 ครั้ง
- Youtube 270 ข้อความ Engagement 39,657 ครั้ง
- มีการพูดถึง หม่าล่า ถึง 3,697 ข้อความ Engagement 315,561 ครั้ง
- ประเภทอาหารหม่าล่าที่คนบนโลกโซเชียลสนใจมากที่สุด
- ชาบูหมาล่า 46%
- สุกี้หมาล่า 37%
- ปิ้งย่างหมาล่า 17%
- ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
- ร้านหม่าล่าในไทย ปี 2566 16,000 ร้าน +7.3% จากปี 2565 ยอดขาย 10,000 ล้านบาท +15% จากปี 2565
- คาดปี 2567 ร้านหม่าล่าในไทย เพิ่มเป็น 17,000 ร้าน ยอดขาย 12,000 ล้านบาท
- ร้านหม่าล่ายอดนิยมของผู้บริโภคชาวไทย
- Hai Di Lao Hotpot หมาล่าหม้อไฟจากจีน
- สุกี้จินดา สุกี้สายพาน
- SHU DAXiA
- หมาล่าอาอี๋
- Fufu Shabu
- Mongkok Sukiyaki
ทั้งนี้ พี่ทุยลองไปมัดรวมมาแล้วว่า อาหารที่ปรุงรสด้วยหมาล่าในไทย ล่าสุดมีอะไรบ้าง
รวมเด็ด 15 เมนู หม่าล่า ที่พบเจอได้ในเมืองไทย
- ชาบูหม้อไฟหม่าล่า
- สุกี้หม่าล่า
- ก๋วยเตี๋ยวหม่าล่า
- อาหารที่ผัดด้วยซอสหม่าล่า
- ปิ้งย่างบาร์บีคิวหม่าล่า
- น้ำพริกหม่าล่า
- ยำหม่าล่า
- แซนด์วิชไส้ซอสหม่าล่า
- เกี๊ยวซ่าไส้เนื้อสัตว์ผสมซอสหม่าล่า
- ซาลาเปาไส้เนื้อสัตว์ผสมซอสหม่าล่า
- ขนมปังปิ้งหน้าซอสหม่าล่า
- ขนมแผ่นเผ็ดทานเล่นรสหม่าล่า (ล่าเถียว)
- ขนมโตเกียวไส้หม่าล่า
- ขนมไหว้พระจันทร์ไส้หม่าล่า
- น้ำแข็งใสโรยซอสหม่าล่า
พี่ทุยต้องบอกว่า รายชื่อเมนูหมาล่าทั้ง 15 เมนูนี้ เป็นเพียงตัวอย่างที่พี่ทุยเคยเห็นผ่านตามาเท่านั้น ซึ่งเอาจริงๆ แล้วอาจจะมีเมนูหมาล่าอื่น ๆ ที่ยังไม่ผ่านมาตาพี่ทุยอีกก็ได้ เอาเป็นว่า เพื่อน ๆ คนไหนเจอเมนูอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมหมาล่าอีก ก็ลองแชร์ข้อมูลเมนูหมาล่าที่เคยเจอกันมาได้
ทั้งนี้ หมาล่า ก็ถือว่าเป็นแค่เมนูจากจีนยอดฮิตประเภทหนึ่งเท่านั้น อันที่จริง คนไทยเราก็ฮิตอาหารจีนมาหลายเมนูแล้วก่อนหน้านี้ รวมไปจนถึงประเทศอื่นในโลกด้วย โดยพี่ทุยได้นำ 15 เมนูจีนยอดนิยมที่สื่อจีนได้มีการรวบรวมและเผยแพร่ไว้มาให้แล้ว มีดังนี้
15 เมนูจีนยอดฮิต ติดใจชาวโลก
- เป็ดปักกิ่ง
- Kung Pao Chicken หรือ ไก่ผัดเผ็ด ที่มีส่วนผสมของพริกไทยเสฉวน
- หมูผัดเปรี้ยวหวาน
- หม้อไฟ
- ติ่มซำ
- เกี๊ยว
- Ma Po Tofu หรือ เต้าหู้ผัดซอสพริกหมาล่า
- หมูแดง
- Chow Mein หรือ บะหมี่ผัด
- ข้าวผัด
- Twice-Cooked Pork Slices หรือหมูต้มสุกผัด
- หมูเสฉวน
- เสี่ยวหลงเปา
- Zhajiangmian (ภาษาจีน เรียกว่า จาเจี้ยงเหมี่ยน เกาหลี เรียกว่า จาจังเมียน) หรือ บะหมี่ผัดซอส
- เกี๊ยวน้ำ
ถ้าดูข้อมูลเมนูยอดฮิตของจีน ก็จะสังเกตได้ว่า มีอยู่หลายเมนูทีเดียว ที่มีส่วนประกอบของหม่าล่าอยู่ ส่วนเมนูที่ไม่เกี่ยวกับหมาล่า พี่ทุยก็เชื่อว่า เพื่อน ๆ หลายคนคงจะเคยได้รับประทานกันมาบ้างแล้ว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็สะท้อนให้เห็นว่า วัฒนธรรมอาหารจีน แผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลกับคนไทยมานานแล้วนั่นเอง
โดยที่ใครจับโอกาสธุรกิจร้านอาหารจีน ได้ถูกจังหวะ ตรงกับกระแสความต้องการพอดี ก็มีโอกาสเติบโตได้ เพราะความต้องการรับประทานมีอยู่แล้ว ไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงคนจีนที่มาไทย รวมถึงคนชาติอื่น ๆ ที่ชอบอาหารจีนด้วย
อย่างไรก็ตาม การเปิดร้านตามกระแส หลังจากที่มีความฮอตฮิตมาระยะหนึ่งแล้ว ก็มีความสุ่มเสี่ยงเช่นกัน เมื่อไหร่ที่กระแสเริ่มซา ยอดขายของร้านที่เปิดตามกระแสก็อาจจะซาลงไปด้วย ยิ่งถ้าเป็นร้านประเภทอาหารที่มีคู่แข่งสูงแล้วล่ะก็ ถ้าไม่เจ๋งจริง แข่งหั่นราคากันอย่างเดียว สุดท้ายก็ไปไม่ไหว ฉะนั้น ก่อนจะเข้ามาสู่ธุรกิจร้านอาหาร จับกระแสความนิยมของอาหารแต่ละประเภท ควรศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจดีๆ พิจารณาทำเลที่ตั้ง รวมถึง ต้องมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้ตกยุค ทันกระแสอยู่เสมอ
ขณะที่ ผลประโยชน์ของการมีร้านทางเลือกในกระแสยอดฮิตมากขึ้น ก็คือมีทางเลือกมากขึ้นนั่นเอง แต่ตามใจปากกันแล้ว ก็อย่าลืมดูแลสุขภาพกันด้วยนะทุกคน
อ่านเพิ่ม