สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังไม่สู้ดีล่าสุด “IMF ปรับคาดการณ์ GDP ลดลง” ของปี 2020 ปรับลงกลายเป็น -4.9% ลดลงมาอีกจากที่ประมาณการไว้ใน World Economic Outlook (WEO) forecast เดือน เมษายน 2020 ที่ -3% ลดลงมาอีก 1.9%
ในครึ่งปีแรกของ 2020 โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบอย่างหนักให้กับตัวเลขการเติบโตทั่วโลก อีกทั้งการคาดการณ์ตัวเลข การฟื้นตัวก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวช้าลงจากเดิมที่คาดว่าปี 2021 Global GDP จะกลับมาโตที่ 5.4% ก็ถูกปรับลดลง 0.4 จุด จากตัวเลขประมาณการใน WEO ของเดือนเมษายน 2020 จาก 5.8%
ที่น่าสนใจเลยคือ ตัวเลขของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว Advanced Economies ถูกปรับเป็น -8% เลยทีเดียว จากเดิม -6.1% แต่กลับมีตัวเลขคาดการณ์ในปี 2021 ทีดีขึ้น จาก 4.5% เป็น 4.8%
สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ก็ถูกปรับลงเช่นกัน จาก -1% ในปี 2020 กลายเป็น -3% และคาดการณ์การฟื้นตัวในปีหน้า 2021 ก็ถูกปรับให้ลดลงจาก 6.6% เหลือ 5.9%
การประมาณการตัวเลข Global GDP ของเดือนมิถุนายน 2020
การประมาณการตัวเลข Global GDP ของเดือน เมษายน 2020
หุ้นทั่วโลก รวมถึงไทยปรับลดลง
จากการปรับประมาณการนี้ของ IMF ส่งผลต่อความมั่นใจในการลงทุนต่อนักลงทุนทั่วโลก ทำให้เกิดแรงขายทั่วโลก ลบหนักถึง 3% โดย Dow Jones ของสหรัฐอเมริกา ปิดตลาดที่ 25445.94 ลดลงถึง -2.72% เลยทีเดียว และ FTSE100 ของอังกฤษก็ปิดตลาดที่ 6,123.69 ลดลงมา 196.43 จุด -3.11% ส่วน Nikkei ก็เปิดลบตั้งแต่เช้า 22,287.87 จาก 22,533.76 ของเมื่อวาน ลบ 245.89 จุด ลดลง 1.1%
ในด้าน Hang Seng ปิดที่ 24,781.58 -0.5% ในวันที่ 24 มิถุนายน 2020 โดยวันที่ 25 มิถุนายน 2020 เป็นวันหยุดเทศกาล Dragon Boat Festival เลยปิดทำการ 1 วัน โดยในวันที่ 24 ที่ผ่านมานั้นมี Tencent บริษัทค่ายเกมและเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนเพิ่งทำ New High สวนตลาด แตะ 505 HKD
ทางด้านของไทยเองก็เปิดลบแต่เช้า โดยเปิดตลาดมาที่ 1,317.72 ลบ 15.71 จุด หรือ -1.17% จากเมื่อวาน ก่อนจะลงต่อในช่วงปิดเที่ยงที่ 1,312.97 ปรับตัวลงมา 20.46 จุด หรือ -1.53%
ความกังวลต่อสถานการณ์ของ โควิด-19 และการคาดการณ์ของ IMF
ความกังวลในความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 ในหลาย ๆ ประเทศยังคงเลวร้ายอยู่ ซึ่งส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยมาตรการของแต่ละประเทศจะมีผลต่อสภาพเศรษฐกิจในช่วงต่อมา โดยตัวแปรหลักจะอยู่ที่
– ระยะเวลาของการระบาด และระยะเวลาที่จำเป็นในการปิดเมือง
– ความร่วมมือในการทำ Social Distancing ซึ่งจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของประชาชน
– การขาดแคลนแรงงานและการเลิกจ้างพนักงานจากผลกระทบ
– การสร้างความปลอดภัยของที่ทำงาน ส่งผลต่อต้นทุนของบริษัทที่เพิ่มขึ้น
มาตรการที่เข้มงวดก็จะช่วยควบคุมตัวเลขได้ไวและดีขึ้น แต่ในทางกลับกันก็จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อมาเช่นเดียวกัน ถ้าควบคุมได้ดี ในระยะที่พอเหมาะก็จะควบคุมการระบาดได้ และกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว แต่หากควบคุมหลวมไปแทนที่เศรษฐกิจจะไม่ถดถอย แต่การระบาดอาจจะหนักขึ้นกว่าเดิมและส่งผลหนักกว่าได้
จากตัวเลขคาดการณ์ของ IMF จีนเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 และเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงหลังไตรมาสที่ 1 ของ ปี 2020 ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาเริ่มระบาดหนัก ๆ ช่วงหลังไตรมาสที่ 1 และคาดว่าจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวหลังไตรมาสที่ 2 ตามจีน ซึ่งยังมีแนวโน้มในหลาย ๆ ประเทศที่จะยืดเยื้อและอาจกินเวลามากขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์ GDP ของทั้งหมดถูกปรับลง
Second Wave การระบาดระลอกที่สอง
สิ่งที่กังวลและเป็นประเด็นสำคัญของโรคระบาดเลยคือ การระบาดในระลอกที่สอง ในประวัติศาสตร์ของการเกิดโรคระบาดเกือบทุกครั้งของการเกิดโรคระบาดใหญ่ มักจะเกิดโรคระบาดขึ้นอีกเป็นระลอกที่สอง ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งประเทศที่เริ่มควบคุมได้แล้วและกำลังอยู่ในการควบคุม
อย่างที่รู้กันประเทศจีนเป็นประเทศแรก ๆ ที่เกิดการระบาดและก็เป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการควบคุมจนตัวเลขของผู้ติดเชื้อลดลงจนเกือบจะหมดไป ก่อนที่จะเกิดการระบาดอีกครั้งในเมืองปักกิ่งจากปลาแซลมอนนำเข้า หลังจากไม่พบเชื้อมาเกือบ 2 เดือน และแพร่เชื่อต่อให้ผู้สัมผัสและใกล้ชิด
ตัวเลขผู้ติดเชื้อ โควิด-19 ของสหรัฐอเมริกาเองจากค่อย ๆ ลดลงก็เริ่มกลับมาพุ่งกระโดดอีกครั้งในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยในส่วนที่เป็นกังวลคือ สหรัฐอเมริกาทางตอนใต้และตะวันตก ที่มีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากเกิดการระบาดใหญ่ หรือ Second Wave จริง อาจทำให้ตัวเลขพุ่งขึ้นมากกว่านี้หรืออาจะยืดเยื้อกินเวลาเพิ่มขึ้นไปอีก การที่ไม่ลด Guard หรือมาตรการป้องกันและมีความพร้อมในการจัดการรับมือจึงยังเป็นสิ่งที่จำเป็น
การคาดการณ์การฟื้นตัวของ IMF กับโอกาสเกิด Second Wave
สิ่งที่ IMF คาดการณ์ความเป็นไปได้ของสภาพเศรษฐกิจใหญ่ ๆ ไปใน 2 ทิศทาง โดยทิศทางแรกโลกเราอาจเกิดการระบาดครั้งใหญ่ของ โควิด-19 ในระลอกที่สอง โดยจะเกิดหนักในช่วงต้นปี 2021 ส่งผลให้หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีมาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาจะประสบปัญหาตัวเลขหนี้สินของธุรกิจสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลระยะยาวคล้ายเป็นแผลเป็นต่อไป และอาจลากยาวไปจนถึงปี 2022 เกิดการเลิกจ้างงาน การผลิตลดลง และบริษัทล้มละลายตามมาอีกมากมาย และการล้มเหล่านี้จะทำให้ทั้งระบบพังกินเวลายาว 3-4 ปีเลยทีเดียว ในอีกทิศทางหนึ่งคือการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลังจากการ Lockdown และการควบคุมอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อประเทศนั้น ๆ เปิดประเทศ การจับจ่ายใช้สอยกลับมาพร้อมแรงเก็บกดอัดแน่นของประชาชน ทำให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในหลาย ๆ ธุรกิจ
และจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วนี้ ความเข้มงวดทางการเงินต่าง ๆ ก็จะผ่อนลง ทำให้เกิดการผ่อนปลนทางการเงินมากขึ้นทำให้เศรษฐกิจสามารถกลับมาขยับขยายเติบโตได้อีกครั้ง ซึ่งในไทยช่วงนี้อาจเป็นตัวอย่างที่ดีของการกลับมาฟื้นตัว และการผ่อนปรนมาตรการที่เข้มงวด และหากการกลับมาในครั้งนี้ไม่มีการติดเชื้อเพิ่มอีก ก็อาจทำให้ระบบกลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และทุกคนสามารถกลับมาใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงแบบเดิมได้
Comment