3 ปัญหา สังคมผู้สูงอายุ กระทบเศรษฐกิจไทย ไร้ทางออก

3 ปัญหา สังคมผู้สูงอายุ กระทบเศรษฐกิจไทย ไร้ทางออก

4 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • ปี 2022 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 21.9% ของประชากรทั้งหมด หลักเกณฑ์ของประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ
  • ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2022 อยู่ที่ 14.90 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.8% ของ GDP ประเทศไทยมีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลถึง 25% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ซึ่งมักไม่สร้างประโยชน์ระยะยาว ซ้ำยังเป็นปัญหาที่แก้ไขยากอีกด้วย
  • ประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง ปี 2020 ประเทศไทยมีงบ R&D ที่ 1.33% ของ GDP ขณะที่ประเทศเยอรมนีที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยีมีงบ R&D ที่ 3.1% ของ GDP ด้านอัตราการออมเงินก็ลดลงจาก 35-40% ของ GDP ในยุค 90 ขณะที่ปัจจุบันอยู่ที่ 30-35% ของ GDP

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ทุกวันนี้คงรู้กันทั่วแล้วว่าญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปเรียบร้อยนานแล้ว ด้านจีนก็พยายามสุดฤทธิ์ใช้นโยบายลูกคนที่สามเพื่อรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่วนไทยนั้น ก็เข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ เรียบร้อยแล้ว เมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา

ซึ่งปัญหาสังคมผู้สูงอายุเป็นประเด็นที่รัฐบาลแต่ละประเทศต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหาทางแก้ เพราะจะส่งผลให้ปัจจัยการผลิตด้านแรงงานลดลง ต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและค่ารักษาพยาบาลมากขึ้น ทำให้รายได้และการลงทุนของประเทศลดลง สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

วันนี้พี่ทุยพาไปสำรวจว่า 3 ปัญหาใหญ่ ที่ทำสังคมผู้สูงอายุของไทยน่ากังวลเป็นพิเศษ ขนาดที่ว่ามืดมนไร้ทางออกก็ว่าได้

ประเทศไทยเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ เรียบร้อยแล้ว

ย้อนมาที่รอบตัวเราเชื่อว่าหลายคนคงเริ่มรู้สึกว่ามีผู้อาวุโสในชีวิตประจำวันมากกว่าเมื่อก่อน ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายขึ้น คือ ปัจจุบันเกือบทุกครอบครัวมีลักษณะลูก 1-2 คน ต้องเตรียมเลี้ยงดูพ่อแม่ ซึ่งความจริงประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ตั้งแต่ปี 2021

โดยหลักเกณฑ์ คือ มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ล่าสุดปี 2022 ประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 21.9% ของประชากรทั้งหมด

ปัญหา สังคมผู้สูงอายุ

บางปัญหาอย่างแรงงานอาจแก้ไขได้ด้วยการใช้เทคโนโลยีหรือแรงงานต่างด้าว แต่การสูญเสียการแข่งขันที่ส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอาจสร้างปัญหามากกว่าที่คิดไว้ ยิ่งในขณะที่ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย 3 ปัญหาใหญ่ ที่มีโอกาสส่งเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะ Lost Decade(s) เหมือนญี่ปุ่น

บทความนี้พี่ทุยจะพาไปเจาะลึก 3 ปัญหาใหญ่ เพื่อจะได้เตรียมตัวรับมือผลกระทบที่กำลังจะมาได้ทันเวลา

3 ปัญหา สังคมผู้สูงอายุ ของไทย

3 ปัญหา สังคมผู้สูงอายุ ของไทย

หนี้ครัวเรือนสูงจัด!!!

ตัวเลขหนี้สินครัวเรือนไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2022 อยู่ที่ 14.90 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.8% ของ GDP ขณะที่ไตรมาส 2/2022 อยู่ที่ 14.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88.1% ของ GDP จะเห็นว่าเมื่อเทียบกับ GDP แล้วสัดส่วนลดลง เพราะเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวจากการเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว แต่ปริมาณหนี้ก็ยังเพิ่มขึ้น ปัญหาจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัว GDP เพิ่มช้ากว่าปริมาณหนี้

จุดที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่า คือ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่ไม่สร้างประโยชน์และมูลค่าระยะยาว เช่น หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยจากข้อมูลย้อนหลังเมื่อปี 2015 (ซึ่งยังใช้อ้างอิงได้ เพราะการเปลี่ยแปลงพฤติกรรมการบริโภคของประชากรต้องใช้เวลานาน) ชี้ว่าประเทศไทยมีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลถึง 25% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

ส่วนประเทศพัฒนาแล้วทั้งสหรัฐฯ และสิงคโปร์มีหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 17% และ 4% ตามลำดับ และเห็นได้ชัดว่าหนี้ครัวเรือนส่วนใหญ่ของประเทศเหล่านี้จะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งอย่างน้อยก็ช่วยรักษามูลค่าความมั่งคั่งได้ดีกว่าหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล

หลายครั้งที่ปัญหานี้มักถูกมองว่าเกิดจากการก่อหนี้เกินตัว ขาดความรู้ทางการเงิน แต่หากมองอีกมุมก็อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากรายได้ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งสอดคล้องกับปัญหากับดักรายได้ปานกลางของไทย

ติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ไทยเปลี่ยนจากประเทศรายได้ต่ำสู่รายได้ปานกลางตั้งแต่ปี 1987 และเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2011 จนถึงตอนนี้ก็จะ 36 ปีแล้วที่ประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ขณะที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จะบรรยายสภาพประเทศไทยว่าแก่ทั้งที่ยังไม่รวยก็ได้

การยกระดับจากประเทศรายได้ต่ำสู่รายได้ปานกลางมักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ต้องใช้วิทยาการระดับสูง เช่น ค่าจ้างแรงงานต่ำ, การย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมสู่อุตสาหกรรม, มีทรัพยากรธรรมชาติปริมาณมาก

ลองดูตัวอย่างประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางเพื่อค้นหาสาเหตุกันสักหน่อย เริ่มจากฟิลิปปินส์มีปัญหาขาดนวัตกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่ม ปี 2018 ฟิลิปปินส์มีงบ R&D เพียง 0.14% ของ GDP ลักษณะคล้ายกันนี้เกิดกับประเทศบราซิลซึ่งอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไม่มีการต่อยอดมูลค่า ก็ยังไม่ก้าวข้ามประเทศรายได้ปานกลาง

ปี 2020 ประเทศไทยมีงบ R&D ที่ 1.33% ของ GDP ขณะที่ประเทศเยอรมนีที่โดดเด่นด้านเทคโนโลยีมีงบ R&D ที่ 3.1% ของ GDP

ปัญหานี้สะท้อนชัดว่ารายได้เพิ่มน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ในขณะที่ต้นทุนค่าใช้จ่ายกลับเพิ่มขึ้นตามเงินเฟ้อ ซึ่งนอกจากก่อหนี้ครัวเรือนแล้ว เงินออมแทบไม่ต้องพูดถึง เพราะรายได้ไม่เหลือ

เงินออมเทียบ GDP น้อยลง

เงินออมเทียบ GDP น้อยลง

ย้อนไปราว 30 ปีที่แล้ว ในยุค 90 ไทยมีอัตราการออมเงินที่ประมาณ 35-40% ของ GDP เวลาผ่านไปพร้อมเศรษฐกิจที่ขยายตัว ปัจจุบันอัตราการออมเงินกลับลดลงมาที่ 30-35% ของ GDP สะท้อนค่อนข้างชัดว่าการบริโภคก็เพิ่มขึ้นมากกว่าเศรษฐกิจที่ขยายตัว

ซึ่งยืนยันได้ด้วยประโยคที่ว่า “รวยกระจุกจนกระจาย” จากข้อมูลบัญชีเงินฝากในประเทศไทยพบว่าบัญชีที่มีเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท คิดเป็นสัดส่วน 87.63% ขณะที่บัญชีที่มีเงินระหว่าง 1 ล้านบาทถึง 10 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1.51%

เมื่อมาถึงปัญหานี้ทำให้เห็นภาพว่าประเทศไทยกำลังแก่แบบที่รายได้ไม่สูงและไม่มีเงินเก็บเพียงพอ แน่นอนว่าทั้ง 3 ปัญหาใหญ่นี้ล้วนมีความเกี่ยวข้องกัน เป็นสาเหตุของกันและกัน ซึ่งอาจสายเกินไปแล้วด้วยที่จะแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตามลองแก้ก็ดีกว่านั่งเฉยไม่ทำอะไร รัฐบาลต้องมีแนวทางระยะยาวว่าประเทศจะมีตำแหน่งในเวทีโลกตรงไหน มุ่งเน้นพัฒนาภาคส่วนใดในประเทศ ให้การศึกษาเรื่องการเงินเป็นอีกวิชาบังคับ แก้ไขหนี้ครัวเรือนทุกจุด แต่ก็น่าเสียดายที่นโยบายการเมืองกลับไม่มีสิ่งเหล่านี้ปรากฎให้เห็นเลย

คนแก่อายุยืน แต่เด็กเกิดใหม่น้อย รายได้ต่อหัวก็ต่ำ

ทศวรรษที่ผ่านมา ไทยมีอัตราการเกิดของประชากรต่ำมาก แต่รายได้ของเรายังไม่อยู่ในจุดที่น่าพอใจ ซึ่งประเทศที่ ‘กำลังพัฒนา’ แบบไทย เศรษฐกิจจะเติบโตได้ส่วนใหญ่จะต้องอาศัยคนวัยทำงานหรือที่เราเรียกว่า “แรงงาน” ในการผลักดันเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้เจริญเติบโต

โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นประเทศที่อิงแรงงานเป็นหลักหรือที่เรียกว่า Labor Intensive (แรงงานเข้มข้น) การที่อัตราการเกิดของไทยต่ำนั้น ยิ่งทำให้ประเทศเสียโอกาสในการเติบโตของประเทศเรามากขึ้น 

หากอัตราการเกิดต่ำแบบนี้ในระยะยาวนั้น แนวโน้มที่จะเก็บภาษีจากแรงงานต่าง ๆ ได้ก็จะยิ่งมีสัดส่วนที่ลดลงเมื่อเทียบกับสัดส่วนที่ไม่ใช่แรงงานหรือเด็กและผู้สูงอายุนั่นเอง ยิ่งเพิ่มโอกาสที่รัฐบาลเราจะปฏิรูปโครงสร้างภาษีต่าง ๆ ให้เพิ่มขึ้น

แรงงานในอนาคตอาจจะโดนภาษีที่เยอะมากขึ้นจากภาระค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องใช้ในการดูแลสุขภาพและเป็นเบี้ยเลี้ยงให้ผู้สูงอายุที่มากขึ้นทุกปี รวมถึงตัวแรงงานในไทยเองก็จะถูกบังคับให้ทำงานนานขึ้น การกำหนดวัยเกษียณอายุก็ยิ่งสูงมากขึ้นด้วย

ซึ่งกลุ่มคน Gen Y เป็นต้นไปหนีปัญหานี้ไม่พ้นแน่ ๆ นอกจากจะเป็น Sandwich Generation ที่คนสมัยก่อนมีพี่น้องหลายคนช่วยกันดูแลพ่อแม่ ปัจจุบันก็จะมีตัวคนเดียวดูแลพ่อแม่ที่ไม่พร้อมด้านการเงินในเกษียณอายุของตัวเอง ต้องดูแลลูกที่มีแนวโน้มการเติบโตของค่าใช้จ่ายอย่างสูงลิบ แถมยังต้องรับภาระภาษีที่สูงขึ้นตามไปอีกด้วย

ยิ่งมองระยะยาวไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างในหลาย ๆ รูปแบบ อย่างในหลาย ๆ อุตสาหกรรม ‘การเพิ่มมูลค่า” จะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาตัวสินค้า และทำให้เพิ่มราคาขายได้กำไรได้มากกว่าจะไปสนใจแต่เรื่องของปริมาณเพียงอย่างเดียว ถ้าเราเพิ่มราคาขายของเราได้ การพัฒนาสินค้าและบริการก็จะช่วยทำให้เราเข้มแข็งในการแข่งขันในตลาดโลกและทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ด้วยเช่นกัน 

หรือเรื่องของระบบการศึกษาก็เช่นกันที่ต้องมีปรับปรุงและพัฒนาอย่างเร่งด่วนตั้งแต่วันนี้ เดี๋ยวนี้ นั่นก็เพราะว่าการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษากว่าจะเห็นผลไม่ใช่ 3 – 6 เดือน แต่การปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาแล้วกว่าจะเห็นผลนั้นใช้เวลามากกว่า 10 – 15 ปี 

เด็กคนหนึ่งต้องรอเข้าเรียนตั้งแต่ประถมจนเรียนจบปริญญาตรี ถึงจะเห็นดอกผลของระบบการศึกษานั้น ๆ การเปลี่ยนแปลงกลางคัน เด็กที่อยู่ที่ช่วงเปลี่ยนระบบจะไม่ได้สะท้อนผลลัพธ์ของระบบสักเท่าไหร่ ซึ่งปัจจุบันระบบการศึกษาบ้านเราเละเทะขนาดไหนคงไม่ต้องพูดถึงกัน

จริง ๆ แล้วเราแทบไม่ต้องคิดอะไรใหม่เลยด้วยซ้ำเกี่ยวกับระบบการศึกษา เพราะมีหลายที่ในโลกที่ระบบการศึกษาเป็นตัวอย่างที่ดีมาก แค่เราลอกมาวางและปรับให้เรารับวิถีของคนไทยก็ได้แล้ว แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่ทำกันสักที คิดแล้วก็ได้แค่สงสัย 

สุดท้ายพี่ทุยว่าเสียงของเราอาจจะปรับเปลี่ยนอะไรในภาพใหญ่มากไม่ได้ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถปรับตัวเตรียมพร้อมกับอนาคตที่จะมาถึงได้ เพราะปัญหาเรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” ยังไงก็ต้องเจอ ยังไงก็ต้องเกิดเพราะเรื่องโครงสร้างประชากรเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำ

ดังนั้นในระหว่างที่เราไม่สามารถคาดหวังว่ารัฐบาลจะสามารถดูแลเรายามแก่ได้หรือจะให้ลูกหลานมาเลี้ยงดูตัวเราได้ การเริ่มต้นวางแผนเกษียณของตัวเอง ตั้งแต่เดี๋ยวนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ เกมการเกษียณไม่สามารถกด Restart ได้เหมือนกับการเล่นเกมอื่น ๆ นะ

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply