อนาคตของ Blockchain (บล็อกเชน) หลังยุครุ่งเรืองของ Bitcoin

อนาคตของ บล็อกเชน หลังยุครุ่งเรืองของ Bitcoin

5 min read  

ฉบับย่อ

  • Blockchain มรดกจาก Bitcoin สกุลเงินดิจิทัลที่โด่งดัง หัวใจของมันคือการส่งผ่านและจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบดิจิทัลแบบไม่จำเป็นต้องผ่านตัวกลาง และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่น่าเชื่อถือมาก
  • ถึงแม้ว่าในตอนนี้ Bitcoin จะมีผลลัพธ์ที่น่าผิดหวัง แต่ว่าระบบของ Blockchain นั้นสามารถมาประยุกต์ใช้ได้อย่างหลากหลาย ตั้งแต่การทำธุรกรรมทางการเงิน การจัดการข้อมูลอันแสนน่าเบื่อของระบบราชการ หรือแม้กระทั่งการช่วยเหลือผู้ลี้ภัย
  • ในปี 2019 ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Walmart มีแผนจะใช้ระบบนี้ในการติดตามที่มาของผักใบเขียวที่พวกเขานำมาขาย ในขณะที่ประเทศที่ขึ้นชื่อด้านการใช้เทคโนโลยีอย่าง Estonia ก็มีการใช้ระบบดังกล่าวในการเชื่อมโยงประชาชนเข้าหาบริการของรัฐ หรือแม้กระทั่งค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศ Jordan ก็ใช้ระบบ Blockchain นี้มาช่วยบริหารจัดการภายในค่าย
  • ถึงแม้เทคโนโลยี Blockchain จะมีความปลอดภัยสูงมาก แต่ด้วยความที่เป็นดิจิทัล หลายหน่วยงานจึงยังไม่มั่นใจในเรื่องความปลอดภัยอยู่ดี เจ้า Blockchain คงต้องใช้เวลาเพื่อพิสูจน์ตัวเองกันต่อไป

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พี่ทุยเชื่อว่าหลายๆคนคงเคยได้ยินชื่อของ บิทคอยน์ (Bitcoin) สกุลเงินดิจิทัลที่เคยเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง โดยมันเคยมีมูลค่าถึง 20,000 ดอลลาร์ต่อ 1 บิตคอยน์ (20000 USD Per 1 BTC) ก่อนที่จะดิ่งตัวลงไม่หยุด จนตอนนี้เหลือมูลค่าแค่ประมาณ 3,900 กว่าดอลลาร์เอง ลดไปเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์แหน่ะ ถึงแม้ตอนนี้เจ้าสกุลเงินที่เคยเกือบจะเป็นสกุลเงินแห่งอนาคตจะมีผลลัพธ์ที่ดูน่าผิดหวัง แต่มันกลับได้ทิ้งมรดกอันล้ำค่าเอาไว้ ด้วยการแนะนำให้โลกรู้จักระบบ Blockchain (บล็อกเชน)

บล็อกเชน คืออะไร ?

Blockchain คือระบบที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของบิทคอยน์ หัวใจของมันคือความโปร่งใสและเชื่อถือได้โดยไม่ต้องมีตัวกลางมาคอยรับรอง พูดง่ายๆ คือ เจ้าบล็อคเชนก็ทำหน้าที่คล้ายๆกับบัญชีอิเลคทรอนิกส์นี่แหละ แต่แทนที่เราจะไปเปิดบัญชีกับคนกลางที่เชื่อถือได้ เช่น ธนาคารแบบสมัยก่อน ก็เปลี่ยนมาเป็นจัดการทั้งหมดด้วยตัวเองไปซะเลย โดยใช้โค้ดดิจิทัลส่วนตัวในการรักษาความลับของข้อมูล แล้วบัญชีที่ว่านี้มันก็สามารถดัดแปลงไปใช้กับการจัดการข้อมูลได้สารพัดอย่าง

ด้วยหลักการการทำงานที่ไม่ซับซ้อนอะไรมาก ถ้าพี่ทุยมีบัญชีในระบบนี้ บัญชีดิจิทัลของพี่ทุยก็จะมีการเข้าโค้ดอันซับซ้อนที่เรียกว่า Hash ที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่นๆในระบบเป็นสักขีพยาน เรียงตัวต่อกันเป็นโซ่ จนกลายเป็นที่มาของคำว่า บล็อคเชน (Blockchain) นี่แหละ

และที่มันน่าเชื่อถือก็เพราะว่า ด้วยความบล็อคแต่ละบล็อคมันเชื่อมกันกับคนอื่นๆเป็นทอดๆแบบนี้ ทำให้ใครที่คิดจะเข้ามาแทรกแซงหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลนี่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันจะกระทบกับบล็อคอื่น ๆ ไปหมดเหมือนล้มโดมิโน ระบบนี้จึงปลอดภัยและไว้ใจได้มาก

ทุกคนเริ่มเห็นความสามารถของระบบนี้แล้วใช่ไหมล่ะ ด้วยความที่มันตัดขั้นตอนไม่ต้องผ่านตัวกลาง และสามารถติดตามการกระทำตั้งแต่ต้นจนจบได้อย่างโปร่งใส ทำให้เราสามารถเอาเจ้าบล็อคเชนนี้ไปใช้งานในรูปแบบอื่นๆได้เต็มไปหมด จนขนาดที่บางคนบอกว่า มันจะสร้างปรากฏการณ์พอๆกับยุคที่มีเราเริ่มอินเทอร์เน็ตแรกในช่วงแรก!

แล้วทุกวันนี้คนเค้าใช้ระบบบล็อคเชนไปทำอะไรกันแล้วบ้าง ไปดูกันเลย!

ผักสดปลอดสารพิษ มั่นใจได้ด้วย Blockchain

พี่ทุยเชื่อว่า หลายๆครั้งเราอาจไม่แน่ใจว่าพวกสิ่งต่างๆที่เรากินเข้าไปกันเนี่ยมันสะอาดและปลอดภัยจริงมั้ย อย่างน้อยถ้าได้รู้ที่มาของมันตั้งแต่ต้นทางจนมาถึงปลายช้อนเรา ก็คงทำให้สบายใจไปได้พอสมควรแหละ         ห้างสรรพสินค้าชื่อดังของสหรัฐฯอย่าง Walmart ก็คิดแบบนั้น เขาจึงได้ร่วมกับบริษัท IBM พัฒนาระบบติดตามผักใบเขียวที่ชื่อว่า IBM Food Trust Network ที่ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนมาช่วยในกระบวนการติดตามที่มาของผักตั้งแต่ ผู้ปลูก การขนส่ง กระบวนการหั่นล้าง จนมาถึงมือเรา

โดยสิ่งที่เราต้องทำก็แค่สแกนโค้ดที่อยู่แปะไว้บนถุงเท่านั้น เราก็จะสามารถรู้ตั้งแต่ว่าผักนี้มาจากไหน เกษตรกรผู้ปลูกเป็นใคร ใช้วิธีการปลูกแบบไหน หรือรู้แม้กระทั่งเก็บเกี่ยวเวลาใด

ดูๆแล้วก็เหมือนกับการเก็บข้อมูลทั่วๆไป แต่ที่น่าสนใจก็คือ การที่เราสามารถติดตามการเดินทางของเจ้าผักได้แบบเรียลไทม์ (Real-Time) ทีนี้ถ้าเกิดเห็นตรงไหนผิดปกติก็ตรวจเช็คได้ง่ายกว่าเดิมหลายเท่า และด้วยความที่ข้อมูลมันผูกกันแบบนี้ ทำให้ถ้าคิดจะเปลี่ยนหรือสลับของก็จะทำได้ยากขึ้นกว่าเดิมมาก

อันที่จริงการใช้บล็อคเชนเพื่อติดตามที่มาของวัตถุดิบก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่มากนัก เพราะก่อนหน้านี้ก็มีโครงการทดลองติดตามที่มาของปลาทูน่าแต่ละตัวมาใช้ในประเทศอินโดนีเซีย แต่การที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ด้วยตัวเอง พี่ทุยเชื่อว่าอาจจะปลุกกระแสให้บริษัทอื่นๆเห็นความสำคัญของการสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารเพื่อสร้างสังคมแห่งความใส่ใจ และไม่เกิดปัญหาความมั่นคงเกี่ยวกับอาหาร (Food Security) ขึ้นมาในอนาคต วันข้างหน้าเราอาจจะกลับจากซุปเปอร์มาร์เก็ตด้วยสีหน้ายิ้มแย้มและโล่งใจกว่าเดิมมากก็ได้นะ

พลเมืองยุคใหม่ ดูแลตัวเองได้ด้วย บล็อกเชน

หลายคนคงจะพอรู้จักหรือได้ยินชื่อประเทศเอสโตเนียในฐานะประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องการบริหารจัดการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีเป็นหลัก พวกเค้ามักจะเรียกตัวเองว่าเป็น E-Estonia เพราะประเทศนี้เค้าก็มีรูปแบบการบริหารแบบอิเลคทรอนิกส์มานานก่อนที่โลกจะรู้จักระบบบล็อคเชนแล้วแหละ แต่ระบบนี้ก็มาช่วยเติมเต็มความฝันในการจัดการทุกอย่างผ่านระบบอิเลคทรอนิกส์ของประเทศนี้ได้มากขึ้นเยอะ

เริ่มจากสิ่งที่ดูยุ่งยากซับซ้อนที่สุดอย่างประวัติทางการแพทย์ของเรา ทุกวันนี้ถ้าเกิดถามว่าประวัติทางการแพทย์เรามันอยู่ที่ไหนหรือว่าข้างในนั้นมันเขียนอะไรเอาไว้บ้าง พี่ทุยเชื่อว่าทุกคนคงพากันคิ้วขมวด แต่ไม่ใช่กับที่ประเทศเอสโตเนีย เพราะที่นั่นเราสามารถตรวจสอบข้อมูลทางการแพทย์ของเราเองได้ ด้วยความที่แทบทุกอย่างมันอยู่ในระบบดิจิทัลที่มีการรักษาความปลอดภัยอย่างดีโดยใช้ระบบบล็อคเชน ทำให้ประชาชนชาวเอสโตเนียนสามารถเข้าถึงประวัติการรักษา ผลตรวจที่ผ่าน หรือแม้แต่ประวัติการ X-ray ของตัวเองได้

ถ้าคิดว่าการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตัวเองมันจะไปมีประโยชน์อะไร เพราะเราเองก็ไม่ใช่หมอจะไปทำอะไรได้ เรื่องนั้นก็ไม่ต้องกังวลไปเพราะหมอที่นั่นก็สามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้หากเกี่ยวข้องกับการรักษา ทีนี้เวลาวินิจฉัยโรคก็จะเป็นไปอย่างแม่นยำมากขึ้น ไม่ต้องให้เรามานั่งอธิบายว่าเป็นอะไรมาซ้ำๆอีกต่อไป แล้วยังเป็นการเก็บสถิติที่แน่นอนที่สามารถพัฒนาการรักษาต่อไปได้ด้วย ส่วนตัวเราถ้าสงสัยตรงไหนก็สามารถสอบถามหรือตรวจสอบจากคุณหมอได้โดยตรง

ตอนนี้ทุกอย่างในประเทศเอสโตเนียนั้นถูกทำให้เป็นระบบดิจิทัลเกือบทั้งหมดแล้ว แต่ใครจะไปคิดว่าพี่ๆ เค้าจะล้ำไปกว่านั้นด้วยการเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดให้มีการสมัครเป็น E-Residency หรือพูดง่ายๆ ก็คือใครๆ ในโลกก็สามารถเป็นพลเมืองดิจิทัลของประเทศเอสโตเนียได้

ซึ่งโครงการนี้มีผู้คนให้ความสนใจอย่างล้นหลาม ทั้งเซเลบริตี้คนดัง สมาชิกราชวงศ์ของอังกฤษ หรือแม้แต่ผู้นำประเทศของบางประเทศ ซึ่งโครงการนี้ไม่ได้ตั้งขึ้นมาเล่นๆ เพราะมันทำให้ผู้ที่ผ่านการตรวจสอบประวัติและได้รับการยืนยันสิทธิ์ให้เป็นพลเมืองดิจิทัลสามารถใช้สิทธิ์ต่างๆ เหมือนชาวเอสโตเนียนได้ทุกประการ ทั้งการศึกษา การเข้าถึงข้อมูลของรัฐ และโดยเฉพาะการประกอบธุรกิจที่ต่อไปไม่ว่าเราจะนั่งอยู่ที่ไหนในโลก เราก็จะสามารถประกอบธุรกิจในเอสโตเนียได้พร้อมสิทธิพิเศษแบบสมาชิกสหภาพยุโรปแถมไปด้วย

โดย E-Resident นั้นจะได้รับบัตร Smart ID พร้อมเครื่องอ่านที่สามารถเสียบเข้ากับคอมพิวเตอร์เครื่องไหนก็ได้ หลังจากนั้นก็สามารถทำทุกอย่างได้แค่ปลายคลิ๊ก ทั้งเซ็นเอกสาร จัดการบัญชี ทำสัญญาต่างๆ โดยสิ่งต่างๆ ที่เราทำผ่านลายมือดิจิทัลของเรานี้จะมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายเอสโตเนียทุกประการ

E-Estonia คงไม่มีทางมาถึงวันนี้ได้แน่ ถ้าผู้นำประเทศไม่ได้เห็นถึงความสำคัญของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะแนวโน้มของโลกที่เข้าสู่ยุคดิจิตัลมากขึ้น และที่สำคัญคือความเชื่อมั่นต่อระบบบล็อคเชนที่สุดท้ายมันช่วยปลดล็อคศักยภาพการบริหารแบบ E-Government ได้อย่างสมบูรณ์แบบแบบนี้

ลี้ภัยไม่ลี้ลับ ให้ Blockchain ช่วยดูแล

การที่ต้องเปลี่ยนสถานะจากพลเมืองมาเป็นผู้ลี้ภัยในเวลาสั้นๆ พี่ทุยคิดว่าน่าจะลำบากมากๆ เลยแหละ ด้วยความฉุกละหุกและความเร่งรีบ กลุ่มผู้ลี้ภัยส่วนมากก็มักจะไม่มีทรัพย์สินหรือเอกสารสำคัญติดตัวมาซักเท่าไหร่ ยิ่งทำให้การมาเริ่มต้นชีวิตใหม่เป็นไปอย่างยากลำบากซ้ำไปอีก จะดีแค่ไหนถ้าพวกเขาสามารถจัดการชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้นแค่เพียงยกโทรศัพท์ขึ้นมา

ต้องขอบคุณเทคโนโลยีบล็อคเชนอีกนั่นแหละ ที่ทำให้ความคิดนี้กลายเป็นจริงขึ้นมาได้ ในค่ายผู้ลี้ภัยซาตารี่ (Zaatari Refugee Camp) ในประเทศจอร์แดน ได้มีการนำระบบบล็อกเชนมาใช้ในการจัดการผู้ลี้ภัยภายในค่าย ด้วยระบบนี้พวกเขาสามารถสร้างหลักฐานยืนยันตัวตนของตัวเองขึ้นมาใหม่ รวมถึงได้เงินเข้ากระเป๋าตังค์ดิจิทัล (Digital Wallet) ของตัวเองเพื่อมาใช้จ่ายภายในค่ายได้โดยตรง

ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นการช่วยตัวผู้ดูแลค่ายอย่าง UN ในการต้องใช้เงินสดจำนวนมากในการมาแจกจ่ายเหมือนสมัยก่อน การที่พวกเขามีตัวตนอีกครั้งในระบบนี้ แถมยังทำให้พวกเขานั้นมีเครดิตสกอร์ (Credit Score) เพื่อใช้ในการกู้เงินซื้อบ้านหรือเปิดบัญชีธนาคารจริงๆ ก็จะสามารถทำได้อย่างง่ายดายมากขึ้น

Blockchain เทคโนโลยีดาบสองคม

พี่ทุยได้ยินเสียงวิจารณ์มากมายที่บอกว่าบล็อคเชนไม่ใช่อะไรใหม่มากไปกว่าการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบดิจิทัลที่มีมานานแล้ว ตรงข้อนี้อาจจะเป็นข้อถกเถียงที่ไม่มีวันจบ แต่มีข้อวิจารณ์อีกข้อที่เราอาจต้องเอามาขบคิดอย่างจริงจัง นั่นคือเรื่องของความเชื่อถือได้ของมัน ว่าท้ายที่สุดแล้วเราสามารถเชื่อเจ้าระบบนี้ได้แค่ไหน

เพราะถึงมันจะการันตีตัวเองว่ามันเป็นระบบที่ปลอดภัยร้อยเปอร์เซนต์และมีความเสี่ยงเท่ากับศูนย์ แต่ด้วยความที่อะไรก็ตามที่อยู่ในระบบดิจิทัลล้วนแต่สุ่มเสี่ยงทั้งนั้น แม้แต่ประเทศเอสโตเนียเองที่ใช้ระบบดิจิทัลในการบริหารประเทศยังเคยโดนโจมตีทางไซเบอร์ (Cyber Attack) เมื่อปี 2007 ด้วยเหตุผลทางการเมืองล้วนๆ การโจมตีครั้งนั้นทำให้เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐภายในประเทศถึงกับใช้บริการไม่ได้ไปในระยะเวลาหนึ่งเลยทีเดียว

ถึงแม้เทคโนโลยีสุดล้ำจะมาพร้อมกับความเสี่ยงที่น่ากลัว แต่การกลัวอย่างเดียวก็อาจจะทำให้เราไม่มีโอกาสได้เข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้เลย การช่วยกันพัฒนาเพื่อสร้างระบบป้องกันที่ปลอดภัยที่จะทำให้ระบบของเรามีความเสี่ยงน้อยที่สุด น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด อาจจะต้องใช้เวลาอีกสักหน่อย แต่พี่ทุยเชื่อว่าอีกไม่นานหลายๆ หน่วยงานจะต้องเริ่มเห็นความสำคัญของบล็อกเชนแน่นอน

แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราควรส่งเสริมให้ทุกคนมีจริยธรรมทางไซเบอร์ (Cyber Ethics) เพื่อให้ใช้ระบบเหล่านี้อย่างมีเหตุผลและเป็นประโยชน์ต่อสังคม แล้วหลังจากนั้นก็ค่อยสร้างความเป็นชุมชนของกลุ่มผู้ใช้งานที่จะนำไปสู่การร่วมกันป้องกันระบบและพัฒนาการตรวจสอบด้วยกันในท้ายที่สุด แน่นอนว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามักเป็นดาบสองคม แต่ระหว่างไม่หัดใช้ดาบเลย กับฝึกใช้ดาบจนคล่องแคล่ว พี่ทุยขอสนับสนุนอย่างหลังนะ

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply