รัฐบาลแจกเงินแสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจแก้วิกฤต "Covid" 19

รัฐบาลแจกเงินแสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจแก้วิกฤต “Covid” 19

3 min read  

ฉบับย่อ

  • กระทรวงการคลังเตรียมออกนโยบาย พยุงเศรษฐกิจด้วยวงเงิน 100,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 มาตรการหลัก
  • ความเชื่อมั่นในการจัดการกับวิกฤตกำลังเป็นปัญหาที่รัฐบาลชุดนี้ต้องรีบจัดการ เพราะส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจโดยตรง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ณ เวลานี้ หลายคนคงตามข่าวเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส “Covid” 19 กันอย่างใจจดใจจ่อ ทั้งในเรื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อและผลกระทบที่เกิดขึ้น ตอนนี้หลาย ๆ ฝ่ายก็คงเริ่มได้รับผลกระทบกันอย่างชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักท่องเที่ยวที่หายไปอย่างชัดเจน คนเริ่มไม่ออกจากบ้าน ไม่มีคนเดินตลาด จนพ่อค้าแม่ค้าหลายคนเริ่มออกมาบ่นและรอความช่วยเหลือกันแล้ว พี่ทุยก็เลยคิดถึงอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน ก็คือเรื่องมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจสังคมในตอนนี้

ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวจากนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ของไทยเรา ว่าจะมีการออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการแจกเงิน และมาตรการอื่น ๆ อีก รวมแล้วใช้เงินประมาณ 1 แสนล้านบาท เชื่อว่าหลาย ๆ คนพอได้ยินข่าวนี้ก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า “อีกแล้วเหรอ ? แจกเงินอีกแล้วเหรอ ?” แน่ ๆ เลยเพราะพี่ทุยก็เป็นหนึ่งในนั้น ฮ่า ๆ

วันนี้พี่ทุยเลยจะมาวิเคราะห์ให้ฟังกันว่า มาตรการแบบนี้มันโอเคหรือไม่ ในช่วงเวลาแบบนี้ ก่อนอื่นเลยเรามาดูกันว่ามาตรการที่กระทรวงการคลังจะออกมารอบนี้มีอะไรบ้าง แม้รายละเอียดจะยังมีไม่มากนักแต่พี่ทุยขอสรุปให้ฟังคร่าว ๆ ตามนี้ เริ่มจาก

1. การแจกเงินแก่ผู้มีรายได้น้อย โดยการโอนเข้าพร้อมเพย์คนละประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อเดือนและอาจจะทยอยแจก 3-4 เดือนด้วยกัน
2. สินเชื้อดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการ (Soft loan)
3. ปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Savings Fund: SSF)

มาตรการที่ 1 แจกเงินผ่านพร้อมเพย์

พี่ทุยจะขอวิเคราะห์ไปทีละข้อแล้วกัน เริ่มจากการแจกเงินตามข่าวจะพบว่ามีคนที่จะได้รับเงินประมาณ 14 ล้านคน หากคิดเล่น ๆ ได้เงินคนละ 1,000 บาท 3 เดือนเท่ากับว่าใช้เงินไปแล้ว 42,000 ล้านบาท หากแจก 2,000 บาท ก็ปาไป 84,000 ล้านบาทแล้ว….. แทบจะหมดวงเงินจากที่ประกาศมา ซึ่งโดยส่วนตัวพี่ทุยคิดว่า มาตรการนี้มีลักษณะคล้ายกับมาตรการ ชิมช้อปใช้ มาก ๆ ซึ่งเป็นการแจกเงินเช่นเดิม ที่ผ่านมา ชิมช้อปใช้ ก็แจกเงินอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นการกระตุ้นระยะสั้นเท่านั้น ไม่ได้ต่างจากเดิมเลย

พี่ทุยคิดว่าในภาวะที่ผู้คนต่างเสียความเชื่อมั่นระมัดระวังการใช้จ่ายแบบนี้ การได้เงินมา คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะนำไปเก็บไว้เผื่อยามฉุกเฉิน จึงอาจจะไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งมันตรงกับงานวิจัยหลายชิ้นที่บอกว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตแบบนี้ “Fiscal Multiplier” หรือตัวคูณทางการคลังจะลดลงอย่างชัดเจน

“Fiscal Multiplier” อธิบายแบบง่าย ๆ ก็คือการที่รัฐบาลอัดฉีดเงิน 1 บาทปกติ ควรจะทวีคูณเป็น 2 บาท 3 บาทผ่านการใช้จ่ายของประชาชน เช่นคนแรกได้เงินไป เอาไปซื้อข้าวกับแม่ค้า จากนั้นแม่ค้าเอาไปซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกร จะเห็นได้ว่าเงินมีการหมุนไปหลายต่อ ทำให้เกิดการหมุนของเงินที่มากขึ้น แต่ในภาวะแบบนี้อัดฉีดเข้าไปมีโอกาสเงียบหายแน่นอน

สรุปพี่ทุยเลยมองว่าการแจกเงินแบบนี้ ในช่วงเศรษฐกิจที่ชะลอตัวไม่ค่อยเหมาะเพราะไม่ได้ช่วยให้เศรษฐกิจหมุนได้สักเท่าไหร่ในเวลาแบบนี้

มาตรการที่ 2 สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)

ส่วนมาตรการ Soft Loan หรือการใช้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ อันนี้พี่ทุยคิดว่าค่อนข้างเห็นด้วย เนื่องจากมันจะช่วยทำให้ธุรกิจหลายรายดีขึ้น หรือจะมองว่าเป็นการใช้นโยบายอย่างตรงจุดพุ่งไปที่ผู้มีปัญหาเลย โดยเฉพาะรายเล็กรายน้อยที่อาจจะมีสายป่านที่สั้น ยังคงอยู่รอดจากภาวะเช่นนี้ เพราะจริง ๆ แล้ว SME นับว่าเป็นแหล่งการจ้างงานที่สำคัญของประเทศเราเลยก็ได้ หากกิจการเจ๊งไป 1 กิจการต้องมีคนตกงานมากกว่า 1 อย่างแน่นอน

ซึ่งโครงการลักษณะนี้มักจะเป็นการที่รัฐบาลไปคุยเจรจากับ ธนาคารต่าง ๆ โดยเฉพาะธนาคารของรัฐอย่างพวก ธนาคารออมสินและธนาคาร SME โดยรัฐบาลจะเป็นคนอุ้มค่าดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น จึงทำให้ใช้วงเงินน้อยในการออกมาตรการ แต่ส่งผลเยอะต่อเศรษฐกิจ เช่น ให้กู้ 100,000 บาท สมมติดอกเบี้ย 5 % ก็จะเท่ากับ 5,000 บาท จะเห็นว่าเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจถึง 100,000 บาท แต่รัฐจ่ายเพียงแค่ 5,000 บาท แต่ก็ต้องมาดูกันในรายละเอียดว่าจะเป็นยังไง แล้วถ้ามีรายละเอียดเพิ่มเติม ไว้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังอีกทีนะ

มาตรการที่ 3 ปรับเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)

มาตรการสุดท้ายเป็นมาตรการที่เป็นการช่วยเหลือตลาดเงิน อย่างการปรับเกณฑ์กองทุนรวม SSF โดยอาจจะให้กองทุน SSF นั้น กลับไปใช้หลักเกณฑ์ของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นการชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี ซึ่ง SSF อย่างที่เรารู้กันว่าไม่ได้จำกัดการซื้อแค่ “หุ้นไทย” เพียงอย่างเดียว แล้วในสภาวะแบบนี้เลยถูกมองว่าเม็ดเงินที่ผ่าน SSF เข้ามาน่าจะไปที่สินทรัพย์อื่น ๆ ซะมากกว่า ไม่ได้เป็นการส่งเสริมหรือพยุงตลาดทุนแต่อย่างใด แต่เราคงต้องมาดูกันอีกในรายละเอียดว่าเป็นยังกันแน่ แล้วถ้ามีรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมพี่ทุยจะมาบอกกันอีกที

ณ เวลานี้นโยบายที่ควรทำมีอะไรบ้าง ?

จริง ๆ แล้วจากงานศึกษาพบว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตสิ่งที่รัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายการคลังควรจะช่วยเหลือมีอยู่ 3 อย่างได้แก่

1. ช่วยเหลือตลาดทุน ให้ความเชื่อมั่นยังไม่เสียให้เดินได้ต่อ ผู้ลงทุนและผู้ประกอบการยังคงไม่เจ็บตัวหนักมากนัก ซึ่งข้อนี้เราก็ได้เห็นแล้วว่าน่าจะมีการปรับเกณฑ์ SSF แต่อย่างที่บอกไปเราคงต้องมาดูกันว่าจะมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนตัวพี่ทุยมองว่าถ้าในสิทธิ์แค่ปีเดียวอาจจะไม่ได้ช่วยเหลืออะไรได้มาก

2. ช่วยด้าน Demand เป็นการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งการช่วยด้านนี้มีเต็ม ๆ เลยอย่างมาตรการแจกเงินตามที่ได้บอกไป แต่พี่ทุยก็คิดว่าไม่ค่อยน่าจะได้ผลสักเท่าไหร่ ซึ่งในงานวิจัยผลออกมาเป็นแบบนี้เหมือนกัน สิ่งที่งานศึกษาแนะนำให้ทำเพื่อช่วยด้านนี้ จะเป็นลักษณะของการลงทุนระยะยาวมากกว่า เช่นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ให้เกิดการจ้างงาน การให้เงินลงทุนแก่หมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน มันจะมีผลลัพธ์ปลายทางเช่นเดียวกับการแจกเงินนั้นแหละ ก็คือให้ประชาชนมีเงิน แล้วไปบริโภคต่ออีกที

แต่ที่ต่างคือไม่ได้เป็นการให้เปล่า ซึ่งมีลักษณะเดียวกับมาตรการจำพวก Soft Loan คือ ธุรกิจยังคงต้องทำมาหากินเพื่อใช้หนี้แต่อย่างน้อยรัฐบาลช่วยส่วนหนึ่ง การทำแบบนี้มันจะส่งผลต่อในระยะยาวที่ทำให้ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือยังช่วยตัวเองได้อยู่ ไม่ได้ทำให้ติดนิสัยไม่ทำอะไรรอแต่ความช่วยเหลือ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นแล้วประเทศเราอาจจะเป็นเหมือนเวเนซุเอลา ก็ได้ (ตอนนี้สถานการณ์เรายังห่างไกลจาก เวเนซุเอลามากยังไม่ต้องเป็นกังวล ณ จุดนี้กัน)

3. ช่วยเหลือด้านสินค้าและบริการ รวมถึงความเชื่อมั่นของประชาชน ปกติแล้วจะเป็นการช่วยทำให้สินค้าและบริการที่จำเป็นถึงมือประชาชนอย่างแน่นอน ตอนนี้เท่าที่พี่ทุยเห็นก็มีแต่เรื่องการกำหนดราคาหน้ากากเท่านั้นแหละ ซึ่งการช่วยเหลือด้านนี้ไม่ได้ทำได้แค่เพียงกำหนดราคานะ จริง ๆ แล้วถ้าจะแจกก็ทำได้เช่นกัน หากรัฐบาลเห็นว่าเป็นสินค้าจำเป็น ซึ่งต่อไปหากเศรษฐกิจแย่กว่านี้ผู้คนเริ่มกักตุนสินค้าอาหาร เราอาจจะเห็นมาตรการเกี่ยวกับสินค้ามากขึ้นอย่างการแจกอาหารแห้ง ช่วยค่าน้ำค่าไฟ ก็เป็นได้ แต่พี่ทุยภาวนาอย่าให้ถึงขั้นนั้นเลย เพราะต้องบอกว่าการบริหารจัดการของภาครัฐมีปัญหาจริง ๆ

แต่ที่พี่ทุยอยากเห็นมากที่สุดคือการช่วยเหลือในด้าน “ความเชื่อมั่น” ซึ่งควรจะทำเป็นอย่างแรกซะด้วยซ้ำ ถ้าคนยังเชื่อมั่น ผู้คนก็จะดำเนินชีวิตตามปกติ การจับจ่ายใช้สอยก็ยังคงทำได้อย่างดี หากคนเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจยังคงไปได้ การลงทุนต่าง ๆ ก็จะไม่หายไปแต่ตอนนี้ดู ๆ แล้ว คนดูกังวลและหวาดกลัวต่อ”Covid” 19 อยู่อีกมาก แล้วไหนจะเรื่อง “ผีน้อย” ที่กำลังเป็นประเด็นหรือเรื่องมาตรการภาครัฐในการควบคุมดูแลที่ช้าและไม่มีประสิทธิภาพ

พี่ทุยเชื่อว่าจริง ๆ ว่ารัฐมีวิธีการใช้เงินอีกมากที่ดีกว่าการแจกตังค์แน่ ๆ แหละ อย่างเช่น การตั้งศูนย์ “Covid” 19 อย่างจริงจัง จะเห็นว่าตอนนี้ผู้คนยังไม่แน่ใจเลยว่าควรใส่หน้ากากหรือไม่ สถานการณ์เป็นอย่างไร คงจะดีหากมีศูนย์กลางที่คอยให้ความรู้ วิธีการใส่หน้ากากที่ถูกต้อง การป้องกันตัวเองจากโรค พื้นที่ที่มีการระบาดของโรค จำนวนผู้ติดเชื้อ รายงานของขาดตลาด จำนวนเที่ยวบินที่ถูกยกเลิก พี่ทุยว่าข้อมูลเล็ก ๆ เหล่านี้มันจะช่วยคลายความกังวลของประชาชนได้อย่างแน่นอน

สรุปแล้วพี่ทุยคิดว่าการแจกเงินเพิ่มในช่วงนี้อาจจะได้ผลลัพธ์ที่น้อยลง เพราะเป็นช่วงที่คนไม่อยากใช้จ่าย แต่มาตรการพวกการลงทุนระยะยาวยังคงจำเป็นเพื่อเพิ่มการจ้างงาน รวมถึงมาตรการพวก Soft Loan ที่ช่วยพยุงไม่ให้ภาคธุรกิจล้มและเป็นมาตรการที่ไม่ได้มีลักษณะการให้เปล่า จะได้ไม่เพาะนิสัยไม่ทำอะไรเลยรอแต่การช่วยเหลือแบบประเทศเวเนฯ

นอกจากนี้มาตรการควบคุมราคาหน้ากากอาจจะไม่เพียงพอแล้วในภาวะที่ขาดแคลนเช่นนี้ อาจจะต้องเริ่มคิดถึงการแจกจ่าย และสุดท้ายพี่ทุยคิดว่าควรจะลงงบประมาณส่วนหนึ่งไปกับ ศูนย์ควบคุมดูแลโรค “Covid” 19 โดยเฉพาะ โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องทั้งเรื่องการระวังตัวเอง พื้นที่ที่ติด และรายการของขาด เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน และสุดท้ายพี่ทุยขอให้เราอดทนกันอีกนิด เราจะผ่านวิกฤตไปด้วยกัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply