อัพเดทมาตรการใหม่รัฐบาล แก้วิกฤต “Covid” 19 ที่มากกว่าแค่แจกเงิน

อัพเดทมาตรการใหม่รัฐบาล แก้วิกฤต “Covid” 19 ที่มากกว่าแค่แจกเงิน

4 min read  

ฉบับย่อ

  • ล่าสุดมีการยกเลิกแจกเงินแสนล้าน ทดแทนด้วยนโยบายใหม่ เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจและผลกระทบจาก Covid-19 เฟส 1 โดยเปรียบเทียบแล้วดูดีขึ้นกว่านโยบายเดิม
  • นโยบายเฟส 1 นั้นประกอบไปด้วย มาตรการทางการเงิน มาตรการทางภาษี และมาตรการอื่น ๆ ที่ช่วยเรื่องการดำรงชีวิต
  • นโยบายมีทั้งเงื่อนไขและขอบเขตที่ยังไม่ค่อยชัดเจน อาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของนโยบาย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หลังจากวันก่อนมีข่าวว่า นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกมาประกาศจะแจกเงินเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาด โดยบอกคร่าว ๆ ว่าจะใช้งบประมาณแผ่นดินถึงแสนล้านบาท ซึ่งพี่ทุยก็ได้วิเคราะห์ไว้แล้วหากใครยังไม่ได้อ่านไปย้อนอ่านกันได้เลย คลิกที่นี่

ซึ่งไม่เพียงแค่พี่ทุยเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วยแต่ดูเหมือนหลาย ๆ คนก็จะไม่เห็นด้วยเช่นกัน และทางกระทรวงการคลังคงแอบได้ยิน สุดท้ายก็ประกาศเลิกมาตรการนั้นไป ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ก็ได้มีรายละเอียดของ มาตรการเยียวยา “Covid” 19  เฟสแรกออกมาใหม่ วันนี้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังว่าสรุปแล้วรัฐบาลมีมาตรการอะไรบ้าง ดีไม่ดียังไง พร้อมวิเคราะห์แบบจัดเต็มแน่นอน

ก่อนอื่นเลยพี่ทุยต้องบอกว่าดีใจมาก! เนื่องจาก “มาตรการเยียวยา Covid-19” ไม่ใช่มาตรการแจกเงินตรง ๆ แบบที่เคยทำอีกแล้ว ตอนนี้กระทรวงการคลังแบ่งมาตรการออกมาเป็น 3 หมวดใหญ่ ๆ ได้แก่

1. มาตรการการเงิน

1.1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan)

ซึ่งเป็นการให้ความช่วยเหลือจากธนาคารออมสินโดยให้ปล่อยกู้แก่ธนาคารและสถาบันการเงิน วงเงินสูงถึง 1.5 แสนล้านบาท และคิดดอกเบี้ยเพียง 0.01 % ต่อปี ซึ่งนับว่าถูกมาก ๆ เหมือนกับให้กู้ฟรีไม่มีดอกเบี้ยเลยก็ว่าได้ แต่ให้ทางสถาบันการเงินเหล่านั้นไปปล่อยกู้ต่อที่อัตราดอกเบี้ย 2 % ต่อปี ในระยะเวลา 2 ปี สำหรับผู้กู้แล้ว การได้กู้ด้วยดอกเบี้ยแค่ 2 % ก็นับว่าเป็นโอกาสที่ดีเลยเพราะถือว่าต่ำมาก

พอมาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะรู้สึกว่าสถาบันการเงินต่างหากที่ได้ผลประโยชน์จากมาตรการนี้เพราะกู้มาแค่ 0.01% แต่ปล่อยได้ 2% เรียกว่ากำไร 1.99% กินกันฟรี ๆ เลย อันนี้พี่ทุยต้องบอกว่าคิดแบบนั้นไม่ถูกสักเท่าไหร่นัก เพราะว่าความต่างของดอกเบี้ย 2 % สำหรับธนาคารไม่ได้เยอะอย่างที่เราคิดเพราะตัวสถาบันการเงินต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงเวลาถูกเบี้ยวหนี้ แล้วในสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้… พี่ทุยว่ามีโอกาสอีกมากที่ผู้กู้จะเบี้ยวไม่จ่ายหนี้ ถือเป็นต้นทุนแก่ธนาคารเหมือนกัน

1.2. มาตรการพักเงินต้นและลดดอกเบี้ยรวมถึงการยืดระยะเวลาชำระหนี้

นโยบายนี้จัดให้สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) หรือพวกธนาคารที่เป็นของรัฐเช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธนาคาร SME ซึ่งตอนนี้รายละเอียดที่ออกมายังไม่มีกำหนดตายตัว แต่พี่ทุยคิดว่าคงออกมาในหลายรูปแบบตามที่แต่ละธนาคารกำหนด และเห็นว่าเหมาะแก่ลูกค้าตนเอง เช่น การพักชำระหนี้ การลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือกระทั่งการ Refinance หนี้บัตรเครดิต อันนี้เราต้องติดตามเพิ่มเติมกัน

1.3. มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้ผลกระทบ

มาตรการนี้จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการในการช่วยเหลือหลายรูปแบบ เช่น เพิ่มความยืดหยุ่นในการอนุมัติสินเชื่อ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือปล่อยสินเชื่อให้ง่ายขึ้นนั่นเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้กู้มีเงินเพียงพอที่จะผ่านพ้นช่วงวิกฤตนี้ไปได้

สำหรับพี่ทุยแล้วคิดว่ามาตรการนี้อาจจะต้องระมัดระวังมากเป็นพิเศษเนื่องจากจะเป็นการเพิ่มหนี้ในระบบ และมีโอกาสที่ได้ลูกหนี้ที่อาจไม่ได้มีความพร้อมมากนัก แต่ยังไงก็ตามพี่ทุยเชื่อว่า ธปท.น่าจะมีมาตรการในการดูแลตรงนี้แน่นอน เราคงต้องมาดูกันว่า ธปท.จะออกมาตรการอะไรมาอีก และสอดคล้องกับที่รัฐบาลต้องการแค่ไหน

1.4. มาตรการสินเชื่อที่เกี่ยวกับการจ้างงาน

เป็นการปล่อยกู้ดอกเบี้ยขั้นต่ำให้แก่บริษัทหรือผู้จ้างงานที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม เพื่อเอามาบริหารธุรกิจให้ยังอยู่รอด จะได้จ้างลูกจ้างต่อไปได้ โดยมีข้อแม้ว่าบริษัทที่เข้าข่ายต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่า 3 เดือน และหลังจากได้เงินกู้แล้วต้องรักษาจำนวนลูกจ้างให้ได้มากกว่า 80% ขึ้นไป เป็นเวลา 3 ปีหลังจากนี้ จริง ๆ แล้วพี่ทุยว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการที่ดีมาก ๆ อันหนึ่งเลย

เนื่องจากสิ่งที่น่ากลัวที่สุดเวลาเกิดวิกฤตก็คือการสูญเสียความสามารถในการหารายได้ของแรงงาน พอคนไม่มีรายได้ก็จะไม่เกิดการจับจ่ายใช้สอย และทำให้เศรษฐกิจโดยรวมพังไปในที่สุด แต่ถ้าคนยังมีรายได้อยู่โอกาสที่เศรษฐกิจโดยรวมจะพังก็ย่อมน้อยลงเช่นกัน แต่พี่ทุยคิดว่าสัญญา 3 ปี เป็นอะไรที่ค่อนข้างนานเหมือนกัน ทีนี้สิ่งที่สำคัญก็คือบทลงโทษที่จะตามมา ถ้าบริษัทที่กู้เงินไปไม่สามารถทำตามเงื่อนไข จะโดนปรับอะไรยังไงบ้าง เพราะตอนนี้ถ้าบทลงโทษแรงเกินไปอาจทำให้ไม่มีบริษัทไหนอยากจะเข้ามากู้เลยก็ได้ เพราะบอกตรง ๆ ว่าในช่วงวิกฤตแบบนี้คงไม่มีใครรับประกันอะไรแบบนี้สักเท่าไหร่

โดยรวมแล้วมาตรการสินเชื่อ (Soft Loan) ที่ออกมา พี่ทุยคิดว่าดีกว่าการแจกเงินมากกกกกกกกกก (ก. ล้านตัว) แม้ว่าปลายทางแล้วประชาชนจะได้เงินเหมือนกันแต่พี่ทุยคิดว่าอันนี้ไม่ได้มีลักษณะของการให้เปล่าฟรี ๆ ไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้คนไม่ทำมาหากิน และที่สำคัญเลยคือ การใช้มาตรการสินเชื่อเหล่านี้ทำให้เงินเข้าสู่เศรษฐกิจเยอะกว่าวงเงินที่รัฐใช้อย่างแน่นอน เนื่องจากการใช้สินเชื่อเหล่านี้ยังคงมีภาระผูกพันที่ผู้กู้ต้องหารายได้มาจ่ายดอกเบี้ยให้ได้ จึงเปรียบเหมือนแรงผลักดันให้คนยังต้องทำมาหากิน ยิ่งถ้าหากเป็นปกติแล้วมาตรการสินเชื่อเหล่านี้ รัฐจะทำโดยการจ่ายส่วนต่างดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น เช่น ปล่อยกู้ 100,000 บาท โดยปกติคิดดอกเบี้ย 5% แต่รัฐบอกว่าให้ปล่อย 2 % พอ รัฐจะจ่ายอีก 3 % ที่เหลือ ทำให้รัฐใช้เงินเพียงแค่ 3,000 บาทเท่านั้น แต่เงินเข้าสู่เศรษฐกิจถึง 100,000 บาท ก็ยิ่งทำให้เงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น แต่พี่ทุยต้องลองดูรายละเอียดอีกทีว่าจะเป็น Soft Loan แบบปกติหรือไม่

2. มาตรการทางภาษี

ต่อมาเป็นมาตรการเกี่ยวกับภาษีโดยรวมคือมาตรการที่จะเก็บภาษีน้อยลงและช้าลง เพื่อให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

2.1. มาตรการลดภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

ปกติเวลาที่เราได้รับรายได้ เราจะสังเกตเห็นว่าเราได้รับไม่เต็มจะมีหักทั้งประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และหัก ณ ที่จ่าย บางคนอาจจะแค่ 3% บางคนก็อาจจะตามฐานภาษี มาตรการนี้จะให้ปรับลดจากเดิมที่เราต้องเสีย 3% ลดลงครึ่งนึงเหลือเพียง 1.5 % เท่านั้น แม้จะดูเหมือนไม่ได้เป็นเปอร์เซ็นต์ที่เยอะมาก แต่ถ้าดูยอดเงินทั้งหมด ก็ถือว่าช่วยทำให้มีเงินหมุนในระบบไม่เยอะเหมือนกัน

2.2. มาตรการลดภาษีสำหรับ SME ที่เข้าร่วมมาตรการดอกเบี้ยต่ำข้างต้น

ให้นำภาระดอกเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งสามารถหักรายจ่ายได้ถึง 1.5 เท่า ก็นับว่าเป็นมาตรการต่อเนื่องที่ดี เอื้อให้ SME ตัดสินใจกู้เงินได้ง่ายมากขึ้น

2.3. มาตรการลดภาษีสำหรับ SME

มาตรการนี้เป็นคนละมาตรการกับข้อ 2.2 ข้างบน มาตรการนี้จะให้บริษัทสามารถหักรายจ่ายในหมวดค่าจ้างได้ถึง 3 เท่า แต่มีข้อกำหนดที่พี่ทุยว่าค่อนข้างโหดอยู่เหมือนกัน นั่นคือต้องรักษาระดับลูกจ้างไม่ต่ำกว่าสิ้นปีที่แล้ว เช่น ปีก่อนจ้างไว้ 5 คน ก็ต้องรักษาไว้ 5 คนให้ได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือห้ามไล่ใครออกเลยนั่นเอง แต่! ยังมีเงื่อนไขอีกข้อคือต้องเป็นลูกจ้างที่มีเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท จึงจะเอาไปเพิ่มเป็น 3 เท่าได้ ซึ่งพอมีเงื่อนไขแบบนี้พี่ทุยว่าคงทำให้บริษัทที่เข้าเกณฑ์มีน้อยลงเยอะเลยทีเดียว ก็ต้องมาดูกันต่อว่าจะสามารถลดภาระภาษีให้บริษัทได้เท่าไหร่

2.4. มาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ส่งออก

มาตรการนี้ต้องอธิบายก่อนว่าจริง ๆ แล้ว ภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT จะเก็บก็ต่อเมื่อเกิดการซื้อขายในประเทศ อย่างพวกการซื้อสินค้าที่สนามบินหรือ duty free ส่วนใหญ่ที่ราคามันถูกกว่า ก็เพราะไม่มี VAT เนี่ยแหละ ดังนั้นการส่งออกสินค้ามันก็ย่อมจะไม่มี VAT เหมือนกัน เพราะไม่ได้ซื้อขายในประเทศจึงเกิดการคืนภาษีตรงนี้ให้แก่ผู้ส่งออกอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นอย่างที่ทุกคนรู้กันแหละว่าการยื่นคืนภาษีมันใช้เวลาเยอะมากกกกกก! พี่ทุยเลยมองว่ามาตรการนี้ก็เป็นเพียงการเร่งให้คืน “เร็วขึ้น” เท่านั้นเอง

โดยสรุปสำหรับมาตรการที่เกี่ยวกับภาษี พี่ทุยมาดูในรายละเอียดแล้วคิดว่าไม่ได้ลดภาษีให้สักเท่าไหร่ เนื่องจากแต่ละมาตรการก็มีข้อจำกัดที่เยอะเหมือนกัน แล้วบางมาตรการถ้ามาดูกันจริง ๆ ก็มีทำอยู่แล้วแค่เร่งให้มันเร็วขึ้น แต่สิ่งที่พี่ทุยคิดว่าดี ก็คือการกระตุ้นและเพิ่มแรงจูงใจในการหารายได้

ถ้าอ่านมาซักพักจะเริ่มรู้สึกว่าพี่ทุยพูดถึงแรงจูงใจในการทำงานบ่อยมาก เพราะในช่วงวิกฤตแบบนี้สิ่งที่ต้องรักษาให้ได้คือแหล่งในการหารายได้ของคน จึงออกมาตรการหลาย ๆ ข้อ เพื่อให้คนยังอยากทำงานอยู่

3. มาตรการอื่น ๆ ทีเกี่ยวกับการดำรงชีวิต

สุดท้ายเป็นมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นอย่างที่พี่ทุยบอก ว่าในช่วงวิกฤตแบบนี้ต้องมีมาตรการช่วยเหลือปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างแน่นอน เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ อยู่ที่ว่าจะมาช้าหรือเร็วแค่นั้นเอง เพราะมาตรการส่วนนี้จะเป็นตัวช่วยเหลือคนที่มีรายได้น้อยมากกว่า

3.1. มาตรการช่วยค่าน้ำค่าไฟ

โดยเป็นการลดและเลื่อนค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงอาจจะจ่ายคืนเงินประกันมิเตอร์ให้ด้วย เบื้องต้นมีการระบุว่าจะจ่ายคืนให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19  ซึ่งพี่ทุยอ่านแล้วก็น่ากลัวเหมือนกัน ไม่รู้ว่าขอบเขตของการได้รับผลกระทบคือตรงไหน ถ้ากำหนดแบบหลวม ๆ พี่ทุยบอกเลยว่าไม่ต่างจากการจ่ายเงิน เพราะได้รับผลกระทบกันทุกคน และคนส่วนใหญ่ก็มีมิเตอร์ไฟทั้งนั้น

3.2. ปรับลดการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้าง

เป็นการปรับลดการจ่ายจาก 5% เป็น 0.1 %  แต่ยังคงให้รัฐบาลแจกเท่าเดิมอยู่ และลดเป็นเวลา 3 เดือน อันนี้พี่ทุยเห็นด้วยสุด ๆ เพราะว่ามันเป็นการลดภาระของนายจ้างได้ดีมาก แถมยังรักษาผลประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างไว้คงเดิมด้วย เรียกว่า win-win ทั้งนายจ้างและลูกจ้างเลยทีเดียว

3.3. มาตรการลดค่าธรรมเนียมจากหน่วยงานราชการ รวมถึงรัฐวิสาหกิจ

ซึ่งจะมีค่าอะไรบ้างเราคงต้องมาติดตามกัน ตอนนี้ทราบเพียงแค่ค่าเช่าราชพัสดุ และค่าให้บริการเท่านั้น ไว้ถ้ามีรายละเอียดตรงนี้พี่ทุยจะมาอัพเดทให้อีกที

3.4. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงิน งบประมาณ

พูดง่าย ๆ คือ ให้เร่งกระบวนการทำงานให้รัฐสามารถใช้จ่ายได้เร็วขึ้น เงินจะได้ออกมาจากภาครัฐและเข้าสู่ระบบให้เร็วขึ้น แต่อันนี้จริง ๆ พี่ทุยแอบคิดว่ามันน่าจะทำตลอดนะ เพิ่มประสิทธิภาพอะไรพวกนี้เนี่ย ทำทั้งทีก็ควรทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ไม่ใช่ว่าออกมาตรการมาแต่กว่าเงินจะออกได้ล่อไป 1 ปี อันนี้ก็ไม่ไหวนะ (ส่วนจะเอาเงินงบประมาณไปทำอะไรยังไงพี่ทุยขอไม่ออกความเห็นในบทความนี้ละกันนะ)

3.5. มาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุน

โดยการให้นำค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม ( Super Savings Fund: SSF) ไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท พี่ทุยถือว่าเยอะเหมือนกันนะเหมือนเราหักฐานภาษีได้ 200,000 บาทเลยทีเดียว แต่มันอาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยอย่างอื่นอีก ยังไงก็ตามก่อนซื้อควรศึกษาก่อน แต่ก็ไม่แน่ใจว่าด้วยสภาวะตลาดเป็นแบบนี้ รวมกับเศรษฐกิจที่ไม่ดีคนจะอยากลงทุนกันมากแค่ไหน ไว้พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังอีกทีนึง วันนี้ขอเล่าเรื่องมาตรการอื่น ๆ ก่อนแล้วกัน

และนอกจากมาตรที่พี่ทุยพูดมาทั้งหมด เหมือนจะมีแทงกั้กตั้งงบกลางไว้อีก 20,000 ล้านบาท เพื่อให้เบิกจ่ายในกรณีที่ต้องการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน ซึ่งเราก็ต้องมาติดตามกันอีกทีว่า 20,000 ล้านบาทนี้จะเป็นไปในรูปแบบไหน

โดยสรุปแล้วสำหรับมาตรการเพิ่มเติมทั้งหมด พี่ทุยคิดว่าไม่ได้แปลกใจเท่าไหร่ที่ออกมา และในอดีตมาตรการเหล่านี้ก็เคยออกมาบ้างแล้ว อย่างในกรณีวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลกปี 2008 ก็เคยมีมาตรการช่วยเหลือค่าดำรงชีพ อย่างช่วยค่าไฟค่ารถให้เห็นกันแล้ว

จะเห็นว่ามาตรการเฟส 1 ในครั้งนี้คงถูกใจใครหลายคนมากขึ้นอย่างแน่นอน สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดจากมาตรการในครั้งนี้คือ ไม่ได้มีเพียงแค่การแจกเงินแล้ว แต่เป็นมาตรการที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการซะมากกว่าทั้งในรูปแบบสินเชื่อและภาระรายจ่ายที่ลดลง โดยเป็นมาตรการที่เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินการจ้างงานได้ แถมในครั้งนี้ยังมีทั้งมาตรการที่ใช้การอัดฉีดเงินและมาตรการทางภาษีให้เห็นด้วย นับว่าหลากหลายกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มาเยอะพอสมควร ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มแรงจูงใจในการทำงานอีกด้วย

แต่ก็ยังมีบางมาตรการเหมือนกันที่พี่ทุยคิดว่าอาจจะไม่สามารถส่งผลได้อย่างเต็มที่นัก ง่าย ๆ คือดูแล้วอาจจะยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพและเหมือนจะไม่ตรงจุดซะทีเดียว เนื่องจากมีข้อกำหนดที่ค่อนข้างเข้มงวด คนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายมีน้อย

และอีกสิ่งหนึ่งที่พี่ทุยอยากให้รัฐออกคำจำกัดความให้ชัดเจนคือ ใครจะถูกนับว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 บ้าง แบบไหนเข้าเกณฑ์ แบบไหนนับไม่ได้ นับยังไงต้องชัดเจน เพราะพี่ทุยเชื่อว่าทุกคนได้รับผลกระทบไม่ทางตรงก็ทางอ้อมทั้งนั้นแหละ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply