ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นหนึ่งที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นพิเศษ คือ เกิดอะไรขึ้นกับ “ค่าเงินตุรกี” สกุลลีรา (Turkish Lira) และเราในฐานะนักลงทุนต้องรู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง วันนี้พี่ทุยจะมาสรุปให้ฟัง..
ธนาคารกลางตุรกีปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 19% สูงสุดในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมามีการประชุมธนาคารกลางของตุรกี โดยนายนาซิ อัคบาล (Naci Agbal) ผู้ว่าธนาคารกลางตุรกีได้ตัดสินใจประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 17% ขึ้นมาอยู่ที่ 19% นับเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ Top20 ของโลก
โดยการตัดสินขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ ทำให้ประธานาธิบดีตุรกี นายไทยิป แอร์โดกัน (Tayyip Erdogan) สั่งปลดนาย Agbal ลงจากตำแหน่งผู้ว่าฯ ทันที เพราะการตัดสินใจไปขัดกับประธานาธิบดี Erdogan ที่ต้องการให้รักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ระดับต่ำเพื่อพยุงเศรษฐกิจเอาไว้ ทั้งที่นาย Agbal เพิ่งเข้ารับตำแหน่งในเดือน พ.ย. 63 เป็นเวลาเพียง 5 เดือนเท่านั้น
นับตั้งแต่นาย Agbal เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าธนาคารกลางตุรกี นาย Agbal ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 3 ครั้ง จาก 10.25% ขึ้นมาอยู่ที่ 19.0% ในปัจจุบัน เหตุผลก็เพื่อควบคุมเงินทุนไหลออกนอกประเทศและสกัดเงินเฟ้อที่สูงถึง 15.6%
“ค่าเงินตุรกี” อ่อนค่าลงมากที่สุดในโลก ภายในช่วงเวลากว่า 1 เดือน
ผลที่เกิดขึ้นจากการปลดตำแหน่งผู้ว่าฯ ของปธน. Erdogan คือ ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงประมาณ 8% ภายในเวลาไม่กี่วัน และหากนับตั้งแต่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่ปรับตัวแข็งค่าอย่างมีนัยสำคัญ จากกระแสเงินเฟ้อและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ในช่วงเดือน ก.พ. 64 ที่ผ่านมา ค่าเงินลีราก็อ่อนค่าลงไปแล้วกว่า 10%
กลายเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่าที่สุดในโลกไปแล้ว เทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน เช่น
- อินโดนีเซีย อ่อนค่า 2.8%
- บราซิล อ่อนค่า 2.6%
- แอฟริกาใต้ อ่อนค่า 1.5%
ทั้งที่ช่วงปลายปี 2563 ถึงต้นปี 2564 ค่าเงินลีราได้รับการยกย่องจากนักลงทุน ว่าค่าเงินเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้นหลังจากมีเริ่มมีทิศทางแข็งค่า
ธนาคารกลางควรมีอิสระในการดำเนินนโยบายการเงิน
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่ามีการแทรกแซงความเป็นอิสระในการตัดสินใจของธนาคารกลาง ซึ่งมีทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเงินระหว่างประเทศที่ชื่อว่า
The Impossible Trinity หรือ สามสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
จาก 2 นักเศรษฐศาสตร์การเงินระดับโลกอย่าง Robert Mundell และ Marcus Fleming หรือบางครั้งเรียกว่าทฤษฎี Mundell-Fleming Trilemma
ทฤษฎีนี้บอกเราว่า การตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางจะเลือกได้เพียง 2 ใน 3 ทางเท่านั้น ได้แก่ นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ นโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายเสรี และการดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระ หากประเทศใดไม่ปฏิบัติตามนี้จะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงินอย่างรุนแรง
ในกรณีของตุรกี แน่นอนว่าปล่อยให้ค่าเงินลีราเคลื่อนไหวตามทิศทางของสกุลเงินต่างประเทศ นั่นคือคู่เทียบหลักอย่างดอลลาร์สหรัฐ นั่นคือ ตุรกีได้ดำเนินนโยบายเงินทุนเคลื่อนย้ายเสรีและการดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระ และเมื่อธนาคารกลางตุรกีไม่มีเป็นอิสระในการตัดสินใจปรับขึ้นลงอัตราดอกเบี้ย ก็นำมาซึ่งความผันผวนของค่าเงินเช่นนี้ และอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงินในระยะต่อไปก็เป็นได้
โดยทั่วไปแล้วหากอัตราดอกเบี้ยของประเทศหนึ่งสูงกว่าอีกประเทศหนึ่ง หรือ ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะเป็นการดึงดูดเงินทุนไหลเข้าประเทศ (Fund Flow) ความต้องการสกุลเงินนั้นมีมากขึ้น ค่าเงินก็จะแข็งค่าขึ้น แต่ในกรณีของตุรกีเป็นภาพตรงกันข้าม ธนาคารกลางตุรกีขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงและเงินเฟ้อก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
เศรษฐกิจตุรกีมีความเปราะบางเป็นทุนเดิมแต่ถูกซ่อนอยู่
ส่วนสำคัญเลยเป็นเพราะปัญหาเศรษฐกิจในประเทศของตุรกี มีความเปราะบางพอสมควรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ซึ่งความกังวลต่อค่าเงินลีราเริ่มถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงปลายปี 2561 จากการที่ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง
หากย้อนกลับไปช่วงหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจตุรกีเติบโตอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยที่ 7% ในช่วงปี 2553-2560 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักราว ๆ 4-5% เท่านั้น ซึ่งจากเศรษฐกิจที่เติบโตดี อัตราดอกเบี้ยถูก ต้นทุนทางการเงินต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจและประชาชนต่างทยอยกู้เงินเพื่อนำมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
ภาคธุรกิจกู้เงินทั้งในและต่างประเทศเพื่อลงทุนขยายธุรกิจ ประชาชนเลือกลงทุนในสินทรัพย์อื่นมากขึ้นแทนการถือเงินสดหรือฝากไว้กับธนาคาร โดยเฉพาะตลาดหุ้นตุรกีที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาดังกล่าว เงินเฟ้อตุรกีก็ค่อย ๆ ปรับเพิ่มสูงขึ้น แต่ธนาคารพาณิชย์กลับมีเงินสดสำรองน้อยจากการที่ประชาชนไม่นิยมนำเงินมาฝากธนาคาร
ที่นี้พอเศรษฐกิจเติบโตมาก ภาคธุรกิจและประชาชนกู้เงินมากขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น โดยทั่วไปแล้วควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ เพราะจะช่วยให้ประชาชนนำเงินมาฝากธนาคารมากขึ้น ภาคธุรกิจลดการลงทุนเพราะต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น แต่ทางตุรกีเลือกรักษาอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำไว้มาโดยตลอด
จนทางประเทศเจ้าหนี้ของตุรกีเริ่มกังวล ว่าเศรษฐกิจที่เติบโตสูงจากการกู้ยืมหนี้จำนวนมาก นักลงทุนเริ่มไม่ค่อยไว้ใจกับสถานการณ์นี้ ก็เริ่มทยอยถอนเงินออกจากตุรกี ค่าเงินลีราก็เริ่มอ่อนค่าเรื่อย ๆ อยู่เป็นระยะ ภายใต้พื้นฐานทางเศรษฐกิจตุรกีที่เปราะบางเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
แต่แค่ยังไม่เผยออกมา ไม่ว่าภาครัฐที่ขาดดุลการคลังมาตลอดกว่า 30 ปี มีหนี้ต่างประเทศคิดเป็นเกือบ 60% ของ GDP และมีเงินทุนสำรองไว้ใช้ในยามประเทศเกิดวิกฤตเพียง 5 เดือนเท่านั้น เทียบกับกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน เช่น บราซิล 20 เดือน จีน 16 เดือน อินเดีย 15 เดือน อาร์เจนตินาและแอฟริกาใต้ 9 เดือน
“ค่าเงินตุรกี” เปราะบางมากขึ้น หลังเผชิญสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
สุดท้ายความเปราะบางทางเศรษฐกิจได้แสดงออกมาชัดเจนหลังเกิดสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ในยุคของ Donal Trump ที่ทางสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมในอัตรา 50% และ 20% ตามลำดับ ในเดือน ส.ค. 61 ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักสร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาล ทำให้สินค้าตุรกีแพงขึ้นทันที ค้าขายกับประเทศไหนก็ลำบาก รายได้เข้าประเทศเริ่มหดหายไป
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงรุนแรงทันที 16% ทำให้ทั้งปี 2561 ค่าเงินลีราอ่อนค่าลงไป 40% และอย่างที่พี่ทุยเคยบอกไปก่อนหน้านี้ว่า หากประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้ต่างประเทศสูง เมื่อใดที่ค่าเงินอ่อนค่าลง มูลค่าหนี้ที่ต้องชำระในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทันที
ความเปราะบางทางเศรษฐกิจที่ถูกปิดกั้นมาก่อนหน้านั้น ถูกเปิดออกชัดเจนมากขึ้น หลังจากนั้นเงินเฟ้อตุรกีก็แตะระดับมากกว่า 20% ในสิ้นปี 2561 และเฉลี่ยอยู่ที่ 15% มาตลอด ซึ่งเงินเฟ้อตุรกีในปัจจุบันอยู่ที่ 15.6% และค่าเงินก็อ่อนค่ามากที่สุดในโลกไปแล้วในช่วงเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมา
ดังนั้น เราในฐานะนักลงทุนจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ว่าท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจสหรัฐฯ สถานการณ์ค่าเงินลีรา เสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงินของตุรกี จะลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเงินโลกอีกครั้งหรือไม่ในช่วงที่วิกฤตโควิด-19 ยังไม่สิ้นสุด..