ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในงานยากของประธานาธิบดีโจ ไบเดน คือการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับนานาชาติที่เสียไปจากการก่อ “สงครามการค้า” ของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกลายเป็นมรดกที่ไบเดนต้องรับเอาไว้อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง
ไม่ใช่แค่กับจีนที่เป็นคู่กรณีหลัก แม้แต่พันธมิตรยาวนานของสหรัฐฯ อย่างสหภาพยุโรป (EU) ก็เป็นหน่ึงในคู่กรณีด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเคสของ Airbus-Boeing ที่แม้จะเป็นความขัดแย้งมายาวนานนับทศวรรษ แต่ก็มาร้อนแรงฟาดกันด้วยกำแพงภาษีต่อกันในสมัยของทรัมป์
ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป ดูเหมือนจะดีขึ้นมาเล็กน้อยหลังไบเดนได้รับตำแหน่ง เพราะล่าสุดสหรัฐฯ ได้ตกลงกับ EU ระงับกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากยุโรปมูลค่า 7,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นระยะเวลา 4 เดือน ขณะที่ EU เองก็ระงับกำแพงภาษีต่อสินค้าอเมริกันมูลค่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน
แม้ตัวแทนจากทั้งสองฝั่ง จะเห็นว่าการระงับกำแพงภาษีในครั้งนี้ จะเป็นการเริ่มต้นใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งโพ้นทะเล แต่พี่ทุยเชื่อว่าสงครามการค้าจะยังคงไม่ยุติลงง่าย ๆ
ความสัมพันธ์กับยุโรปยากฟื้นฟู
สหรัฐฯ ต้องการดึงยุโรปกลับมาเป็นพันธมิตรเป็นอย่างมาก โดยจุดยืนของรัฐบาลไบเดนนั้นจะคล้ายคลึงกับสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ที่ต้องการดึงชาติต่าง ๆ เข้ามาเป็นพันธมิตรขนานใหญ่เพื่อค้านอำนาจกับจีน
แต่ประเด็นของผู้ผลิตเครื่องบิน Airbus-Boeing ไม่ใช่ความขัดแย้งเดียวระหว่างยุโรปและสหรัฐฯ โดยยังมีประเด็นภาษีนำเข้าต่อเหล็ก ซึ่งผู้ผลิตของสหรัฐฯ สหภาพแรงงาน รวมถึงสมาชิกผู้แทนราษฎร และวุฒิสมาชิกบางส่วนจากพรรคเดโมแครต ต่างก็ไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิกกำแพงภาษีเหล็ก เพราะไม่ต้องการให้การแข่งขันเพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสินค้าต่างประเทศ
การที่ยังไม่สามารถตัดสินใจยกเลิกกำแพงภาษีเหล็กได้ จะส่งผลต่อการตัดสินใจของสหภาพยุโรปด้วยเช่นเดียวกัน โดย EU ยังคงมีกำหนดการขึ้นภาษีสินค้าหลากหลายรายการของสหรัฐฯ เป็น 2 เท่า ในวันที่ 1 มิ.ย. 64 ที่จะถึงนี้ด้วย ซึ่งการตั้งภาษีของ EU ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อตอบโต้ทรัมป์ที่ตั้งกำแพงภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม
อีกหนึ่งประเด็นความขัดแย้งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข คือเรื่องที่หลายประเทศในยุโรปยังดำเนินมาตรการแข็งกร้าวกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ เพราะมองว่าพยายามกินรวบตลาดและเอาเปรียบคู่แข่งรายเล็กมากจนเกินไป จนนำไปสู่การจัดเก็บภาษีดิจิทัลกับบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในหลายประเทศ ซึ่งเป็นต้นแบบที่ไทยนำมาใช้ด้วยเช่นกัน
“สงครามการค้า” กับจีนยังตึงเครียด
จีนนับเป็นคู่กรณีหลักของทรัมป์ในสมัยที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยการตอบโต้ตั้งกำแพงภาษีกันไปมา หรือแม้กระทั่งการแบนบริษัทเทคโนโลยีดาวรุ่งอย่าง Huawei เพราะเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ได้ทำให้ทั้งสองฝ่ายเจ็บตัวจนต้องมานั่งพูดคุยกันเพื่อหาทางออกของสงครามนี้
แม้จะนับเป็นความสำเร็จของทรัมป์ในการกดดันจีนให้มานั่งร่วมวงพูดคุย ซึ่งเปิดโอกาสให้สหรัฐฯ กำหนดกติกาและร่างข้อตกลงใหม่ จนมาได้ข้อตกลงในระยะที่ 1ระหว่างทั้งสองประเทศเมื่อเดือนมกราคม ปี 2563
แต่ผลการศึกษาของสถาบันคลังสมอง Peterson Institute for International Economics พบว่าดีลดังกล่าวกลับล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง โดยจีนนำเข้าสินค้าและบริการของสหรัฐฯ ไม่ถึง 60% จากที่ตกลงกันไว้
ท่าทีของประธานาธิบดีไบเดนเองก็ยังไม่ทำให้สงครามการค้ายุติลง โดยแม้จะไม่ได้พูดอะไรเกี่ยวกับข้อตกลงระยะที่ 1 ดังกล่าว แต่ไบเดนระบุว่า จะยังไม่ยกเลิกภาษีนำเข้าที่ตั้งเอาไว้ในสมัยของทรัมป์ในตอนนี้ และจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณาข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และจีน
อ่านต่อเรื่อง รู้จักแร่ “Rare Earth” อาวุธที่จีนใช้เพิ่มอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ
เจรจาเริ่มต้นอาทิตย์หน้า
สหรัฐฯ เตรียมส่งทีมไปเจรจากับตัวแทนของรัฐบาลจีนที่รัฐ Alaska ในวันที่ 18 มี.ค. 64 ที่จะถึงนี้ โดยผู้นำทีมของไบเดนในครั้งนี้ ได้แก่ Antony Blinken รัฐมนตรีต่างประเทศ และ Jake Sullivan ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NSA) ซึ่งจะเป็นการพบปะกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเป็นครั้งแรกของทั้งสองชาติในยุคสมัยของไบเดน
แม้ทั้งสองจะไม่เกี่ยวข้องกับการค้าโดยตรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงได้ส่งผลกระทบต่อการค้าเช่นเดียวกัน โดยการแบน Huawei เองก็เป็นไปเพราะประเด็นความมั่นคงของชาติ
สำหรับท่าทีของรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ของสหรัฐฯ เองก็ระบุในสุนทรพจน์แรกหลังได้รับตำแหน่งว่า จีนเป็นบททดสอบทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุด ในช่วงทศวรรษ ขณะที่ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ เห็นว่าสหรัฐฯ ควรรีบรักษาความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรเพื่อรวมพลังกันคานอำนาจจีน
จากท่าทีของเจ้าหน้าที่ระดับสูงทั้งสองฝ่ายแสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้จีนเข้ามาแทนที่ตัวเองในเวทีโลกอีกต่อไป โดยความเคลื่อนไหวนี้ จะเป็นการซ่อมแซมตำแหน่งของสหรัฐบนเวทีนานาชาติ หลังสหรัฐในยุคสมัยทรัมป์ได้ถอนตัวออกจากหลายความพยายามร่วมของโลก เช่น ข้อตกลกปารีสที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นอกจากนี้ จากท่าทีของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ยังแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าสหรัฐฯ ต้องการรวบรวมพันธมิตรกลับมาคานอำนาจจีน
แต่ในประเด็นนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สหรัฐฯ จะกลับมารวบรวมพันธมิตรได้ในทันทีทันได้ เพราะยังคงมีความท้าทายหลายประการ เช่น EU ที่ยังไม่ได้ตัดสินใจยกเลิกการตั้งกำแพงภาษีที่จะมีขึ้นในวันที่ 1 มิ.ย. 64 หรือแม้กระทั่งจีนเองที่ไม่ยอมปล่อยให้สหรัฐรวบรวมพันธมิตรโดยง่าย
ความเคลื่อนไหวล่าสุดจากทางการจีนแสดงให้เห็นชัดในจุดนั้น โดยนายกรัฐมนตรีหลี่เค่อเฉียง ได้ประกาศว่า จีนอาจจะเข้าร่วมข้อตกลงค้าเสรีขนานใหญ่ 11 ชาติ Comprehensive And Progreesive Agreement for Tran-Pacific Partnershp (CTPP) หรือที่รู้จักกันดีในนามของข้อตกลงการค้าเสรี TPP ที่ไม่มีสหรัฐฯ
เนื่องจากข้อตกลงดังกล่าว สหรัฐฯ เป็นคนริเร่ิมในสมัยโอบามา ก่อนที่จะถอนตัวไปในสมัยของทรัมป์ ดังนั้นประเทศที่อยู่ในข้อตกลง CTPP จึงประกอบไปด้วยพันธมิตรหลักของสหรัฐฯ เช่น ญี่ปุ่น แคนาดา และออสเตรเลีย
พี่ทุยว่าการต่อสู้ทางอำนาจในเกมการค้าของโลก อาจเปลี่ยนจากท่าทีที่แข็งกร้าว กลับมาเป็นการใช้พันธมิตรร่วมกันคานอำนาจก็เป็นได้
ต้องรอดูท่าทีของทั้งสองชาติมหาอำนาจของโลก หลังการพบปะกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงในวันที่ 18 มี.ค. 64 ที่จะถึงนี้อีกครั้ง..