OPEC คงกำลังการผลิต

“OPEC” คงกำลังการผลิตน้ำมัน อาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวยาก ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • OPEC และประเทศพันธมิตรตัดสินใจคงการลดกำลังการผลิตน้ำมันต่อไปอีกสักระยะ ทำให้ราคาน้ำมันทะยานกว่า 4% ไปสู่ 67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
  • การตัดสินใจของ OPEC ผิดกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เอาไว้ว่าจะผ่อนปรนการลดกำลังการผลิต 
  • แสดงให้เห็นว่า OPEC ไม่เกรงกลัวคู่แข่งอย่างสหรัฐที่กำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องในช่วงโควิด-19 และยังต้องการให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าในปัจจุบันด้วย
  • การปรับเพิ่มขึ้นของน้ำมันแม้จะทำให้หุ้นของบริษัทน้ำมันปรับขึ้น แต่มีแนวโน้มจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกต้องชะลอลงไป ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐก็มีแนวโน้มจะแข็งค่าขึ้นด้วย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

“OPEC” (โอเปก) หรือกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลก นำโดยเจ้าน้ำมันอย่างซาอุดิอาระเบีย และประเทศพันธมิตรน้ำมันอย่างรัสเซียและคาซัคสถาน ตัดสินใจคงการลดกำลังการผลิตต่อไปจนถึงเดือนเม.ย. 64 ที่จะถึงนี้ 

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ปรับขึ้นมากกว่า 4% หลังการประกาศของกลุ่ม OPEC และทำให้ราคาน้ำมันทะยานสู่บาร์เรลละ 67 ดอลลาร์สหรัฐ 

ความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ เป็นเครื่องยืนยันว่า OPEC และประเทศพันธมิตรจะเดินหน้าผลักดันราคาน้ำมันให้ทะยานอย่างต่อเนื่องด้วยการลดกำลังการผลิตลง เพื่อให้ปริมาณน้ำมันขาดตลาด ในระหว่างที่กำลังซื้อน้ำมันกำลังค่อย ๆ กลับมาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวหลังได้รับวัคซีนโควิด-19

เพื่อยืนยันความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ซาอุดิอาระเบียที่เสมือนเป็นพี่ใหญ่ใน OPEC ยังได้อาสาตัวเองลดกำลังการผลิตอีก 1 ล้านบาร์เรลต่อวันด้วยความสมัครใจ

เพราะอะไร OPEC จึงตัดสินใจอย่างไม่เกรงกลัวจะโดนคู่แข่งเกิดใหม่อย่างสหรัฐเข้ามาผลิตเสียบแทนปริมาณน้ำมันที่ขาดตลาด และนักลงทุนต้องระวังอะไรจากราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นครั้งนี้บ้าง

พี่ทุยจะพาทุกคนไปหาคำตอบกัน..

“OPEC” ไม่กลัวคู่แข่งจะเข้ามาแทนที่

นับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา OPEC เผชิญกับคู่แข่งรายใหม่ที่เกิดขึ้น นั่นคืออุตสาหกรรมน้ำมันของสหรัฐ ซึ่งมีเทคโนโลยีขุดเจาะน้ำมันจากชั้นหินดินดานของโลก หรือที่เรียกกันว่า Shale Oil ซึ่งแตกต่างจากการขุดเจาะจากบ่อน้ำมันดิบในประเทศทางตะวันออกกลาง

การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้น้ำมันเกิดภาวะล้นตลาดจนราคาร่วงลงจาก 140 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงพีคของปี 2008 เหลือต่ำกว่า 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปี 2015 ก่อนที่จะมาประสบกับเคราะห์ซ้ำกรรมซัดจากการระบาดของโควิด-19 จนทำให้ราคาน้ำมันในตลาดซื้อขายล่วงหน้าลดลงถึงขั้นติดลบเลยทีเดียว 

เท่ากับว่าผู้ผลิตน้ำมันทั่วโลกเคยเผชิญภาวะที่ขายน้ำมันไม่ออกถึงขั้นต้องแถมเงินให้ผู้ที่ถือสัญญาซื้อขายล่วงหน้านั้นนั่นเอง 

และเมื่อวัคซีนโควิด-19 กำลังค่อย ๆ ถูกทยอยฉีดให้กับประชากรทั่วโลก การท่องเที่ยวจะเปิดประตูอีกครั้ง และสายการบินจะต้องใช้น้ำมันในการเดินทาง ขณะที่ภาคการผลิตต้องใช้น้ำมันเพื่อการผลิตอีกด้วย 

ทำให้ผู้เล่นรายใหม่อย่างสหรัฐกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่ OPEC ต้องพิจารณาให้ดีก่อนตัดสินใจลดกำลังการผลิตต่อไป 

แต่ OPEC และประเทศพันธมิตรน้ำมันรายอื่นสามารถโล่งใจได้ เพราะผู้ผลิตสหรัฐไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาทดแทนได้ในทันทีทันใด โดยสำนักข่าวอย่างรอยเตอร์ส รายงานว่า ผู้ผลิตหลายแห่งในสหรัฐกำเงินสดเอาไว้หลังธุรกิจประสบปัญหาในช่วงของการระบาด

ตัวเลขของรอยเตอร์ส แสดงให้เห็นว่า ผู้ผลิตสหรัฐยังไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตไปได้เท่ากับช่วงก่อนหน้าการระบาด โดยก่อนหน้านี้ผู้ผลิตสหรัฐสามารถเร่งกำลังการผลิตขึ้นมาทดแทน OPEC ที่ลดกำลังการผลิตลงไปจนแตะ 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นสถิติที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตสหรัฐผลิตอยู่ที่ต่ำกว่า 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน

เพราะอะไร ราคาน้ำมันถึงแพง ?

OPEC และประเทศพันธมิตร ต่างต้องการน้ำมันแพงโดยไม่สนว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้หรือไม่ เนื่องจากราคาน้ำมันในปัจจุบันนั้นต่ำกว่าจุดคุ้มทุนในปัจจุบันนั่นเอง

อ่านต่อเรื่อง “ราคาน้ำมัน” ขึ้น ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว จริงหรือ ?

จากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF พบว่า ประเทศน้ำมันรายเล็กหน่อยอย่าง Algeria ต้องการราคาน้ำมันที่มากกว่า 109 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เพื่อที่จะคุ้มทุน

แม้ประเทศที่เป็นผู้ผลิตน้ำมันที่รายใหญ่จะมีต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกกว่า แต่ก็ยังต้องการราคาที่สูงกว่าในปัจจุบันอยู่ดี โดยจุดคุ้มทุนของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนของซาอุดิอาระเบียอยู่ที่ 83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

นักลงทุนควรระวังอะไรเมื่อราคาน้ำมันขึ้น

หุ้นของบริษัทน้ำมันตอบรับการที่น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น ในต่างประเทศ หุ้นของ Exxon Mobil ปรับขึ้นเกือบ 3.78% ขณะที่หุ้น Chevron ปรับขึ้นราว 4.31% ส่วนหุ้นปตท.ของไทยปิดตัวในแดนบวก 1.25% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา 

การที่น้ำมันมีราคาแพงทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกิจกรรมต่าง ๆ กลับมาในอัตราที่ช้าลงไปอีก ซึ่งทางการอินเดียก็เคยออกมาเตือน OPEC แล้วว่า การที่ราคาน้ำมันแพง จะกระทบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันแพง สิ่งที่ขยับควบคู่ไปกับราคาน้ำมันนั่นคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการซื้อขายน้ำมันทำโดยใช้เงินดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อน้ำมันราคาแพงจะก่อให้เกิดเงินเฟ้อ และทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ 

ในวันที่ OPEC จัดประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 64 ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทก็อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับค่าเงินเยนของญี่ปุ่นที่อ่อนค่าขึ้นไปทะลุ 108 เยนต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนก.ค. 63 ด้วย

การที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น โดยหลักแล้วธุรกิจส่งออกจะได้รับผลบวก ตรงกันข้ามกับธุรกิจที่ต้องลงทุนด้วยการนำเข้าสินค้าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับผลลบไปเต็ม ๆ

นอกจากนี้ นักลงทุนอย่างเรา ๆ ก็ต้องจับตาความเคลื่อนไหวของ OPEC ต่อไปด้วย เพราะการยืดระยะเวลาการลดกำลังการผลิตในครั้งนี้ จะอยู่ถึงแค่การประชุมเดือนเม.ย. 64 เท่านั้น ก่อนหน้านี้ OPEC และประเทศพันธมิตรได้ค่อย ๆ เพิ่มกำลังการผลิตขึ้นมาแล้ว

จากเดิมที่เคยตกลงกันในปีก่อนว่าจะปรับลดกำลังการผลิตให้ได้ 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก็ค่อย ๆ ปลดล็อกกำลังการผลิต เป็นร่วมกันผลิตที่ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ก่อนจะมาลดเหลือแค่ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนม.ค. 64 ที่ผ่านมา และใช้มายาวจนถึงปัจจุบัน

พี่ทุยว่าเมื่อราคาน้ำมันราคาแพงขึ้น ในหลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะจีนก็คงชะลอการซื้อน้ำมันลงไป และอาจจะเป็นปัจจัยให้ OPEC ต้องมานั่งพิจารณาว่าจะยังคงกำลังการลดกำลังการผลิตอย่างนี้ต่อไปอีกหรือไม่ ต้องมารอดูกันต่อไปในเดือนเม.ย. 64 ที่จะถึงนี้..

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย