4 พฤติกรรมของมือใหม่ที่เล่นหุ้นจน "ติดดอย"

4 พฤติกรรมของมือใหม่ที่เล่นหุ้นจน “ติดดอย”

3 min read  

ฉบับย่อ

  • “ติดดอย” คือ การซื้อหุ้นแล้วราคาปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว จนบางทีเรากลายเป็นติดหุ้นกันไปยาว ๆ เป็นอาการหนึ่งของแม่งเม่าที่ชอบบินเข้ากองไฟกัน
  • ทำไมคนส่วนใหญ่จึงติดดอยกัน ? รวมพฤติกรรมที่คนซื้อหุ้นแล้วมักจะติดดอย ไม่ว่าจะเป็น การไม่เข้าใจหุ้นหรือบริษัทก่อนการซื้อหุ้น การซื้อหุ้นที่มีราคาแพง P/E แพง ๆ หรือการซื้อหุ้นเมื่อทะลุแนวต้าน
  • วิธีการที่ช่วยลดการติดดอยสำหรับมือใหม่ได้ คือ การทยอยซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องแบบ DCA, การซื้อหุ้นเมื่อ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และการซื้อหุ้นเมื่อราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงกำลังจะสิ้นปีแบบนี้ ในฤดูแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังจะก้าวพ้นปลายฝน ต้นหนาว พี่ทุยคิดว่าหลายคนคงมีโปรแกรมไปท่องเที่ยวภาคเหนือกันบ้าง ไปเที่ยวภูเขา สัมผัสอากาศเย็นๆ ไปขึ้นดอยขึ้นเขา นอนค้างคืนดูฝนดาวตก พี่ทุยชอบบรรยากาศโรแมนติกๆ แบบนี้จัง ไปติดดอยบนนั้นก็คงจะฟินไม่น้อย แต่ “ติดดอย” หุ้นนี้ซิ !! มันคนละอารมณ์กันเลยนะ (ฮ่า)

“ติดดอย” พี่ทุยขออธิบายให้เข้าใจกันง่ายๆ คือ การที่เราซื้อหุ้นในราคาหนึ่ง แล้วหุ้นตัวนั้นกลับไม่ขึ้นไปต่อตามที่ใจปรารถนา แต่ราคากลับวิ่งลงมาแทนเสียอีก ! เช่น พี่ทุยซื้อหุ้นมา 10 บาท แต่ราคาหุ้นดันลงไปเหลือ 9 8 7 6 5 …. บาท ภายในเวลาไม่นาน !! มือใหม่มักจะทำใจกันไม่ได้ เมื่อซื้อหุ้นมาแล้ว ไม่ทันไรเลย ราคาหุ้นก็ตกลงมาอย่างรวดเร็ว มือใหม่มักชอบคิดเอาเองว่า ราคาหุ้นจะกลับไปที่จุดเดิมได้ จนเป็นที่มาของคำว่า ติดดอยกันไปยาวๆ T_T

ดูเป็นตัวเลขกลมๆ อาจเหมือนไม่เยอะเท่าไหร่ แต่พอมาคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ ปรับลดลง 10%, 20%, 30%, 40%, 50% กันเลยทีเดียว หรือเห็นภาพกว่านั้น คือลงทุนไป 1 ล้านบาท แต่มูลค่าพอร์ตเหลือ 5 แสนบาท ! (ราคาหุ้นจาก 10 บาท ลงไปเป็น 5 บาท)

อาการติดดอยหุ้น พี่ทุยเชื่อว่าต้องเคยเจอกันมาแทบทุกคนแหละ โดยเฉพาะสำหรับมือใหม่ด้วยแล้ว ยิ่งจะมีโอกาสได้พบเจอกันบ่อยๆ ถึงเวลาที่พี่ทุยจะมาเล่าพฤติกรรมติดดอยหุ้น ซึ่งมักจะเห็นกันบ่อยๆ เพื่อไว้ใช้เตือนสตินักลงทุน ว่าเรากำลังเข้าข่ายแบบนี้กันบ้างหรือเปล่า ? และนี่คืออาการติดดอยหุ้นยอดฮิตที่หลายๆคนเคยเจอมา

1. ซื้อหุ้นที่ไม่รู้จัก ไม่เข้าใจหุ้นให้ดีก่อน

หุ้นในตลาดมีมากกว่า 700 บริษัท มีทั้งบริษัทใหญ่ กลาง เล็ก แน่นอนว่ามือใหม่ คงไม่มีทางเลยที่จะรู้จักหุ้นได้ครบทุกตัว หรือแม้แต่โบรกเกอร์หุ้นเองก็ยังไม่สามารถทำได้ มือใหม่มักจะคิดซื้อหุ้น ก็ต่อเมื่อได้รับข้อมูลอะไรบางอย่างมาจากคนใกล้ชิด เช่น กลุ่มไลน์ กลุ่มข่าวต่างๆ ที่จะมีรายชื่อหุ้นรายวันมาให้ทุกวัน แต่เชื่อหรือไม่ว่า มือใหม่กลับกล้าซื้อหุ้นตัวนั้น ทั้งที่ยังไม่รู้มาก่อนเลยว่า หุ้นตัวนั้นทำธุรกิจอะไร ? มีผลประกอบการเป็นยังไงบ้าง บริษัทในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และราคาหุ้นมีมูลค่าหุ้นที่ควรจะเป็นอยู่ที่เท่าไหร่กันแน่ ?

หลักการซื้อหุ้นที่ดี ควรเริ่มต้นจากการเข้าใจการลงทุนให้ดีพอ รู้จักสไตล์การลงทุนของตนเอง ว่าเป็นคนรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด และรู้จักหุ้นที่ตนเองสนใจลงทุนให้มากเพียงพอ ไม่ใช่เพียงแค่ว่า หุ้นตัวนี้ คือ ชื่อบริษัทอะไร ทำธุรกิจอะไร แต่ต้องรู้ถึงวิธีการหารายได้และทำกำไรจากบริษัท รวมถึงความเสี่ยง หนี้สิน และประวัติย้อนหลังและผลงานของผู้บริหารที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น

2. ซื้อหุ้นซิ่ง วิ่งพุ่งแรง !

มือใหม่มักจะเลือกหุ้นที่มีราคาหุ้นขึ้นมาแล้วมากๆ หรือชอบซื้อหุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายสูงๆ (หรือมี Volume นั่นเอง) หุ้นแบบนี้มักจะมีราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาแล้วหลายสิบหลายร้อยเปอร์เซ็นต์ (หลายเด้ง) ภายในเวลาไม่กี่เดือน แล้วทำให้มือใหม่ชอบคิดกันว่า หุ้นจะวิ่งขึ้นแบบนี้ไปเหมือนเดิมอีก แต่ในความเป็นจริง ถ้าราคาหุ้นวิ่งขึ้นมามากแล้ว จะมีโอกาสขึ้นต่อได้น้อย หรือนักวิเคราะห์หุ้นมักเรียกว่ามี Upside จำกัดแล้ว บางตัวราคาวิ่งเกินมูลค่าหุ้นไปแล้วด้วยซ้ำ แต่มือใหม่มักจะหลงบินเข้าไปในกองไฟ จึงเกิดคำที่ได้ยินบ่อยๆ ว่า “แมงเม่าน้อย” บินเข้ากองไฟ !!

3. ซื้อหุ้นที่มี P/E แพง ๆ (Price/Earning Ratio)

ค่าพีอี (P/E) มักใช้วัดความถูกแพงของหุ้น พี่ทุยขอบอกที่มาของวิธีคิดไว้หน่อยนึงนะ ตัว P คือ ราคาหุ้นปัจจุบัน หารด้วยตัว E คือกำไรต่อหุ้น แล้วค่าที่ออกมาจะมีหน่วยเป็นเท่า เช่น หุ้นราคา 10 บาท กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 2 บาท จะได้เท่ากับ 10 / 2 = 5 เท่า แสดงว่า (หากภายใต้เงื่อนไขเช่นนี้) หุ้นตัวนี้ใช้เวลา 5 ปี จะคืนทุนกลับมาแก่ผู้ถือหุ้น

ส่วนมากมือใหม่มักจะไม่ได้ดูความถูกแพงที่ค่า P/E แต่มักจะไปดูที่ราคาหุ้นตรงๆเลยมากกว่า เช่น หุ้น ก. ราคา 10 บาท ค่า P/E อยู่ที่ 5 เท่า กับหุ้น ข. ราคา 5 บาท แต่ค่า P/E อยู่ที่ 20 เท่า เป็นต้น มือใหม่มักจะคิดว่าหุ้น ข ถูกกว่าหุ้น ก แต่ความเป็นจริงแล้วหุ้น ก ถูกกว่าโดยเปรียบเทียบจาก P/E

นอกจากนั้น มือใหม่จะชอบซื้อหุ้นที่มีค่า P/E สูงๆ เนื่องจากราคาหุ้นกำลังวิ่งแรง จากการเก็งกำไรของเทรดเดอร์จำนวนมาก และทำให้มือใหม่เข้าไปเล่นตามจนออกไม่ทัน ติดดอยกันแบบไม่ทันตั้งตัว !

4. ซื้อหุ้นเมื่อทะลุแนวต้าน (Breakout)

พี่ทุยขอเล่าในทางสายกราฟเทคนิคนิดหน่อย เนื่องจาก แนวรับ-แนวต้าน เป็นคำศัพท์พื้นฐานที่มือใหม่มักจะได้ยินได้อยู่บ่อยๆอยู่แล้ว ว่าหุ้นตัวนี้แนวรับ-แนวต้านเท่าไหร่ ในสายกราฟจะมีแนวคิดที่นิยมใช้กันอยู่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ ซื้อหุ้นเมื่อทะลุแนวต้าน แล้วซื้อตาม แต่ในทางปฎิบัติการตีแนวรับหรือแนวต้าน จะขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ตีกราฟเองมากกว่า เพราะฉะนั้นถ้าตีกราฟไม่ถูกต้อง อาจมีความเสี่ยงที่เราจะซื้อขายหุ้นผิดจังหวะได้ หรือที่มือใหม่มักจะพลาด กลายเป็นซื้อหุ้นตอนทะลุแนวต้าน (Breakout) หรือในอีกมุมหนึ่ง การซื้อหุ้นตอนราคาสูงๆ แล้วติดดอยไปตามระเบียบนั่นเอง

แล้วถ้าไม่อยาก “ติดดอย” ควรทำยังไงดี ?

พี่ทุยขอตอบแบบตรงๆเลยละกัน ก็ให้ทำตรงข้ามกับข้อข้างบนไง (ฮ่า) เอาเป็นว่าพี่ทุยขอมาตอบแบบอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ กันดีกว่า

สิ่งที่ต้องทำ คือ ศึกษาหาข้อมูลความรู้เรื่องการลงทุน (ติดตามอ่านที่เว็บไซต์ของ Money Buffalo ของพี่ทุยนี้ก็ได้ อิอิ) ทำความเข้าใจหุ้น หรือบริษัทที่ตนเองสนใจให้มากที่สุด ทั้งโมเดลธุรกิจ ผลประกอบการ กำไรขาดทุน ความสามารถและคุณธรรมของคณะผู้บริหาร

เผื่อว่าวันใดวันหนึ่ง พอเราเกิดไปเห็นรายชื่อหุ้นเด็ด (ชีวิต) หุ้นซิ่งวิ่งแรงแล้ว จะได้ไม่หลงเข้าไปเล่นตาม เพราะเป็นหุ้นที่ตนเองไม่มีข้อมูลไม่มีความรู้มาก่อน และพยายามซื้อหุ้นที่ค่า P/E ไม่สูงมากจนเกินไป ปกติค่า P/E มักจะมีตัวไว้ดูเทียบเคียง เช่น เทียบ P/E กับอุตสาหกรรมเดียวกัน เทียบกับตลาดหุ้น (SET) เป็นต้น หรือเราสามารถเทียบ P/E เฉลี่ยในหุ้นที่สนใจย้อนหลัง 5-10 ปีก็ได้

ถ้าใครเป็นสายกราฟเทคนิค ที่ชอบเล่นซื้อหุ้นทะลุแนวต้าน สิ่งสำคัญที่ควรมีนอกจากความรู้ในด้านกราฟแล้ว คือ การบริหารความเสี่ยงของตนเอง โดยการวางจุดตัดขาดทุนไว้เสมอ (Stop loss)

วิธีการง่ายๆ วิธีหนึ่งที่ช่วยลดการติดดอยได้ สำหรับมือใหม่ คือ การทยอยซื้อหุ้นต่อเนื่องแบบ DCA, การซื้อหุ้นเมื่อ P/E ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย, การซื้อหุ้นเมื่อราคาลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง เป็นต้น

พี่ทุยเองก็เคยติดดอยมาก่อน แต่เมื่อพี่ทุยศึกษาหาความรู้ เพื่อให้มีความเข้าใจการลงทุนมากขึ้น พี่ทุยจึงรวบรวมพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆที่ทำให้เราติดดอยกันมาให้อ่านกัน พี่ทุยหวังว่าจะเป็นประโยชน์ให้นักลงทุนมือใหม่หรือมือเก่าก็ตามที ลองนำไปปรับใช้ให้เข้ากับสไตล์การลงทุนของตนเอง และประสบความสำเร็จการลงทุนได้สักวันหนึ่ง พี่ทุยทำได้ ทุกคนก็ทำได้เช่นกัน 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย