พี่ทุยว่าเราน่าจะเคยได้ยินคำว่า “หนี้เสีย” มาบ้าง ยิ่งในช่วงโควิด-19 ทำพิษยืดเยื้อ ทำให้หนี้เสี้ยตามธนาคารต่าง ๆ ในไทยปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องไปถึงปี 2565
แล้วหนี้เสีย คืออะไร ตัวเลขนี้ส่งผลอย่างไรกับเราและบรรดาธนาคารอย่างไร วันนี้พี่ทุยสรุปมาให้ฟังกัน
หนี้เสีย คืออะไร
หนี้เสีย หรือ NPL (Non-Performing Loan) คือ สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นเงินกู้ที่ผู้กู้ผิดนัดและไม่ได้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยรายเดือนตามระยะเวลาที่กำหนด โดยมากมักกำหนดว่าค้างชำระติดต่อกัน 90 วัน ซึ่ง “NPL” เกิดขึ้นเมื่อผู้กู้ไม่มีเงินชำระคืน หรือตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ต่อไปได้ เช่น สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงโควิด-19 เป็นต้น
ถ้าหนี้ของเรากลายเป็นหนี้เสีย ?
แน่นอนว่าถ้าเราเบี้ยวหนี้บ่อย ๆ เจ้าหนี้ก็จะไม่ไว้วางใจเรา ธนาคารจะติดต่อทวงถามเราบ่อยขึ้น บางสัญญาถ้าเราผิดนัดชำระบ่อย ๆ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ก็จะเพิ่มขึ้น เช่น สินเชื่อบ้านดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ที่ 6% เมื่อเบี้ยวไม่จ่ายหนี้ครบ 75 วัน ดอกเบี้ยเงินกู้จะขยับเป็น 13%
และถ้าเราเป็นลูกหนี้ประวัติไม่ดี ค้างชำระบ่อย ๆ ข้อมูลพฤติกรรมเหล่านี้ของเราก็จะถูกส่งไปที่ ‘เครดิตบูโร’ หรือก็คือศูนย์รวมข้อมูลเครดิตของบุคคลต่าง ๆ ว่ามีประวัติการชำระหนี้ที่ดีหรือไม่ดีอย่างไร ซึ่งเจ้าเครดิตบูโรเป็นสิ่งที่ธนาคารเอาไว้พิจารณาให้สินเชื่อลูกค้าคนนั้น ๆ ดีหรือไม่
ถ้าประวัติการยืมเงินของเราไม่ดี มีหนี้เสีย การขอกู้ยืมครั้งต่อ ๆ ไป ธนาคารก็จะปล่อยกู้ยากขึ้น ดอกเบี้ยก็อาจจะเป็นอัตราที่แพงกว่าปกติ แน่นอนว่าธนาคารต้องการจะปล่อยกู้เพื่อหากำไรจากดอกเบี้ยอยู่แล้ว แต่ถ้าสินเชื่อนั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะไม่ได้เงินคืน ธนาคารก็ไม่อยากเสี่ยงเสียเงินเปล่าเช่นกัน เท่ากับว่า โอกาสที่เราจะกู้ธนาคารผ่านก็จะยากขึ้นไปอีก
แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้หนี้ของเราไม่เป็นหนี้เสีย
หากเราจะกู้ธนาคาร อย่างเเรกที่ต้องมีคือ “การวางเเผน” โดยคำนึงเเล้วว่า เรามี “ความสามารถในการชำระหนี้” ตามจำนวนเงินและระยะเวลาที่กำหนดได้หรือไม่ และที่สำคัญเมื่อกู้แล้วก็ต้องมีวินัยในการชำระเงินให้ครบและตรงเวลาด้วย
หรือถ้าระหว่างทางมีเหตุการณ์สุดวิสัยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็ควรเดินเข้าไปเจรจากับทางธนาคาร ซึ่งอาจจะได้รับการพักหนี้ ยืดเวลาการชำระออกไป หรือลดดอกเบี้ยชั่วคราว หรือหากได้รับโอกาสการแก้ NPL ก็ต้องพยายามแก้ไขและปิดหนี้ก้อนนี้ให้ได้ เพื่อสร้างประวัติการกู้ยืมที่ดีกลับมาใหม่
“หนี้เสีย” สำหรับสถาบันการเงิน
แน่นอนอยู่แล้วว่าสถาบันการเงินต่าง ๆ ไม่ชอบ NPL เพราะเป็นสินเชื่อที่ไม่สร้างรายได้ แถมยังเพิ่มต้นทุนในการตั้งสำรองเงินสำหรับหนี้เสียตามเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยอีกด้วย โดยธนาคารไม่สามารถโยกเงินสำรองนั้นไปใช้จ่ายด้านอื่น ๆ ได้ เพื่อให้ลูกค้าที่ฝากเงินมั่นใจว่าเงินฝากของเขาไม่ได้หายไป
ส่วนหนี้เสียที่เกิดขึ้นแล้ว ธนาคารก็จะเสียเวลาติดตามลูกหนี้มากขึ้น เพื่อพยายามปรับโครงสร้างหนี้กัน หรือไม่ก็ตัดหนี้สูญของสินเชื่อด้อยคุณภาพ และธนาคารก็อาจจะขายหนี้เสียเหล่านี้ให้กับธนาคารอื่นหรือนักลงทุน เพื่อลดการขาดทุน ซึ่งธนาคารอื่นและนักลงทุนที่เข้ามาซื้ออาจจะมองว่า หนี้เสียนั้นอาจกลับมาชำระเงินอีกครั้งได้ หรือได้เงินจากยึดทรัพย์
ซึ่งจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อร่วม 2 ปี ทำให้ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Gross NPLs) ในบรรดาธนาคารพาณิชย์ต่างของไทยเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า ลากยาวตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2564 และทางธนาคารแห่งประเทศไทยก็ออกมากล่าวว่าปี 2565 หนี้เสียก็ยังมีทิศทางปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
สำหรับภาพรวมหนี้เสียในไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 3.14% หรือมีหนี้เสียคงค้างที่ 5.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ อยู่ 3.09% เช่นเดียวกัน โดยหนี้เสียที่ปรับเพิ่มขึ้น มาจากสินเชื่อธุรกิจ ที่ NPL ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3.25% จาก 3.17% ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคปรับลดลงมาอยู่ที 2.89% จาก 2.92%
เป็นอย่างไรกันบ้าง พี่ทุยว่าเราก็คงพอจะเข้าใจแล้วว่าหนี้เสียจะมองจากมุมไหนก็ไม่ดีทั้งนั้น ฉะนั้นเมื่อเรากู้ยืมเงินก็ควรจะรับผิดชอบชำระหนี้ให้ครบถ้วน เพื่อครั้งหน้าเราจำเป็นต้องกู้ยืมอีก จะได้กู้ง่าย ๆ ดอกเบี้ยไม่แพงมาก