ส่องแนวโน้ม "ราคาน้ำมัน" จะทำให้ SET ไปต่ออีกแค่ไหน ?

ส่องแนวโน้ม “ราคาน้ำมัน” จะทำให้ SET ไปต่ออีกแค่ไหน ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ราคาน้ำมันมีอิทธิพลต่อโลกการเงินผ่านการเป็นส่วนประกอบในอัตราเงินเฟ้อทั้งทางตรงและทางอ้อม ขณะที่ตลาดหุ้นไทยก็ได้รับผลจากราคาน้ำมันเช่นกัน โดย 20 บริษัทขนาดใหญ่ที่สุด ก็มีหุ้นพลังงานและปิโตรเคมีซึ่งเกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันโดยตรงอยู่ 6 บริษัท คิดเป็น 15.46%
  • สำนักงานด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าการผลิตน้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเร็วกว่าปริมาณการบริโภค จนไตรมาสแรกของปี 2022 ปริมาณการผลิตจะสูงกว่าปริมาณการบริโภค
  • ข้อมูลการเดินทาง ภาคการผลิตและบริการ รวมไปถึงราคาวัตถุดิบอื่นที่ใช้อุตสาหกรรม ชี้ว่าความต้องการน้ำมันยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้รวดเร็วพร้อมกันทุกภาคส่วนจนกำลังการผลิตเพิ่มตามไม่ทัน ดังนั้นราคาน้ำมันมีโอกาสน้อยมากที่จะปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

สองปีที่ผ่านมานับเป็นช่วงที่ “ราคาน้ำมัน” มีความผันผวนมาก เดือน เม.ย. 2020 เป็นครั้งแรกที่น้ำมันดิบมีราคาติดลบ เวลาผ่านไป 1 ปี ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2018 ขยับมาที่ 76.8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในปี 2021 ก่อนจะย่อตัวมาอยู่ที่ประมาณ 64-66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ต้องยอมรับว่า ถึงแม้ความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาดจะทวีความร้อนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดที่รัฐบาลหลายประเทศต้องมีนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสะอาด แต่ปัจจุบันน้ำมันก็ยังเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนยานยนต์และการผลิต

ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้อิทธิพลของกลุ่มพลังงานน้อยลงไปมาก แต่ยังมีผลต่อการผลิต การขนส่ง และการใช้ชีวิต สะท้อนผ่านการคิดอัตราเงินเฟ้อที่ราคาพลังงานมีสัดส่วนประมาณ 7% และยังเป็นต้นทุนทางอ้อมของภาคส่วนอื่น 

ส่วนตลาดหุ้นไทย (SET) อิทธิพลของกลุ่มพลังงานนั้นไม่เปลี่ยนแปลงตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมพลังงานมีสัดส่วนเป็นอันดับ 1 ประมาณ 21% และเมื่อดูหุ้นตัวใหญ่ที่สุด 20 บริษัทแรก พบว่ามีบริษัทด้านพลังงานถึง 3 บริษัท และอีก 3 บริษัทเป็นบริษัทปิโตรเคมีซึ่งมีน้ำมันเป็นต้นทุนโดยตรง รวมกันแล้วประมาณ 15.46% เรียกได้ว่าในบางช่วงเวลาที่ราคาน้ำมันกระชากตัวก็มีผลต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยไม่น้อยเลยทีเดียว

คำถามที่น่าสนใจคือ “ราคาน้ำมัน” จะเดินหน้าทำราคาสูงสุดใหม่หรือไม่? เพราะว่าราคาน้ำมันมีความสำคัญต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยและเงินเฟ้อที่คอยกดดันตลาดหุ้นทั่วโลก

เมื่อ EIA คาดว่าการผลิตน้ำมันจะแซงความต้องการต้นปีหน้า

ส่องแนวโน้ม "ราคาน้ำมัน" จะทำให้ SET ไปต่ออีกแค่ไหน ?

สำนักงานด้านพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) คาดว่าปริมาณการผลิตน้ำมันทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและเร็วกว่าปริมาณการบริโภค ซึ่งไตรมาสแรกของปี 2022 ปริมาณการผลิตจะสูงกว่าปริมาณการบริโภค โดยเป็นประเทศกลุ่มนอก OPEC ที่เพิ่มการผลิตมากกว่าประเทศในกลุ่ม OPEC ด้านความต้องการทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นในระดับเดิมสวนทางกับแนวโน้มการเปิดเมือง

นั่นหมายความว่าต่อจากนี้ความต้องการจะเป็นปัจจัยที่กำหนดแนวโน้มราคาน้ำมัน

พี่ทุยเลยจะขอพาไปดูสภาพและแนวโน้มเศรษฐกิจว่า จะทำให้ความต้องการบริโภคน้ำมันสามารถเร่งตัวได้มากกว่านี้ จนหนุนราคาน้ำมันให้ทะลุจุดสูงสุดเดิมได้อีกหรือไม่ ? ซึ่งแน่นอนว่าราคาน้ำมันก็จะมีผลต่อตลาดหุ้นไทย

Google Mobility และสถิติการเดินทาง

ส่องแนวโน้ม "ราคาน้ำมัน" จะทำให้ SET ไปต่ออีกแค่ไหน ?

Google Mobility ซี่งเก็บข้อมูลจากการค้นหาสถานที่ผ่าน Google Map ซึ่งผลข้อมูลในสหรัฐฯ ชี้ว่ากิจกรรมการใช้ชีวิตนอกบ้านเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในเดือน มี.ค. 2021 จนเกือบใกล้ระดับก่อนเกิดการระบาด จากนั้นตัวเลขก็ทรงตัวและล่าสุดเริ่มลดลงบ้างจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ Delta ส่วนตัวเลขของประเทศฝั่งเอเชียที่โดนการแพร่ระบาดเล่นงานก็ยังไม่ฟื้นตัว จะมีก็เพียงแค่ภูมิภาคยุโรปซึ่งมีแนวโน้มที่ดี

ด้านสถิติจากสำนักงานสถิติการขนส่งสหรัฐฯ เปิดเผยให้เห็นว่าการเดินทางทางบกไม่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ส่วนเที่ยวบินในประเทศก็ทรงตัวตั้งแต่เดือน มิ.ย. จะมีเพียงเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นอยู่

เมื่อประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ Delta ที่สร้างความไม่แน่นอน พี่ทุยคิดว่าในระยะนี้ความต้องการน้ำมันจากการออกมาใช้ชีวิตและเดินทางคงไม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแน่ ๆ

ตัวเลขภาคอุตสาหกรรม การค้า และมุมมองในอนาคตของฝ่ายจัดซื้อ ส่งผลต่อ “ราคาน้ำมัน”

ส่องแนวโน้ม "ราคาน้ำมัน" จะทำให้ SET ไปต่ออีกแค่ไหน ?

ตัวเลข Industrial Production ของประเทศจีนซึ่งเป็นเหมือนโรงงานของโลกมีการเติบโตอย่างรวดเร็วช่วงต้นปี 2021 จากนั้นการเติบโตแบบเดือนต่อเดือนก็ลดลงต่อเนื่อง ส่วนการบริโภคที่ดูจากตัวเลข Retail Sales ของประเทศใหญ่อย่างสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ตัวเลขค้าปลีกของประเทศจีนยังเติบโตแต่ก็ลดลงจากต้นปี

ส่วนแนวโน้มในอนาคตพอจะดูได้จากดัชนี PMI ซึ่งสำรวจมุมมองของฝ่ายจัดซื้อทั้งภาคการผลิตและบริการของทั่วโลกพบว่า แม้จะอยู่ในระดับสูงจากการปรับตัวขึ้นมาก่อนหน้า แต่ก็ยังคงที่ ณ ระดับเดิมมาระยะหนึ่งแล้ว สะท้อนมุมมองการจัดซื้อรวมไปถึงคำสั่งซื้อในอนาคตที่น่าจะเพิ่มขึ้นได้แค่ในระดับเดิม

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ชัดว่ากำลังการผลิตและการเติบโตของบริการโดยส่วนใหญ่เข้าสู่จุดสมดุลกับปริมาณการบริโภค ตอนนี้มีเพียงกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ Semiconductor เท่านั้นที่กำลังการผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการจนถึงปี 2022

ทิศทางราคาวัตถุดิบอื่น

การผลิตสินค้าทุกอย่างย่อมใช้วัตถุดิบหลายชนิด ดังนั้นแนวโน้มความต้องการและราคาวัตถุดิบก็มักจะไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งกลุ่มวัตถุดิบที่เป็นโลหะถูกใช้ในอุตสาหกรรมหนักเช่นเดียวกับน้ำมัน จึงใช้เพื่อดูแนวโน้มความต้องการน้ำมันได้

ส่องแนวโน้ม "ราคาน้ำมัน" จะทำให้ SET ไปต่ออีกแค่ไหน ?

พี่ทุยเอาราคาทองแดง อลูมิเนียม สังกะสี และตะกั่วเทียบกับราคาน้ำมัน จะเห็นว่าราคาโลหะเหล่านี้ปรับตัวขึ้นตั้งแต่ต้นปีเช่นเดียวกับราคาน้ำมัน แม้จะปรับตัวขึ้นบ้างแต่ภาพรวมมีแนวโน้มทรงตัวมาระยะหนึ่งแล้ว

เมื่อราคาทรงตัวก็แสดงว่าความต้องการวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากกว่ากำลังการผลิตวัตถุดิบ

“ราคาน้ำมัน” จะทำจุดสูงสุดใหม่หรือไม่? ตลาดหุ้นไทยไปยังไงต่อ?

จากข้อมูลการเดินทาง ภาคการผลิตและบริการ รวมไปถึงราคาวัตถุดิบอื่นที่ใช้อุตสาหกรรม พี่ทุยมองว่าความต้องการยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้รวดเร็วพร้อมกันทุกภาคส่วนจนกำลังการผลิตเพิ่มตามไม่ทันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นช่วงต้นปี 2021 ดังนั้นราคาน้ำมันมีโอกาสน้อยมากที่จะปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่

เมื่อทิศทางราคาน้ำมันเป็นเช่นนี้ตลาดหุ้นไทยก็คงไม่ได้รับแรงหนุนมากนักเพราะถ้าเราไปดูสัดส่วนอุตสาหกรรมในตลาดหุ้นไทย กลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่ส่งผลกระทบต่อดัชนีอย่างมาก

พี่ทุยมองว่าความหวังของตลาดหุ้นไทยก็คือกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการเปิดเมืองและการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวน่าจะดูมีลุ้นมากกว่า เพราะราคาก็ยังไม่ได้ขยับขึ้นมามากเมื่อเทียบกับการย่อตัวลงไปของหุ้นกลุ่มนี้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย