ในที่สุดก็รู้ผลเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 กันแล้ว Donald Trump กำลังก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ด้วยความยิ่งใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ การขยับทิศทางนโยบายเพียงนิดเดียวก็กระทบเศรษฐกิจและการลงทุนไปทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก
วันนี้พี่ทุยจะพาทุกคนไปเจาะลึกทุกมุมว่าเมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีแล้ว ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จะเป็นยังไงต่อ ควรลงทุนอะไรดี แล้วเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง?
Donald Trump ชนะเลือกตั้ง สถิติชี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เป็นยังไงต่อ?
ในที่สุดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ก็ชนะการเลือกตั้งศึกชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2024 แต่ถ้าจะเรียกให้ถูก ต้องเรียกว่า “ว่าที่ประธานาธิบดี” ตรงนี้พี่ทุยขอแวะอธิบายระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสั้น ๆ สักนิด
จริง ๆ แล้วประชาชนไม่ได้ไปโหวตเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี แต่เลือกคณะผู้เลือกตั้ง โดยมีจำนวนทั่วประเทศทั้งหมด 538 ที่นั่ง ผู้ชนะการเลือกตั้งต้องได้ 270 ที่นั่งขึ้นไป
ซึ่งแต่ละรัฐจะมีจำนวนผู้เลือกตั้งตามจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ผู้สมัครฝั่งไหนได้คะแนนเลือกตั้งจากประชาชนมากกว่า ก็ได้คะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งของรัฐนั้นไป ยกเว้นรัฐเมนกับเนบราสกา ที่แบ่งคะแนนคณะผู้เลือกตั้งตามคะแนนเลือกตั้งจากประชาชน
ทีนี้พี่ทุยขอพาไปดูสถิติตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้ง ย้อนไปเมื่อปี 1948 ถึงการเลือกตั้งปี 2020 พบว่าเคสที่ประธานาธิบดีมาจากพรรค Republican ผลตอบแทนเฉลี่ยของดัชนี S&P 500 ช่วง 3 เดือนหลังการเลือกตั้งน้อยกว่าเคสที่ประธานาธิบดีมาจากพรรค Democrat และแตกต่างกันไปขึ้นว่าใครได้ครองสภาคองเกรส
เคสที่พรรค Republican ครองสภาคองเกรสทั้งหมด (ชนะทั้ง สส. และ สว.) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากที่สุดประมาณ 2.67% ตามด้วยเคสที่สภาคองเกรสแบ่งกันระหว่าง 2 พรรค ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 1.62% และสุดท้ายเป็นเคสที่พรรค Democrat ครองสภาคองเกรส
เหตุผลเพราะพรรค Republican มีแนวทางนโยบายเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้ประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและบริษัทในตลาดหุ้น ดังนั้นเมื่อพรรค Republican ครองทั้งตำแหน่งประธานาธิบดีและสภาคองเกรสจึงผ่านนโยบายได้ง่าย เคสนี้จึงทำให้ตลาดหุ้นทำผลตอบแทนได้ดีที่สุด
และสำคัญที่สุดไม่ว่าพรรคไหนจะครองตำแหน่งหรือสภาคองเกรสก็ตาม ดัชนี S&P 500 จะทำผลตอบแทนเฉลี่ยช่วง 3 เดือนหลังการเลือกตั้งเป็นบวกเสมอ
แล้ว Donald Trump มาแบบนี้ ลงทุนอะไรถึงได้ประโยชน์?
เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับลุงทรัมป์มาบ้างแล้วเมื่อครั้งครองตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยแรก ลุงทรัมป์มีแคมเปญหาเสียง Make America Great Again! ชัดกว่านี้ไม่มีอีกแล้วว่านโยบายจะมีความชาตินิยม พร้อมซัดกับทุกประเทศเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน แถมมีนโยบายที่ค่อนข้างเอื้อกับบริษัทขนาดใหญ่ในตลาดหุ้น
เราน่าจะได้เห็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนกลับมาดุเดือดอีกครั้ง ใช้นโยบายการค้ากับทุกประเทศเพื่อให้คนงานและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ได้ประโยชน์มากที่สุด ส่วนนโนบายในประเทศน่าจะมีการลดภาษีนิติบุคคล รัฐบาลใช้นโยบายขาดดุลกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดความเข้มงวดการกำกับดูแลบริษัทในตลาดหุ้น
อุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ มีดังนี้
- กลุ่มอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน
นโยบายขึ้นภาษีสินค้านำเข้าและกีดกันทางการค้าโดยเฉพาะกับจีน รวมถึงนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ จะช่วยดึงดูดหลายบริษัทเข้ามาเพิ่มฐานการผลิตในสหรัฐฯ แน่นอนว่าความต้องการพื้นที่โรงงาน พลังงานไฟฟ้า น้ำประปา ก็ต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมรวมถึงโครงสร้างพื้นฐาน
- สถาบันการเงิน
คาดว่า(ว่าที่)ประธานาธิบดีทรัมป์จะใช้นโยบายผ่อนคลายกฎเกณฑ์กำกับดูแลสถาบันการเงินและตลาดทุน เช่น ลดอัตราส่วนเงินทุนที่ธนาคารต้องสำรอง ทำให้สามารถปล่อยกู้หรือลงทุนได้มากขึ้น กลุ่มสถาบันการเงินจึงได้รับประโยชน์
- บริษัทพลังงาน (น้ำมัน)
ค่อนข้างชัดเจนว่า(ว่าที่)ประธานาธิบดีทรัมป์ให้ความสำคัญกับความมั่นคงด้านพลังงาน ไม่ว่าพลังงานแบบเก่า เช่น น้ำมัน ถ่านหิน แก๊สธรรมชาติ หรือพลังงานสะอาด ซึ่งพลังงานที่ผลิตง่ายและรับประกันความมั่นคงได้มากกว่า คือ พลังงานแบบเก่า หุ้นบริษัทพลังงานซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับน้ำมันจึงรับประโยชน์
- บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่
กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อาจไม่ได้รับผลดีจากนโยบายที่ส่งเสริมการเติบโต แต่จะได้รับประโยชน์จากนโยบายลดอัตราภาษีนิติบุคคลซึ่งมีรายงานว่าอาจลดจาก 21% จากเหลือ 15% และยกเลิกภาษีที่ขึ้นไปในยุคอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน
ประเทศไทยได้รับผลกระทบดีแย่มากน้อยแค่ไหน ?
ถ้าจะพูดถึงผลต่อเศรษฐกิจไทยก็คงต้องไปดูทิศทางนโยบายการค้า ซึ่งแทบจะรู้กันอยู่ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งแล้วว่าทั้งนายโดนัลด์ ทรัมป์หรือนางกมลา แฮร์ริส มีแนวทางนโยบายและผลกระทบโดยรวมต่อเศรษฐกิจไทยไม่ต่างกัน
พี่ทุยขอบอกเลยว่ายุคโลกาภิวัฒน์สิ้นสุดไปตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ครองตำแหน่งสมัยแรก จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อช่วงยุค 1990-2000 ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น มองหาฐานการผลิตที่ต้นทุนต่ำ ในยุคนั้นค่าแรงของประเทศจีนและอีกหลายประเทศในเอเชียถือว่าต่ำมาก ส่งให้ประเทศจีนและเอเชียกลายเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก และชาติตะวันตกก็เป็นผู้รับซื้อสินค้าเหล่านั้น
เวลาผ่านไปประเทศจีนค้าขายมากขึ้นเกินดุลการค้า ฝั่งตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐฯ ขาดดุลการค้ามหาศาล การจ้างงานภาคอุตสาหกรรมลดลงหลังปี 2000 เกิดความไม่พอใจเพิ่มขึ้นในหมู่แรงงานจนมากพอที่จะบีบให้ทุกพรรคการเมืองต้องหันมาใช้นโยบายเน้นการผลิตและจ้างงานในสหรัฐฯ
ในกรณีของทรัมป์ที่มีโอกาสขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนไปที่ 60% และสินค้าทุกประเภทจากประเทศอื่นที่ 10% จะทำให้การส่งออกไทยชะลอตัว เพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ส่วนการย้ายฐานผลิตจากจีนมายังประเทศไทย ในระยะยาวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่อาจแพ้ประเทศอื่น เช่น เวียดนาม อินโดนิเซีย ส่วนระยะสั้นจะหยุดชะงักรอดูสถานการณ์
แล้วถ้าจะหวังให้สหรัฐฯ หันมานำเข้าสินค้าจากไทยแทนจีน อาจกลายเป็นประเทศจีนที่ได้ประโยชน์ ด้วยการใช้ไทยเป็นช่องทางผ่านสินค้าไปยังสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยอาจเสี่ยงโดนมาตรการตอบโต้จากสหรัฐฯ ไปด้วย
เมื่อประเทศจีนส่งสินค้าไปสหรัฐฯ น้อยลง ความต้องการในประเทศจีนเองก็ไม่พอรองรับปริมาณสินค้าส่วนเกิน สุดท้ายกลับกลายเป็นประเทศไทยเองที่ต้องเตรียมตัวรับสินค้าจีนทะลักเข้าประเทศ
มาถึงตรงนี้พี่ทุยหวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้นักลงทุนทุกคนปรับพอร์ตเตรียมรับสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น และได้แต่ขอให้การเมืองและการค้าโลกกลับมาสงบบ้าง หลังวุ่นวายมานานหลายปี
อ่านเพิ่ม