เทรนด์ "ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง" เติบโต หุ้นตัวไหนได้ประโยชน์ ?

เทรนด์ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” เติบโต หุ้นตัวไหนได้ประโยชน์ ?

5 min read  

ฉบับย่อ

  • การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เป็นเทรนด์การใช้จ่ายที่มาแรง ทำให้หุ้นของบริษัทที่ให้บริการในเทรนด์นี้ กำลังน่าจับตา โดยคาดว่าการใช้จ่ายแบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังจะมีมูลค่าแตะ 680,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2025 เติบโตถึง 92% เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2019   
  • ตัวอย่างหุ้นซื้อก่อนจ่ายทีหลังระดับโลกที่น่าจับตา ได้แก่ Klarna, Affirm, Square, Global Payments, Visa และ Paypal

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

Buy now, pay later (BNPL) หรือก็คือการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” เป็นเทรนด์การใช้จ่ายที่มาแรงระยะหนึ่งแล้วในยุคดิจิทัล และความร้อนแรงก็ทะลุพิกัดมากขึ้นไปอีกหลังเกิดโรคระบาด เพราะทำให้คนที่ไม่เคยเข้ามาช้อปออนไลน์ สนใจมาสู่วงการนี้มากขึ้น ขณะที่การซื้อขายหน้าร้านก็ชอบอกชอบใจเทรนด์นี้มากกว่าเดิม เนื่องจากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัส คนที่จำเป็นต้องใช้จ่ายกับของหลายอย่าง แต่เงินในมือมีไม่ถึง ก็ต้องพึ่ง BNPL นี่แหละ  

และเทรนด์นี้เอง ก็ทำให้หุ้นของบริษัทที่ให้บริการเกี่ยวข้องกับการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” กำลังเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง โดย Bloomberg นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจว่า การซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เป็นโปรแกรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งจากการซื้อผ่าน E-commerce และหน้าร้านในสหรัฐอเมริกาที่มีการนำเสนอโปรแกรมนี้ผ่านผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) เช่น Affirm, Afterpay และ Klarna

เทรนด์ "ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง" เติบโต หุ้นตัวไหนได้ประโยชน์ ?

(ที่มา : Almost 75% of BNPL users in the US are Gen Z or millennials)

ขณะที่ Insider Intelligence เสนอรายงานเกี่ยวกับ BNPL ไว้ว่า ภายในปี 2025 กลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z ซึ่งจะเรียกง่าย ๆ ก็คือ กลุ่มวัยทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นที่เกิดมาก็มีเทคโนโลยีห้อมล้อม จะเป็นกลุ่มสำคัญที่ครองส่วนแบ่งการใช้บริการ ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ในสหรัฐอเมริกา

ในปีนี้ กลุ่ม Gen Z ที่ซื้อก่อนจ่ายทีหลังคิดเป็น 36.8% ของผู้ใช้บริการทั้งหมด ส่วนกลุ่มมิลเลนเนียล ใช้บริการนี้ 30.3% ส่วนในปี 2025 คาดว่า กลุ่ม Gen Z ที่ซื้อก่อนจ่ายทีหลังจะเพิ่มเป็น 47.4% และกลุ่มมิลเลนเนียลที่ใช้บริการนี้ก็เติบโตเช่นกัน เป็น 40.6% 

ส่วน businesswire คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายแบบซื้อก่อนแล้วจ่ายทีหลังจะมีมูลค่าแตะ 680,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2025 ซึ่งเติบโตถึง 92% เมื่อเทียบกับตัวเลขในปี 2019 ซึ่งอยู่ที่ 353,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีการใช้โทรศัพท์มือถือช้อปปิ้งออนไลน์เป็นตัวเร่ง 

หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”

เมื่อเห็นแล้วว่าเทรนด์นี้โต คราวนี้มาไล่เรียงกันบ้างว่า มีหุ้นที่เกี่ยวข้องกับ buy now, pay later ตัวไหนที่น่าจับตามอง 

Klarna

เป็นผู้ให้บริการทั้งแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์และมีหน้าร้านค้า โดย Klarna เป็นพันธมิตรกับผู้ค้าปลีกทั่วโลก เน้นให้ลูกค้าจ่ายเงินซื้อสินค้าได้ง่าย ๆ ด้วยการใช้ทางเลือกชำระเงินแบบยืดหยุ่น ด้วยบริการที่เรียกว่า Pay in 4 คือ ซื้อแล้วจ่ายได้ 4 งวดแบบไม่มีค่าธรรมเนียม โดยจ่ายทุก 2 สัปดาห์ ซึ่งแพลตฟอร์ม Klarna จะแจ้งเตือนผ่านแอปก่อนถึงเวลาต้องจ่าย

Klarna มีต้นกำหนดในสวิตเซอร์แลนด์ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2005 โดยจากข้อมูลของ Insider Intelligence พบว่า Klarna ครองส่วนแบ่งผู้ใช้งานในตลาดซื้อก่อนจ่ายทีหลังในปี 2021 เกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 48.6%

เมื่อกลางเดือน ก.ค. 2021 ที่ผ่านมา Klarna มีการเข้าซื้อกิจการ HERO ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพค้าปลีกที่เชื่อมต่อนักช้อปออนไลน์กับกลุ่มร้านค้าที่มีหน้าร้านผ่านข้อความ วิดีโอ และการเปิดห้องแชทออนไลน์ เนื่องจากมองว่าจะช่วยให้ Klarna ส่งมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้กับผู้บริโภค และเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในด้านการสนับสนุนธุรกิจของร้านค้าที่เป็นพันธมิตรกับ Klarna ขณะที่ก่อนหน้านั้น Klarna ซื้อกิจการ Toplooks บริษัทเทคโนโลยีค้าปลีกที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นพื้นฐาน เมื่อเดือน มี.ค. รวมทั้งการซื้อ Woilà บริษัทที่ให้บริการหลังการขายเมื่อปีก่อน

เทรนด์ "ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง" เติบโต หุ้นตัวไหนได้ประโยชน์ ?

สำหรับข้อมูลผลการดำเนินงานล่าสุดของ Klarna ณ ไตรมาสแรกของปี 2021 มีผู้ใช้งาน Klarna ทั่วโลก ที่ใช้งานอยู่กว่า 90 ล้านคน มีธุรกรรมเกิดขึ้นกว่า 2 ล้านรายการในแต่ละวัน มีมูลค่าการซื้อขายรวมผ่านแพลตฟอร์ม Klarna ในไตรมาสแรกปีนี้ 6,900 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม Klarna ยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้น ดังนั้น ก็อาจจะไม่ง่ายนักสำหรับนักลงทุนรายย่อย กับการเข้าไปลงทุนโดยตรงใน Klarna ตอนนี้ แต่ไม่ยากมากสำหรับนักลงทุนสถาบัน เช่น Softbank ของญี่ปุ่น, GIC กลุ่มทุนสิงคโปร์, Ant Group ของจีน และ กองทุนที่บริหารจัดการโดย Blackrock เป็นต้น ซึ่งก็มีการเข้าไปลงทุนในบริษัทนี้

Affirm

Affirm Holdings, Inc. (NASDAQ: AFRM) บริษัทฟินเทคที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้บริการเครือข่ายชำระเงินเพื่อให้อำนาจผู้บริโภคในการใช้จ่ายและช่วยเหลือร้านค้าในการขับเคลื่อนยอดขายให้เติบโต

ทั้งนี้ Affirm จะนำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินซื้อก่อนจ่ายทีหลังกับร้านค้าพันธมิตรต่าง ๆ  ซึ่งเมื่อผู้บริโภคเข้าไปซื้อของในร้านค้าที่มาเป็นพันธมิตร ก็สามารถเลือกใช้บริการซื้อก่อนแล้วค่อยจ่ายทีหลังกับ Affirm ได้ โดยเลือกได้ว่าจะผ่อนชำระกี่เดือน ซึ่งมีทั้งไม่เสียดอกเบี้ย และเสียดอกเบี้ย ส่วนสินค้าที่ร่วมเป็นพันธมิตร ก็มีหลากหลายกลุ่ม เช่น เครื่องประดับ เสื้อผ้า ยานยนต์ ความงาม สุขภาพ อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์กีฬา เฟอร์นิเจอร์ สินค้าหรู การท่องเที่ยว เป็นต้น   

เมื่อเดือน พ.ค.  2021 Affirm ประกาศผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 3 ของปีงบการเงิน (เดือน ม.ค. – มี.ค. 2021) โดยระบุว่า ยอดการซื้อสินค้าผ่านร้านค้าบนแพลตฟอร์มเร่งตัวขึ้นเป็น 2,300 ล้านดอลลาร์ เร่งตัวขึ้น 83% จากเดือน มี.ค. 2020 จำนวนร้านค้าพันธมิตรอยู่ที่เกือบ 12,000 ร้านค้า เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากเดือน มี.ค. ปีก่อน ส่วนจำนวนผู้บริโภคที่ใช้บริการเพิ่มขึ้น 60% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็น 5.4 ล้านราย 

จากยอดนี้ส่งผลให้รายได้รวมของ Affirm ในไตรมาสที่ 3 ของปีงบการเงิน อยู่ที่ 230.7 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 67% เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ของปีที่แล้ว 

ส่วนรายได้รวมทั้งปีงบการเงิน 2021 (ก.ค. 2020- มิ.ย. 2021) นั้น Affirm เตรียมประกาศในวันที่ 9 ก.ย. นี้ ซึ่งก็ต้องจับตาดูกันต่อไป 

อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ เมื่อเดือน มิ.ย. 2021 Affirm ประกาศจับมือกับ Shopify เพื่อขยายบริการซื้อเงินผ่อนทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Shopify นั้น เป็น E-commerce ที่กำลังมาแรง และพยายามขับเคี่ยวกับคู่แข่งอย่าง Amazon อยู่

จากผลการดำเนินงานที่เติบโต รวมทั้งการขยายเครือข่ายธุรกิจอย่างต่อเนื่องนี่เอง ส่งผลให้ Affirm เป็นหุ้น buy now pay later ตัวหนึ่งที่น่าจับตา เพราะมีมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก ที่สำคัญคือเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นแล้ว ดังนั้นนักลงทุนก็จะเข้าถึงได้ไม่ยากนัก หากลงทุนตรงในหุ้นสหรัฐฯ เอง 

Square

Square (NYSE: SQ)  เป็นบริษัทฟินเทคอเมริกัน ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ให้บริการด้านการชำระเงิน เป็นทางเลือกช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ โดยผู้ขายจะใช้งาน Square เพื่อเข้าถึงผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ และเข้าถึงแบบรายบุคคล สามารถจัดการธุรกิจและเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านช่องทางนี้ได้ ขณะเดียวกัน Square ยังมี Cash App เป็นแอปพลิเคชั่นเงินสดสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อใช้จ่าย ส่งเงิน เก็บเงิน และลงทุนด้วย โดยไม่จำเป็นต้องมีธนาคาร และ Square มีสำนักงานในสหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ไอร์แลนด์ สเปน นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร

ล่าสุดต้นเดือน ส.ค. 2021 เพิ่งประกาศซื้อกิจการ Afterpay เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับผู้ขายผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง รวมถึง Cash App

สิ่งที่น่าสนใจคือ Afterpay เป็นแพลตฟอร์มออสเตรเลียที่มีความโดดเด่นระดับโลกในด้านการให้บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งการที่ Square ไปซื้อกิจการมา ก็จะช่วยให้ร้านค้าเล็ก ๆ ที่เสนอขายผ่านแพลตฟอร์มของ Square สามารถนำเสนอบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้ ขณะที่ลูกค้าเดิมของ Afterpay เอง ก็จะสามารถเลือกใช้ Cash App ของ Square ในการบริหารจัดการชำระเงินผ่อนได้

เทรนด์ "ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง" เติบโต หุ้นตัวไหนได้ประโยชน์ ?

จากข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2021 Afterpay ให้บริการลูกค้ามากกว่า 16 ล้านคน และร้านค้าเกือบ 100,000 แห่งทั่วโลก ซึ่งก็รวมถึงผู้ค้าปลีกรายใหญ่ในกลุ่มสินค้าแฟชั่น ความงาม กีฬา และอื่นๆ โดย Afterpay มีบริการในประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก อเมริกาเหนือ และยุโรป

ด้วยเหตุผลจากการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ จึงทำให้ Square กลายเป็นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับบริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังที่น่าจับตาสำหรับนักลงทุน เพราะคาดว่าจะทำให้ Square มีศักยภาพในการขยายส่วนแบ่งตลาดในด้านการซื้อก่อนจ่ายทีหลังได้อีกมาก 

Global Payments 

Global Payments (NYSE : GPN) เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ให้บริการเทคโนโลยีและซอฟต์แวร์ทางการเงินเพื่อสนับสนุนการค้าขายของภาคธุรกิจ หนึ่งในนั้นก็คือ การนำเสนอทางเลือกระบบซื้อก่อนจ่ายทีหลังให้ภาคธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนยอดขาย ครอบคลุมธุรกิจทุกขนาดและทุกอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ 

ทั้งนี้ Global Payments มองว่า เทรนด์การซื้อก่อนจ่ายทีหลังเป็นหนึ่งในกลุ่มฟินเทคด้านการให้กู้ยืมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการเติบโตสูงถึง 40% เมื่อเทียบรายปี 

สิ่งที่น่าสนใจของบริษัทนี้ คือ มีการร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการกับร้านค้าที่เป็นเครือข่ายพันธมิตรของ Google ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสสำคัญในการขยายบริการเครื่องมือด้านการซื้อก่อนจ่ายทีหลัง

ล่าสุด Global Payments เพิ่งประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ของปี 2021 โดยบริษัทมีรายได้รวม 2,140 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 2 ของปี 2020 ที่มีรายได้ 1,670 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนต่างจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 6.4% เท่านั้น ส่วนรายได้หลังปรับปรุงแล้วอยู่ที่ 1,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 28% เมื่อเทียบกับที่มีรายได้ 1,520 ล้านดอลลาร์ เมื่อไตรมาส 2 ของปีก่อน 

Global Payments ยังประกาศด้วยว่า เพิ่งจะร่วมมือกับ CaixaBank ซึ่งเป็นพันธมิตรในการเข้าซื้อกิจการชำระเงินของ Bankia ในสเปน ซึ่งก็ถือเป็นโอกาสสำคัญในการเข้าไปขยายธุรกิจในยุโรป นอกจากนี้บริษัทยังมีการทำความร่วมมือครั้งใหม่กับ Amazon Web Services ด้วย

โดยรวมแล้วแม้ Global Payments จะไม่ใช่ผู้ให้บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังกับผู้บริโภคตรง ๆ แต่ก็เป็นหุ้นที่น่าจับตาเพราะเป็นผู้ให้บริการระบบหลังบ้านกับร้านค้าที่ต้องการนำเสนอทางเลือกซื้อก่อนจ่ายทีหลังนั่นเอง 

Visa

Visa Inc. (NYSE: V) บริษัทให้บริการชำระเงินระดับโลก ที่กำลังลุยตลาด ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง อย่างเต็มที่ในสหรัฐฯ แคนาดา รัสเซีย และมาเลเซีย ด้วยการจัดทำเว็บไซต์ซื้อก่อนแล้วจ่ายทีหลังสำหรับผู้ใช้บัตรเครดิต ไม่ว่าจะเป็นบัตรที่ธนาคาร กลุ่มเครดิตยูเนี่ยน หรือบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินเป็นผู้ออก โดยใช้เครือข่ายชำระเงินของ Visa ซึ่งเว็บไซต์นี้จะทำให้ร้านค้าต่าง ๆ นำเสนอบริการจ่ายก่อนจ่ายทีหลังให้ผู้บริโภคได้ระหว่างซื้อสินค้าออนไลน์

ถือเป็นการรุกตลาดครั้งสำคัญ เพื่อป้องกันแชมป์ในตลาดสินเชื่อผู้บริโภคที่เวลานี้ทั้ง PayPal, Affirm Holdings หรือ Apple กำลังรุกคืบเข้ามาอยู่

Visa ระบุว่า ปกติแล้วผู้บริโภคใช้การผ่อนชำระสินค้าเมื่อซื้อสิ่งของขนาดใหญ่ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และเฟอร์นิเจอร์ โดยพวกเขามักจะแบ่งการชำระเงินเป็น 3-4 งวด แบบไม่เสียดอกเบี้ย และหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ต้องเสียดอกเบี้ยด้วยการจ่ายตรงเวลา  

เป้าหมายของ Visa เวลานี้ก็คือ ทำให้เป็นเรื่องง่าย ๆ สำหรับธนาคารต่างๆ เช่น Wells Fargo และ Chase เพื่อให้บริการผ่อนชำระกับผู้บริโภค โดยมุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์ เรียกว่าเป็นหุ้นหน้าเก่าที่น่าจับตาในตลาดซื้อก่อนจ่ายทีหลังนี้

PayPal

PayPal Holdings, Inc. (NASDAQ : PYPL) บริษัทที่ให้บริการระบบชำระเงินออนไลน์ ที่กระโดดเข้าสู่สนามจ่ายก่อนจ่ายทีหลังเมื่อปลายปี 2020 โดยนำเสนอบริการ Pay in 4 ให้แบ่งผ่อนชำระได้ 4 งวด โดยงวดแรกชำระเมื่อซื้อสินค้า ส่วนอีก 3 งวดที่เหลือชำระทุก ๆ 2 สัปดาห์หลังจากนั้น   

ทั้งนี้ PayPal นำเสนอบริการนี้ให้กับผู้บริโภคในสหรัฐฯ ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี โดยจะต้องมีบัญชีออนไลน์กับ PayPal ก่อน จึงจะใช้บริการได้ 

สำหรับ Pay in 4 จะไม่สามารถใช้ได้กับร้านค้าและสินค้าบางรายการ โดยการใช้บริการนี้จะต้องเป็นการซื้อสินค้ามูลค่า 30-1,500 ดอลลาร์ หากผ่อนชำระตรงเวลาก็จะไม่เสียค่าธรรมเนียมใด ๆ แต่ถ้าชำระล่าช้า ก็จะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียม ขณะที่โดยรวมแล้วการใช้บริการผ่อนชำระนี้ จะต้องใช้เวลาในการผ่อนน้อยกว่า 6 สัปดาห์

จะซื้อหุ้นเองก็ได้ หรือลงทุนในกองทุนรวมที่มีหุ้นธุรกิจ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”

นี่เป็นตัวอย่างของหุ้นที่อยู่ในสังเวียนซื้อก่อนจ่ายทีหลัง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ซึ่งใครที่มีบัญชีซื้อขายหุ้นต่างประเทศเอง ก็สามารถพิจารณาหุ้นเหล่านี้ได้ แต่สำหรับใครที่ไม่ได้ลงทุนในหุ้นต่างประเทศเองโดยตรง ก็ยังมีทางเลือกที่จะสามารถลงทุนเพื่อรับประโยชน์จากเทรนด์นี้ได้ ด้วยการเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวม ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นฟินเทค และในพอร์ตลงทุนของกองทุนมีหุ้นเหล่านี้อยู่ 

จากการเข้าไปดูข้อมูลใน Morningstar และค้นหารายละเอียดต่อเกี่ยวกับหุ้นอันดับต้นๆ ที่กองทุนต่างประเทศที่กองทุนของไทยไปลงทุนพบว่า มีกองทุนที่ลงทุนในหุ้นเหล่านี้ เช่น  

  • กองทุนเปิดบัวหลวงฟินเทค (B-FINTECH) ซึ่งลงทุนผ่านกองทุนหลักที่ลงทุนในหุ้น Visa 
  • กองทุนเปิดบัวหลวงโกลบอลอินโนเวชั่นและเทคโนโลยี (B-INNOTECH) ซึ่งลงทุนผ่านกองทุนหลักที่ลงทุนในหุ้น VISA 
  • กองทุนเปิดไทยพาณิชย์โกลบอลดิจิตอล (SCBDIGI) ซึ่งลงทุนผ่านกองทุนหลักที่ลงทุนในหุ้น Paypal 
  • กองทุนเปิด แอล เอช ดิจิตอล อีโคโนมี (LHDIGITAL) ซึ่งลงทุนผ่านกองทุนหลักที่ลงทุนในหุ้น VISA และ PayPal
  • กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี ฟินเทค อินโนเวชั่น (MFTECH) ซึ่งลงทุนผ่านกองทุนที่ลงทุนในหุ้น Square, PayPal, Visa และ Global Payments
รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย