สายพื้นฐาน (VI) กับ สายเทคนิค ซื้อหุ้นกันอย่างไร ?

สายพื้นฐาน (VI) กับ สายเทคนิค “ซื้อหุ้น” กันอย่างไร ?

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • สไตล์การลงทุนในปัจจุบันที่ทั้งมืออาชีพ และนักลงทุนรายย่อยนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นโดยทั่วไปจะแบ่งได้เป็น 2 สไตล์หลัก ๆ คือ สายพื้นฐาน (VI) และสายเทคนิค 
  • สองแนวทางสามารถทำกำไรได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราถูกจริตกับแบบไหนมากกว่ากัน หรือถ้าเราถนัด 2 สองแบบเลยก็สามารถนำทั้ง 2 วิธีมาผสมได้เช่นกัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

สำหรับนักลงทุนมือใหม่คงมีคำถามที่ว่า จะเริ่มต้นเล่นหุ้นเป็นต้องทำอย่างไร ? “ซื้อหุ้น” ขายหุ้นตอนไหนดี ? ถ้าเราลองศึกษาเรื่องการลงทุนในหุ้นมาสักพัก เราจะเห็นว่านักลงทุนหลาย ๆ ท่านก็มีสไตล์การลงทุนของตนเองไม่เหมือนกัน เนื่องจากวัตถุประสงค์ใน การลงทุน องค์ความรู้ที่ได้เรียนมาจากหลายศาสตร์ ความชอบส่วนบุคคล 

พี่ทุยจะมาขออธิบายสไตล์ การลงทุน ในปัจจุบันที่ทั้งมืออาชีพ และนักลงทุนรายย่อยนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นโดยทั่วไปจะแบ่งได้เป็น 2 สไตล์หลัก ๆ ได้แก่
1. สายพื้นฐาน (VI)
2. สายเทคนิค

ซึ่งทั้ง 2 แนวทางนี้มีแนวคิดในการวิเคราะห์ และจุดเข้าซื้อจุดขายที่แตกต่างกัน โดยเริ่มต้นจาก

1. สายพื้นฐาน (VI)

หรือเรียกชื่อเต็มๆว่า Value Investor ซึ่งแปลเป็นไทยว่า “นักลงทุนเน้นคุณค่า” โดยภาพรวมของการวิเคราะห์สายนี้ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นจะมีแนวคิดหลักอยู่ 2 แบบที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายคือ

(1) วิธีวิเคราะห์จากบนลงล่าง (Top – Down Approach)

เป็นการวิเคราะห์โดยเริ่มจาก“วิเคราะห์เศรษฐกิจ” ซึ่งใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีราคาผู้ผลิต อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ อัตราการว่างงาน หนี้สาธารณะ  ฯลฯ เพราะจะทำให้เข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบันของเศรษฐกิจมหภาค ต่อมาก็จะเริ่มที่การ “วิเคราะห์อุตสาหกรรม” เป็นการวิเคราะห์การเติบโตของอุตสาหกรรมต่างๆ การแข่งขันระหว่างอุตสาหกรรม กฎหมายข้อบังคับ และสุดท้าย “วิเคราะห์บริษัท” โดยดูจากรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โอกาสเติบโต ผลประกอบการของบริษัท ฐานะทางการเงินของบริษัท คำนวณอัตราส่วนทางการเงิน จนได้หุ้นที่มีคุณภาพ

(2) ประเมินมูลค่าหุ้น 

เมื่อนักลงทุนคัดเลือกหุ้นจากขั้นตอนแรกได้แล้ว เราจึงมาประเมินมูลค่าของหุ้น เพื่อเทียบกับราคาปัจจุบันในตลาดว่าหุ้นที่เราเลือกมานั้นมีราคาที่เหมาะสมแล้วรึยัง โดย read money ขอนำวิธีประเมินมูลค่าหุ้นที่นักลงทุนนิยมกันมากและง่ายที่สุดนั้นก็คือ P/E Ratio วิธีคิดก็คือ

P/E Ratio = ราคาตลาดของหุ้น / กำไรต่อหุ้น

ตัวอย่างเช่น บริษัท read money มีกำไรต่อหุ้นเท่ากับ 2 บาท โดยราคาตลาดของหุ้นในปัจจุบันเท่ากับ 15 บาท ดังนั้น P/E Ratio จะเท่ากับ 7.5 เท่า(15/2) จากนั้นนักลงทุนนำค่า P/E Ratio ที่หาได้ไปเทียบกับ P/E Ratio ของอุตสาหกรรมนั้นโดยสามารถเข้าไปดูได้ที่ www.set.or.th

> ถ้า P/E Ratio ของบริษัทที่เราประเมิณมีค่าน้อยกว่า P/E Ratio ของอุตสาหกรรมนักลงทุนควร “ซื้อ” เพราะราคาที่แท้จริงของหุ้นถูกกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน

> ถ้า P/E Ratio ของบริษัทที่เราประเมิณมีค่ามากกว่า P/E Ratio ของอุตสาหกรรมนักลงทุนควร “ขาย” เพราะราคาที่แท้จริงของหุ้นแพงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน

2. สายเทคนิค

สำหรับนักลงทุนสายนี้จะศึกษาพฤติกรรมของราคาหุ้นผ่าน “กราฟราคา” โดยจะอาศัยข้อมูลในอดีต วอลลุ่มการซื้อ อินดิเคเตอร์ต่าง ๆ ในการคาดการณ์ราคาหุ้น และไม่ค่อยสนใจในรายละเอียดพื้นฐานของหุ้น

นักลงทุนสายนี้มีความเชื่อที่ว่า “ราคาจะสะท้อนทุกอย่างไว้หมดแล้ว” ซึ่งหมายความว่า พื้นฐานของกิจการจะดีหรือไม่ ผลประกอบการจะเป็นอย่างไร จะมีข่าวดีหรือข่าวร้าย ราคาจะเป็นตัวบอก Story ของหุ้นตัวนั้นเอง สำหรับการวิเคราะห์จุดซื้อ-จุดขายของสายเทคนิคที่เพิ่งเริ่มต้นนั้นมีแนวทางที่เป็นที่นิยมกันอยู่ 3 แบบคือ

(1) Buy on dip

จะวิเคราะห์จากแนวโน้มที่เป็นขาขึ้น(up trend) โดยราคาจะย่อตัวลงมาจังหวะที่ย่อตัวนักลงทุนจะใช้เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (EMA) เป็นจุดที่ใช้เข้าซื้อ โดยนำราคาหุ้นย้อนหลัง (ส่วนมากจะใช้ 5,10,15,35,89,200 วัน) มาคำนวณ

(2) Channel Trade

จะวิเคราะห์จากแนวโน้มที่แกว่งตัวออกข้าง (Sideway) โดยจะตีกรอบแนวรับแนวต้านเพื่อวิเคราะห์จากนั้นก็ “ซื้อหุ้น” ที่แนวรับ และขายที่แนวต้าน วิธีนี้เป็นวิธีที่นักลงชอบมากที่สุดเพราะสามารถทำกำไรได้ง่ายและเร็ว

(3) Break out

วิธีนี้เป็นการ ซื้อหุ้น ที่ค่อนข้างได้เปรียบในเรื่องของความคุ้มทุนในการเข้าซื้อ เพราะจะซื้อหุ้นเมื่อราคาเริ่มขยับทะลุแนวต้านขึ้นไปเพื่อเป็นสัญญาณที่คอนเฟิร์มว่าหุ้นกำลังจะเปลี่ยนแนวโน้มไปเป็นขาขึ้น เหมือนเราซื้อหุ้นที่ต้นน้ำ ดังนั้นถ้าเปลี่ยนแนวโน้มได้จริงๆนักลงทุนจะได้หุ้นที่มีต้นทุนที่ต่ำมากๆและสามารถถือสร้างผลตอบแทนได้เยอะ 

จากที่พี่ทุยได้นำแนวทางของ 2 แนวทางมาให้ลองเลือกกันดูว่า การลงทุน ตัวเราเหมาะกับแนวไหนมากกว่านั้น ต้องบอกก่อนว่าทั้งสองแนวทางสามารถทำกำไรได้เหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราถูกจริตกับแบบไหนมากกว่ากัน หรือถ้าเราถนัด 2 สองแบบเลยก็สามารถนำทั้ง 2 วิธีมาผสมได้เช่นกัน เช่น เราอาจจะใช้สายพื้นฐานหาหุ้นที่มีคุณภาพดีได้แล้ว จากนั้นเรานำสายเทคนิคมาใช้เพื่อหาจุดเข้าซื้อที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละครั้ง รวมถึงการกำหนดจุดขายเมื่อหุ้นมีการกลับเทรนด์ เป็นต้น

แต่สิ่งที่สำคัญที่นักลงทุนทุกคนต้องมี คือ ไม่ว่าจะวิเคราะห์ด้วยวิธีใดต้องกำหนดจุด cut loss ไว้เสมอ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply