บทเรียนในอดีตกับสิ่งที่ต้องระวังเมื่อ “ตลาดหุ้น” เริ่มฟื้นตัว

บทเรียนในอดีตกับสิ่งที่ต้องระวังเมื่อ “ตลาดหุ้น” เริ่มฟื้นตัว

2 min read  

ฉบับย่อ

  • การฟื้นตัวของ “ตลาดหุ้น” หลังจากร่วงลงมาแรง เช่น ร่วงลงมา 30% แล้วเด้ง 10% อาจจะไม่ได้แปลว่าตลาดผ่านจุดต่ำสุดแล้วเสมอไป ตัวอย่างจากวิกฤตการเงินปี 2008 และปี 1987 ก็แสดงให้เห็นว่าตลาดยังสามารถลงต่อได้อีก
  • Revenge Trading หรือความต้องการ “เอาคืน” หลังจากตลาดร่วงลงมาแรง จนพอร์ตของเราขาดทุนไปมาก เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้เราลืมคำนึงถึงความเสี่ยง!

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เมื่อตลาดร่วงลงมาแรง หลายคนก็เริ่มพยายามจะมองหาว่าจุดต่ำสุดของ “ตลาดหุ้น” จะอยู่ตรงไหน ไม่ว่าจะวิเคราะห์จากกราฟราคา วิเคราะห์จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น แต่พี่ทุยคิดว่าคงจะไม่มีใครสามารถบอกได้อย่างแม่นยำ 100% ว่าจริง ๆ แล้ว จุดต่ำสุดมันอยู่ตรงไหนกันแน่

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “ตลาดหุ้น” ทั่วโลกร่วงลงมาโดยเฉลี่ยกว่า 30% เรียกได้ว่าลดลงไม่แพ้กับวิกฤตหลาย ๆ ครั้งของตลาดหุ้นที่ผ่านมา อย่างตลาดหุ้นไทย (SET) ก็ร่วงจากเกือบ 1,600 จุด ไปทำจุดต่ำสุดที่ 969.08 จุด เมื่อกลางเดือน เมษายน ลดลงถึง 39% ก่อนที่ดัชนีจะเด้งกลับมาได้เกือบ 15% ในช่วงเดือนที่ผ่านมา การที่ดัชนีฟื้นกลับมายืนเหนือระดับ 1,100 จุด ได้อีกครั้ง ในเวลาอันรวดเร็ว ย่อมทำให้บางคนเริ่มคิดแล้วว่า “หรือตลาดหุ้นจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วหรือเปล่านะ?” แน่นอนว่าการฟื้นตัวได้เร็วและแรง ย่อมเป็นสัญญาณประกอบอย่างหนึ่งของการกลับทิศ แต่ในเมื่อ ‘ความไม่แน่นอน’ คือส่วนหนึ่งของตลาด เพราะฉะนั้นนักลงทุนหรือนักเก็งกำไรในตลาด ก็คงต้องไม่ลืมความเสี่ยงในส่วนนี้เช่นกัน

บทเรียนหนึ่งจากจากวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ เมื่อปี 2008 และปี 1987 ถือเป็นสองเหตุการณ์ที่ช่วยย้ำเตือนให้เราเห็นว่า การพยายามคาดเดาจุดต่ำสุดของตลาด โดยที่ไม่ได้เผื่อเรื่องของความเสี่ยงเอาไว้ ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเงินลงทุนที่มีอยู่

ในวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 ดัชนี S&P500 เริ่มต้นปีที่เกือบ 1,400 จุด ก่อนจะดิ่งลงไปแตะ 740 จุด หลังจากนั้นดัชนีวิ่งกลับขึ้นมาได้ราว 200 จุด หรือเกือบ 30% ภายในเวลาประมาณ 2 เดือน จนทุกคนมองว่าดัชนีอาจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่ว่าหลังจากนั้น ดัชนีกลับร่วงลงต่อไปอีก จนไปทำจุดต่ำสุดที่ 666 จุด ก่อนจะฟื้นตัวได้อย่างแท้จริง และในวิกฤตตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปี 1987 ก็คล้ายคลึงกัน คือผ่านช่วงที่ดิ่งลงอย่างรุนแรงถึง 36% ตามมาด้วยช่วงของการเด้งกลับถึง 20% แต่พอเวลาผ่านไปไม่นาน ดัชนีก็ยังคงปรับตัวลดลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่อีกครั้งด้วย

ย้อนกลับมาดูที่ตลาดหุ้นไทยกันบ้าง เมื่อวิกฤตต้มยำกุ้ง ดัชนี SET ร่วงจากเกือบ 1,800 จุด มาแตะระดับ 457 จุด ก่อนจะเด้งกลับมาแตะ 650 จุด เพิ่มขึ้นถึง 40% ภายในเวลาแค่สองสัปดาห์ หลังจากนั้นตลาดก็ร่วงลงไปทำจุดต่ำสุดใหม่ แล้วก็เด้งขึ้นอีก 50% ถึงจะค่อยลดลงไปทำจุดต่ำสุดจริง ๆ ที่เกือบ 200 จุด ในช่วงเวลาต่อมา

การพยายามคาดเดาจุดต่ำสุด โดยที่ยังมีการควบคุมความเสี่ยงเอาไว้อยู่ อาจจะยังไม่ได้เป็นปัญหามากนัก แต่หนึ่งในปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ Revenge Trading หรือการพยายามจะ “เอาคืน” จากตลาดที่ร่วงลงมาแรง ย่อมทำให้พอร์ตการลงทุนเสียหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากไม่ได้มีการลดพอร์ตลงมาก่อน การพยายามจะกลับเข้าไปซื้อหุ้นเพื่อหวังจะทำกำไรกลับมา หลังจากที่ต้องเผชิญกับผลขาดทุนอย่างมาก เป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวที่จะทำให้ต้องสูญเสียเงินลงทุนมากขึ้นไปอีก นั่นก็เพราะเรามักจะลืมพิจารณาความเสี่ยงไปเสียหมด และปักใจเชื่อไปแล้วว่าตลาดกำลังจะวิ่งขึ้นไป และทำให้เราได้กำไรกลับคืนมา

พี่ทุยคิดว่าทุก ๆ การลงทุนหรือเก็งกำไรในตลาด ไม่ว่าตลาดจะกำลังอยู่ในภาวะแบบไหน การควบคุมความเสี่ยงถือเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งแนวทางของการควบคุมความเสี่ยงนั้นก็มีอยู่หลายวิธี ทั้งการกำหนดจุดตัดขาดทุน (Cut loss) หรือการบริหารจัดการ ‘หน้าตัก’ หรือเงินทุนของเรา (Money management) ซึ่งล้วนแต่เป็นแนวทางที่ทุก ๆ คนควรจะศึกษาติดตัวกันเอาไว้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย

Comment

Be the first one who leave the comment.

Leave a Reply