หลังการเมืองมีความชัดเจน หุ้นไทยก็กลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ทั้งจากการอัดฉีดนโยบายกระตุ้น การผ่านร่างงบประมาณ พร้อมหนุนด้วยเม็ดเงินจากกองทุนวายุภักษ์ และยิ่งใกล้ปลายปีแบบนี้ ถึงเวลาลดหย่อนภาษี กลับกลายเป็นว่า กองทุน Thai ESG มีสปอตไลท์ส่องจากทุกทางได้รับความสนใจอีกครั้ง
พี่ทุยเลยคัดเลือกกองทุน Thai ESG ที่น่าสนใจในทุกประเภทมาฝากนักลงทุนที่ต้องการลดหย่อนภาษี ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยว่ากองทุนไหนเหมาะกับตัวเองที่สุด!!!
กองทุน Thai ESG คืออะไร? มีเงื่อนไขลดหย่อนอะไรบ้าง?
กองทุน Thai ESG หรือ Thailand ESG Fund คือ กองทุนรวมส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย สามารถลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทยของบริษัทที่ให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG ประกอบด้วย ด้านปัจจัยสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance)
สามารถคัดเลือกหุ้นที่อยู่ในดัชนี SET ESG Ratings ซึ่งจัดทำโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2023 มีบริษัทอยู่ในดัชนีนี้ 193 บริษัท แบ่งเป็น
- ระดับ AAA จำนวน 34 บริษัท
- ระดับ AA จำนวน 70 บริษัท
- ส่วนระดับ A จำนวน 64 บริษัท
- ระดับ BBB จำนวน 25 บริษัท
สำหรับ ESG Bond คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ระดมทุนต้องการนำเงินทุนไปใช้กับโครงการที่คำนึงถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (Green Bond) สังคม (Social Bond) และความยั่งยืน (Sustainability Bond)
กองทุน Thai ESG ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% และลงทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 300,000 บาท ไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ ถือลงทุน 5 ปีนับจากวันที่ซื้อ ไม่บังคับซื้อทุกปี
โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG ไม่นับรวมกับกองทุนการออมเพื่อเกษียณอายุอื่น เช่น กองทุน SSF, กองทุน RMF, กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เป็นต้น
เปิดโพย กองทุน Thai ESG นักลงทุนรับความเสี่ยงได้แค่ไหน ก็ลงทุนได้
บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ต่างตอบรับการส่งเสริมการลงทุนและการลดหย่อนภาษีจากภาครัฐ ด้วยการเปิดตัวกองทุน Thai ESG โดยแบ่งประเภทตามระดับความเสี่ยงได้ 3 กลุ่ม ซึ่งวันนี้พี่ทุยคัดเลือกกองทุน Thai ESG ที่น่าสนใจในแต่ละประเภทมาให้นักลงทุนที่กำลังวางแผนลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน Thai ESG ดังนี้
1. นักลงทุนสายรับความเสี่ยงต่ำ
เหมาะกับกองทุน Thai ESG ที่ลงทุนในตราสารหนี้ ประกอบด้วย
กองทุน KKP GB THAI ESG
นโยบายการลงทุน: ลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน เช่น เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green bond), เพื่อความยั่งยืน (Sustainability bond), ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked bond) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
จุดเด่น: มีค่าธรรมเนียมบริหารต่ำมากในกลุ่มเดียวกัน เน้นลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐระยะยาว มีความน่าเชื่อถือสูง และอายุเฉลี่ยตราสารหนี้อยู่ที่ 8-9 ปี มีโอกาสได้รับผลดีจากการลดอัตราดอกเบี้ย
กองทุน K-ESGSI-ThaiESG
นโยบายการลงทุน: ลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green bond), เพื่อความยั่งยื่น (Sustainability bond), ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked bond) โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
จุดเด่น: ค่าธรรมเนียมยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำในกลุ่มกองทุนประเภทเดียวกัน เน้นลงทุนตราสารหนี้ภาครัฐ มีความน่าเชื่อถือสูง มีอายุตราสารหนี้ยาวมากกว่า 9 ปี ทำให้มีอัตราผลตอบแทน (Yield) สูง และรับผลดีถ้ามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
2. นักลงทุนสายรับความเสี่ยงปานกลาง
เหมาะกับกองทุน Thai ESG ที่ลงทุนแบบผสม ประกอบด้วย
กองทุน SCBTM(ThaiESG) จ่ายปันผล / SCBTM(ThaiESGA) ไม่จ่ายปันผล
นโยบายการลงทุน: กระจายลงทุนในหุ้นที่โดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) และตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตราสารเพื่อความยั่งยืน หรือตราสารส่งเสริมความยั่งยืน โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
จุดเด่น: เป็นกองทุนรวมผสมที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) และด้วยกลยุทธ์นี้ประกอบกับการเป็นกองทุนรวมผสมยังช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการจัดสัดส่วนเพื่อรับสถานการณ์ตลาดการเงินที่ผันผวน แถมมีให้เลือกทั้งประเภทไม่จ่ายปันผลและจ่ายปันผล
กองทุน KTAG70/30-ThaiESG
นโยบายการลงทุน: ลงทุนในหลักทรัพย์ต่อไปนี้ โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
1. หุ้นของบริษัทที่โดดเด่นในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ระดับ A ขึ้นไป
2. ตราสารอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
2.1 ตราสารเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตราสารเพื่อความยั่งยืน หรือตราสารส่งเสริมความยั่งยืน
2.2 พันธบัตรรัฐบาล
จุดเด่น: เป็นกองทุนรวมผสมที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) และด้วยกลยุทธ์นี้ประกอบกับการเป็นกองทุนรวมผสมยังช่วยให้มีความยืดหยุ่นในการจัดสัดส่วนเพื่อรับสถานการณ์ตลาดการเงินที่ผันผวน มีนโยบายจ่ายปันผลไม่เกิน 4 ครั้งต่อปี
3. นักลงทุนสายรับความเสี่ยงสูง
เหมาะกับกองทุน Thai ESG ที่ลงทุนหุ้น ประกอบด้วย
กองทุน K-TNZ-ThaiESG
นโยบายการลงทุน: มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงผลตอบแทนของดัชนี SET100 TRI (Passive Management) โดยลงทุนในหุ้นของบริษัทในดัชนี SET100 TRI ที่เปิดเผยข้อมูลและตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
จุดเด่น: เป็นกองทุนรวมหุ้นที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีชี้วัด (Passive Management) เอาใจสายลงทุนสร้างผลตอบแทนตามตลาด ประหยัดค่าธรรมเนียม และใช้กลยุทธ์คัดกรองเชิงบวกโดยมี Lombard Odier Asset Management เป็นที่ปรึกษาการลงทุน และใช้วิธีการ Implied Temperature Rise (ITR) ในการสร้างพอร์ตการลงทุน
กองทุน SCBTP(ThaiESG) จ่ายปันผล / SCBTP(ThaiESGA) ไม่จ่ายปันผล
นโยบายการลงทุน: มุ่งเน้นสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงผลตอบแทนของดัชนี SET ESG Total Return Index (Passive Management) โดยลงทุนในหุ้นของบริษัทในดัชนี SETESG Total Return Index ที่มีความโดดเด่นด้าน ESG โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
จุดเด่น: เป็นกองทุนรวมหุ้นที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีชี้วัด (Passive Management) ช่วยให้ค่าธรรมเนียมเมื่อเทียบกับกองทุนกลุ่มเดียวกันอยู่ในเกณฑ์ต่ำ ยิ่งถ้าเป็นนักลงทุนสาย Passive แล้วชอบการปันผล ก็มีประเภทปันผลให้เลือกลงทุน
กองทุน B-TOP-THAIESG
นโยบายการลงทุน: ลงทุนหุ้นในดัชนี SET หรือ mai ที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) ซึ่งผู้จัดการกองทุนคาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงสุด 10 อันดับแรก โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV และจำนวนหลักทรัพย์จะไม่เกิน 12 บริษัท
จุดเด่น: เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) ค้นหาหุ้นแบบ Bottom up และเน้นลงทุนหุ้นจำนวนไม่มากเพื่อให้ผู้จัดการกองทุนค้นหาและติดตามข้อมูลบริษัทได้อย่างครอบคลุม
กองทุน PRINCIPAL EQESG-ThaiESG
นโยบายการลงทุน: ลงทุนหุ้นในดัชนี SET หรือ mai ที่มีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) หรือมีการเปิดเผยข้อมูลและตั้งเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV
จุดเด่น: เป็นกองทุนที่มุ่งเน้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management) ค้นหาหุ้นแบบ Bottom up และมีนโยบายจ่ายปันผล เอาใจนักลงทุนที่อยากได้กระแสเงินสดระหว่างลงทุน
ข้อควรระวัง ก่อนลงทุน Thai ESG
ถึงจะเป็นกองทุนที่ช่วยลดหย่อนภาษี แต่ก็ควรไม่นึกถึงแค่การลดหย่อนภาษีเพียงอย่างเดียว ต้องควบคู่ไปกับภาพรวมการเงินส่วนบุคคล อีกทั้งขึ้นชื่อว่าเป็นการลงทุน ยังไงก็ต้องมีคิดให้ละเอียดรอบคอบกันสักหน่อย ซึ่งโดยหลักมีดังนี้
- ซื้อเยอะเกิน ไม่มีสภาพคล่องเหลือใช้ชีวิต
การลดหย่อนภาษีก็เป็นสื่งสำคัญของการวางแผนการเงิน แต่สิ่งสำคัญอันดับแรกของการวางแผนการเงินที่ดี คือ การบริหารรายรับรายจ่ายให้มีสภาพคล่องเหลือใช้ชีวิตแต่ละเดือน ดังนั้นไม่ควรซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีมากจนไม่เหลือสภาพคล่อง
- ซื้อเกินสิทธิ์
มนุษย์เงินเดือนหลายคนอาจลืมคำนวณก่อนซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี แล้วเมื่อเหลือเวลาน้อยใกล้หมดปีก็เร่งซื้อโดยเผื่อยอดไว้ก่อนจนเกินสิทธิ์ อันนี้เงินที่ซื้อเกินสิทธิ์นอกจากจะไม่ได้ลดหย่อนภาษีแล้ว ยังเสียโอกาสโดยใช่เหตุอีกด้วย
- ขายก่อนครบกำหนด
การถือครอง 5 ปี ไม่ใช่นับตามปีปฏิทิน แต่ต้องนับแบบวันชนวัน ดังนั้นถ้านับระยะเวลา 5 ปี ตามปีปฏิทินแล้วขาย อาจกลายเป็นขายก่อนครบกำหนด ผิดเงื่อนไขการลงทุนและเสียสิทธิ์ลดหย่อนภาษี
- การลงทุนมีความเสี่ยง
การลงทุนยังไงก็มีความเสี่ยง จะมากจะน้อยขึ้นอยู่กับสินทรัพย์ ผู้ลงทุนไม่ควรหวังแต่ผลตอบแทนจนลงทุนมากเกินความเสี่ยงที่รับได้ เพราะถ้ามีการขาดทุนมากเกินไป การลดหย่อนภาษีที่ควรมีความสุขจะกลายเป็นความกังวลไปในทันที ดังนั้นควรเลือกประเภทกองทุน Thai ESG ให้พอดีกับความเสี่ยงที่รับได้