ใช้เงินแล้วมีความสุข

นิสัยแบบไหน ใช้จ่ายกับอะไรแล้วมีความสุข ?

5 min read  

ฉบับย่อ

  • เงินซื้อความสุขได้ แต่เมื่อถึง Income Satiation เงินจะมอบความสุขให้เราได้ไม่เท่าเดิมอีกต่อไป
  • คนที่มองว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ อาจจะยังใช้จ่ายไม่ถูกต้องตามความต้องการ หรือบุคลิกภาพของตัวเอง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พวกเราน่าจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า ‘’เงินซื้อความสุขได้’’ กันมาหลายครั้ง แต่ก็จะมีหลายคนชอบพูดว่าไม่จริงหรอก เงินซื้อความสุขไม่ได้ ที่มีเสียงออกมาทั้งสองฝั่งแบบนี้เป็นเพราะ เราอยู่ในบริบทที่ต่างกันยังไงล่ะ มุมมองการใช้ชีวิตต่างกัน และที่สำคัญรายได้ที่เราได้รับก็ต่างกัน นั่นจึงทำให้เรามีพฤติกรรมต่อการใช้เงินที่ต่างกัน และมีความเห็นต่อประโยคนี้ที่ต่างกันนั่นเอง

เงินซื้อความสุขได้ จริงเปล่า ?

เราอาจจะกล่าวได้ว่าเราทุกคนอยู่ในบริบทที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะวัดได้จาก ‘‘ความแตกต่างของระดับรายได้ที่ได้รับ’’ Princeton University เคยทำงานวิจัยไว้ตั้งแต่ปี 2553 พบว่า เงินมีความสัมพันธ์กับความสุขในชีวิตจริง ยิ่งมีเงินมากก็ยิ่งมีความสุขในชีวิตมาก แต่จนถึงจุดหนึ่งที่รายได้เกิน 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.63 ล้านบาท เงินที่ได้เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้ความสุขเพิ่มขึ้นอีกต่อไปแล้ว 

นั่นสามารถเอาไปอิงกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เรื่องของ The Law of Diminishing Returns เมื่อถึงจุดของการลดน้อยถอยลง ทุก ๆ Input หรือ รายได้ที่เพิ่มขึ้น จะทำให้ Output หรือ ความสุขที่เราได้รับจากรายได้น้อยลงนั่นเอง

ใช้เงินแล้วมีความสุข

ซึ่งจุดที่เราได้รับความสุขแบบลดน้อยถอยลง หรือจุดที่รายได้ถึงจุดที่เรารวยอย่างพอใจที่สุดในชีวิตแล้ว นั้นเรียกว่า Income Satiation 

งานวิจัยของ Gallup World Poll พบว่า คนเราจะพึงพอใจเมื่อมีรายได้ประมาณ 95,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือประมาณ 3.34 ล้านบาท หรือประมาณ 2.78 แสนบาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งตัวเลขนี้เป็นค่าเฉลี่ยของคน 164 ประเทศทั่วโลก ซึ่งหากเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับไทย อาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริงมากนัก 

อย่างไรก็ตาม รายได้ที่ถึงจุดที่กลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พอใจมากที่สุดอยู่ที่ 70,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือประมาณ 2.46 ล้านบาท คิดเป็น 2.05 แสนบาทต่อคนต่อเดือน

แต่จากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการรายได้ต่อหัวคนไทย ในปี 2565 พบว่า มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7,062.36 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี หรือประมาณ 248,468 บาท คิดเป็น 20,705.67 บาทต่อคนต่อเดือน (ใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 1 ดอลลาร์ เท่ากับ 35.142 บาท)

แม้ว่าหลาย ๆ คนอาจจะพูดว่า เงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่จากข้อมูล จะเห็นถึง ‘’ช่องว่าง’’ ระหว่างรายได้เฉลี่ยที่คนเราพึงพอใจมากที่สุด ยังห่างไกลกับค่าเฉลี่ยรายได้ของคนไทยอยู่ถึง 1.84 แสนล้านบาทเลยทีเดียว ดังนั้น วลีที่ว่า “เงินสามารถซื้อความสุขได้ ก็ยังคงใช้ได้กับคนไทยส่วนมากอยู่นั่นเอง” ส่วนใครที่ถึงจุด Income Satiation แล้ว พี่ทุยก็ขอแสดงความยินดีด้วย เพราะ ได้ถึงจุดที่ประสบความสำเร็จ 1 อย่างในชีวิตแล้ว 

ส่วนคนที่ยังไม่ถึงจุด Income Satiation แต่ยังมองว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ พี่ทุยอยากให้กลับมาลองคิดว่าตัวเองได้ ‘’ใช้จ่ายถูกจุด’’ หรือถูกต้องตามความต้องการที่ตัวเองอยากได้หรือเปล่า เพราะ ’’ถ้าคนเราใช้จ่ายไม่ตรงจุด เงินก็จะไม่สามารถสร้างความสุขได้เช่นกัน’’ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราใช้จ่ายอย่างตรงจุดแล้วหรือยัง

คน 5 ประเภทที่ทำให้ เงินซื้อความสุขได้ ถูกจุดมากขึ้น

หลายคนอาจจะเคยโดนถามคำถามที่ว่า ซื้อมาทำไม แพงขนาดนี้ ซื้อไปได้ยังไง ในความรู้สึกตอนนั้น ก็อาจจะมีความคิดขึ้นมาว่าก็เป็นเป็นความสุขของเรา ซึ่งการซื้อของสิ่งเดียวกัน แต่คนซื้อคนละคนกันก็ให้ความสุข หรือ สร้างความพึงพอใจให้กับแต่ละคนไม่เหมือนกัน

การซื้อที่เป็นความสุขของเราแต่ละคน แท้จริงแล้วมีงานวิจัยอธิบายไว้ผ่านลักษณะบุคลลิกที่แตกต่างกัน 5 ประเภท (Big Five PersonalityTraits) ดังนี้

1. Openness to Experience คือ คนที่พร้อมการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ เป็นคนเปิดกว้าง เต็มใจที่จะลองทำกิจกรรมใหม่ที่หลากหลาย เป็นคนช่างคิด จินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์

2. Conscientiousness คือ คนที่มีจิตสำนึก เป็นคนมีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบสูง รู้จักหน้าที่ของตัวเอง ตั้งเป้าหมายที่จะทะเยอทะยาน และมีแรงจูงใจที่จะบรรลุให้สำเร็จ

3. Extraversion คือ คนที่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การแสดงตัว ชอบเข้าสังคม ช่างพูดคุย ช่างเจรจา เปิดเผยตัวเอง

4. Agreeableness คือ คนที่มีความเป็นมิตร เป็นคนที่นึกถึงใจคนอื่น เข้าใจและเป็นมิตร มองข้ามความจำเป็นส่วนตัวเพื่อช่วยเหลือคนอื่น

5. Neuroticism คือ คนที่มีความวิตกกังวล มีความหวั่นไหวทางอารมณ์สูง เจ้าอารมณ์ วิตกกังวล เครียด และหงุดหงิดง่าย

ซึ่งทุกคนสามารถทดสอบได้ว่าเป็นบุคลิกแบบไหนผ่านการทำแบบทดสอบ ‘’The Big Five Test’’ ได้ที่ https://bigfive-test.com/th นี่ พี่ทุยเอามาแปะให้ลองเล่นกันแล้วววว

จากนั้น นำคน 5 ประเภทข้างต้นมาจับคู่กับประเภทสินค้าและบริการมา 59 ประเภท ว่าสินค้าและบริการต่างๆ เป็นคนใน 5 ประเภทไหน หรือกล่าวง่าย ๆ ว่า ถ้าเปรียบเทียบเป็นคน ควรเป็นคนในลักษณะไหน จะดีที่สุด โดยให้ Rate แต่ละหมวดหมู่ตามแต่ละเอกลักษณ์ของบุคคลของทั้ง 5 ประเภทที่เรียกว่า The Big Five Test

โดยหากคะแนนออกมาแล้ว อยู่ในช่วงน้อยกว่า -2 ถึง 0 คือ สินค้าและบริการนั้นไม่เข้ากับคนบุคลิกแบบนี้มากๆๆ แต่ หากคะแนนออกมามากกว่า 0 – 2 เป็นต้นไป คือ สินค้าและบริการนั้นเข้ากับคนบุคลิกแบบนี้มากถึงมากที่สุด

นอกจากนั้น บุคลิกภาพของผู้ซื้อ และประเภทการใช้จ่ายยังเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญที่สามารถนำมาทำนายจำนวนเงินที่ผู้ซื้อจะใช้ไปได้ และผู้ซื้อที่ซื้อสินค้าตรงกับบุคลิกมากขึ้น จะมีความพึงพอใจในชีวิตมากขึ้น และผลกระทบทางจิตใจที่ทำให้การใช้จ่ายเกิดความสุข นั้นมีผลมากกว่าผลกระทบจากการใช้จ่ายที่กระทบกับรายได้รวม อีกทั้ง ความสุขของบุคคลยังสามารถเพิ่มขึ้นได้ด้วยการบริโภคสินค้า และบริการที่ตรงบุคลิกภาพของพวกเขา มากกว่าสินค้าที่ไม่เข้าข่ายกับตัวเองนั่นเอง 

สินค้าและบริการต่าง ๆ ตามลักษณะของคน 5 ประเภท

1. Openness to Experience

คือ คนที่พร้อมการเปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ พึงพอใจมาก ๆ กับ สินค้าและบริการประเภทความบันเทิง, ดนตรี, การเดินทางต่างประเทศ, ศิลปะและงานฝีมือ, การท่องเที่ยว, การถ่ายภาพ, โรงภาพยนตร์, โครงการ DIY, วันหยุดและการท่องเที่ยว, ของเล่นและงานอดิเรก

ส่วนสินค้าและบริการที่ไม่พึงพอใจมากที่สุด คือ ค่าปรับจราจร, การจำนองที่อยู่อาศัย, ประกันบ้าน, ค่าธรรมเนียมการทำบัญชี, ประกันสุขภาพ, ประกันชีวิต, การดูแลทันตกรรม, สหภาพและการสมัครสมาชิก ตามลำดับ

ใช้เงินแล้วมีความสุข

2. Conscientiousness

คือ คนที่มีจิตสำนึก เป็นคนมีระเบียบวินัย พึงพอใจมาก ๆ กับ สินค้าและบริการประเภท ประกันบ้าน, สุขภาพและการออกกำลังกาย, ประกันชีวิต, คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี, ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทำบัญชี ตามลำดับ

ส่วนสินค้าและบริการที่ไม่พึงพอใจมากที่สุด คือ การพนัน

ใช้เงินแล้วมีความสุข

3. Extraversion

คือ คนที่ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น พึงพอใจมาก ๆ กับ สินค้าและบริการประเภท ความบันเทิง, การท่องเที่ยว, ดนตรี, การพนัน, กีฬาเกี่ยวกับยานยนต์, วันหยุดและการท่องเที่ยว, กีฬา, รับประทานอาหารนอกบ้านและสถานบันเทิง, การเดินทางต่างประเทศ, บริการโฆษณา, สัตว์เลี้ยง ตามลำดับ

ส่วนสินค้าและบริการที่ไม่พึงพอใจมากที่สุด คือ ประกันบ้าน รองลงมา คือ ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการทำบัญชี และ การจำนองที่อยู่อาศัย

ใช้เงินแล้วมีความสุข

4. Agreeableness

คือ คนที่มีความเป็นมิตร เป็นคนที่นึกถึงใจคนอื่น พึงพอใจมาก ๆ กับ สินค้าและบริการประเภท องค์กรการกุศล มีคะแนนมากกว่า 2 ส่วน สัตว์เลี้ยง, การทำสวน, การจัดดอกไม้, ร้านกาแฟ, ร้านขายของที่ระลึก, ศิลปะและงานฝีมือ มีคะแนนอยู่ที่ 1.7 ขึ้นไป 

ส่วนสินค้าและบริการที่ไม่พึงพอใจมากที่สุด คือ คือ ค่าปรับจราจร รองลงมา คือ การพนัน

ใช้เงินแล้วมีความสุข

5. Neuroticism

คือ คนที่มีความวิตกกังวล มีความหวั่นไหวทางอารมณ์สูง พึงพอใจมาก ๆ กับ สินค้าและบริการประเภท การพนัน, โรงแรม, ค่าปรับจราจร ซึ่งมีคะแนนมากกว่า 1 

ส่วนสินค้าและบริการที่ไม่พึงพอใจมากที่สุด คือ  เครื่องเขียน รองลงมา คือ ประกันบ้าน, การทำสวน ตามลำดับ

ใช้เงินแล้วมีความสุข

โดยสรุปแล้ว เมื่อ “การใช้จ่ายตรงกับบุคลิกของผู้ซื้อ” ​ดังที่พี่ทุยสรุปมาจากงานวิจัย ดูเหมือนว่า “เงินซื้อความสุขได้ จริงๆ” และหากเรารู้ว่าสินค้าและบริการชนิดใดที่ทำให้บุคลิกนั้น ๆ เกิดความรู้สึกไม่พอใจได้ ทั้งหมด ธุรกิจสามารถนำไปใช้เพื่อผลิตสินค้าให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายมากขึ้นและหลีกเลี่ยงสินค้าและบริการที่กลุ่มลูกค้าไม่พึงพอใจได้เช่นกัน

ในขณะที่ศาสตร์แห่งความสุข หรือ การใช้ชีวิตให้มีความสุขในปัจจุบันนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น จิตวิทยาและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องหลายๆงานก็อาจจะหาคำตอบสิ่งที่เรารู้สึก อธิบายออกมาเป็นข้อเท็จจริงได้ อย่างเช่น ประโยค ที่ว่า เงินซื้อความสุขได้ หากใช้ให้ถูกจุด นั่นเอง 

ทุกคนลองเอาไปทดสอบกับตัวเอง และลองซื้อตามหมวดต่าง ๆ ดูนะ ว่าเกิดขึ้นจริงกับตัวเองไหม แต่พี่ทุยมองว่าจากการทดลองนี้เป็นการสุ่มจากกลุ่มตัวอย่างเท่านั้น หากคนไหนที่เอาไปทำตามแล้วพบว่าไม่ได้เป็นแบบที่คาดหวัง หรือไม่มีความสุข ก็ไม่เป็นไร ซื้ออะไรที่ทำแล้วรู้สึกว่ามีความสุข พี่ทุยว่าก็เพียงพอแล้ว เพราะ ในบางครั้ง เราก็ไม่จำเป็นต้องมีแนวทางตามคนส่วนมากก็ได้นั่นเอง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย