เดี๋ยวนี้หลายประเทศอัตราการการเกิดต่ำ จะมีลูกทั้งที ก็มีเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ต้องคิดหนัก วันนี้พี่ทุยขอพาไปดูทั่วโลกว่า ประเทศไหนที่มีสิทธิประโยชน์สำหรับคนทำงานที่ตั้งครรภ์ดีที่สุด แล้ว สิทธิลาคลอด สำหรับคนไทย เป็นยังไงบ้าง มีสวัสดิการอะไรให้แม่และเด็กบ้าง เทียบชั้นได้กับประเทศอื่นในโลกรึเปล่า
สิทธิลาคลอด คืออะไร
สิทธิประโยชน์ที่สามารถชี้วัดชัดเจนก็คือ “การลาคลอด” ซึ่งหมายถึงการที่คนทำงานซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์ ขอลาพักจากการทำงาน หลังจากให้กำเนิดบุตร โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organiztion : ILO) ได้กำหนดเกณฑ์คุ้มครองการคลอดบุตรเอาไว้
เพื่อให้แน่ใจว่า แม่และทารกที่เพิ่งคลอดจะมีความเป็นอยู่ที่ดี รวมทั้งเพื่อให้ผู้หญิงสามารถประสบความสำเร็จในการผสมผสานการทำหน้าที่ทั้งการเป็นแม่ และการกลับมาทำงานได้เป็นอย่างดี ภายใต้ความคุ้มครองไม่ให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการดูแลในที่ทำงาน รวมถึงการได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในที่ทำงานผู้หญิงและผู้ชาย
ทั้งนี้ ILO กำหนดว่า ในการทำงานนายจ้าทั่วโลกจะต้องให้สิทธิหญิงที่คลอดบุตร ลาคลอดได้ขั้นต่ำ 14 สัปดาห์ (98 วัน) แต่ก็ระบุไว้ว่า สนับสนุนให้มีระยะเวลาลาคลอดที่เหมาะสม คืออย่างน้อย 18 สัปดาห์ (126 วัน)
ขณะที่ความคุ้มครองสำหรับการคลอดบุตร ควรปะกอบไปด้วย
- การลาคลอด
- การคุ้มครองสุขภาพในสถานที่ทำงาน สำหรับหญิงมีครรภ์ และหญิงที่ให้นมบุตร
- สิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงินและทางการแพทย์
- การคุ้มครองการจ้างงาน และการไม่เลือกปฏิบัติในที่ทำงาน
- การสนับสนุนการให้นมบุตร หลังกลับเข้าทำงาน
สรุปข้อมูลการให้สิทธิประโยชน์การลาคลอดทั่วโลก
- 98 ประเทศ ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของ ILO ในการให้ลาคลอดได้ขั้นต่ำ 14 สัปดาห์
- 107 ประเทศ มีการให้สิทธิประโยชน์ลาคลอดในรูปเงินผ่านประกันสังคม
- 74 ประเทศ ให้สิทธิประโยชน์ลาคลอดในรูปเงิน อย่างน้อย 2 ใน 3 ของ รายได้ขั้นต่ำ 14 สัปดาห์
- 121 ประเทศ จัดให้มีเวลาในการพักให้นมบุตร หลังจากลาคลอด
- 78 ประเทศ มีสิทธิประโยชน์ ให้กับฝ่ายชาย ที่ลาเพื่อไปช่วยเลี้ยงบุตรได้หลังคลอด โดยในจำนวนนี้มี 70 ประเทศที่จ่ายเงินให้ด้วยในช่วงที่ลา
- มีเพียง 5 ประเทศ ซึ่งทั้งหมดอยู่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ได้แก่ ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ ลิธัวเนีย โปรตุเกส และสโลวีเนีย ที่ให้ฝ่ายชาย ลาไปช่วยเลี้ยงบุตรหลังคลอดได้มากกว่า 2 สัปดาห์
ที่มา : ILO
พี่ทุยจะพามาดูเพิ่มเติมว่า ถ้าดูกันในเรื่องลาคลอด และการจ่ายเงินในช่วงลาคลอด มีประเทศไหนโดดเด่นบ้าง โดยข้อมูลนี้มาจากการจัดอันดับโดยเว็บไซต์ worldpopulationreview.com
10 อันดับประเทศที่ให้วันลาคลอดนานที่สุดในโลก
สำหรับระยะเวลาลาคลอดข้างต้นนั้น เป็นเพียงระยะเวลาขั้นต่ำที่ประเทศกำหนดไว้ โดยบางประเทศมีทางเลือกให้ผู้ปกครองสามารถขยายระยะเวลาในการลาออกไปได้อีก เช่น เอสโตเนีย ที่แม่สามารถลาคลอดได้ 20 สัปดาห์ โดยได้รับการจ่ายค่าจ้างเต็ม 100% แต่มีทางเลือกเพิ่มเติม ให้สามารถลาคลอดได้นานถึง 62 สัปดาห์ เพียงแต่ในช่วงที่ให้ลาได้เพิ่มขึ้นนั้น อาจจะจ่ายค่าจ้างให้แม่หรือพ่อของเด็กในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป
ขณะที่ ออสเตรีย ให้ลาคลอดได้ขั้นต่ำ 16 สัปดาห์ โดยจ่ายค่าจ้าง 100% และมีทางเลือกเพิ่มเติม ลาคลอดได้ 44 สัปดาห์ โดยได้ค่าจ้างในอัตรา 73.1% เป็นต้น
ในส่วนของสหรัฐฯ ไม่มีการกำหนดการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับการลาคลอดเอาไว้ในระดับประเทศ โดยถือเป็นประเทศที่มีการคุ้มครองการลาคลอดและสิทธิประโยชน์ที่น้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD)
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของรัฐบาลกลาง ได้มีการออกกฎหมายการลาโดยได้รับค่าจ้าง สำหรับพนักงานของรัฐบาลกลางเอาไว้ โดย ให้ผู้ปกครองที่เป็นพนักงานของรัฐบาลกลาง ได้รับสิทธิลาโดยได้รับค่าจ้าง 12 สัปดาห์ โดยการลานั้น กำหนดให้ทำได้ภายใน 12 เดือน หลังทารกเกิด ขณะที่ แต่ละรัฐของสหรัฐฯ ก็มีการกำหนดสิทธิประโยชน์สำหรับการลาคลอดเอาไว้แตกต่างกันไป
การให้สิทธิประโยชน์ลาคลอดของรัฐต่าง ๆ ในสหรัฐฯ
- แคลิฟอร์เนีย ลาคลอดได้ 8 สัปดาห์ จ่าย 60-70% ขึ้นอยู่กับระดับรายได้
- โคโลราโด ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 90% กำหนดเพดานที่ 1,100 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
- คอนเน็กติกัต ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 95% ของค่าจ้างขั้นต่ำ + 60% ของค่าจ้างที่เกินกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และกำหนดเพดานที่ 941.40 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
- เดลาแวร์ ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 80% กำหนดเพดานที่ 900 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ (เริ่มบังคับใช้ปี 2569)
- แมสซาชูเซตส์ ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 80% กำหนดเพดานที่ 1,149.90 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
- แมรี่แลนด์ ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ โดยมีอัตราการจ่ายค่อนข้างหลากหลาย กำหนดเพดานที่ 1,000 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ (เริ่มบังคับใช้ปี 2569)
- เมน ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 66-90% ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ (เริ่มบังคับใช้ปี 2569)
- มินเนสโซตา ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 90% ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ (เริ่มบังคับใช้ปี 2569)
- นิวเจอร์ซีย์ ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 85% กำหนดเพดานที่ 1,055 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
- นิวยอร์ก ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 67% กำหนดเพดานที่ 1,151.16 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
- โอเรกอน ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 100% กำหนดเพดานที่ 1,524 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
- โรดไอส์แลนด์ ลาคลอดได้ 6 สัปดาห์ จ่าย 55% กำหนดเพดานที่ 1,043 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
- วอชิงตัน ลาคลอดได้ 12 สัปดาห์ จ่าย 90% กำหนดเพดานที่ 1,456 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์
คราวนี้มาดูกันว่า ถ้าเราไม่ได้ดูจำนวนวันลาคลอดที่ให้ แต่ดูเฉพาะการจ่ายค่าจ้างในช่วงลาคลอด มีประเทศไหนบ้างที่จ่ายค่าจ้างให้ 100% ในช่วงที่ลาคลอด
รายชื่อประเทศที่จ่ายค่าจ้างให้ 100% ในช่วงที่ลาคลอด
- ออสเตรีย
- บราซิล
- ชิลี
- โคลัมเบีย
- คอสตาริกา
- โครเอเชีย
- เอสโตเนีย
- ฮังการี
- ฝรั่งเศส
- เยอรมนี
- อินเดีย
- อิสราเอล
- มาเลเซีย
- เม็กซิโก
- เนเธอร์แลนด์
- นิวซีแลนด์
- ฟิลิปปินส์
- โปแลนด์
- โปรตุเกส
- สิงคโปร์
- สโลวีเนีย
- สเปน
ดูจากรายชื่อนี้แล้ว ก็จะพบว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยในอาเซียนที่จ่ายค่าจ้าง 100% ช่วงลาคลอด มีถึง 3 ประเทศด้วยกัน คือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศที่ให้สิทธิคุณพ่อลาในช่วงทารกเพิ่งคลอด เพื่อไปดูแลทารกด้วย
ตัวอย่างประเทศที่ให้สิทธิพ่อลาช่วยเลี้ยงบุตรหลังคลอด
- แคนาดา ลาได้ 5 สัปดาห์ จ่าย 55% ของค่าจ้าง ไม่เกิน 650 ดอลลาร์แคนาดาต่อสัปดาห์
- เอสโตเนีย ลาได้ 4.3 สัปดาห์ จ่ายค่าจ้างหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับภาษีสังคมที่จ่าย สูงสุดไม่เกิน 4,733.53 ยูโร
- ฝรั่งเศส ลาได้ 3.6 สัปดาห์ จ่าย 70% สูงสุด ไม่เกิน 3,864 ยูโรต่อเดือน
- ไอซ์แลนด์ ลาได้ 26 สัปดาห์ จ่าย 80% ไม่เกิน 600,000 โครนาไอซ์แลนด์ต่อเดือน
- ญี่ปุ่น ลาได้ 4 สัปดาห์ จ่าย 67% ไม่เกิน 15,190 เยนต่อวัน และขยายเวลาให้ลาได้สูงสุด 52 สัปดาห์
- ลิธัวเนีย ลาได้ 4.3 สัปดาห์ จ่าย 77.58%
- นอร์เวย์ ลาได้ 49 สัปดาห์ จ่าย 100% หรือ ลาได้ 59 สัปดาห์ จ่าย 80%
- สโลวีเนีย ลาได้ 4.3 สัปดาห์ จ่าย 100%
- สเปน ลาได้ 16 สัปดาห์ จ่าย 100%
- สวีเดน ลาได้ 240 วัน โดย 195 วัน จ่าย 100% ส่วนวันที่เหลือ จ่าย 180 โครนาสวีเดนต่อวัน
เมื่อกลับมาดูที่ประเทศไทยนั้น ต้องบอกว่า เรามีวันลาคลอด อยู่ในเกณฑ์ขั้นต่ำที่ ILO กำหนด คือ 14 สัปดาห์ ขณะที่การจ่ายค่าจ้างในช่วงลาคลอด นายจ้างจะจ่ายให้ 100% สำหรับการลา 45 วันแรก ขณะที่สำนักงานประกันสังคม จะจ่ายเพิ่มให้อีก 50% ของค่าจ้างในอีก 45 วันที่เหลือ ด้วยอัตราค่าจ้างสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน
ก็หมายความว่า ถ้ามีประกันสังคม ถึงแม้จะมีรายได้สูงขนาดไหน ก็จะได้รวมไม่เกิน 11,250 บาท ซึ่งคิดเป็น 50% ของค่าจ้างสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน รวม 45 วัน อย่างไรก็ตาม ก็ต้องยอมรับว่า ในบางบริษัทที่มีสวัสดิการที่ดี อาจจะให้สิทธิประโยชน์การลาคลอดที่มากกว่าเกณฑ์มาตรฐานนี้ หรือแม้แต่การจ่ายเงินค่าจ้างในช่วงลาคลอด ก็อาจจะมากกว่าเกณฑ์ที่กำหนดก็ได้
พี่ทุยต้องบอกว่า โดยรวมแล้วสิทธิประโยชน์การลาคลอดในไทย แม้จำนวนวันจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ได้แย่อะไร แต่ถ้านำไปเทียบภาพรวม ทั้งด้านจำนวนวันลาคลอด และการจ่ายเงินในช่วงลาคลอดกับประเทศอื่นๆ ในโลก ก็ยังจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สิทธิประโยชน์การลาคลอดต่ำกว่าหลายประเทศในโลก
ตัวอย่าง ประเทศที่ให้ สิทธิลาคลอด น้อยกว่าหลายประเทศในโลก
- ออสเตรเลีย ลาคลอดได้ 20 สัปดาห์ โดยได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ
- จีน ลาคลอดได้ 14 สัปดาห์ จ่ายค่าจ้าง 100%
- อิตาลี ลาคลอดได้ 20 สัปดาห์ จ่ายค่าจ้าง 80%
- ซาอุดิอาระเบีย ลาคลอดได้ 10 สัปดาห์ จ่ายค่าจ้าง 100%
- ไทย ลาคลอดได้ 14 สัปดาห์ จ่ายค่าจ้าง 100% สำหรับ 45 วันแรก
- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ลาคลอดได้ 8.6 สัปดาห์ จ่ายค่าจ้าง 100% สำหรับ 45 วันแรก และจ่าย 50% สำหรับวันที่เหลือ
รวมสิทธิประโยชน์และ สิทธิลาคลอด สำหรับคุณแม่ในไทย
1. สถานที่ทำงาน
- ลาคลอดได้ 98 วัน โดยได้รับค่าจ้าง 100% จำนวน 45 วันจากนายจ้าง
2. สำนักงานประกันสังคม
2.1 เบิกเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร ได้ 50% ของค่าจ้าง รวม 45 วัน
เงื่อนไข
- ต้องจ่ายเงินประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 เดือน ใน 15 เดือน ก่อนใช้สิทธิ
- คิดบนฐานเงินเดือนสูงสุด 15,000 บาทต่อเดือน โดยกรณีคิดจากฐานเงินเดือนสูงสุดจะได้ 11,250 บาท
- ใช้ได้กับการคลอดบุตรครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 เท่านั้น
2.2 เบิกค่าฝากครรภ์ได้ รวม 1,500 บาท สำหรับการฝากครรภ์ 5 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ จ่ายตามจริง ไม่เกิน 500 บาท
- ครั้งที่ 2 อายุครรภ์มากกว่า 12-20 สัปดาห์ จ่ายตามจริง ไม่เกิน 300 บาท
- ส่วนครั้งที่ 3 อายุครรภ์มากกว่า 20-28 สัปดาห์ จ่ายตามจริง ไม่เกิน 300 บาท
- ครั้งที่ 4 อายุครรภ์มากกว่า 28-32 สัปดาห์ จ่ายตามจริง ไม่เกิน 200 บาท
- ครั้งที่ 5 อายุครรภ์มากกว่า 32-40 สัปดาห์ จ่ายตามจริง ไม่เกิน 200 บาท
เงื่อนไข
- ต้องจ่ายเงินประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 เดือน ใน 15 เดือน ก่อนใช้สิทธิ
- กรณีสามีและภรรยา เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ฝ่ายใดใช้สิทธิก็ได้
- กรณีครรภ์แฝด ก็นับเป็น 1 ครรภ์
2.3 เบิกค่าคลอดบุตร เหมาจ่าย 15,000 บาท ต่อ 1 ครรภ์
เงื่อนไข
- ต้องจ่ายเงินประกันสังคมมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 5 เดือน ใน 15 เดือน ก่อนใช้สิทธิ
- กรณีสามีและภรรยา เป็นผู้ประกันตนทั้งคู่ ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิก็ได้ โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร จำนวนครั้งในการใช้สิทธิ
2.4 เบิกเงินสงเคราะห์บุตร 800 บาทต่อเดือน
เงื่อนไข
- จ่ายประกันสังคมมามากกว่า 12 เดือน ในเวลา 36 เดือน
- สำหรับบุตรอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์ โดยจ่ายให้ครั้งละไม่เกิน 3 คน กรณีบุตรเสียชีวิต สิทธิก็จะสิ้นสุดด้วย
3. โครงการเงินอุดหนุนบุตรเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรก ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน
- จ่ายเงินอุดหนุนบุตร 600 บาทต่อเดือน
เงื่อนไข
- สำหรับบุตรอายุไม่เกิน 6 ปีบริบูรณ์
- เฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อครัวเรือน ไม่เกิน 100,000 บาท
4. สิทธิประโยชน์ทางภาษี
ค่าลดหย่อนภาษีบุตร คนละ 30,000 บาท (กรณีบุตรคนที่ 2 ขึ้นไป เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท)
เงื่อนไข
- บุตรหรือบุตรบุญธรรม อายุไม่เกิน20 ปี หรือ อายุไม่เกิน 25 ปี และกำลังศึกษาอยู่ หรือเกิน 25 ปี แต่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
- บุตรที่นำมาลดหย่อน มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท
- กรณีบุตรชอบด้วยกฎหมาย ลดหย่อนได้ตามจำนวนบุตรจริง กรณีบุตรบุญธรรม ใช้สิทธิได้สูงสุด 3 คน
- สามีและภรรยาใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งคู่ ยกเว้นกรณีบิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา จะใช้สิทธิได้เมื่อจดทะเบียนรับรองบุตร
ค่าลดหย่อนฝากครรภ์และคลอดบุตร สูงสุดไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท
เงื่อนไข
- ตั้งครรภ์ลูกแฝด นับเป็นครรภ์เดียว
- สามีและภรรยายื่นภาษีทั้งคู่ ให้สิทธิลดหย่อนนี้แก่ภรรยาเท่านั้น
- กรณีภรรยาไม่มีเงินได้ สามีจึงจะใช้สิทธิลดหย่อนนี้ได้
- สามีใช้สิทธิได้กรณีจดทะเบียนสมรสกับภรรยา ส่วนกรณีไม่ได้จดทะเบียนสมรส จะใช้สิทธิได้เฉพาะกรณีมีการจดทะเบียนรับรองบุตรในปีภาษีที่บุตรคลอด
- ใช้สิทธิได้เท่ากับจำนวนเงินที่จ่ายไปในปีภาษีนั้น (นับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.)
- กรณีมีสิทธิสวัสดิการเบิกค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรได้ เช่น จากบัตรทอง ประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการหรือหน่วยงานรัฐ สวัสดิการของนายจ้าง เพดานสิทธิที่ใช้ได้ คือ ต้องหักออกจากเงินสวัสดิการที่เบิกได้มาแล้ว เช่น เบิกค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร จากประกันสังคมมาแล้ว 1,500 + 15,000 = 16,500 บาท ก็มีเพดานสิทธิลดหย่อนใช้ได้แค่ 43,500 บาท
เอาเป็นว่า ใครที่กำลังเข้าข่ายใช้สิทธิลาคลอด เบิกค่าฝากคราภ์ คลอดบุตร และลดหย่อนภาษีได้ สำหรับปีภาษี 2567 นี้ ก็อย่าลืมเช็คสิทธิที่มีเอาไว้ให้ดี และใช้สิทธิให้ครบ เพื่อประโยชน์ของเราเอง
อ่านเพิ่ม