พ่อแม่ที่อยู่ในระบบประกันสังคมสามารถขอเงินสงเคราะห์บุตรจำนวน 800 บาทได้ สำหรับบุตรธิดาที่อายุไม่เกิน 6 ปี และถ้าเป็นครอบครัวที่ได้รับการพิจารณาว่ายากจน ก็สามารถขอรับ เงินอุดหนุนบุตร สำหรับเด็กเล็กเพิ่มอีก 600 บาทต่อเดือน
เงินอุดหนุนบุตร 2566 เข้าวันไหน ?
ครอบครัวที่เข้าโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด หรือ Child Support Grant กรมบัญชีกลาง จะจ่ายเงินเข้าบัญชีทุกวันที่ 10 ของเดือน และหากตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการ จะจ่ายเงินเด็กแรกเกิดเข้าบัญชีล่วงหน้าก่อนวันหยุด
- เดือนมกราคม : วันอังคารที่ 10 ม.ค. 2566
- เดือนกุมภาพันธ์ : วันศุกร์ที่ 10 ก.พ. 2566
- เดือนมีนาคม : วันศุกร์ที่ 10 มี.ค. 2566
- เดือนเมษายน : วันจันทร์ที่ 10 เม.ย. 2566
- เดือนพฤษภาคม : วันพุธที่ 10 พ.ค. 2566
- เดือนมิถุนายน : วันศุกร์ที่ 9 มิ.ย. 2566
- เดือนกรกฎาคม : วันจันทร์ที่ 10 ก.ค. 2566
- เดือนสิงหาคม : วันพฤหัสบดีที่ 10 ส.ค. 2566
- เดือนกันยายน : วันศุกร์ที่ 8 ก.ย. 2566
- เดือนตุลาคม : วันอังคารที่ 10 ต.ค. 2566
- เดือนพฤศจิกายน : วันศุกร์ที่ 10 พ.ย. 2566
- เดือนธันวาคม : วันศุกร์ที่ 8 ธ.ค. 2566
ลงทะเบียน เงินอุดหนุนบุตร 2566 อย่างไร ?
พ่อแม่ที่อยากลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนบุตร มีวิธีการดังนี้
คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน
- เป็นบิดา มารดา หรือบุคคลอื่นที่เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กแรกเกิด
- เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
- อาศัยอยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย (สมาชิกในครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ย ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี หรือตกเดือนละ 8,333 บาท)
- ผู้ปกครองรับเงินผ่านบัญชีที่ผูกบริการพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน
เด็กแรกเกิด หมายถึง เด็กที่มีอายุไม่เกิน 6 ปี มีสัญชาติไทย อาศัยอยู่กับผู้ปกครองในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย และไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานรัฐหรือเอกชนตามที่อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชนประกาศกำหนด
เงินอุดหนุนบุตร 2566 สมัครได้ที่ไหน ?
หน่วยงานใกล้บ้าน
- กรุงเทพมหานคร ติดต่อได้ที่สำนักงานเขต.
- เมืองพัทยา ติดต่อได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
- ส่วนภูมิภาค ติดต่อได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล
เอกสารประกอบการลงทะเบียน ดังนี้
- แบบคำร้องขอลงทะเบียน (ดร.01)
- แบบรับรองสถานะของครัวเรือน (ดร.02)
- สูติบัตรเด็กแรกเกิด
- บัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์ (Smart Card) ของผู้ปกครอง
- ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ ของสมาชิกในครัวเรือนทุกคนที่ประกอบอาชีพ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท
- สำเนาเอกสาร หรือบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรหรือเอกสารอื่นใดที่แสดงสถานะหรือตำแหน่งของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
ผ่านแอปพลิเคชัน เงินเด็ก
- ยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน D.DOPA ก่อน ซึ่งจะต้องมีการพิสูจน์ตัวตนในครั้งแรก ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต
- ยื่นคำร้องขอลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันเด็ก โดยให้แนบเอกสารในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นหลักฐาน
เอกสารไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ประกอบการลงทะเบียน
- หลักฐานการรับรองสถานะครัวเรือน
- ภาพถ่ายบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงสถานะ หรือตำแหน่งของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2
- ใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของสมาชิกในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยทุกคน กรณีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท
การจ่ายเงินเข้าบัญชีธนาคาร
บัญชีธนาคารที่ใช้สำหรับแนบเอกสารเพื่อยื่นลงทะเบียนในโครงการ ประเภทบัญชีเงินฝากจะต้องเป็น ออมทรัพย์ สะสมทรัพย์ เผื่อเรียก กระแสรายวัน เท่านั้น โดยมีทั้งหมด 3 ธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารกรุงไทย (บัญชีออมทรัพย์)
- ธนาคารออมสิน (บัญชีเงินฝากเผื่อเรียก)
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) (บัญชีเงินฝากออมทรัพย์)
โดยจะดำเนินการจ่ายเงินผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (Payment)
สามารถรับ เงินสงเคราะห์บุตรและเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด พร้อมทั้ง 2 อย่างได้มั้ย?
สำหรับใครที่ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 ซึ่งส่งเงินสมทบครบ 12 เดือน ภายใน 36 เดือน และมีบุตรแรกเกิดจนถึงอายุ 6 ปี สามารถยื่นขอรับเงินสงเคราะห์บุตรได้ อีกทั้งยังมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด หากผู้ประกันตนอยู่ในครอบครัวที่มีรายได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อคนต่อปี และมีคุณสมบัติตตามเกณฑ์รับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด ก็สามารถลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดได้ด้วย
ฉะนั้น ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือทั้ง 2 ทาง คือ เงินสงเคราะห์บุตร และเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด รวมแล้วจะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,400 บาทต่อเดือน ต่อบุตร 1 คน
ถ้าเงินอุดหนุนบุตร ไม่เข้าบัญชี ต้องทำอย่างไร ?
สำหรับผู้ที่เงินไม่เข้าบัญชีให้ตรวจสอบที่ http://csgcheck.dcy.go.th
หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด (วันเวลาราชการ เวลา 08.30 – 17.00 น.)
เบอร์โทรศัพท์
08 2091 7245
08 2037 9767
หรือ 08 3431 3533
06 5731 3199
และศูนย์ช่วยเหลือสังคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โทร. 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง
อ่านเพิ่มเติม