มีสาเหตุจากอะไรบ้าง ทำให้ "ไทยขึ้นดอกเบี้ย" ?

มีสาเหตุจากอะไรบ้าง ทำให้ “ไทยขึ้นดอกเบี้ย” ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ในช่วงที่ผ่านมา อัตราดอกเบี้ยของหลายประเทศทั่วโลกต่างทยอยปรับขึ้นต่อเนื่อง ส่วนไทยเพิ่งเริ่มจะมีกระแสพูดถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และมีโอกาสสูงที่จะปรับขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี สาเหตุเพราะ
  • เงินเฟ้อไทยล่าสุดอยู่ที่ 7.7% ทำจุดสูงสุดใหม่ (All time high) ในรอบ 13 ปีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ขณะเดียวกัน เงินเฟ้อไทยในปัจจุบันสูงที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศหลักในภูมิภาคเอเชีย
  • เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่เพิ่งสตาร์ทติด 
  • เงินบาทอ่อนค่าเร็ว อ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี และอ่อนค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักในภูมิภาคเอเชีย
  • จากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมา เมื่อไหร่ก็ตามที่ผลการประชุมมีมติไม่เป็นเอกฉันท์ที่ 4 ต่อ 3 เสียง การประชุมครั้งถัดมาจะเกิดการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม 3 เสียงจากครั้งก่อนหน้าทันที

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

นับตั้งแต่วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 – 2552 อัตราดอกเบี้ยของไทยและของหลายประเทศทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตซ้อนวิกฤตทั้งโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันและราคาอาหารในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลก ธนาคารกลางหลายแห่งจึงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อหวังว่าจะลดเงินเฟ้อจากวิกฤตครั้งนี้ ซึ่งจากสาเหตุทั้งหมดนี้ก็ทำให้แนวโน้ม “ไทยขึ้นดอกเบี้ย” มีความเป็นไปได้มากขึ้น

ปัจจุบันในเดือน ก.ค. 2565 อัตราดอกเบี้ยไทยในปัจจุบันคงไว้ที่ 0.50% ตั้งแต่กลางปี 2563 แต่ก็กำลังมีสัญญาณมากมายที่หนุนให้ไทยมี “การปรับขึ้นดอกเบี้ย” เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี จะมีสาเหตุอะไรบ้าง ตามพี่ทุยมาเลย

เหตุผลแรกที่อาจทำให้ “ไทยขึ้นดอกเบี้ย” : เงินเฟ้อไทยทำ All time high

เหตุผลแรกที่ดอกเบี้ยไทยมีแนวโน้มจะปรับขึ้น นั่นคือ เงินเฟ้อไทยทำจุด All time high โดยตัวเลขเงินเฟ้อของไทยล่าสุดเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 7.7% ทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 13 ปีเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และยังสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ 1-3% มาตั้งแต่ต้นปี 2565

อย่างไรก็ตาม โดยหลักการของการขึ้นดอกเบี้ยจะไปช่วยลดเงินเฟ้อที่เกิดจากเศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง (Demand-pull inflation) แต่สาเหตุเงินเฟ้อครั้งนี้มาจากต้นทุนราคาน้ำมันที่สูงขึ้น (Cost-push inflation) ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยจะไม่สามารถช่วยลดเงินเฟ้อจากฝั่งต้นทุนได้

แต่เหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งที่ธนาคารกลางหลายแห่งตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นั่นคือ การขึ้นดอกเบี้ยจะช่วยลดสิ่งที่เรียกว่า “เงินเฟ้อคาดการณ์ (Inflation Expectations)” ของภาคธุรกิจและครัวเรือน เพื่อไม่ให้เกิดเป็นวงจรที่เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ (Wage Price Spiral) จากการที่ร้านค้าปรับราคาสินค้าขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้บริโภคต้องไปเรียกร้องขอขึ้นค่าจ้างจากบริษัทเพื่อให้รายได้เพียงพอต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น ซึ่งหากเกิดสถานการณ์วงจรเงินเฟ้อ อาจลุกลามกลายเป็นวิกฤตของแพงเหมือนหลายประเทศที่กำลังประสบอยู่ก็เป็นได้

จากตารางด้านล่างที่แสดงถึงอัตราเงินเฟ้อของแต่ละประเทศ จะเห็นว่า แม้เงินเฟ้อของไทยเทียบกับทั่วโลกจะอยู่ในระดับกลาง ๆ แต่หากเทียบเฉพาะประเทศหลัก ๆ ในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน จะพบว่า เงินเฟ้อไทยในเดือน มิ.ย. 2565 ที่ 7.7% สูงที่สุดในภูมิภาคเลยทีเดียว ฉะนั้น เงินเฟ้อของไทยที่สูงเช่นนี้ ทำให้มีโอกาสสูงที่ดอกเบี้ยไทยจะปรับขึ้นในไม่ช้านี้

มีสาเหตุจากอะไรบ้าง ทำให้ "ไทยขึ้นดอกเบี้ย" ?

เหตุผลที่สองที่อาจทำให้ “ไทยขึ้นดอกเบี้ย” : เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเปรียบเสมือนเครื่องยนต์กำลังติด

เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันเปรียบเสมือนเครื่องยนต์ที่เพิ่งสตาร์ทติดและมีแนวโน้มขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างไม่สะดุด เนื่องจากหากมองไปรอบตัว หลายคนคงจะเห็นเหมือนกันว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจ การเดินทาง และการออกมาจับจ่ายใช้สอยของผู้คนทยอยกลับมาคึกคักมากขึ้น รวมถึงการจราจรในกรุงเทพฯ ที่กลับมาหนาแน่นอีกครั้ง

ซึ่งหากดูตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยอย่าง GDP ในช่วง Q1/2565 เติบโตค่อนข้างดีที่ 2.2% ขณะที่สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายแห่งเริ่มทยอยปรับมุมมองเพิ่มคาดการณ์ตัวเลข GDP ไทยดีขึ้นต่อเนื่อง

โดยคาดกันว่า GDP ไทยปี 2565 นี้จะเติบโตได้ที่ราว 3% และปี 2566 มีแนวโน้มเติบโตแตะเลข 4% เลยทีเดียว โดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปีที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติตบเท้าเข้ามาท่องเที่ยวไทยกันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้บรรยากาศเศรษฐกิจไทยกลับมาสดใสมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจไทยดูดีขึ้นเป็นลำดับ หากยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมต่อไป อาจกลายเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนและภาคธุรกิจประเมินความเสี่ยงต่ำเกินไป ด้วยการใช้จ่าย ขอกู้สินเชื่อต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นภาระหนี้ที่มากขึ้น ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมและเป็นไปตามสภาวะทางเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นมากขึ้นเช่นเดียวกัน

เหตุผลที่สาม: เงินบาทอ่อนค่าเร็วและอ่อนค่าสุดในรอบ 16 ปี

หากย้อนกลับไปตั้งแต่ปลายปี 2564 ถึงต้นปี 2565 เป็นช่วงที่ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่า จากสิ้นปีที่ราว 33.5 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 32.7 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2565

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มี.ค. 2565 ที่ 0.25% และปรับขึ้นอีก 2 ครั้งในเดือน พ.ค. 2565 และ มิ.ย. 2565 รวม 0.75% ทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ในปัจจุบันขึ้นมาอยู่ที่ 1.50% – 1.75% สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยไทยที่ 0.50% เรียบร้อยแล้ว

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อดอกเบี้ยสหรัฐฯ สูงกว่าดอกเบี้ยไทย คือ เกิดเงินทุนไหลออกจากประเทศที่ให้ผลตอบแทนน้อยกว่าอย่างไทยไปสู่ประเทศที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างสหรัฐฯ ซึ่งให้ผลตอบแทนมากกว่าถึง 1% ส่งผลให้ค่าเงินบาทเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงเรื่อย ๆ จนล่าสุดในช่วงกลางเดือน ก.ค. 2565 ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ อยู่ที่ 36.6 เป็นระดับที่อ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 16 ปีเลยทีเดียว

ขณะเดียวกัน เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียดังตารางด้านล่าง ก็พบว่า นับตั้งแต่ Fed ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบเดือน มี.ค. 2565 ค่าเงินของทุกประเทศเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวอ่อนค่าลงทั้งหมด โดยเงินบาทอ่อนค่าราว 9% อ่อนค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของสกุลเงินหลักในเอเชีย เป็นรองเพียงแค่เงินเยนญี่ปุ่นเท่านั้น

ดังนั้น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐฯ กับดอกเบี้ยไทยแคบลง ไม่เพียงแต่จะช่วยชะลอเงินบาทที่กำลังอ่อนค่าเร็วเท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกันไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศด้วยเช่นกัน

มีสาเหตุจากอะไรบ้าง ทำให้ "ไทยขึ้นดอกเบี้ย" ?

เหตุผลที่สี่: การส่งสัญญาณของ กนง. ที่ 4 ต่อ 3 เสียง

ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบล่าสุดเดือน มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% โดย 3 เสียงให้ขึ้น 0.25% ซึ่งผลการประชุมดังกล่าวนับว่าสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับบรรดานักวิเคราะห์ นักลงทุน และผู้ติดตามเป็นอย่างมาก เนื่องจากหวุดหวิดที่จะขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 4 ปี

พี่ทุยได้ลองย้อนไปดูสถิติผลการประชุม กนง. ในอดีตที่ผ่านมาดังตารางด้านล่าง พบสิ่งที่น่าสนใจ คือ ผลการประชุมที่มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 4 ต่อ 3 เสียง เกิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง เมื่อไหร่ก็ตามที่ผลการประชุมเป็น 4 ต่อ 3 เสียง การประชุมครั้งถัดไปจะเกิดการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม 3 เสียงของการประชุมครั้งก่อนหน้าทันทีทุกครั้ง

มีสาเหตุจากอะไรบ้าง ทำให้ "ไทยขึ้นดอกเบี้ย" ?

หากผลการประชุมในอดีตเป็นตัวบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลการประชุม กนง. ครั้งก่อนเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 จึงเปรียบเสมือนการส่งสัญญาณทิศทางดอกเบี้ยไทยในระยะถัดไปว่าจะมีทิศทางอย่างไร

พี่ทุยจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมติดตามการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 10 ส.ค. 2565 ไปด้วยกัน เนื่องจากเรื่องดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่ทุกคนคุ้นเคย ใกล้ชิด และมีผลกระทบโดยตรงต่อพวกเราทุกคน

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย