SWIFT คืออะไร ทำไมตะวันตกใช้คว่ำบาตร “รัสเซีย”

SWIFT คืออะไร ทำไมตะวันตกใช้คว่ำบาตรรัสเซีย

4 min read  

ฉบับย่อ

  • SWIFT เป็นบริการส่งข้อความทางการเงินที่ปลอดภัย ก่อตั้งเมื่อปี 1973 ตั้งอยู่ที่เบลเยียม เชื่อมต่อสถาบันการเงินและบริษัททั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่ง ใน 200 ประเทศ มีการกล่าวว่า SWIFT เปรียบเสมือน Twitter ของธนาคาร ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่โยกย้ายเงินไปมาแต่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเงิน
  • มีสถาบันการเงินและบริษัทในรัสเซียใช้บริการ SWIFT ประมาณ 300 แห่ง ในแง่จำนวนผู้ใช้นั้น รัสเซียอยู่ในอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ เท่านั้น คาดว่ามากกว่า 1% ของข้อความที่ส่งกันใน SWIFT กว่า 40 ล้านข้อความต่อวัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชำระเงินของชาวรัสเซีย
  • สถาบันการเงินจากอิตาลี ออสเตรีย และฝรั่งเศส เป็น 3 สถาบันการเงินต่างชาติที่ทำธุรกรรมกับรัสเซียมากที่สุดซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากภูมิภาคยุโรป ส่วนเยอรมนีและอิตาลีต่างพึ่งพาการนำเข้าด้านพลังงานจากรัสเซียเป็นหลัก และใช้ SWIFT ในการชำระเงิน ดังนั้นชาติในยุโรปจึงมีผลประโยชน์กับรัสเซียค่อนข้างมาก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หลังประธานาธิบดีปูตินของ “รัสเซีย” ตัดสินใจบุกยูเครนเต็มรูปแบบ ชาติตะวันตกต่างบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย หลายฝ่ายต่างเรียกร้องให้มีการแบนสถาบันการเงินและบริษัทจากรัสเซียจากระบบสื่อสารทางการเงินที่เรียกว่า SWIFT ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และแคนาดา ได้ประกาศจะปิดกั้นธนาคารบางแห่งของ “รัสเซีย” ไม่ให้เข้าถึง ระบบ SWIFT เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

บทความนี้พี่ทุยขอพาทุกคนไปรู้จักทุกแง่มุมของระบบ SWIFT กับการคว่ำบาตรในครั้งนี้ รวมไปถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรัสเซียและประเทศคู่ค้า ไปฟังกัน

ระบบ SWIFT คืออะไร

ย่อมาจาก Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication ให้บริการส่งข้อความทางการเงินที่ปลอดภัย ก่อตั้งเมื่อปี 1973 ตั้งอยู่ที่เบลเยียม เชื่อมต่อสถาบันการเงินและบริษัททั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่ง ใน 200 ประเทศ

ทุกวันนี้ SWIFT ส่งข้อความมากกว่า 40 ล้านข้อความต่อวัน รวมไปถึงคำสั่งซื้อและการยืนยันการชำระเงิน การซื้อขาย และการแลกเปลี่ยนสกุลเงิน กว่าครึ่งของการโอนเงินระหว่างประเทศที่มีมูลค่าสูงถูกดำเนินการผ่านระบบ SWIFT

ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินกล่าวว่า SWIFT เปรียบเสมือน Twitter ของธนาคาร ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่โยกย้ายเงินไปมาแต่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของเงิน

ทำไม SWIFT ถึงมีความสำคัญ

สถาบันการเงินที่เชื่อมต่อกับระบบ SWIFT แล้วมีความสัมพันธ์กับสถาบันการเงินอื่นสามารถใช้การส่งข้อความภายในระบบเพื่อทำธุรกรรม เนื่องจากการส่งข้อความมีความปลอดภัยสูง ดังนั้นคำสั่งชำระเงินจึงได้รับความเชื่อถือ ด้วยสิ่งนี้จึงเปิดช่องให้สถาบันการเงินสามารถทำธุรกรรมการเงินขนาดใหญ่ด้วยความเร็วสูง

SWIFT จึงก้าวขึ้นมาเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีอิทธิพลมากที่สุด หากวัดกันทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่าเงินที่ถูกเคลื่อนย้ายไปทั่วโลกผ่านระบบ

การปิดกั้น SWIFT เกิดขึ้นกับอิหร่านเมื่อปี 2012 อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการคว่ำบาตรจากสหภาพยุโรปเกี่ยวกับโครงการนิวเคลียร์ ส่งผลให้อิหร่านสูญเสียรายได้จากการส่งออกน้ำมันเกือบ 50% และการค้าระหว่างประเทศลดลง 30% จากนั้นปี 2016 หลายธนาคารก็กลับมาเชื่อมต่อกับระบบอีกครั้ง หลังสหภาพยุโรปยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

รัสเซีย พึ่งพา ระบบ SWIFT มากขนาดไหน

มีสถาบันการเงินและบริษัทในรัสเซียใช้บริการ SWIFT ประมาณ 300 แห่ง และมากกว่าครึ่งหนึ่งของสถาบันด้านสินเชื่ออยู่ในระบบ SWIFT ซึ่งในแง่จำนวนผู้ใช้นั้น รัสเซียอยู่ในอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ เท่านั้น คาดกันว่ามากกว่า 1% ของข้อความที่ส่งกันใน SWIFT กว่า 40 ล้านข้อความต่อวัน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชำระเงินของชาวรัสเซีย

หากตัด รัสเซีย ออกจาก SWIFT ผลกระทบจะเป็นอย่างไร

การตัดสถาบันการเงินและบริษัทในรัสเซียออกจากระบบ SWIFT เท่ากับตัดรัสเซียออกจากตลาดการเงินโลก ทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมได้อย่างทันทีและราบรื่น

รัสเซียพึ่งพาระบบ SWIFT อย่างมากเนื่องจากสินค้าส่งออกหลักอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติถูกซื้อขายกันด้วยสกุลเงินดอลลาร์ ซึ่งงบประมาณของรัสเซียส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการเก็บภาษีสินค้าส่งออกประเภททรัพยากรธรรมชาติ

ดังนั้นหากถูกตัดออกจาก SWIFT สถาบันการเงินและบริษัทในรัสเซียต้องติดต่อกับสถาบันการเงินหรือคู่ค้าโดยตรงซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มและล่าช้า การทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศจะยากมากขึ้นส่งผลต่อปริมาณยอดขายและเงินภาษี

นายอเล็กเซ คูดริน (Alexei Kudrin) อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังรัสเซีย เคยประมาณการไว้ว่าการที่รัสเซียถูกตัดออกจาก SWIFT จะส่งผลให้ตัวเลข GDP หดตัวถึง 5%

ปี 2021 ที่ผ่านมารัสเซียส่งออกสินค้าและบริการมูลค่า 341,000 ล้านดอลลาร์ ราว 55% ค้าขายในสกุลเงินดอลลาร์ และ 29% ในสกุลเงินยูโร (ข้อมูลสัดส่วนสกุลเงินจาก 3 ไตรมาสของปี 2021) ฉะนั้นยังมีคู่ค้าอีกมากมายที่จะได้รับผลกระทบ

ทำไมชาติตะวันตกจึงรออยู่นาน ถึงได้ตัด รัสเซีย ออกจาก SWIFT

สาเหตุเป็นเพราะว่าประเทศคู่ค้าเองก็จะได้รับผลกระทบ แม้การทำธุรกรรมทั้งหมดของสถาบันการเงินต่างชาติกับรัสเซียจะลดลงตั้งแต่ปี 2014 แต่การทำธุรกรรมของสถาบันการเงินสหรัฐฯ กับรัสเซียเมื่อไตรมาสที่ 3 ปี 2021 เพิ่มขึ้นมาที่ 12.1% ของคู่สัญญาทั้งหมด จาก 8.5% เมื่อไตรมาสที่ 3 ปี 2015

ขณะที่สถาบันการเงินจากอิตาลี ออสเตรีย และฝรั่งเศส เป็น 3 สถาบันการเงินต่างชาติที่ทำธุรกรรมกับรัสเซียมากที่สุดซึ่งล้วนแล้วแต่มาจากภูมิภาคยุโรปทั้งหมด การรับชำระหนี้จากรัสเซียคงต้องหาทางเลือกอื่นซึ่งยากขึ้นอย่างแน่นอน

ระบบ SWIFT คืออะไร ทำไมตะวันตกใช้คว่ำบาตร “รัสเซีย”

นอกจากนี้ทั้งเยอรมนีและอิตาลีต่างพึ่งพาการนำเข้าด้านพลังงานจากรัสเซียเป็นหลัก และใช้ SWIFT ในการชำระเงิน ซึ่งการชำระเงินก็ยากขึ้นส่งผลต่อต้นทุนพลังงานในขณะที่ระดับราคาพลังงานก็ยังสูงจึงไม่ใช่เรื่องดีที่จะทำอะไรก็ตามอันเป็นผลให้ต้นทุนพลังงานเพิ่มไปมากกว่านี้ และด้วยการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียอย่างมากของยุโรปทำให้ไม่สามารถหาแหล่งพลังงานทดแทนในเร็ววันนี้

มีช่องทางอื่นนอกจาก SWIFT หรือไม่

ยังไม่มีช่องทางอื่นที่ทดแทนได้ 100% แต่ปี 2014 ธนาคารกลางรัสเซียเริ่มสร้างระบบบริการส่งข้อความทางการเงินสำหรับสถาบันการเงินรัสเซียและต่างชาติ เรียกว่า System for Transfer of Financial Messages (SPFS) แต่มีผู้ใช้งานเพียงแค่ 400 ราย แม้กระทั่งในจีนก็มีธนาคารเพียงแห่งเดียวที่ใช้ระบบนี้

ส่วนสกุลเงินดิจิทัลก็เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการชำระเงินระหว่างประเทศ และอาจแทนที่ระบบ SWIFT ในอนาคตแต่คงไม่มีทางแทนที่ได้ในเร็ววันนี้

ใครดูแล ระบบ SWIFT และความปลอดภัยมากขนาดไหน

SWIFT ดำเนินการภายใต้กฎหมายเบลเยียม มีผู้ถือหุ้นเป็นสถาบันการเงินทั่วโลกกว่า 3,500 แห่ง ระบบถูกดูแลโดยธนาคารกลางกลุ่ม G-10 ประกอบด้วย เบลเยียม แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ และสวีเดน รวมไปถึงธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยมีธนาคารกลางเบลเยียมเป็นผู้ดูแลหลัก

SWIFT ไม่ตรวจสอบหรือควบคุมการส่งข้อความในระบบ ไม่เลือกข้างในความขัดแย้ง และไม่มีอิทธิพลต่อการคว่ำบาตรใด การตัดสินใจคว่ำบาตรขึ้นอยู่กับรัฐบาลแต่ละประเทศ แต่พูดตามตรงก็คือ SWIFT จะคว่ำบาตรประเทศหรือบริษัทใดก็ต่อเมื่อสหภาพยุโรปมีมาตรการคว่ำบาตรต่อประเทศหรือบริษัทนั้น

มีความพยายามมากมายที่จะโจรกรรมสถาบันการเงินผ่านการส่งข้อความปลอมในระบบ SWIFT และก็มีการกระทำบางครั้งที่ประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น ธนาคารกลางบังคลาเทศสูญเสียเงิน 81 ล้านดอลลาร์ หรือจะเป็นการหลอกธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์กให้ส่งเงิน

จะเห็นว่า SWIFT เป็นระบบที่มีความสำคัญมากต่อระบบการเงินโลก หากสถาบันการเงินหรือบริษัทใดถูกตัดออกจากระบบย่อมสร้างความเสียหายต่อสถาบันการเงินหรือบริษัทเหล่านั้นรวมไปถึงรายได้ของประเทศด้วย อย่างไรก็ตามประเทศคู่ค้าหรือเจ้าหนี้ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน ฉะนั้นไม่น่าแปลกใจมากนักที่ชาติตะวันตกซึ่งมีผลประโยชน์กับรัสเซียสูงจะใช้มาตรการคว่ำบาตรนี้ล่าช้า

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย