จับตา เศรษฐกิจไทย 2565 ครึ่งปีหลัง จะเกิดวิกฤตหรือไม่?

จับตา เศรษฐกิจไทย 2565 ครึ่งปีหลัง จะเกิดวิกฤตหรือไม่?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • เศรษฐกิจโลกทุกวันนี้เสมือนผู้ป่วยที่มีอาการยังไม่รุนแรง เพราะความเสี่ยงยังกระจุกตัวอยู่ในเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) 
  • วิกฤตรอบนี้มีต้นตอมาจากโควิด-19 และถูกซ้ำเติมด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วโลกสูงขึ้น จนประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ประเทศตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนแออยู่ก่อนแล้วเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤต
  • ขณะที่เศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตน้อยมาก

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ประเดิมครึ่งปีแรกของ 2565 มานี้ “เศรษฐกิจไทย” ที่ทำท่าว่าจะฟื้นตัวได้ดี แต่ก็ดันเจอโควิด-19 ระลอก 4 และ 5 ผสมโรงกับวิกฤตโลกอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำครึ่งปีแรกของไทยอ่วมมิใช่น้อย วันนี้พี่ทุยเลยจะชวนมาคาดการณ์กันหน่อยว่า ครึ่งปีหลัง 2565 เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไรบ้าง จะเกิดวิกฤตหรือไม่

สถานการณ์โลกในปัจจุบันเปรียบเสมือนผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เพราะยังไม่ลุกลามไปทั่วร่างกายก็คงไม่ผิดนัก เพราะภาวะเศรษฐกิจทุกวันนี้กำลังเผชิญกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่รุมเร้าอยู่ ทั้งราคาสินค้าที่แพงขึ้น ภาระหนี้ที่สูงขึ้น แต่รายได้ไม่เพิ่มขึ้นตาม

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจโลกยังไม่เข้าขั้นวิกฤต เพราะอาการป่วยนี้ยังไม่กระจายตัวไปทั่วโลก ยังกระจุกตัวอยู่ในเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) โดยเฉพาะบางประเทศในเอเชียที่กำลังประสบปัญหาไม่มีเงินมาชำระหนี้ เงินเก็บของประเทศร่อยหรอลง อย่างเช่น ศรีลังกาที่กำลังเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 70 ปี จนนายกรัฐมนตรีออกมายอมรับตามตรงว่า ประเทศล้มละลายเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงประเทศเพื่อนบ้านที่กำลังเข้าขั้นวิกฤตด้วยเช่นกันทั้ง เมียนมา และ สปป.ลาว ที่ประชาชนในประเทศกำลังทุกข์กายทุกข์ใจจากการขาดแคลนพลังงานอย่างหนัก 

วิกฤตรอบนี้ มีต้นตอจากอะไร ?

ย้อนกลับไปช่วงต้นปีที่ผ่านมา คงไม่มีใครคาดคิดว่าในช่วงที่โควิด-19 ยังไม่หายไปจากโลก การเปิดศึกโจมตียูเครนของกองทัพรัสเซียก็ปะทุขึ้นในช่วงปลายเดือน ก.พ. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งกินเวลามาแล้วเกือบ 6 เดือน และยังไม่มีทีท่าจะยุติในเร็ววัน

ผลของสงครามทำให้ราคาสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการ อาทิ ข้าวโพด ธัญพืช น้ำมันดิบ ก๊าซ และสินค้าจำพวกแร่และเหล็ก ปรับตัวสูงขึ้นไปอีกจากช่วงโควิด-19 และเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวเพียงเวลาไม่กี่เดือน เนื่องจากทั้งสองประเทศเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเหล่านี้รายใหญ่ของโลก และเมื่อราคาสินค้าแพงขึ้นก็ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม

ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ไม่รอช้า เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทันที แต่สิ่งที่ตามมา คือ เหล่าบรรดาประเทศ EMs เกิดภาวะช็อค (Shock) เพราะการที่สหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ย ทำให้เม็ดเงินไหลกลับเข้าไปในสหรัฐฯ ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น เท่ากับว่า ประเทศ EMs ที่เคยชินกับช่วงดอกเบี้ยต่ำและพอที่สามารถชำระหนี้ได้อยู่บ้างในช่วงที่ผ่านมา ต้องประสบกับเงินทุนไหลออกฉับพลัน เงินสำรองระหว่างประเทศลดลง ค่าเงินอ่อนค่าเร็ว และมูลค่าหนี้เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว

และนี่คือวงจรของวิกฤตรอบนี้

จับตา เศรษฐกิจไทย 2565 ครึ่งปีหลัง จะเกิดวิกฤตหรือไม่?

ประเทศตลาดเกิดใหม่เสี่ยงเกิดวิกฤต … ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

โดยปกติแล้ว หากพิจารณาว่าประเทศใดบ้างที่มีความเสี่ยงจะเกิดวิกฤต จะดูจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจหรือฐานะทางการเงินของประเทศ เช่น หนี้ภาครัฐและหนี้ต่างประเทศสูงหรือไม่ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีมากน้อยแค่ไหน ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลหรือขาดดุล รวมถึงค่าเงินเทียบดอลลาร์เปลี่ยนแปลงอย่างไร

ทั้งนี้ ทาง The Economist และ IMF ได้คำนวณปัจจัยเหล่านี้และจัดอันดับเพื่อดูว่าประเทศใดบ้างเข้าข่ายที่จะเกิดวิกฤต ผลลัพธ์ที่ได้ พบว่า มีประเทศตลาดเกิดใหม่มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกที่มีโอกาสเกิดวิกฤตสูงและจำเป็นต้องจับตาอย่างใกล้ชิด อาทิ อียิปต์ แองโกลา เอลซัลวาดอร์ ตูเนเซีย กาน่า อาร์เจนตินา ปากีสถาน เคนยา เอกวาดอร์ และเอธิโอเปีย เป็นต้น

นอกจากนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยหรือต้นทุนทางการเงินของโลกเพิ่มสูงขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จะยิ่งเป็นปัจจัยกดดันให้ประเทศ EMs ที่อ่อนแออยู่แล้วต้องมาเจอกับภาระหนี้ที่สูงขึ้นไปอีก

ซึ่งทาง Bloomberg ได้วิเคราะห์ว่า มี 50 ประเทศที่มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ (Default Risks) โดยประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ เอลซัลวาดอร์ กาน่า ตูเนเซีย ปากีสถาน อียิปต์ เคนยา อาร์เจนตินา ยูเครน บาห์เรน และนามิเบีย และนับเป็นความโชคดีที่ไทยไม่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วย แสดงให้เห็นว่า ต่างชาติยังคงเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยในระดับหนึ่ง

และในขณะเดียวกัน จีนที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก เริ่มเติบโตแผ่วลงจากปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายต่อจีนเองเท่านั้น แต่หากปัญหาดังกล่าวยังลุกลามและไม่ถูกแก้ไขโดยเร็ว หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะ EMs ที่มีจีนเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย อาทิ สปป.ลาว ปากีสถาน ศรีลังกา และประเทศในแถบแอฟริกา

แนวโน้ม เศรษฐกิจไทย 2565 ครึ่งปีหลัง จะถดถอยหรือไม่ ?

เมื่อหันกลับมามองที่ไทยกันบ้าง หากเทียบปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจในปัจจุบันกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ดังตารางด้านล่าง จะเห็นว่า เศรษฐกิจไทยค่อนข้างมีความแข็งแกร่ง จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มากกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งเกือบ 10 เท่า มีหนี้ต่างประเทศต่ำ รวมถึงมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ในแดนบวก

จับตา เศรษฐกิจไทย 2565 ครึ่งปีหลัง จะเกิดวิกฤตหรือไม่?

นอกจากนี้ Bloomberg ก็ได้ทำการวิเคราะห์และประเมินโอกาสที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดยพบว่า เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเกิดภาวะถดถอยเพียง 10% เท่านั้น เทียบกับค่าเฉลี่ยในภูมิภาคที่ราว 20 – 25% และต่ำกว่าอีกหลายประเทศทั้ง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น จีน และมาเลเซีย

จับตา เศรษฐกิจไทย 2565 ครึ่งปีหลัง จะเกิดวิกฤตหรือไม่?

สุดท้ายนี้ คงต้องบอกว่า แม้ทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะช้ากว่าหลายประเทศ แต่โอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือภาวะถดถอยถือว่าน้อยมาก จากพื้นฐานทางเศรษฐกิจและฐานะทางการเงินของประเทศที่แข็งแกร่ง 

อย่างไรก็ตาม วิกฤต คือ สิ่งที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว ฉะนั้น การตื่นตัวรับรู้ข้อมูลข่าวสารและการเตรียมพร้อมรับมือไม่ว่าจะเป็นการออมเงินหรือหาสูตรการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง จะช่วยให้เรารอดพ้นและยืนระยะอยู่ได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในอาการป่วย

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย