ฝีดาษลิง กระทบการท่องเที่ยวไทยมากแค่ไหน ?

ฝีดาษลิง กระทบการท่องเที่ยวไทยมากแค่ไหน ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • หลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้การท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมากถึงเกือบ 8 แสนคน ซึ่งมากกว่าทั้งปี 2564
  • แต่การระบาดของฝีดาษลิง โดยเฉพาะในยุโรป มีแนวโน้มจะกระทบกับการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวไทย 
  • ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มาจากยุโรป เนื่องจากจีน ที่เคยเป็นลูกค้าประจำของไทยยังคงปิดประเทศอยู่ 
  • ภาคตะวันตกเป็นภาคที่มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นชาวยุโรปมากที่สุด ส่วนภาคใต้เป็นภาคที่นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายมากที่สุด โดยทั้งสองภาคจะได้รับผลกระทบหากฝีดาษลิงทำให้การท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลง 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หลังโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยทรุดอยู่ 2 ปี พอเริ่มเปิดประเทศได้ประเดี๋ยวเดียว ความวัวไม่ทันหาย ความวอดวายเข้ามาแทรก เมื่อ “ฝีดาษลิง” ทำท่าจะกลายเป็นโรคระบาดที่กระทบต่อการท่องเที่ยวอีก และเพิ่งพบนักเดินทางรายแรกที่ติดเชื้อฝีดาษลิงในไทยเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2565 

แล้ว “ฝีดาษลิง” จะกระทบกับการท่องเที่ยวของไทยที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวมากแค่ไหน ? 

โลกรู้ พี่ทุยรู้ ทุกคนรู้ว่า การท่องเที่ยวเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย โดยในปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 การท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ไทยเป็นมูลค่าสูงถึง 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นถึง 20% ของเศรษฐกิจไทยเลยทีเดียว 

รายได้ก้อนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่สร้างรายได้ในภาคการท่องเที่ยวได้ถึง 2 ใน 3 ของทั้งหมด ดังนั้น จึงไม่แปลกที่พอโควิด-19 มา จนทำให้นานาประเทศปิดประตูเข้าออก ก็ทำให้รายได้ในส่วนนี้หายไปอย่างน่าใจหาย

ในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงถึง 83% จากปี 2562 เหลือแค่ประมาณ 6.7 ล้านคน จากเกือบ 40 ล้านคนในปีก่อนหน้า และในปี 2564 ที่ไทยแทบจะล็อคดาวน์ทั้งปี จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก็ลดลงไปอีก 93% เหลือแค่ 4.27 แสนคนเท่านั้น 

เมื่อวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย จำนวนนักท่องเที่ยวก็เริ่มกลับขึ้นมา โดยในไตรมาสแรกของปี 2565 นี้ จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยแล้วถึง 7.91 แสนคน มากกว่าปีก่อนหน้าทั้งปี และถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย

แต่ก็ดันมีข่าวใหญ่ว่าโลกเรากำลังมีวิกฤตโรคระบาดอีกครั้ง

‘ยุโรป’ ศูนย์กลางการระบาด “ฝีดาษลิง”

จากข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคระบาดยุโรป (European Centre for Disease Prevention and Control) ภายใต้สหภาพยุโรป หรือ EU พบว่า มีผู้ติดเชื้อแล้วทั่วโลก 557 คน ในวันที่ 2 มิ.ย.2565 โดยจากจำนวนดังกล่าว เป็นผู้ติดเชื้อที่พบในยุโรปถึง 231 คน และพบในประเทศนอกสมาชิกอียูอย่างอังกฤษอีก 108 คน รวมถึงสวิตเซอร์แลนด์อีก 2 ราย

‘ยุโรป’ สำคัญต่อท่องเที่ยวไทยมากแค่ไหน

ก่อนโควิด-19 ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจากโซนยุโรปที่เดินทางเข้าไทยมีจำนวนทั้งหมด 6.53 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 17% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด และมากเป็นอันดับ 3 รองจากนักท่องเที่ยวโซนเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ในจำนวนนี้ เป็นนักท่องเที่ยวจาก “รัสเซีย” มากที่สุด 1.43 ล้านคน รองลงมาคือ “สหราชอาณาจักร” ที่ 9.46 แสนคน และเยอรมนี ที่ 8.36 แสนคน โดยมักอยู่ยาว 17 วัน และใช้จ่ายคนละ 4,084 บาทต่อวัน 

หากดูตัวเลขแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปยังน้อยกว่าเอเชียตะวันออกอยู่มาก ซึ่งมีจำนวนมากถึง 27 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 67% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยอยู่ยาว 7 วัน และใช้จ่ายเฉลี่ยคนละ 5,743 บาทต่อวัน

อย่างไรก็ตาม จำนวนนักท่องเที่ยวก้อนใหญ่ของเอเชียตะวันออกมาจาก “จีน” ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวมากถึง 11 ล้านคน และจีนยังไม่เปิดประเทศให้เดินทางเข้าออกโดยง่าย ทำให้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 มีจำนวนผู้เดินทางเข้าไทยแค่ 2.2 หมื่นคน

ในขณะที่เอเชียตะวันออกมีผู้เดินทางมาจำนวน 1.71 แสนคนระหว่างเดือนม.ค.-เม.ย.2565 ทางด้านยุโรป มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยมาก 4 แสนคน จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด 7.91 แสนคน 

ภาคไหนได้ผลกระทบมากที่สุด?

ในปี 2562 ภาคที่มีนักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางไปมากที่สุด คือ ภาคตะวันตก โดยมีนักท่องเที่ยวยุโรปเดินทางไป 9.73 แสนคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 60% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามมาด้วยอีสาน ที่ 42% และภาคใต้ที่คิดเป็นสัดส่วน 37% 

ฝีดาษลิง กระทบการท่องเที่ยวไทยมากแค่ไหน ?

 

นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 3,635 บาทต่อคน สำหรับการท่องเที่ยวทางภาคตะวันตก และใช้จ่าย 1,859 บาทต่อคน สำหรับภาคอีสาน รวมถึง 6,730 บาทต่อคน ของทางภาคใต้ ซึ่งถือเป็นภาคที่นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายมากที่สุด

ไทยเตรียมรับมือ “ฝีดาษลิง” อย่างไร?

ด่านควบคุมโรคในไทยเริ่มการคัดกรองผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรค โดยคัดกรองกับผู้ที่เดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในประเทศที่มีการระบาดของฝีดาษลิงภายใน 21 วัน โดยรวมถึงประเทศแอฟริกากลางและตะวันตก และประเทศนอกทวีปแอฟริกาอย่างสหราชอาณาจักร สเปน และโปรตุเกส 

กรมควบคุมโรค ระบุว่า ไทยมีโอกาสที่จะพบผู้มีประวัติเดินทางจากประเทศที่มีผู้ป่วย จึงได้เตรียมรับมือภายในประเทศด้วยเช่นกัน เช่น การเฝ้าระวังโรคใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้เดินทางเข้าประเทศ คลินิกโรคผิวหนังและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และผู้นำเข้าสัตว์ป่าจากแอฟริกา

นอกจากนี้ยังเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติการ ทีมสอบสวนโรค รวมถึงด้านยาและวัคซีน ซึ่งองค์การอนามัยโลกระบุว่าวัคซีนโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ สามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ 85% 

แต่ในไทยยกเลิกการปลูกฝีดาษมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 ทำให้ผู้ที่เกิดหลังพ.ศ.นี้ ไม่มีใครได้รับวัคซีนไข้ทรพิษ ขณะที่ผู้ที่เคยผ่านการปลูกฝีดาษมาแล้ว ก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่ามีภูมิต้านทานหลงเหลืออยู่หรือไม่ ซึ่งไทยมีวัคซีนโรคฝีดาษ 10,000 โดสแช่แข็งเอาไว้นานถึง 40 ปี และกำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัย

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย