เมื่อ ก.ค. 2022 กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ เปิดเผยรายงาน “การค้ามนุษย์” หรือ Trafficking in Persons Report (TIP) ประจำปี 2022 มีการปรับอันดับไทยจาก “Tier 2 Watchlist” สู่ระดับ “Tier 2” ด้านปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ชี้ว่าผลการจัดอันดับที่ดีขึ้นเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน
พี่ทุยเชื่อว่า ทุกท่านคงสงสัยว่ารายงาน TIP มีความสำคัญต่อประเทศไทยอย่างไร การปรับลำดับมีผลต่อประเทศมากน้อยแค่ไหน พี่ทุยจึงขอพาไปหาคำตอบให้คำถามเหล่านี้กัน!!
รายงาน “การค้ามนุษย์” คืออะไร
กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ จะจัดทำรายงานประจำปีเรื่องสถานการณ์การค้ามนุษย์ทุกปี ตามกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ (TVPA) โดยเปรียบเทียบสถานการณ์การค้ามนุษย์ทั่วโลกกับมาตรฐานของสหรัฐฯ โดยแบ่งลำดับประเทศเป็น 4 Tier
การจัดลำดับ Tier
- Tier 1 (เทียร์ 1) ประเทศที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างครบถ้วน
- Tier 2 (เทียร์ 2) ประเทศที่ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ไม่ครบถ้วน แต่มีความพยายามอย่างมีนัยยะเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานเหล่านั้น
- Tier 2 Watchlist (เทียร์ 2 เฝ้าระวังพิเศษ) ประเทศที่การค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น และถูกพิจารณาว่ากำลังพยายามอย่างมีนัยยะเพื่อให้สามารถทำตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ โดยสัญญาว่าจะใช้มาตรการเพิ่มเติมในปีถัดไป
- Tier 3 (เทียร์ 3) ประเทศที่ปฏิบัติไม่สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมายปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ และไม่มีความพยายามในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์
กฎหมายปกป้องเหยื่อการค้ามนุษย์ระบุว่าประเทศที่ถูกจัดอยู่ใน Tier 2 Watchlist หากอยู่ในระดับนี้ติดต่อกันเป็นเวลา 2 ปี ก็จะถูกปรับลงสู่ Tier 3 ในปีถัดไปโดยอัตโนมัติ แต่ถ้ามีหลักฐานที่แสดงถึงพัฒนาการที่สำคัญก็จะได้รับการปรับจาก Tier 2 Watchlist สู่ Tier 2 หรืออาจขึ้นสู่Tier 1 ได้ หรืออาจมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับการยกเว้นจากการถูกปรับลด Tier โดยอัตโนมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ
สถานการณ์และประวัติการปรับ Tier ของไทย
ทุกคนสามารถเข้าดูรายงาน TIP ได้ผ่านเวปไซต์กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ โดยปี 2022 ไทยถูกปรับจาก Tier 2 Watchlist สู่ระดับ Tier 2
รายงานระบุว่า ไทยมีความพยายามเพิ่มจำนวนการสืบสวนคดีที่เกี่ยวกับการค้ามนุษย์ แนวทางการจัดหาแรงงานบังคับตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ และมีการเริ่มต้นการสอบสวนผู้ต้องหาหาว่าสมรู้ร่วมคิดในปี 2564 รวม 17 รายและมีการพิพากษาจำคุก 2 ราย
ด้านรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์ระบุตัวเหยื่อการค้ามนุษย์แห่งใหม่เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ในการส่งต่อผู้ต้องสงสัยที่ระบุว่า เป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์ไปที่ทีมสหสาขาวิชาชีพและระบุผู้เสียหายมากกว่าเดิม
แต่รายงานก็ยังระบุว่า รัฐบาลไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำที่สำคัญในหลายด้าน ถึงแม้จะมีรายงานการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติในหลายอุตสาหกรรม แต่การสอบสวนที่ไม่ต่อเนื่องและไม่มีประสิทธิภาพในระหว่างการเข้าตรวจแรงงาน ทำให้เหยื่อการค้ามนุษย์มีจำนวนมาก
ในเวลาเดียวกันสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำประเทศที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์เพิ่มเติม ได้แก่ เวียดนาม, กัมพูชา, บรูไน และมาเก๊า นอกจากนี้ได้มีการประกาศรายชื่อ TIP Heroes ปี 2022 จำนวน 6 คน โดยหนึ่งในนั้นมีคุณอภิญญา ทาจิตต์ จากองค์กร Stella Maris สังฆมณฑล จันทบุรี ได้รับเลือกให้รับรางวัล
เมื่อดูสถิติย้อนหลัง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าปี 2017 ไทยอยู่ใน Tier 2 Watchlist ส่วนปี 2018 ถูกปรับขึ้นมาที่ Tier 2 และปี 2019 ก็รักษามาตรฐานไว้ Tier 2 ส่วนปี 2020 ก็ยังอยู่ที่ Tier 2 ก่อนถูกปรับลดมาที่ Tier 2 Watchlist ในปี 2021
ผลกระทบเมื่อโดนปรับ Tier
การปรับลดจาก Tier 2 มาที่ Tier 2 Watchlist ดูเหมือนจะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก แต่ถ้ายังไม่เร่งแก้ไขภายใน 2 ปี ก็จะถูกปรับลดไปสู่ Tier 3 ซึ่งเป็นระดับที่สร้างความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกได้
หากถูกปรับลดลงไป Tier 3 สินค้าไทยจะถูกต่างชาติเพ่งเล็งมากขึ้น เมื่อปี 2014 ไทยเคยตกไปสู่ Tier 3 โดยติดอยู่เป็นเวลา 2 ปี แต่ไทยไม่ได้ถูกสหรัฐฯ กีดกันการค้า
แม้ไทยจะไม่เคยถูกกีดกันทางการค้าจากกรณีการค้ามนุษย์ แต่กรณีจีนที่ถูกจัดอันดับใน Tier 3 มาตั้งแต่ปี 2017 จากกรณีบังคับใช้แรงงานชาวมุสลิมอุยกูร์ ซึ่งสหรัฐฯ ก็เพ่งเล็งจีนในประเด็นแรงงานมาโดยตลอด และเป็นเหตุให้สหรัฐฯ นำมาเป็นประเด็นประกาศห้ามนำเข้าวัสดุโซลาร์เซลล์จากบริษัทจีน 5 แห่ง เมื่อปี 2021
รายงานจากกระทรวงพาณิชย์ไทย เดือน มิ.ย. 2022 พบว่า ไทยมีสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ที่ 25.42% อันดับ 2 ประเทศจีน 18.92% ตามด้วยอันดับ 3 ญี่ปุ่น 12.33% การปรับลด Tier จึงอาจเป็นปัญหาหลักต่อภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทยได้
ดังนั้น สรุปได้ว่าหากถูกปรับลดลงไปสู่ Tier 3 ก็จะทำให้ประเด็นด้านแรงงานซึ่งต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวกลายเป็นจุดอ่อนของภาคการผลิตและส่งออก ถ้ามีความขัดแย้งก็อาจทำให้สหรัฐฯ ใช้กรณีนี้กีดกันทางการค้ากับไทยได้
นอกจากนี้ยุโรปก็อาจใช้ประเด็นนี้กีดกันการค้ากับไทยตามสหรัฐฯ เช่นกัน มากกว่านั้นอาจถูกสหรัฐฯ คัดค้านความช่วยเหลือจากสถาบันระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ธนาคารโลกและองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศ
จุดอ่อนเรื่อง “การค้ามนุษย์” ของไทย
จากรายงาน TIP ปี 2021 ชี้ว่าโดยรวมรัฐบาลไม่ได้แสดงความพยายามมากพอแม้จะนำข้อจำกัดในเรื่องผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 โดยมีการสืบสวนเหตุการณ์ค้ามนุษย์น้อยลง ดำเนินคดีน้อยลง และลงโทษผู้กระทำผิดน้อยลงกว่าปี 2019 ซึ่งเป็นที่รับรู้ทั่วไปว่ายังมีการบังคับใช้แรงงานข้ามชาติในหลายอุตสาหกรรม
แต่รายงานกลับน้อยกว่าขอบเขตปัญหา ด้านเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการค้าแรงงาน ส่วนรัฐบาลก็ไม่มีกระบวนการที่เป็นมาตรฐานในการตรวจสอบแต่ละกรณีเพื่อบังคับใช้กฎหมาย
ในระยะหลังพบเหยื่อชาวไทยถูกบังคับทำงานให้กับเวปไซต์การพนันออนไลน์ในกัมพูชามากขึ้น จากเหยื่อการค้ามนุษย์แรงงาน 233 รายที่ระบุโดยทางการไทยในปี 2564 มี 109 รายเป็นเหยื่อชาวไทยที่ถูกบังคับให้ทำงานให้กับเว็บไซต์การพนันออนไลน์
ปัญหาการค้ามนุษย์ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ การจัดอันดับ Tier จึงเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ระหว่างประเทศ การป้องกันและการแก้ปัญหาเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลและทุกหน่วยงานต้องให้ความร่วมมือ ช่วยเหลือ และคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจของประเทศ
อ่านเพิ่ม