ปัญหาโลกแตกสำหรับคนที่เป็นหนี้อยู่ ก็คือ พอเรามีเงิน 1 ก้อนใหญ่ ๆ เราจะเอาไปใช้อะไรดี ระหว่าง ลงทุน vs ใช้หนี้ เราควรทำอะไรก่อน ?
แน่นอนว่าเวลาที่เราศึกษาเรื่องลงทุนมาสักพัก พอมีเงินก็ต้องอยากลงทุนเป็นธรรมดาอยู่แล้ว แล้วยิ่งกระแสตอนนี้กำลังเชียร์ให้ลงทุนกันอย่างรุนแรงก็เลยไม่แปลกที่เราอยากจะลงทุนกับเขาบ้าง
ทีนี้เรามาดูกันดีกว่าว่าหนี้แบบไหนที่เราควรปิดก่อนหรือหนี้แบบไหนไม่ต้องรีบปิด ค่อย ๆ ผ่อนไปก่อน เราจะได้นำเงินไปลงทุนได้
ลงทุน vs ใช้หนี้ เปรียบเทียบ ผลตอบแทนและดอกเบี้ยจ่าย
เรื่องที่สำคัญที่สุดที่เราต้องดูก่อนเลยก็คือ “อัตราดอกเบี้ย” ถ้าเรานำเงินไปลงทุน “ผลตอบแทน” ที่ได้จะมากกว่า “ดอกเบี้ย” ที่เราเสียหรือเปล่า ? ถ้าผลตอบแทนได้มากกว่าก็เลือกลงทุนไปได้เลย แต่ถ้าผลตอบแทนน้อยกว่า “ดอกเบี้ย” การไป “ใช้หนี้” ก่อนน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าแน่นอน
แต่ห้ามลืมเด็ดขาดว่ารายจ่ายเรื่อง “ดอกเบี้ย” เป็นรายจ่ายที่ไม่มีความเสี่ยง คือ ไม่ว่ายังไงเราก็ต้องจ่าย แต่การลงทุนมี “ความเสี่ยง” ว่าเราอาจจะขาดทุนจากการลงทุนหรือผลตอบแทนไม่เป็นไปตามเป้าหมายก็เป็นไปได้ ต้องนำเรื่องนี้มาวิเคราะห์ด้วยทุกครั้ง
แล้วหนี้โดยเฉพาะพวกหนี้บัตรต่าง ๆ เป็นหนี้ที่เราไม่ควรหลงเหลือไว้แม้แต่บาทเดียวเลยด้วยซ้ำ (รวมถึงคนที่ชำระขั้นต่ำมาโดยตลอด) เพราะดอกเบี้ยบัตรพวกนี้ 20%++ พี่ทุยว่ามันสูงมาก ๆ เลยนะ ลองคิดดูว่าเราจะลงทุนยังไงให้ได้ 20% แบบชัวร์ ๆ และไม่มีความเสี่ยง พี่ทุยอยากจะบอกตรง ๆ เลยว่า มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ทีนี้คำถามที่ฮอตฮิตติดชาร์ตและทุกคนกำลังสงสัยกันอยู่แน่ ๆ ก็คือ
ถ้ามีหนี้บ้าน ระยะยาว 20-30 ปี จะทำยังไงดี ?
หนี้บ้าน ถือเป็นหนี้ที่มีระยะยาวมาก ระยะเวลาประมาณ 20-30 ปี ถ้าเอาแต่โปะบ้านไปเรื่อย ๆ แบบนี้เมื่อไหร่จะได้ลงทุนล่ะ ?
จริง ๆ คำถามนี้ก็ตอบยากเหมือนกันนะ เพราะอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถ้าไม่นับโปรโมชันก็จะอยู่ที่ 4-6% ต่อปี ถ้าเราเอาเงินไปลงทุนให้ได้ 4-6% ต่อปี ก็ไม่ใช่เรื่องหมู ๆ ซะด้วยสิ เพราะผลตอบแทนพวกกองทุนตราสารหนี้ที่เสี่ยงต่ำตอนนี้ผลตอบแทนก็อยู่ประมาณ 2-3% ต่อปีเท่านั้นเอง การที่เราอยากได้ผลตอบแทนแบบ 5%+ ต่อปี จำเป็นต้องผสมการลงทุนที่มีความเสี่ยงขึ้นเข้าไป อย่างเช่น หุ้น เป็นต้น
ดังนั้นพี่ทุยแนะนำว่าให้โปะไปนั่นแหละดีแล้ว แต่อาจจะไม่จำเป็นต้องโปะทั้งหมด ให้เหลือเงินส่วนหนึ่งไว้ให้เราไปลงทุนตามแผนของเรา เพราะการลงทุนบางอย่างก็ได้ผลประโยชน์อื่น ๆ แถมมาด้วย เช่น ผลประโยชน์ทางภาษี ผลประโยชน์เรื่องทุนประกันหรือแม้แต่สวัสดิการต่าง ๆ ในการบริหารความเสี่ยงก็เป็นส่วนสำคัญของแผนการเงินเหมือนกันนะ
ส่วนเรื่องหนี้รถยนต์ อย่างที่เรารู้ ๆ กันอยู่แล้วว่าไม่จำเป็นต้องโปะนะ เพราะว่าส่วนใหญ่ดอกเบี้ยเราถูกคิดไปตั้งแต่ตอนกู้แล้ว โปะไปไม่ช่วยอะไรเลย หรือถ้ามีข้อสงสัยอีกว่า หนี้แบบนี้ควรจะทำยังไงกับมัน สอบถามเข้ามากันได้เลยนะ พี่ทุยยินดีช่วยเหลือเสมอ
อ่านเพิ่มเติม
- คู่มือการวางแผนการเงินฉบับสมบูรณ์
- ทำไมพีระมิดทางการเงิน ถึงเป็นหลักวางแผนการเงินระดับสากล ?
- 5 แนวคิดที่ทำให้เรามีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้น
อยากดูคลิปของ Money Buffalo เพิ่มเติมเข้าไปดูกันบน Youtube ได้เลย คลิกที่นี่