ทำไมศิลปิน K-POP ถึงบุกตลาด NFT ?

ทำไมศิลปิน K-POP ถึงบุกตลาด NFT ?

4 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • การซื้อ NFT ไปสะสมเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนศิลปินได้ เเละยังเป็นการลงทุนในสิ่งที่ชอบ เพราะการ์ดศิลปิน K-POP ในรูปเเบบ NFT ถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีจำกัด หากเก็บไประยะหนึ่ง อาจมีเเนวโน้มที่ NFT ที่ถืออยู่มีมูลค่ามากขึ้นได้ด้วย
  • ผู้ที่ซื้อการ์ดไปจะได้กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของไฟล์ NFT นั้น โดยมีสิทธิขายเพื่อทำกำไรหรือถือเพื่อรับสิทธิพิเศษจากการ์ดเท่านั้น ไม่สามารถนำการ์ดมาผลิตซ้ำ (Copy) เพื่อนำไปขายต่อได้
  • Metaverse เป็นโลกเสมือนจริงที่สามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาได้เหมือนโลกจริง ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างศิลปินกับแฟนคลับลงได้ไม่มากก็น้อย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

วงการอุตสาหกรรมบันเทิงเกาหลีใต้ หรือ K-POP เติบโตอย่างก้าวกระโดด ยืนยันได้จากความโด่งดังของหลากหลายวงที่โกอินเตอร์ต่างประเทศ และยอดวิวจากยูทูปที่ทำสถิติกันเป็นหลักร้อยล้านวิวกันเลยทีเดียว

รวมไปถึงสามารถจัดคอนเสิร์ตในสถานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศนั้น ๆ ราคาบัตรเเพงสุดก็เเตะหลักหมื่น แต่ยอดขายบัตรก็ยัง Sold Out ภายในเวลาไม่กี่นาทีอยู่ดี

ด้านวงการซีรีส์ก็ไม่น้อยหน้า Squid Game, Home Town Cha-Cha-Cha และ Hellbound กลายเป็นซีรีส์ยอดฮิตใน Netflix อยู่นานหลายสัปดาห์ 

แต่ในปัจจุบันที่มี “ช่องว่างทางด้านลิขสิทธิ์” มากมาย และยังไม่สามารถแก้ไขได้ทั้งหมด รวมไปถึงของเลียนเเบบที่ออกมาตามท้องตลาดอย่างไม่หยุดหย่อน อีกทั้ง “ช่องว่างระหว่างแฟนคลับและศิลปิน” ที่อาจจะอยู่คนละประเทศ 

ดังนั้น หากสามารถลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์เเละลดช่องว่างระหว่างศิลปินกับเเฟนคลับ ผ่านโลกเสมือนจริงได้ น่าจะช่วยให้วงการนี้เติบโตไปอีกขั้นอย่างแน่นอน ซึ่งในปัจจุบันพี่ทุยมองว่า Blockchain, NFT และ Metaverse สามารถตอบโจทย์ในส่วนนี้ได้ 

NFT คืออะไร

“Non-Fungible Token” หรือ NFT คือ Cryptocurrency (คริปโทฯ) ประเภทหนึ่งที่แสดงความเป็น “เจ้าของ” ของสินทรัพย์ โดยในแต่ละเหรียญจะมีความแตกต่าง มีมูลค่าที่ไม่เท่ากันและ NFT เหรียญอื่น ๆ ไม่สามารถทดแทนกันได้

ดังนั้น ด้วยความที่ NFT มีความเฉพาะตัวที่สูง และการถือครอง NFT ก็เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสินทรัพย์นั่น ๆ ทำให้ไม่สามารถซื้อเป็น “หน่วยย่อย” ได้เหมือนคริปโทฯ ประเภทอื่น ๆ NFT จะต้องต้องซื้อเต็มหน่วยเท่านั้น 

โดยกลไกสำคัญของ NFT คือ การใช้เทคโนโลยี Blockchain หรือระบบการเก็บข้อมูลที่ไม่มีตัวกลาง ทำให้ข้อมูลที่ถูกส่งเข้าระบบนี้ได้รับการปกป้อง และระบุให้รู้ชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลตัวจริง

มูลค่าของ NFT แต่ละชิ้นจะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้ผลิตผลงานและผู้ซื้อ เหมือนเป็นการซื้อและสะสมงานศิลปะที่ผู้ซื้อมีสิทธิในการครอบครอง แต่หากอยากเก็บไว้หรืออยากขายต่อก็ประเมินได้ตามความพอใจ

แล้วคุณสมบัติที่เฉพาะตัวเหล่านี้สามารถนำมาใช้อะไรได้บ้างกับวงการ K-POP ล่ะ

NFT และ Metaverse เกี่ยวอะไรกับ K-POP

ลองคิดว่าดูว่าถ้า NFT แทนสินค้า “Official Goods” หรือยิ่งไปกว่านั้นถ้าเป็นสินค้ารุ่น “Limited Edition”  สักหนึ่งชิ้น ซึ่งโดยปกติเราไม่สามารถซื้อครึ่งหรือตัดแบ่งส่วนเพื่อขายได้อยู่แล้ว ดังนั้น หากศิลปิน K-POP ที่เราติดตามกันอยู่ทุกวันนี้ มีสินค้าที่สามารถเข้าไปซื้อขาย NFT บน Blockchain ได้ จะน่าตื่นเต้นขนาดไหน

พี่ทุยคิดว่า NFT และ Blockchain หรือ แม้แต่ Metaverse ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริงที่ “สามารถจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมาได้เหมือนโลกจริง” ที่ถูกข้อจำกัดในช่วงโควิด-19 นี้มาเป็นอุปสรรคการพบปะกันของศิลปินกับแฟนคลับอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจจะสามารถมาตอบโจทย์แฟน ๆ K-POP ให้ได้สัมผัสประสบการณ์ในมิติใหม่นี้ได้ดีไม่แพ้แบบเดิมเลยทีเดียว

อีกทั้งยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราจะสามารถสนับสนุนศิลปินที่เรารักให้ได้รับเงินจากเราอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจากเหตุผลที่ใครหลายคนอาจจะเคยได้ยินผ่านหูมาว่ารายได้ที่แท้จริงจากการทำเพลง ออกอัลบั้ม ออกงานอีเวนต์ หรือ สินค้าต่าง ๆ กว่าจะถึงมือศิลปินจริง ๆ นั้น โดนตัดแบ่งออกไปไม่น้อยเลยทีเดียวจากคนกลาง แม้แต่ตัวบริษัทเองที่กินส่วนแบ่งจากผลงานของศิลปินตรงนี้ด้วย ซึ่งจากข้อมูลของไทยรัฐออนไลน์บอกไว้ว่า งานบางประเภทศิลปินจะได้รับส่วนแบ่งไม่ถึง 50% ขึ้นอยู่กับชนิดของผลงาน

รวมไปถึงการสร้างผลงานจากตัวศิลปินเองที่ไม่ผ่านค่ายเพลง ไม่มีกฏระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ จากค่ายเพลง จะเห็นได้จากการที่ศิลปินลง SoundCloud ต่าง ๆ แต่หากตลาด NFT สามารถไปตอบโจทย์ตรงนี้จะทำให้ศิลปินมีช่องทางการเผยแพร่ผลงาน พร้อมกับสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธ์ (Royalty Payments) จากการแปลงผลงานของตนเองเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรักษาความเป็นต้นฉบับ เป็นอีกช่องทางในการทำเงิน เป็นรายได้ที่เข้ากระเป๋าทางตรงให้กับศิลปินด้วย 

แล้วถ้าศิลปินสามารถลงผลงานผ่าน NFT ได้ แฟนคลับอย่างเราจะได้อะไรจากตรงนี้ 

NFT ในมุมของผู้บริโภคจะได้อะไรบ้าง

หากเราอ้างอิงจากตลาดริปโทฯ ในปัจจุบัน และราคา NFT ก็ขึ้นลงตามความพึ่งพอใจในสินทรัพย์นั้น ๆ  รวมไปถึง K-POP เองก็มีฐานแฟนคลับอยู่แทบจะทั่วโลก ดังนั้น ผู้เล่นในตลาดนี้จึงมีจำนวนค่อนข้างมาก 

หากซื้อสินทรัพย์ NFT ไปสะสม ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนศิลปิน เป็นการลงทุนในความชอบ เมื่อเก็บไปเรื่อย ๆ “ความที่สินทรัพย์ NFT ที่มีจำกัด” แต่ความต้องการสินทรัพย์ NFT นั้นเพิ่มขึ้นตามจำนวนฐานแฟนคลับที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น อาจจะมีแนวโน้มทำให้ NFT ที่ถืออยู่มีมูลค่ามากขึ้นได้ 

NFT นี้สามารถโอนเปลี่ยนมือเจ้าของได้ แต่เมื่อโอนแล้วผู้โอนจะไม่มีกรรมสิทธิใด ๆ อีก อยู่ที่วัตถุประสงค์ของการซี้อ NFT ว่าเพื่อสะสม หรือ เก็งกำไรนั่นเอง

อีกทั้งในอนาคตการทำให้สินทรัพย์มีมูลค่าและน่าสนใจขึ้นมา คือ การถือครอง NFT นั้นจะต้องสามารถ “ได้รับสิทธิพิเศษต่าง ๆ” จากผู้สร้างได้ เช่น KStarLive ให้สิทธิพิเศษ แก่ผู้ที่เป็น Loyal Fan Rewards สำหรับแฟน ๆ ที่ซื้อ NTF มากกว่า 10 ชิ้นขึ้นไป จะมีสิทธิ์ในการลุ้นรับรางวัล 100 ดอลลาร์ ใน BNB โดยจะมีเพียง 80 Wallets เท่านั้นที่จะได้รับสิทธิ์นี้ตลอดแคมเปญ เป็นต้น 

ซึ่งสิทธิความเป็นเจ้าของที่จะได้จากการครอบครอง NFT นั้น ไม่ใช่ใครก็ได้ที่เป็นเจ้าของ เพราะ “เจ้าของมีแค่ 1 คนเท่านั้น” รวมไปถึงการซื้อขายแต่ละครั้งเป็นการซื้อขายแบบเต็มจำนวน จะถูกบันทึกไว้ใน Blockchain ซึ่งต่างจากการเผยแพร่บนโลกอินเทอร์เน็ตธรรมดา ที่ใครจะดูหรือคัดลอกไปใช้ก็ได้ 

ที่สำคัญการที่ NFT มีจำนวนจำกัด ไม่ว่าจะกี่ปีผลงานจะไม่สูญหาย มีคุณสมบัติที่สามารถป้องกันการทำซ้ำเพื่อจำกัดการเกิดใหม่ของไฟล์  แต่ก็ยังสามารถซื้อขายถ่ายโอนแบบเต็มจำนวนได้อยู่ เพียงแต่หากผู้ถือขายสิทธิไปแล้ว จะไม่สามารถเก็บผลงานนั้นไว้ได้

แล้วคุณสมบัติเหล่านี้ จะสามารถนำไปประยุกต์กับอะไรได้บ้าง

ตัวอย่างการนำ NFT มาใช้งาน

ยกตัวอย่างเช่น วงการการ์ดหรือรูปภาพ ผู้ที่ซื้อไปจะได้กรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของไฟล์ NFT แต่เพียงผู้เดียว มีสิทธิในการขายต่อเพื่อทำกำไรหรือถือเพื่อรับสิทธิพิเศษ แต่เจ้าของสิทธิที่ทำออกมาขายก็ยังสามารถทำซ้ำบนไฟล์ NFT เดิมได้ 

แต่ถ้าทำออกมาจะเป็น “การลดทอนคุณค่าของชิ้นงานของตัวเอง” และทำให้ความน่าเชื่อุถือในการออกผลงานของตัวเองครั้งต่อไปลดลง ซึ่งอาจจะเปรียบเทียบกับกรณี Limited Edition ซึ่งในโลกความจริงคงไม่มีใครทำออกมาเพิ่ม เพราะ จากที่เป็นของหายากมีมูลค่าสูง การเพื่มจำนวนในตลาด มูลค่านั้นก็ลดลงทันที 

จะเห็นได้จากการ์ดหรือสินค้าที่มีการประมูลกันสูงมากเนื่องจากเป็นการ์ดที่มีจำนวนจำกัด และมีน้อย หรือ มีลายเซ็นของศิลปิน ๆ นั้นอยู่บนผลิตภัณฑ์ 

แต่ในอีกมุมหนึ่งของแฟนคลับก็มีความเห็นที่น่าคิดเช่นกัน

มุมองอีกด้านของ NFT กับผลงาน K-POP

บนหน้าเว็บต่าง ๆ เช่น Sea.mashable มีการเขียนถึงผลกระทบจากเรื่องระบบ Blockchain ที่ “ใช้พลังงานสิ้นเปลือง” ในการขุดเหรียญเพื่อนำเหรียญนั้นไปใช้ในการแลกเปลี่ยน NFT ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบโดยตรงไปยังเรื่องของ “ภาวะโลกร้อน”

แต่ในขณะที่ศิลปินอย่าง BTS สังกัดค่าย HYBE Entertainment กลับกำลังรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในขั้นวิกฤตนี้ 

รวมไปถึงหากนำผลงานต่าง ๆ ของศิลปินเข้าไปยัง NFT อาจจะมีการเก็งกำไรเกินมูลค่าที่ควรจะเป็น และจะเสี่ยงต่อการเป็นแหล่งฟอกเงินหรือไม่ 

ซึ่งนี่ก็เป็นมุมมองที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าหากเกิด NFT ขึ้นมาจริง ๆ แล้ว ค่ายและศิลปินเองจะมีวิธีแก้ไขปัญหาอย่างไร

แล้วในตอนนี้อุตสาหกรรม K-POP กำลังอยู่ตรงไหนของการเปลี่ยนผ่านนี้กัน

NFT และ Metaverse ในเกาหลีใต้ไปถึงไหนแล้ว 

ในปัจจุบันเท่าที่พี่ทุยรวบรวมข้อมูลมา มีหลายบริษัทที่กำลังจับมือกันเพื่อเข้าสู่วงการนี้ ไม่ว่าจะเป็น JYP Entertainmnet, HYBE Entertainment และ YG Entertainment ซึ่งทั้ง 3 บริษัทต่างก็จับมือกับ Dunamu ที่เป็นบริษัทแม่ของ Upbit ผู้นำด้าน Blockchain และอุตสาหกรรม FinTech ของเกาหลีใต้ ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลชั้นนำของเกาหลีใต้ และเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มซื้อขาย NFT ในนาม “Upbit NFT” 

โดยปัจจุบันบน Marketplace ใน Upbit NFT ได้มีการวางจำหน่ายผลงานอย่างเป็นทางการของศิลปิน K-POP เป็นจำนวนมาก อาทิ Brave Girls, Mad Monster และอื่น ๆ 

รวมไปถึงค่ายใหญ่อย่าง SM Entertainment ก็ได้สร้างโปรเจคใหม่ ชื่อว่า SMCU หรือ SM Culture Universe คือ จักรวาลที่เชื่อมระหว่างโลกความจริงและโลกเสมือนจริง เป็นคอนเทนต์แห่งอนาคตในรูปแบบ Metaverse โดยใช้ทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสร้าง IP ทางวัฒนธรรมที่มีศูนย์กลางอยู่ในโลกของ Metaverse ซึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมมากที่สุดในตอนนี้คือ เกิร์ลกรุ๊ปอย่าง aespa ที่ SM ได้สร้างโลกเสมือนที่มี Avatar ของ 4 สาวในอีกโลกเสมือนจริงด้วย

ทำไมศิลปิน K-POP ถึงบุกตลาด NFT ?

และค่ายอื่น ๆ ที่เริ่มทดลอง ได้แก่ Cube Entertainment ที่เป็น Partner กับ Animoca ซึ่งเป็นบริษัทผลิตซอฟต์แวร์เกมของฮ่องกง ร่วมมือกันทำ K-POP Metaverse อีกทั้งศิลปินวง A.C.E. และ Se7en ก็ได้ออกมาประกาศโครงการที่เกี่ยวข้องกับ NFT ด้วยเช่นกัน 

แม้แต่สื่อใหญ่ ๆ หลายค่าย ก็ยังกระโดดมายังวงการนี้ อย่าง Dingo สื่อ Entertainment ชื่อดังของเกาหลี ที่จับมือกับ SIX Network บริษัทคริปโทฯ ของไทย ทำ NFT Marketplace ออก NFT ของเกิร์ลกรุ๊ปวง T-ARA

หรือ จะเป็นรายการเพลงประจำสัปดาห์ ‘The Show’ เปิดตัว “The Show FanBox NFT Collection” ที่ร่วมมือกับ Featured by Binance แพลตฟอร์ม NFT Marketplace ให้แฟนคลับได้มีสิทธิ์เป็นเจ้าของและสะสม NFT Photocard-Styled Official Clips จาก 6 ศิลปิน เช่น EVERGLOW, WEi, Kim Jaehwan, woo!ah!, B.I.G และ Pink Fantasy

รวมไปถึงยังได้รับมีสิทธิพิเศษต่าง ๆ กันมากมาย เช่น ทาง SBSMediaNet สำหรับผู้ที่ถือ Epic Owner Rewards 300 คน ที่เป็นเจ้าของ Epic NFTS จะได้รับตั๋วเข้าชมรายการ The Show แบบ Lifetime จำนวน 1 ครั้ง ในทุก ๆ ปี

ทำไมศิลปิน K-POP ถึงบุกตลาด NFT ?

อุตสาหกรรมส่วนมากกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่นวัตกรรมใหม่อย่าง NFT ซึ่งเป็นตัวช่วยให้แฟนคลับ และศิลปินมีช่องว่างลดลงได้ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงในตลาดเลียนเเบบที่แย่งรายได้ของทางบริษัทไป รวมไปถึงลดความเสี่ยงที่ผู้ซื้อ หรือแฟนคลับจะโดนเอาของปลอมมาขายอีกด้วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะเห็นได้จากชุมชนร้านค้าในทวิตเตอร์ที่เป็นแพลตฟอร์มซื้อขายของสะสม K-POP ของไทย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile