"ภาษีคริปโต" สรรพากรขูดรีดนักเทรดยังไง ?

[สรุปโพสต์เดียวจบ] “ภาษีคริปโต” สรรพากรขูดรีดนักเทรดยังไง ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ภาษีคริปโตจัดเก็บภาษี 15% ทุกธุรกรรมที่มีกำไร รวมถึงเงินได้จากทุกช่องทางที่เกิดจากคริปโต นอกจากเสียภาษีแล้วยังสร้างความลำบากในการเก็บข้อมูลหลักฐาน
  • การเก็บภาษีสร้างผลกระทบให้กับนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนที่มีการซื้อขายบ่อยครั้ง และอาจกระทบปริมาณซื้อขาย Exchange คริปโตต่าง ๆ ในไทย
  • สรรพากรแนะนำผู้มีเงินได้จากคริปโต ให้ยื่นภาษีในปีนี้ไปก่อน เพื่อป้องกันเบี้ยปรับที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เป็นกระแสที่คนถกเถียงกันเยอะมากกับ “ภาษีคริปโต” ที่จะถูกจัดเก็บ เนื่องด้วยเป็นช่วงต้นปีที่ทุกคนเตรียมยื่นภาษี อีกทั้งในปี 2 ปีที่ผ่านมา กระแสคริปโตได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก รายละเอียดภาษีคริปโตและขั้นตอนการจัดเก็บจึงได้รับ ความสนใจเป็นอย่างมาก

จริง ๆ แล้วภาษีคริปโตนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ มีกฎหมายมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว แต่ในขณะเดียวกัน คริปโต และ บล็อคเชนเอง ก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น De-Fi, Game-Fi, NFT และอื่น ๆ อีกมากมาย จึงทำให้หลาย ๆ คนเริ่มสงสัยว่ากฎหมายภาษีของไทยนั้นครอบคลุมถึงจุดไหนบ้าง

กฎหมาย “ภาษีคริปโต” ในปัจจุบัน

ตามปกติแล้วเงินได้นั้นถ้าไม่ได้รับการยกเว้น เงินได้นั้นถือเป็นเงินได้ที่ต้องมายื่นแบบ ในส่วนของเงินได้ที่เกี่ยวกับคริปโตนั้นในปัจจุบันสามารถแบ่งแยกย่อยได้ตามนี้

[สรุปโพสต์เดียวจบ] "ภาษีคริปโต" สรรพากรขูดรีดนักเทรดยังไง ?

ในจุดนี้เองยังมีข้อถกเถียงอยู่มากมายเกี่ยวกัยการเก็บข้อมูลการเทรดที่หลาย ๆ คนนั้นมีธุรกรรม (Transaction) เป็นจำนวนมาก แถมอาจจะมีมากกว่าหนึ่ง Exchange อีกด้วย การสรุปรายละเอียดกำไรขาดทุนเป็นรายธุรกรรมนั้น แทบจะเป็นเรื่องที่ยากมากที่จะเกิดขึ้น ทั้งมุมของนักเทรดเองและมุมของสรรพากรในการตรวจสอบความถูกต้อง

แถมการจัดเก็บภาษี ณ ที่จ่าย ของผู้รับชำระและตัว Exchange ต่าง ๆ เองก็ยังไม่ได้เริ่มจัดเก็บ จุดนี้เองในความเป็นจริงก็ยังมีความยุ่งยากอยู่ อาจต้องปรับข้อกำหนดให้ดูเป็นไปได้และง่ายขึ้น

ทางด้านของสรรพากรเองด้วยวิสัยทัศน์ใหม่ Easy Friend Trust ที่จะสนับสนุน อำนวยความสะดวกและเป็นมิตรกับผู้เสียภาษีที่ถูกต้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เสียภาษี สรรพากรก็เตรียมเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชนเพื่อปรับปรุงข้อกำหนดให้ดีและสะดวกสบายขึ้น

ทำความเข้าใจระบบภาษี

ในส่วนของการคิดภาษียังมีหลายคนเข้าใจผิดอยู่ อย่างการคิดภาษีกำไร 15% นั้นตามข้อกำหนดคือจะถูกจัดเก็บหัก ณ ที่จ่ายไปก่อน แต่เมื่อเรานำมายื่นแบบรวมกับรายได้ทั้งปีของเรานั้นจะถูกนำมาคำนวณฐานภาษีใหม่ตามฐานรายได้ของเรา

ดังนั้น หากใครที่มีรายได้ทั้งปีต่ำกว่าฐาน 15% เงินที่ถูกเก็บไปตอนหัก ณ ที่จ่ายนั้นก็มีสิทธิได้คืนและเสียตามฐานภาษีที่แท้จริงของเราได้

ผลกระทบจาก “ภาษีคริปโต”

ผลกระทบจากภาษีคริปโตนี้กระทบผู้ที่เทรดคริปโตในตลาดโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่มีธุรกรรมเป็นจำนวนมาก เพราะนอกจากภาระภาษีที่สูงขึ้น ยังกระทบในด้านเวลาในการรวบรวมและเก็บข้อมูลการเทรดอีกด้วย ซึ่งเมื่อเรามองในภาพที่ใหญ่ขึ้น Exchange ในไทย ก็จะได้รับผลกระทบหนักด้วยเช่นกัน

เนื่องจาก Exchange แต่ละแห่งต้องเริ่มสร้างระบบเก็บข้อมูล ขณะเดียวกันปริมาณการเทรดกลับลดลงจากที่นักลงทุนมีเเนวโน้มย้ายแพลตฟอร์มการลงทุนไปเทรดที่ต่างประเทศเเทน เพราะอัตราภาษีถึง 15% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย ขนาดตลาดหุ้นไทยเรียกเก็บภาษีเพียง 0.1% เท่านั้นเเต่ก็ยังถูกเรียกร้องจำนวนมากเลย นั่นหมายความว่า “Exchange มีเเนวโน้มรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เเต่รายได้มีเเนวโน้มลดลง”

นอกจากนี้ การที่นักลงทุนย้ายไปต่างประเทศมากขึ้น เท่ากับว่า คนพยายามแลกเงินนอกระบบอย่างการผ่านระบบ Peer To Peer มากขึ้นไปด้วย เพื่อหลบเลี่ยงภาษี ซึ่งนั่นเป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้คนถูกโกงและปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายตามมา 

ข้อควรระวังด้านภาษีสำหรับคนเทรดคริปโต

ถึงแม้ช่วงนี้ข้อกำหนดบางอย่างยังไม่ชัดเจน และกำลังรอข้อกำหนดในรูปแบบรายละเอียดจากสรรพากร แต่สิ่งที่ชาวเทรดคริปโตควรระวังคือข้อมูลการซื้อขายของตนเอง เนื่องจากกฎหมายถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว มีโอกาสที่อาจถูกเรียกภาษีย้อนหลังรวมถึงเบี้ยปรับได้

สิ่งที่เราควรทำในปัจจุบันคือ เก็บข้อมูลต้นทุนกำไรทั้งหมดให้ถูกต้อง เพราะเมื่อจำเป็นต้องใช้ยื่นภาษีขึ้นมาเราจะสามารถนำข้อมูลเหล่านี้แจกแจงรายละเอียดต้นทุนของเราได้ เพื่อให้เงินที่จะถูกนำไปคำนวณภาษีนั้นจะคือส่วนที่เป็นเฉพาะกำไรจริง ๆ เท่านั้น เช่น เงินลงทุน 1,000,000 บาท ได้กำไรมา 500,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,500,000 บาท ส่วนที่ควรจะถูกใช้คำนวณภาษีจริง ๆ คือเงิน 500,000 ที่เป็นกำไร

แต่หากเราถูกสรรพากรตรวจสอบและเราไม่มีหลักฐานในการพิสูจน์ที่ชัดเจน สรรพากรจะมองว่าเงินทั้งหมดที่มีเป็นเงินได้ของเรา หรือจากตัวอย่างคือเงินทั้งหมด 1,500,000 บาท จะถูกนำมาใช้คำนวณเป็นเงินได้

ภาษีคริปโต

อีกทั้งใครที่คิดว่า จะไม่ยื่นภาษีรายได้ส่วนนี้นอกจากอาจโดนเรียกภาษีที่สูงแล้ว อาจโดนเบี้ยปรับ 1-2 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย และยังโดนเงินเพิ่ม (ดอกเบี้ย) อีก 1.5% ต่อเดือนด้วย เรียกได้ว่า ถ้าโดนทีนี่อ่วมเลย

ทางสรรพากรจึงแนะนำให้เก็บหลักฐานให้ครบและให้ยื่นภาษีตามข้อมูลที่มีไปก่อน เพราะหากมีการยื่นผิดพลาดและถูกตรวจสอบในอนาคตก็จะไม่โดนเบี้ยปรับเพิ่ม เพราะถือว่าเป็นผู้มีเงินได้ที่บริสุทธิใจและอยากชำระภาษีให้ถูกต้องจริง

โดยสรุปแล้วในมุมมองพี่ทุยว่า ยังไงเราก็ควรต้องเสียภาษีแหละ แต่ด้วยข้อกำหนดที่มีในปัจจุบันอาจจะต้องถูกปรับอีกหลายส่วนเพื่อให้มันใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น ไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ที่ร่วมมือชำระภาษีอย่างถูกต้อง ก็ต้องรอติดตามกันต่อไปว่าทางสรรพากรเองจะมีวิธีการรับมือและปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายอย่างไรบ้างในอนาคต

อัปเดตล่าสุดกับวิธีคิดภาษีคริปโตแบบใหม่จากทางกรมสรรพากรที่สามารถนำผลขาดทุนมาหักกำไรได้แล้ว คลิกอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย