ทำไมถึงเลือกใช้ “ทหารรับจ้าง” ในสงคราม

ทำไมถึงเลือกใช้ “ทหารรับจ้าง” ในสงคราม

2 min read  

ฉบับย่อ

  • สมรภูมิสงครามในยูเครนได้กลายเป็นที่ประลองกำลังระหว่างทหารรับจ้างของฝ่ายยูเครนและฝ่ายรัฐเซียไปแล้ว หลังทั้งสองฝ่ายเปิดทางให้ทหารอาสาต่างชาติเข้าร่วมภารกิจสงคราม
  • การใช้ทหารรับจ้างมีความอิสระและคล่องตัวต่อการบรรลุเป้าหมายได้มากกว่าในบางภารกิจ เพราะไม่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางกฎหมายระหว่างประเทศ
  • การระดมทหารรรับจ้างจากต่างชาติเข้ามาเสี่ยงทำให้สงครามยืดเยื้อ และการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุได้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

สมรภูมิสงครามในดินแดนยูเครนไม่ได้จำกัดวงอยู่เพียงแค่การเผชิญหน้าทางทหารระหว่างกองทัพรัสเซียกับกองทัพยูเครนอย่างเดียวแล้ว เพราะปัจจุบันทั้งสองฝ่ายต่างระดมสรรพกำลังจากภายนอกเข้ามาเสริมเขี้ยวเล็บของตนเองอย่างสุดความสามารถ อย่างเช่น ทหารอาสา ยุทโธปกรณ์ และ “ทหารรับจ้าง”

เริ่มจากยูเครนที่ได้ประกาศเปิดรับทหารอาสาจากทั่วโลกเข้ามาช่วยปกป้องตนเองจากการรุกรานของรัสเซีย โดยได้ยกเลิกข้อจำกัดวีซ่าเข้าประเทศ พร้อมเสนอเม็ดเงินค่าจ้างให้ไม่น้อยกว่า 3,500 ดอลลาร์ (ราว 115,500 บาท) ต่อเดือน หากสามารถผ่านขั้นตอนการคัดเลือกเข้าประจำการได้ 

พร้อมกับย้ำว่าขณะนี้มีทหารทั่วโลกกว่า 16,000 นายสมัครเข้าร่วมรบเคียงข้างกองทัพยูเครนแล้ว 

ด้านรัสเซียก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน เพราะล่าสุดผู้นำรัฐบาลเครมลินได้ให้ไฟเขียวทหารอาสาต่างชาติเข้ามาช่วยกองทัพรัสเซียแล้ว พร้อมเกทับกลับว่าฝ่ายตนก็มีนักรบจากต่างชาติ โดยเฉพาะจากตะวันออกกลาง พร้อมกระโจนเข้าเข้าสมรภูมิที่ยูเครนกว่า 16,000 คนเช่นกัน

แม้ทั้งสองฝ่ายต่างเน้นย้ำว่ากองกำลังที่เข้ามาเป็นเพียงทหารอาสาที่เต็มใจเข้ามารบให้เอง แต่เอาเข้าจริงแล้วนักวิเคราะห์หลายฝ่ายต่างเชื่อมั่นว่านี่คือการส่งสัญญาณเปิดทางให้ทหารรับจ้างต่างชาติเข้ามาเอี่ยวด้วยอย่างเต็มตัว 

ปัจจุบันเริ่มมีรายงานว่าพบเห็นทหารรับจ้างของทั้งสองฝ่ายในสมรภูมิสงครามแล้ว โดยฝ่ายยูเครนมีกองพันนานาชาติที่อุดมไปด้วยเหล่านักรบจากชาติตะวันตกและพันธมิตร ขณะที่รัสเซียมีกลุ่ม Wagner Group บริษัททหารรับจ้างในรัสเซีย ซึ่งมีชื่อเสียงในการปฏิบัติการทางการทหารใน ลิเบีย ซีเรีย มาลี และซูดานมาแล้ว นักรบซีเรีย และกองกำลังเชเชน 

จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดทั้งสองฝ่ายถึงเลือกใช้ทหารรับจ้างมาร่วมปฏิบัติภารกิจในสมรภูมินี้

ทำไมถึงเลือกใช้ “ทหารรับจ้าง” ในสงคราม

วันนี้พี่ทุยมีคำตอบให้ 

“ทหารรับจ้าง” ไร้ข้อผูกมัดทางกฎหมาย แถมมีประสิทธิภาพสูง

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่าในภารกิจสงครามไม่ใช่ว่ากองทัพจะเดินหน้าเข้าถล่มเป้าหมาย หรือ ทำอะไรได้ตามใจชอบ เพราะทุกก้าวย่างในสมรภูมิทหารทุกนายล้วนต้องคำนึงถึงหลักกฎหมายระหว่างประเทศตามอนุสัญญาเจนีวา (Geneva Conventions) และหลักมนุษยธรรมจำนวนไม่น้อยทั้งข้อจำกัดการใช้อาวุธ และการปฏิบัติต่อเชลยศึกอย่างเหมาะสม และเลี่ยงการโจมตีเป้าหมายที่เป็นพลเรือน 

นี่ยังไม่นับรวมว่าทุกวันนี้ยิ่งมีการจับตามองจากสื่อมวลชนและสื่อสังคมออนไลน์จากทั่วทุกมุมโลกอีก

จึงทำให้ประสิทธิภาพในการรุกฆาตเพื่อบรรลุเป้าหมายทางการทหารเกิดข้อจำกัด

ซึ่งแตกต่างจากการเลือกใช้ทหารรับจ้าง เพราะสามารถปฏิบัติภารกิจใด ๆ ได้อิสระกว่า จึงสามารถใช้ความรุนแรงหรือเทคนิคการรบได้ไม่จำกัดรูปแบบและวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ

นอกจากนี้ ทหารรับจ้างดูมีประสิทธิภาพกว่าทหารในกองประจำการในบางภารกิจที่ต้องการความถนัดเฉพาะด้าน เช่น การลอบสังหาร การก่อวินาศกรรม และการโจรกรรมข้อมูลลับ เพราะทหารรับจ้างเหล่านี้จะมีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง แถมยังคุ้นชินกับสมรภูมิสงครามและความขัดแย้งมาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ประหยัดทั้งเวลาและงบประมาณกว่าการใช้กองทัพประจำการในการปฏิบัติภารกิจเฉพาะด้าน

อย่างไรก็ดี การรับงานเป็นทหารรับจ้างก็มีเป็นงานที่มีความเสี่ยงสูง เพราะอาจต้องแลกด้วยชีวิต

ซ้ำร้ายหากถูกจับได้โดยฝ่ายตรงข้ามก็จะไม่ได้รับสิทธิการดูแลอย่างเหมาะสมในฐานะ “เชลยศึก” เพราะอนุสัญญาเจนนีวาที่มีขึ้นเพื่อคุ้มครองเหยื่อของสงครามไม่ได้ครอบคลุมไปถึงทหารรับจ้าง หรือ กองกำลังที่เอกชนจัดตั้งขึ้น

ซึ่งก็หมายความว่า อาจโดนทรมาน หรือ นำไปใช้แรงงานทาส ดีสุดก็คือโดนดำเนินคดีอาญา ตามที่รัฐบาลรัสเซียเคยออกมาปรามผู้ที่ต้องการเข้าร่วมกับกองทัพยูเครนก่อนหน้านี้ 

ภายใต้อนุสัญญาเจนีวาอธิบายถึงสถานะทหารรับจ้างไว้ว่า หมายถึงผู้ที่เขาร่วมสงครามโดยการตัดสินใจของตนเองเพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับคืน 

ขับเคลื่อนด้วยเม็ดเงิน

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะยืนยันชัดว่าไม่ได้จ้างทหารรับจ้างเข้ามาทำหน้าที่ แต่จากข้อมูลที่ออกมาล้วนบ่งชี้ว่าทั้งสองฝ่ายต่างใช้เม็ดเงินเพื่อขับเคลื่อนการทำสงครามนอกรูปแบบกันอย่างเต็มที่

โดยในกรณีของยูเครนเลือกใช้ทางอ้อม โดยให้นักรบต่างชาติที่ผ่านการคัดเลือกเข้าสังกัดกองพันต่างชาติ โดยได้รับเงินเดือนเทียบเท่ากับทหารยูเครนที่ได้รับเงินเดือน 3,500 ดอลลาร์ (ราว 115,500 บาท) ต่อเดือน

ขณะเดียวกันรัสเซียเลือกใช้วิธีการประกาศรับสมัคร โดยใช้ทั้งบริษัททหารรับจ้างที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล และประกาศรับสมัครนักรบจากต่างชาติ โดยเน้นไปที่นักรบในซีเรียที่เชี่ยวชาญการรบในเมือง ซึ่งสนนราคาค่าจ้างให้ 200 – 300 ดอลลาร์ (ราว 6,600 – 9,900 บาท) เพื่อมาปฏิบัติการในยูเครนเป็นเวลา 6 เดือน

“ทหารรับจ้าง” ไม่ได้จ้างมารบอย่างเดียว

อย่างไรก็ดี ทหารรับจ้างไม่ได้มีแต่การรับงานเพื่อไปสังหาร หรือ ทำลายล้างเป้าหมายเพียงอย่างเดียว
เพราะปัจุบันก็มีการจ้างทหารรับจ้างเข้าไปปฏิบัติหน้าที่คุ้มกันและอพยพพลเรือนออกจากจุดอันตรายในยูเครน 

ซึ่งภารกิจดังกล่าวสนนราคาอยู่ที่ 1,000 – 2,000  ดอลลาร์ (ราว 33,000 – 66,000 บาท) ต่อวัน โดยยังไม่รวมโบนัสที่จะได้รับหากทำภารกิจสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ทั้งนี้ ราคาจ้างจะแพงขึ้นหากเป็นการอพยพหรือคุ้มกันคนกลุ่มใหญ่

เสี่ยงทำให้ไฟสงครามลุกลาม

แม้เราจะได้เริ่มเห็นพัฒนาการของการทำสงครามในรูปแบบของการจ้างเอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทนกองทัพประจำการมากขึ้น แต่นั่นไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดี เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและจะทวีความรุนแรงมากขึ้น 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กลุ่มทหารรับจ้างเหล่านี้ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายอาจใช้รูปแบบการบหรืออาวุธที่ทำลายล้างสูงจนสร้างผลเสียต่อชีวิตของประชาชนในระยะยาวได้ 

ดังนั้นแล้วพี่ทุยเชื่อว่าการหาทางออกร่วมกันโดยสันติวิธีคือหนทางที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่า เพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียไม่ให้ลุกลามไปมากกว่าที่เป็นอยู่

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย