JAS คว้าลิขสิทธิ์ บอลพรีเมียร์ลีก 1.9 หมื่นล้าน จะคุ้มไหม?

JAS คว้าลิขสิทธิ์ บอลพรีเมียร์ลีก 1.9 หมื่นล้าน จะคุ้มไหม?

3 min read    Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • จุดเริ่มต้นของพรีเมียร์ลีกคือการหาประโยชน์ในเชิงธรุกิจ โดยมุ่งขายคอนเทนต์ที่สนุกและเร้าใจให้คนทั่วโลกได้ติดตามรับชม จากเดิมที่ฟุตบอลลีกอังกฤษมุ่งเน้นแต่ฐานแฟนบอลในประเทศ
  • สร้างมูลค่าการตลาดด้วยหลักการ Complementary Assets หรือการรู้จักต่อยอดจากทรัพยากรรอบตัวที่มีอยู่ อาทิ ดีลถ่ายทอดสดไปทั่วโลก สร้างพันธมิตรร่วมกับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ ใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างความผูกพัน มีสนามที่ได้มาตรฐาน มีระบบปั้นนักเตะป้อนเข้าสู่ระบบ และคุมเข้มทางการเงินอย่างยั่งยืน 
  • JAS ทุ่มเงินขนาดนี้จะคุ้มทุนมั้ยอาจยังไม่สามารถฟันธงได้ แต่ด้วยมูลค่าการตลาดที่มีแต่จะโตขึ้น การนำไปต่อยอดหาประโยชน์ต่อเชิงการค้าคือแรงขับเคลื่อนหลักในการทุ่มทุนคว้าดีลลิขสิทธิ์นี้ 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ข่าวร้อน ๆ ของวงการหุ้นไทย ก็คงไม่พ้นการที่ JAS ลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด บอลพรีเมียร์ลีก ด้วยมูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท กับคำถามที่ว่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามั้ย ?

วันนี้พี่ทุยเลยอยากพามาเจาะลึก ฟุตบอลลีกยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกในนาทีนี้ อย่าง “พรีเมียร์ลีก” ของอังกฤษกันหน่อยว่า ทำไมถึงครองใจแฟนคลับทั่วโลกได้ แล้วการที่ JAS เข้าซื้อ จะเป็นประโยชน์กับจัสมินแค่ไหน ไปฟังกัน

บอลพรีเมียร์ลีก ยิ่งใหญ่แค่ไหน

ปัจจุบันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสามารถขยายฐานแฟนบอลไปทั่วโลกได้กว่า 1,870 ล้านคนแล้ว ด้วยมูลค่าการตลาด 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 52,000 ล้านบาท) และคาดว่าจะขยายตัวขึ้นต่อเนื่องอีก เพราะฟุตบอลกำลังกลายเป็นสื่อกลางความบันเทิงที่ทุกเพศทุกวัยต่างก็อยากมีส่วนร่วมด้วย 

ยืนยันได้จากราคาประมูลลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดรายการดังกล่าวที่บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชัลแนล (JAS) ได้รับมาพุ่งขึ้นไปถึง 5.59 แสนดอลลาร์ (19,000 ล้านบาท) โดยครอบบคลุมระยะเวลา 3 ฤดูกาล ค.ศ. 2025 – 2030

ซึ่งความนิยมอย่างล้นหลาม ก็มาจากรูปแบบเกมการแข่งขันเร้าใจ ไม่ว่าจะทีมใหญ่หรือทีมเล็กต่างเดินหน้าบุกแลกกันไม่ยั้งตั้งแต่นาทีแรกไปจนถึงหมดเวลาการแข่งขัน ทำให้เป็นเกมส์กีฬาที่ชวนน่าติดตาม แถมยังกลายเป็นหัวข้อไว้พูดคุย/เกทับกันในหมู่เพื่อนฝูงได้ดีอีกด้วย  

แล้วเส้นทางของพรีเมียร์ลีกเป็นอย่างไไร ทำไมถึงประสบความสำเร็จทางธุรกิจและผงาดขึ้นมาเป็นรายการแข่งขันกีฬาอันดับต้น ๆ ที่คนทั่วโลกต้องเฝ้าติดตามดูทุกสุดสัปดาห์ได้มากขนาดนี้ 

บอลพรีเมียร์ลีก ลีกกีฬาท้องถิ่น สู่ ธุรกิจกีฬา-ความบันเทิง

ก่อนจะมาเป็นฟุตบอลพรีเมียร์ลีกให้ได้ดูทุกวันนี้ รายการดังกล่าวมีชื่อเรียกดั้งเดิมว่า “ดิวิชั่น 1” โดยมุ่งไปที่การสร้างความบันเทิงให้กับคนท้องถิ่นและความรักความผูกพันกับถิ่นฐานที่ตนเองเกิด/อาศัยอยู่

ต่อมาด้วยลักษณะการแข่งขันที่สนุกเร้าใจ แต่ละทีมใส่กันไม่ยั้ง ทำให้ความนิยมพุ่งสุงขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดกลุ่มท้อปทีมในดิวิชั่น 1 เริ่มเล็งเห็นประโยชน์จากเม็ดเงินมหาศาลที่จะวิ่งเข้ามาหา จึงได้ขอแยกตัวไปตั้งเป็น “พรีเมียร์ลีก” ใน ค.ศ.1992 เพราะจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจมากกว่า 

ทำให้นับจาก ค.ศ.1992 เป็นต้นมา ฟุตบอลลีกสุงสุดอันดับ 1 ของอังกฤษ จึงไม่ใช่แค่เรื่องของความนิยมชมชอบของคนในท้องถิ่นอีกต่อไปแล้ว หากแต่หมายถึงกลุ่มฐานแฟนบอลที่กระจายตัวออกไปทั่วโลก เห็นได้จากการมีฐานแฟนบอล ลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด และอาเซนอล ที่มีกันทั่วโลก 

อีกทั้งยังทำให้แต่ละทีมต้องเดินทางออกไปพบปะแฟนคลับในต่างประเทศในช่วงปรีซีซั่น เพื่อรักษา/ขยายฐานความนิยมของทีมตนเองเอาไว้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะเข้าในอนาคต      

Complementary Assets (สินทรัพย์ที่ช่วยเกื้อหนุนธุรกิจหลัก) เป็นหัวใจแห่งการเติบโต

กว่าฟุตบอลพรีเมียร์จะมาได้ไกลถึงจุดนี้ได้ คงไม่ใช่เรื่องปัจจัยผลงานในสนามอย่างเดียว หากแต่เกิดขึ้นจากรูปแบบการจัดการโครงสร้างทางธุรกิจที่ชาญฉลาดของผู้จัดการแข่งขันต่างหาก 

นั่นเพราะบริษัท เอฟเอ พรีเมียร์ลีก ผู้ถือสิทธิ์รายการแข่งขันรายการดังกล่าว และทีมในลีก สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ (เกมส์การแข่งขันที่สนุกเร้าใจ) โดยใช้หลักการ “Complementary Assets” หรือ สินทรัพย์/ทรัพยากรที่เกื้อหนุนธุรกิจหลัก เข้ามาช่วยให้เกิดการขยายตัวของมูลค่าในสินค้าเดิมที่ขายอยู่ให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น 

พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นก็คือ การนำทรัพยากรที่มีอยู่รอบตัวมาต่อยอดจากของเดิมที่มีอยู่ให้มีมูลค่าสูงยิ่งขึ้น 

โดยสิ่งที่พรีเมียร์ลีกทำ หลัก ๆ มีดังนี้  

  • ขายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ด้วยต้นทุนเดิมที่เล่นกันสนุกและเร้าใจคอบอลเป็นทุนเดิมอยู่ก่อนแล้ว การยิ่งทำให้แฟนกีฬาสามารถติดตามรับชมแบบสด ๆ เหมือนว่าได้ไปนั่งติดขอบสนามอยู่ที่อังกฤษยิ่งเพิ่มฐานแฟนบอลขยายตัวเป็นเท่าทวีคูณ โดยปัจจุบันมีมากกว่า 200 ประเทศที่นำรายการกีฬาดังกล่าวไปถ่ายทอดในประเทศตนเอง
  • จับมือพันธมิตรทางธุรกิจกับสินค้าและบริการต่าง ๆ โดยทั้งตัวพรีเมียร์ลีกและทีมต่าง ๆ ในลีก ล้วนมีการทำสัญญาทางธุรกิจกับผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น อาดิดาส ไนกี้ พูม่า ไปจนถึงโคคาโคลา เพื่อให้บริษัทเหล่านี้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ ในขณะเดียวกันแบรนด์สินค้าเหล่านี้ก็สามารถนำตราสโมสร หรือ เสื้อทีม ไปขายต่อได้ในตลาด สร้างเม็ดเงินมหาศาลในแต่ละปี ทำให้แบรนด์ของพรีเมียร์ลีก และสโมสรฟุตบอลต่าง ๆ ยิ่งเข้มเแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ  
  • การใช้สื่อออนไลน์และดิจิทัลคอนเท้นต์ พรีเมียร์ลีกต่อยอดความร้อนแรงในสนามด้วยการใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการโปรโมทการแข่งขัน และนำไฮไลท์ ช็อตเด็ดในแต่ละเกมส์มาฉายต่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเกิดภาพจำและการปฏิสัมพันธ์ระหว่างแฟนบอลมากขึ้น สุดท้ายก็ทำให้มูลค่าการตลาดของพรีเมียร์ลีก และทีมต่าง ๆ เพิ่มสูงขึ้นในที่สุด 
  • สนามแข่งขันที่มาตรฐานสูงและบรรยากาศการแข่งขันที่เร้าใจ โดยค่าเฉลี่ยแล้วสนามฟุตบอลของแต่ละสโมสรล้วนมีมาตรฐานที่ดี และสามารถจุแฟนบอลได้เป็นจำนวนมาก อยู่ที่ประมาณ 37,000 ที่นั่ง โดยสนามที่มีขนาดความจุของแฟนบอลมากที่สุดคือ โอลด์ แทรฟฟอร์ด ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด แต่ที่น้อยที่สุดคือ ลอฟตัสโรด ของสโมรสรควีปาร์ค เรนเจอร์ ไม่เพียงเท่านั้นแฟนบอลของแต่ละสโมสรทั่วโลกต่างก็อยากเข้ามาสัมผัสบรรยากาศการเชียร์ฟุตบอลอังกฤษแท้ ๆ ทำให้เกิดทัวร์ดูบอลขึ้น ซึ่งก็สร้างเม็ดเงินและมูลค่าให้กับสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกอย่างมาก  
  • ศูนย์ฝึกเยาวชนและศูนย์ฝึกซ้อม แน่นอนว่าหากขาดนักบอลและบุคลากรที่มีคุณภาพสูง เกมส์การแข่งขันที่มีคุณภาพและสนุกเร้าใจย่อไม่มีทางเกิดขึ้น ดังนั้นแต่ละสโมสรจึงทุ่มทุนกับระบบการปั้นเยาวชน สนามฝึกซ้อมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปจนถึงระบบแมวมองนักเตะ เพื่อผลิตนักกีฬาและบุคลากรที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ทีม โดยสนนราคาค่าจ้างที่แพงมหาศาลเป็นการตอบแทน
  • กฎคุมเข้มการใช้จ่ายทางการเงิน โดยกำหนดให้การใช้จ่ายเงินของสโมสรต้องสัมพันธ์กับรายรับที่เข้ามา และการอัดฉีดเงินของเจ้าของทีม หรือ บอร์ดบริหารจะต้องไม่มากจนเกินไป เพื่อไม่ให้สโมสรพึ่งพาเงินจากแหล่งใดแหล่งหนึ่งจนเป้นอันตรายต่อความอยู่รอดของสโมรสรนั้น ๆ นอกจากนี้ ยังจำกัดเพดานการขึ้นค่าตอบแทนของนักเตะให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ทำให้การประกอบกิจการของแต่ละสโมสรอยู่ในหลักธรรมาภิบาลที่ดี 

JAS คุ้มมั้ย ที่ต้องควักเงินทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ บอลพรีเมียร์ลีก มาครอบครอง 

การคว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เป็นเวลา 3 ฤดูกาล (ค.ศ. 2025 – 2030) ของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชัลแนล (JAS) ครอบคลุมอาณาเขตทั้งไทย ลาว และกัมพูชา ทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมามากมายถึงความคุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไป

โดยสำหรับแหล่งเงินที่ใช้ในการซื้อลิขสิทธิ์ฯ จะมี 2 ส่วน คือ 1. กระแสเงินสดของบริษัทฯ โดยบันทึก วันที่ 30 มิ.ย. 2567 บริษัทฯ มีเงินสดจำนวน 4,678.47 ล้านบาท และส่วนที่เหลือเป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการเจรจา

ซึ่งกลุ่ม JAS คาดหวังว่า การซื้อดีลนี้จะช่วยให้ขยายส่วนแบ่งตลาดอินเตอร์เน็ตทีวีและการจัดหาคอนเทนต์ สอดคล้องกับแผนธุรกิจที่จะผลักดันให้ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตทีวีและธุรกิจการจัดหาคอนเทนต์เป็น Flagship ของกลุ่มบริษัทฯ

JAS ตั้งเป้าถ่ายทอดคอนเทนต์ให้เข้าถึงมากกว่า 25 ล้านครัวเรือนใน 3 ประเทศ ตั้งเป้าสมาชิก 3 ล้านบัญชีในปีแรก จาก 96 ล้านคน ตั้งเป้าค่ารายเดือนไม่เกิน 400 บาทต่อเดือน และราคาเดียวทุกช่องทาง ส่วนช่องทางการรับชม จะมีช่องทางหลักของ MONO ทั้งแอป MONOMAX และช่องทีวีดิจิทัล MONO29 และจะมีการเจรจาร่วมกับพาร์ตเนอร์รายอื่น ๆ ทั้งทีวี เครือข่ายมือถือ เพื่อให้ครอบคลุมและเข้าถึงผู้ชมได้มากที่สุด

พี่ทุยคงไม่สามารถให้คำตอบแบบฟันธงต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างชัดเจน บอกได้แต่เพียงว่าด้วยมูลค่าทางการตลาดของพรีเมียร์ลีกที่มีแต่ละเพิ่มสูงขึ้นตลอด คงทำให้บริษัท JAS กล้าที่จะควักกระเป๋ากับการลงทุนครั้งนี้ 

หากจะว่าไปผู้ถือลิขสิทธิ์ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกยังสามารถนำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจได้อีกมากมาย อาทิ การขายสิทธิ์การรับชมแก่สมาชิกคนดูทั่วไป การขายลิขสิทธิ์ให้แก่ร้านค้าเพื่อนำไปใช้โปรโมทในเชิงธุรกิจต่อ ไปจนถึงอีเวนต์ต่าง ๆ ที่ต้องการเกาะกระแสความนิยมในฟุตบอล 

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าคอนเท้น “ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก” คือแม่เหล็กในการดูดเม็ดเงินเข้ากระเป๋าให้แก่ผู้ถือลิขสิทธิ์นั้นอย่างมหาศาลไปแล้ว 

จึงเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่า JAS จะใช้ประโยชน์จากลิขสิทธิ์ที่ถือไว้นี้อย่างไรต่อไป

อ่านเพิ่ม

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile