ย้อนกลับไป 10 ปีที่แล้ว ทุกคนมอง Microsoft เป็นเพียงบริษัทเทคโนโลยีที่เคยยิ่งใหญ่แต่ตกยุค เต็มไปด้วยปัญหา ไม่น่ากลับมาเติบโต โดน Apple และ Google แซงไปไกล แต่การมาของ CEO คนที่ 3 Satya Nadella พลิกฟื้น Microsoft จากบริษัทใหญ่อุ้ยอ้ายกลับมาเป็นเติบโตเร็วราวกับเป็นบริษัท Startup แล้ว Microsoft โกงความตาย ได้ยังไง ? ถึงกลับกลายมาเป็นบริษัทที่มี Market Cap. มากที่สุดในโลก ถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ ไปดูกัน
สภาพความเละเทะของ Microsoft ก่อนยุค Satya Nadella
ก่อน Satya Nadella ขึ้นครองตำแหน่ง CEO ของ Microsoft ก็เป็นยุคของ Steve Ballmer ซึ่งเป็นผู้นำรุ่นที่ 2 (2000-2014) ต่อจาก Bill Gates มหาเศรษฐีผู้ก่อตั้งบริษัท
ภายใต้การนำของ Steve Ballmer ปีแรกที่เข้ามาบริหาร บริษัทมีรายได้ 22,956 ล้านดอลลาร์ มาถึงปี 2014 รายได้เพิ่มเป็น 86,451 ล้านดอลลาร์ ส่วนกำไรเพิ่มจาก 9,421 ล้านดอลลาร์ ไปที่ 22,083 ล้านดอลลาร์
แม้รายได้และกำไรจะเพิ่มขึ้น แต่มาดูมูลค่าบริษัทที่วัดจาก Market Capitalization กลับลดลงจาก 408,720 ล้านดอลลาร์ เหลือ 343,566 ล้านดอลลาร์ สิ่งนี้สะท้อนว่านักลงทุนมองไม่เห็นอนาคตของ Microsoft ในยุค Steve Ballmer
ตัวอย่างแรกย้อนไปไม่ไกลมาก ช่วงปี 2012 Microsoft เปิดตัว Windows 8 แต่ด้วยดีไซน์ที่ไม่เหมาะกับระบบ PC และโปรแกรมจำนวนที่ไม่ปรับดีไซน์ให้เข้ากับระบบปฏิบัติการ ทำให้ยอดขายและความนิยมตกต่ำ ส่วนแบ่งผู้ใช้ Windows 8 ไม่สูงกว่า 10% ขณะที่ Windows 7 ยืนระยะที่ประมาณ 50%
อีกตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การขาดทุนกับดีลซื้อกิจการมือถือจาก Nokia เพื่อต่อยอดลุยตลาดสมาร์ทโฟน แต่กลับพ่ายแพ้ทั้ง iOS จาก Apple และ Android จาก Google
นับเป็นยุคที่ Microsoft โดนคู่แข่งเตะออกจากวงการนวัตกรรม กลายร่างเป็นบริษัทล้าสมัย สูญเสียตำแหน่งบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก
ฝั่งวัฒนธรรมองค์กรก็เละเทะไม่แพ้กัน บริษัทเต็มไปด้วยปัญหาการเมืองภายใน แต่ละทีมจ้องจะเตะตัดขากัน ทุ่มพลังงานไปกับการชิงดีชิงเด่น แทนที่จะคิดสร้างนวัตกรรมใหม่ โครงสร้างองค์กรมีหลายขั้น ทำให้มีการตรวจสอบจำนวนมากและโปรเจคพัฒนาช้า นับเป็นองค์กรที่คนเก่งไม่อยากเข้าทำงานด้วย
4 สิ่งที่ Satya Nadella ใช้ปลุก Microsoft โกงความตาย กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
Satya Nadella เข้ารับตำแหน่ง CEO เมื่อเดือน ก.พ. 2014 ท่ามกลางสภาพสุดพังของ Microsoft แถมเจอเสียงวิจารณ์ตั้งคำถามต่อความสามารถในการพลิกฟื้นบริษัท แต่เวลาก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า CEO คนนี้คือของจริง ปลุก Microsoft กลับมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำ ดันมูลค่าบริษัทแซงคู่แข่งทั้ง Apple และ Google ไปเรียบร้อย
แล้ว Satya Nadella ใช้อะไรปลุกยักษ์หลับให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง พี่ทุยขอสรุปเป็น 4 ข้อ ดังนี้
1. ยกเครื่องวัฒนธรรมองค์กร
ต้องใช้คำว่า “ยกเครื่อง” กันเลยทีเดียวสำหรับงานแรกของ CEO เพราะเข้ามารับช่วงต่อบริษัทท่ามกลางวัฒนธรรมที่ไม่ดึงดูดคนเก่งและไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม
วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง Satya Nadella ส่งอีเมลแนะนำตัวกับพนักงานทุกคน มีเนื้อความให้เลิกยึดติดความสำเร็จเมื่อครั้ง Windows ครองโลก หันมาเรียนรู้ตลอดชีวิต ต่อด้วยใช้เวลาปีแรกรับฟังพนักงานทุกระดับ และได้สร้าง 3 องค์ประกอบที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรมให้เห็นความสำคัญของ Growth mindset คือ
- One Company สร้างความร่วมมือระหว่างทีมแทนที่จะเล่นการเมืองภายใน
- Diversify and Inclusion ให้ความสำคัญกับความแตกต่างและเปิดกว้างทางความคิดกับพนักงานทุกระดับ สนับสนุนพนักงานทำโปรเจคที่มีความเสี่ยงสูงและยังได้รางวัลจากการลองผิดลองถูก
- Customer Obsession ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก
2. Cloud จุดเริ่มต้นรูปแบบธุรกิจใหม่
การเกิดขึ้นของสมาร์ทโฟนทำให้ความนิยมของเครื่องคอมพิวเตอร์ลดลง การขาย server แบบเก่ากำลังหมดยุค และทำให้ Microsoft ตกที่นั่งลำบาก โชคยังดีที่ในปี 2011 Satya Nadella ได้รับตำแหน่งพัฒนาธุรกิจ Cloud ซึ่งเป็นเทคโนโลยีคลื่นลูกใหม่และมี Amazon เป็นเจ้าตลาด
เมื่อเข้ารับตำแหน่งจึงประกาศจุดยืนใหม่ด้วยการหันไปโฟกัสธุรกิจ Cloud พร้อมบริการ machine learning ผ่านผลิตภัณฑ์ Microsoft Azure จนทุกวันนี้ Microsoft มีส่วนแบ่งตลาด Cloud เป็นอันดับ 2 และเข้าสู่รูปแบบธุรกิจใหม่ คือ โมเดลสมัครสมาชิก (Subsciption)
ด้วยโมเดลนี้ทำให้ลูกค้าใช้บริการง่ายขึ้น (สมัยก่อนจะลง Windows แท้ก็ต้องเสียเงินเยอะ หรือไม่ก็ต้องหาของปลอม อัพเดตยากและนาน) แถมธุรกิจดั้งเดิมอย่างการขาย license ซึ่งกำลังร่อแร่ ก็ให้มาใช้โมเดลธุรกิจนี้ ทั้ง Windows และ Office 365 พลิกกลับมาสร้างรายได้ให้ Microsoft ไม่แพ้ธุรกิจ Cloud
แม้จะผ่านมาเกือบ 10 ปี แต่รายได้จาก Microsoft Azure ยังเดินหน้าเติบโตปีละ 20-30% สำหรับบริษัทที่ใหญ่ขนาดนี้ ถือว่าไม่ธรรมดา
3. ซื้อกิจการอย่างชาญฉลาด ช่วย Microsoft โกงความตาย
ถ้าทำเองแล้วใช้เวลานานแถมไม่เชี่ยวชาญ ก็ซื้อเอาซะเลย นับเป็นเรื่องปกติแล้วสำหรับการเห็นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ซื้อกิจการบริษัทขนาดเล็กที่มีนวัตกรรมล้ำสมัย ซึ่ง Microsoft ใช้แนวทางนี้เช่นกัน
แต่ต้องยอมรับว่ามีเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองขาดด้วย มิฉะนั้นจะซ้ำรอยกรณีซื้อกิจการ Nokia ซึ่ง Satya Nadella มีความสามารถในการมองเห็นว่ากิจการไหนมีนวัตกรรมที่ Microsoft จะนำมาต่อยอดความสำเร็จได้อย่างดี
ไล่เรียงตั้งแต่การซื้อกิจการ LinkedIn เครือข่ายโซเชียลมีเดียสำหรับธุรกิจ ซึ่งทุกวันนี้ครองโลกคนวัยทำงานไปแล้ว ต่อด้วยซื้อกิจการ Minecraft เสริมแกร่งสังคมออนไลน์ฝั่งเกมส์ ซื้อ Github เสริมชุมชนนักพัฒนาโปรแกรม opensource ซื้อ Activision Blizzard ได้ลิขสิทธิ์เกมส์ดังและอาจต่อยอด metaverse และลงทุนใน OpenAI ได้เทคโนโลยี AI สุดล้ำ ซึ่งกลายเป็นกระแสเทคโนโลยีใหม่แห่งยุค
4. ถึงจะยิ่งใหญ่ แต่เป็นมิตรกับทุกบริษัท
Microsoft ยุคก่อนเป็นบริษัทที่พร้อมจะเป็นศัตรูกับคู่แข่งตลอดเวลา แต่ Satya Nadella เปลี่ยนบริษัทให้พร้อมทำงานกับบริษัทอื่น ทำให้ Microsoft เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นเพื่อนสนิทกับทุกคน (ยอมรับว่าใช้งานง่ายขึ้น) และไม่ได้ต้องการเป็นบริษัทเทคโนโลยีเท่ๆ แต่ต้องการผลักดันให้ผู้อื่นมีความเท่มากกว่า
CEO ผู้นี้เดินกลยุทธ์สวนทาง Apple ด้วยการร่วมมือกับทุกฝ่าย ปรับซอฟต์แวร์ให้เข้ากับทั้งระบบ iOS และ Android ทุกวันนี้ใช้แอป Office บนสมาร์ทโฟนหรือแทปเล็ตได้ง่าย ร่วมออกแบบ Facebook ให้เหมาะกับระบบ Windows และไม่ทิ้งธุรกิจซอฟต์แวร์สำหรับองค์กรขนาดกลางและเล็ก
เพียงแค่นี้ไม่ว่าบริษัทไหนก็สบายใจที่จะทำธุรกิจด้วย ไม่ต้องกังวลว่าจะโดนแทงข้างหลังหรือถูกฟ้องร้องได้ทุกเวลา
อนาคตสดใส AI กำลังพา Microsoft เข้าสู่ S-Curve ลูกใหม่
ย้อนไปช่วงปี 2019 เทคโนโลยี AI ยังเป็นแค่จินตนาการในหนังไซไฟ ซึ่งช่วงนั้นกระแส Metaverse และ AR/VR กำลังมาแรง แต่ Microsoft กลับลงทุน 1,000 ล้านดอลลาร์ ใน OpenAI ผู้นำด้านเทคโนโลยี AI
การลงทุนครั้งนี้เริ่มให้ออกดอกออกผลในปี 2021 ฝั่ง Microsoft เอา AI มาใช้กับ GitHub Copilot จากนั้นปลายปี 2022 OpenAI เปิดตัว ChatGPT นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล ต่อด้วยปี 2023 Microsoft ส่ง Copilot สำหรับ Microsoft 365 และลงทุนเพิ่มอีก 10,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อหวังต่อยอดเทคโนโลยีเสริมแกร่งให้ผลิตภัณฑ์ Azure
ตัดภาพมาตอนนี้เทคโนโลยี Metaverse และ AR/VR แทบจะหายไปจากกระแส ผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยออกมาก็ยังใช้งานในชีวิตจริงไม่ค่อยได้ ซึ่งต้องยอมรับว่า Satya Nadella มองขาดกับเทคโนโลยี AI
จากความเปลี่ยนแปลงที่ CEO คนใหม่ได้ทำ จึงไม่น่าแปลกใจที่ตอนนี้ Microsoft จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง มีมูลค่าบริษัทสูงถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์ เป็นอันดับ 1 ของโลก ปาด Apple และ Alphabet ไปหลายช่วงตัว ซึ่งปัจจุบัน Microsoft ก็ยังทำผลงานได้ดี รายได้ใน Q2/2024 ซึ่งสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค. 2023 เพิ่มขึ้น 18% สู่ระดับ 6.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และมีกำไรอยู่ที่ 2.93 ดอลลาร์/หุ้น สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และยอดขายบริการคลาวด์ของ Azure ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30% เป็นสินค้าที่แบกยอดของ Microsoft ไปเลย
การทำงานของ Satya Nadella พลิก Microsoft จากยักษ์หลับกลับเป็นยักษ์ใหญ่ที่โตวันโตคืน แสดงให้เห็นว่าการสร้างบริษัทที่มีวัฒนธรรมดี พนักงานทุกคนมีเป้าหมายเติบโตไปด้วยกัน ส่งผลกระทบเชิงบวกมหาศาลขนาดไหน พี่ทุยเชื่อว่าถ้าทุกคนได้มีสนามการทำงานที่ดีเปิดกว้างเช่นนี้ จะดึงศักยภาพออกมาใช้ได้แบบที่ตัวเองก็ไม่เคยคิดว่าจะทำได้เช่นกัน
อ่านเพิ่ม