ตลาดเบียร์ เป็นอีกตลาดหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ เพราะ เบียร์ เป็นหนึ่งในสายของเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ที่บางคนดื่มเป็นประจำด้วยความชื่นชอบ บางคนดื่มเพื่อเข้าสังคม สังสรรค์กับเหล่าเพื่อนฝูง เบียร์ถือได้ว่าเป็นเครื่องดื่มที่สามารถนำมาใช้เชื่อมสัมพันธ์ของการสังสรรค์ในสังคมได้เป็นอย่างดี เพราะมีคนดื่มอยู่ทั่วทุกมุมโลก จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมตลาดเบียร์จึงมีมูลค่ามหาศาลและเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่อีกอุตสาหกรรมหนึ่งของโลกเลยทีเดียว
ผู้เล่นใน ตลาดเบียร์ มีใครกันบ้าง ?
ในอุตสาหกรรมเบียร์ หากดูจากยอดขายล่าสุด ปี 2017 จะเห็นได้ว่า ผู้นำตลาดเบียร์รายใหญ่ที่สุดของตลาดยังคงเป็น Anheuser-Busch InBev มียอดขายถึง 56.4 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 1.8 ล้านล้านบาท ครอบครองสัดส่วนทางการตลาดมากถึง 37% ของยอดขายทั้ง 8 บริษัทที่เป็นผู้เล่นหลักในตลาดนี้ ตามมาด้วย..
Heineken Holding มียอดขาย 24.7 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 8.2 แสนล้านบาท ครอบครองสัดส่วนทางการตลาด 16%
Asahi Group Holdings มียอดขาย 19.4 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 6.4 แสนล้านบาท ครอบครองสัดส่วนทางการตลาด 13%
Kirin Holdings มียอดขาย 16.6 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 5.5 แสนล้านบาท ครอบครองสัดส่วนทางการตลาด 11%
Molson Coors Brewing มียอดขาย 10.9 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 3.6 แสนล้านบาท ครอบครองสัดส่วนทางการตลาด 7%
Carlsberg Group มียอดขาย 9.4 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 3.1 แสนล้านบาท ครอบครองสัดส่วนทางการตลาด 6%
Constellation Brands มียอดขาย 7.6 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 2.5 แสนล้านบาท ครอบครองสัดส่วนทางการตลาด 5%
Thai Beverage มียอดขาย 5.6 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินไทยราวๆ 1.8 แสนล้านบาท ครอบครองสัดส่วนทางการตลาด 3%
ที่มา: https://www.statista.com/statistics/257670/sales-of-the-leading-beer-companies-worldwide/
ใครเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ?
พี่ทุยพาทุกคนไปทำความรู้จักกับบริษัทที่ทำธุรกิจเบียร์แล้ว ตอนนี้อยากพาทุกคนมารู้จักว่า แต่ละบริษัทเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์อะไรบ้างที่เราดื่มๆกัน เริ่มจากยักษ์ใหญ่ที่สุดของตลาดเบียร์ก่อนเลยละกัน
Anheuser-Busch InBev
เป็นบริษัทที่มาจากการรวมตัว 3 บริษัท 3 สัญชาติเข้าด้วยกัน คือ บริษัท Interbrew จากเบลเยียม บริษัท AmBev จากบราซิล และบริษัท Anheuser-Busch จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งที่ผ่านมา Anheuser-Busch InBev เข้าเทคโอเวอร์อีกหลายบริษัท ทำให้ปัจจุบันมีสินค้าแบรนด์เจ้าเล็กเจ้าใหญ่อยู่ในมือกว่า 500 แบรนด์ โดยแบรนด์หลักๆที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดี อาทิเช่น Budweiser Corona Stella Artois และยังมีแบรนด์อื่นๆ อีกมากมาย
Heineken Holding
เป็นบริษัทเบียร์สัญชาติเนเธอร์แลนด์ที่มีอายุกว่า 144 ปี ปัจจุบันมีขาย 192 ประเทศทั่วโลกให้เหล่านักดื่มได้ลิ้มลอง ไฮเนเก้นถือเป็นเบียร์จากต่างประเทศที่เข้ามาขายในไทยแล้วประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในตลาดเบียร์พรีเมียมของไทย เคยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในไทยมากถึง 95% ปัจจุบันอยู่ราวๆ 80-90% ไฮเนเก้นแบ่งออกเป็น 4 แบรนด์หลักๆ คือ Heineken, International brands, Regional & Local brands และ Cider brands
Asahi Group Holdings
เป็นบริษัทเบียร์สัญชาติญี่ปุ่น ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี อาซาฮีมียอดขายเป็นอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น มีส่วนแบ่งทางการตลาด 49% ของตลาดเบียร์ญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการส่งไปขายทั่วโลก โดยมีเบียร์ทั้งที่มีแอลกอฮอลล์และไม่มีแอลกอฮอลล์
Kirin Holdings
เป็นบริษัทเบียร์สัญชาติญี่ปุ่นเช่นกัน คิรินแบ่งแยกผลิตภัณฑ์เป็น 2 แบบ คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอลล์กับไม่มีแอลกอฮอลล์ที่ขายในประเทศ และผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอลล์กับไม่มีแอลกอฮอลล์ที่ขายในต่างประเทศ
Japanese Alcoholic and Non-alcoholic Beverages
Overseas Alcoholic and Non-alcoholic Beverages
Molson Coors Brewing
เป็นบริษัทเบียร์ที่เกิดจากการรวมตัวของ 2 บริษัท คือ บริษัท Molson จากแคนาดา กับ บริษัท Coors จากสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันมีสินค้าส่งออกไปยังทั่วโลก
Carlsberg Group
เป็นบริษัทเบียร์ชั้นนำจากประเทศเดนมาร์ค กำเนิดมากว่า 170 ปีแล้ว ปัจจุบันมีการขยายตลาดไปยังต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย มีผลิตภัณฑ์มากถึง 720 แบบให้เลือกดื่ม
Constellation Brands
เป็นบริษัทเบียร์สัญชาติอเมริกา ตั้งบริษัทมาตั้งแต่ปี 1945 มีการขยายตั้งสำนักงานอยู่ทั่วทุกมุมโลก 11 ประเทศด้วยกัน โดยมีการขายสินค้าผ่านแบรนด์ต่างๆไปทั่วโลก
Thai Beverage
เป็นบริษัทเบียร์สัญชาติไทยของเราเอง ไทยเบฟเวอเรจ ตั้งขึ้นในปี 1941 มีอายุกว่า 77 ปี ธุรกิจเบียร์ถือเป็นธุรกิจหลักที่เสริมให้อาณาจักรไทยเบฟเวอเรจขยายอย่างก้าวไกล ไทยเบฟเวอเรจ มีผลิตภัณฑ์เบียร์ทั้งหมด 3 แบรนด์คือ เบียร์ช้าง เบียร์อาชา และเบียร์เฟดเดอร์บรอย โดยมีเบียร์ช้างเป็นหัวใจหลักของธุรกิจเบียร์
แล้วอนาคตของ ตลาดเบียร์ จะเป็นยังไงต่อไป ?
ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2014 จนถึงปัจจุบัน ตลาดเบียร์ยังคงมีการเติบโตของรายได้มาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการคาดการณ์รายได้ว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าในปี 2022 ตลาดเบียร์จะมีรายได้เติบโตถึง 750 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นราวๆ 24.9 ล้านล้านดอลลาร์ เฉลี่ยแล้วโตขึ้นปีละประมาณ 7% นั่นเอง
เจ้าของธุรกิจเบียร์ต่างมองว่า การเติบโตของตลาดเบียร์ในอนาคตมาจากกลุ่มลูกค้าในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก ซึ่งถูกมองว่าเป็นโอกาสใหม่ของการเติบโตของตลาดเบียร์ กลุ่มลูกค้าในแถบนี้ยังมีความต้องการซื้ออยู่ในระดับที่สูง โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าในช่วงอายุ 21-30 ปี เป็นเป้าหมายหลัก ไทยเราก็อยู่ในกลุ่มประเทศเป้าหมายเหมือนกันนะเนี่ย พี่ทุยเชื่อว่าเราน่าจะได้เห็นเบียร์อีกหลากหลายแบรนด์ในไทยอย่างแน่นอน
ทำความรู้จัก ตลาดเบียร์ ของไทย ให้มากขึ้น
มูลค่าตลาดของเบียร์ในประเทศไทยอยู่ที่ 180,000 ล้านบาท โดยผู้เล่นที่อยู่ในตลาดเบียร์ของไทย คงหนีไม่พ้นเจ้าใหญ่ๆอย่าง ไทยเบฟเวอเรจ เจ้าของเบียร์ช้าง และ บุญรอดบริวเวอรี่ เจ้าของเบียร์สิงห์ ลีโอ และยูเบียร์
ตลาดเบียร์หลักของไทย คือ ตลาด Economy ที่มีสัดส่วนตลาดมากที่สุดถึง 87% โดยมีเบียร์ลีโอที่มียอดขายสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่งในตลาด 46% ตามมาด้วยอันดับที่สอง อย่างเบียร์ช้างคลาสสิค 39%
ส่วนในตลาด Standard มีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ 7% มีเบียร์สิงห์ครอบครองอยู่ถึง 6%
ขณะที่ตลาดพรีเมียม มีสัดส่วนตลาดอยู่ที่ 6% ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยที่สุดของตลาดเบียร์ไทย มีเบียร์นอกอย่างไฮเนเก้นครอบครองตลาดมากที่สุดถึง 5%
อีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่น่าจับตามองในตลาดเบียร์ของไทย คือ “คราฟต์เบียร์” หรือเบียร์ทำมือ ในปี 2016 มูลค่าตลาดคราฟต์เบียร์มีมูลค่าเพียง 35 ล้านบาท แต่ในปี 2017 คราฟต์เบียร์มีมูลค่าตลาดมากถึง 300 ล้านบาท ถือเป็นการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โตถึง 8 เท่าภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว ถือว่าได้รับความสนใจจากทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคเป็นอย่างมาก และคาดว่าในอนาคตปี 2020 คราฟต์เบียร์จะมีสัดส่วนเป็น 1% ของตลาดเบียร์ของไทย
หมายเหตุ
1 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 33.20 บาท