พี่ทุยเชื่อว่า คนไทยที่ต้องเดินทางไปสนามบินดอนเมือง ยังไง ๆ ก้คงเคยได้ใช้บริการ ทางด่วนโทลล์เวย์ หรือทางยกระดับอุตราภิมุข ซึ่งล่าสุด นอกจากข่าวไม่ได้ต่อสัมปทานแล้ว ก็ยังประกาศปรับขึ้นค่าผ่านทางอีกครั้ง
พี่ทุยก็สงสัยว่าทำไมขึ้นราคาบ่อยจัง แพงแล้วแพงอีก วันนี้เลยจะพาเพื่อนๆ ไปดูกันหน่อยว่าจะขึ้นราคาค่าผ่านทางอีกถึงเมื่อไร ที่ผ่านมาขึ้นมาแล้วกี่รอบ แล้วผู้ให้บริการอย่าง DMT มีรายได้และกำไรดีขนาดไหน? ถ้าพร้อมแล้วไปลุยกันเลย
ทางด่วนโทลล์เวย์ ขึ้นราคา 22 ธ.ค. นี้ เคยขึ้นราคามาแล้วกี่รอบ?
บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT เตรียมปรับขึ้นอัตราคาผ่านทาง 5-10 บาท ในวันที่ 22 ธ.ค. 2567 ตามคู่สัญญาสัมปทานกำหนดตามบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 3/2550 ลงนามเมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2550 สำหรับรอบเวลา 5 ปีข้างหน้า ระหว่างวันที่ 22 ธ.ค. 2567 ถึงวันที่ 21 ธ.ค. 2572
ค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมือง ราคาจะขึ้น 10 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ราคาจะขึ้น 5 บาท ส่งผลให้ค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ ขึ้นมาที่ 90 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ ขึ้นมาที่ 120 บาท และค่าผ่านทางช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน รถ 4 ล้อ ขึ้นมาที่ 40 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ ขึ้นมาที่ 50 บาท
หลังมีการแก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 3/2550 ทางยกระดับโทลล์เวย์เคยขี้นค่าผ่านทางมาแล้ว ดังนี้
- 22 ธ.ค. 2550 ถึง 21 ธ.ค. 2552 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง อยู่ที่ 35 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน อยู่ที่ 20 บาท
- 22 ธ.ค. 2552 ถึง 21 ธ.ค. 2557 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง อยู่ที่ 60 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน อยู่ที่ 35 บาท
- วันที่ 22 ธ.ค. 2557 ถึง 21 ธ.ค. 2562 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง อยู่ที่ 70 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน อยู่ที่ 30 บาท
- 21 ธ.ค. 2562 ถึง 21 ธ.ค. 2567 ช่วงดินแดง-ดอนเมือง อยู่ที่ 80 บาท ช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน อยู่ที่ 35 บาท
ทางด่วนโทลล์เวย์ กับสัมปทาน 45 ปี
ทางยกระดับดอนเมืองได้รับสัมปทานแบบ Build-Transfer-Operated โดยบริษัทเอกชนสร้างทางยกระดับและอาคาร แล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้กรมทางหลวง ซึ่งบริษัทจะได้สิทธิบริหารและเก็บค่าผ่านทางตามสัญญาสัมปทานจากกรมทางหลวง
เริ่มต้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2532 บริษัททางยกระดับดอนเมืองลงนามสัญญาสัมปทานและสร้างทางยกระดับตั้งแต่ช่วงดินแดง-ดอนเมือง ระยะทาง 15.4 กิโลเมตร เรียกส่วนนี้ว่า โครงการส่วนเริ่มต้น จากนั้นวันที่ 27 เม.ย. 2538 แก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 1/2538 และเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อใช้ก่อสร้างโครงการ
วันที่ 29 พ.ย. 2539 แก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 2/2539 เนื่องจากรัฐบาลต้องการขยายเส้นทางช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน โดยเรียกว่าโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ ระยะทาง 5.6 กิโลเมตร ต่อจากโครงการส่วนเริ่มต้น ซึ่งรัฐบาลหาเงินกู้ระยะยาวเพื่อใช้หนี้เดิม ปรับอัตราค่าผ่านทาง ขยายอายุสัมปทานจากเดิมปี 2557 เป็นปี 2564 และกระทรวงการคลังมาลงทุนในบริษัท
วันที่ 12 ก.ย. 2550 แก้ไขสัญญาสัมปทานทางหลวงฉบับที่ 3/2550 หลังผลประกอบการขาดทุนมาตลอด ทำให้บริษัทต้องเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับทั้งเจ้าหนี้สถาบันการเงินและผู้รับเหมา โดยการแก้ไขครั้งนี้ทำให้บริษัทปรับค่าผ่านทางตามที่กำหนดไว้ล่วงหน้าตามสัญญาสัมปทานโดยไม่ต้องขออนุมัติ และขยายอายุสัมปทานไปถึงวันที่ 11 ก.ย. 2577
ส่งผลให้จะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทางอีกครั้งในปี 2572 และมีผลระหว่างปี 2572-2577 ทำให้ค่าผ่านทางช่วงดินแดง-ดอนเมือง ไปที่ 100 บาท และช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน ไปที่ 45 บาท
กรมทางหลวงไม่ต่อสัมปทาน หากรัฐบริหารอาจลดราคาเหลือ 20 บาท
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้กรมทางหลวงศึกษาแนวทางการปรับลดค่าผ่านทาง พบว่าไม่ควรขยายสัญญาสัมปทาน ซึ่งหากเลือกแนวทางนี้จะทำให้ทรัพย์สินทั้งหมดโอนกลับมาเป็นของกรมทางหลวง
จากพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 ที่กำหนดว่าก่อนหมดสัญญา 5 ปี หน่วยงานเจ้าของโครงการต้องศึกษาแนวทางดำเนินโครงการ ทำให้กรมทางหลวงจะเริ่มศึกษาแนวทางบริหารทางยกระดับในช่วงปี 2572-2573
ซึ่งกรมทางหลวงต้องพิจารณาอายุโครงสร้างทางยกระดับ ค่าบำรุงรักษา เพื่อกำหนดค่าผ่านทาง โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจให้บริการฟรีในกรณีที่ค่าบำรุงรักษาไม่สูงมาก หรืออาจลดค่าผ่านทางลงมาในราคา 20 บาท
ขึ้นราคาแบบนี้ DMT แต่ละปีรายได้และกำไรเท่าไร
บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจให้บริการทางยกระดับอุตราภิมุข หรือที่รู้จักในชื่อว่าดอนเมืองโทลล์เวย์ ระยะทาง 21 กิโลเมตร มีรายได้หลักจากการเก็บค่าผ่านทาง นอกจากนี้ในปี 2566 ได้จัดตั้งบริษัท เอ สยาม อินฟรา จำกัด ประกอบธุรกิจตรวจสอบและซ่อมบำรุงด้านงานวิศวกรรมโยธา
และเตรียมพร้อมร่วมประมูลโครงการภาครัฐทั้งทางด่วน ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับ และโครงการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับทางด่วนหรือทางหลวงพิเศษ
ข้อมูล ณ วันที่ 19 ส.ค. 2567 บริษัทมีมูลค่าตลาด 14,174.79 ล้านบาท อัตราส่วนเงินปันผล 10.00%
- ปริมาณการจราจร รายได้และกำไร หลังพ้น COVID-19 ฟื้นตัวดี กลับมาเกือบเท่าก่อน COVID-19
- ปี 2563 ปริมาณจราจรเฉลี่ย 95,283 คัน/วัน รายได้ 2,063.23 ล้านบาท กำไรสุทธิ 791.43 ล้านบาท
- ปี 2564 ปริมาณจราจรเฉลี่ย 57,105 คัน/วัน รายได้ 1,212.38 ล้านบาท กำไรสุทธิ 404.30 ล้านบาท
- ในปี 2565 ปริมาณจราจรเฉลี่ย 85,417 คัน/วัน รายได้ 1,846.00 ล้านบาท กำไรสุทธิ 708.58 ล้านบาท
- ปี 2566 ปริมาณจราจรเฉลี่ย 106,907 คัน/วัน รายได้ 2,356.52 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1001.02 ล้านบาท
ไตรมาส 2 ปี 2567 ปริมาณจราจรเฉลี่ย 108,439 คัน/วัน รายได้ 589.53 ล้านบาท กำไรสุทธิ 236.75 ล้านบาท
ชัดเจนว่าผู้ใช้โทลล์เวย์ต้องยอมรับการปรับขึ้นราคาครั้งนี้และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และหวังว่าหลังหมดสัญญาสัมปทานจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ช่วยลดค่าผ่านทาง ส่วน DMT ก็ต้องหาเริ่มมองหาธุรกิจใหม่ทดแทนโทลล์เวย์ที่ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าจะได้สัมปทานถึงปี 2577