ค่าเงินบาทแข็งค่า

ทำไม “ค่าเงินบาทแข็งค่า” ทั้งที่เศรษฐไทยติดลบ ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่ามากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี
  • เงินบาทแข็งค่าเกิดจาก 3 สาเหตุหลัก คือ 1) การพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้ามากขึ้น ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกบรรเทาลง 2) กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมาสู่ในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น รวมทั้งตลาดหุ้นไทยที่ต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่อง ทำให้ไทยเป็น Regional Safe Haven ในสายตานักลงทุนต่างชาติ และ 3) ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลอยู่ จึงเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติ
  • เงินบาทแข็งค่ากระทบกับธุรกิจส่งออก ภาคท่องเที่ยว และคนทำงานที่ได้รายรับเป็นสกุลเงินต่างชาติ แนวโน้มค่าเงินบาทยังมีทิศทางแข็งค่าต่อไป จากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่เริ่มฟื้นตัว
  • ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่า โควิด-19 ทั่วโลกยังรุนแรง และเศรษฐกิจไทยยังฟื้นไม่เต็มที่ การหันมาท่องเที่ยวในประเทศ สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ช่วงนี้เรื่อง “ค่าเงินบาทแข็งค่า” ถูกพูดถึงกันเป็นอย่างมาก เพราะว่านับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันค่าเงินบาทวิ่งอยู่ในกรอบแคบ ๆ ที่ราว ๆ 30.01-30.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และเคยทะลุลงไปแตะระดับแข็งค่าที่สุดมาแล้วที่ 29.90 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงระหว่างวันของวันพุธที่ 9 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา

ซึ่งในช่วงนี้ถือเป็นระดับที่ “ค่าเงินบาทแข็งค่า” มากที่สุดในรอบเกือบ 1 ปี ทั้งที่ช่วงต้นปีถึงกลางปีที่โควิด-19 ระบาดหนักไปทั่วโลก ค่าเงินบาทยังมีทิศทางอ่อนค่าอยู่เลย และเคยอ่อนค่ามากที่สุดในช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ที่ระดับ 33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

แล้วทำไมใช่วงนี้ค่าเงินบาทถึงพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งที่เศรษฐกิจไทยยังติดลบ สาเหตุเกิดจากอะไร กระทบกับสิ่งรอบตัวเราอย่างไร และแนวโน้มจะไปในทิศทางไหน พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟัง

“ค่าเงินบาทแข็งค่า” เกิดจากสาเหตุอะไร ?

1.การพัฒนาวัคซีนมีความคืบหน้ามากขึ้น

สาเหตุแรกเลย เกิดจากกระแสเรื่องการพัฒนาวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากจนใกล้ถูกนำออกมาใช้ ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของข่าวดีไปทั่วโลก ทำให้ความเสี่ยงและความกังวลทั้งหลายเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกได้บรรเทาลงไป หลังจากที่มีข่าวดีเรื่องวัคซีนเรื่อย ๆ ค่าเงินบาทเทียบดอลลาร์สหรัฐก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 3.7% ในรอบ 2 เดือน เช่นเดียวกับสกุลอื่นเงินอื่นที่แข็งค่าขึ้นเช่นกัน อย่างเช่น หยวนจีน (แข็งค่าที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง) วอนเกาหลีใต้ (แข็งค่าที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง) เป็นต้น

2.กระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายมาสู่ในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น

สาเหตุถัดมาคือเรื่องกระแสการย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ เนื่องจากในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมา ปัจจัยที่กระทบเศรษฐกิจโลกมีแต่เรื่องที่ดี ไม่ว่าจะเป็นความชัดเจนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ การพัฒนาวัคซีนที่คืบหน้าไปมาก รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศก็ต่างออกมาคาดการณ์เศรษฐกิจโลกว่าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทำให้นักลงทุนมีมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินไปในทางที่ดีขึ้นเช่นกัน ก็เลยเริ่มย้ายเงินทุนออกจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มาสู่สินทรัพย์เสี่ยงที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วย

โดยนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา ต่างชาติได้ซื้อสุทธิหุ้นไทยมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งแรงกดดันที่ทำให้ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นมา สะท้อนให้เห็นว่าเงินบาทไทยยังเป็นสถานะ Regional Safe Haven ในสายตานักลงทุนต่างชาติ

3.ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเกินดุลอยู่

สาเหตุสุดท้ายเป็นเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังติดลบหนักอยู่จากภาคส่งออกที่ยังไม่ฟื้นและรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติก็หายไปทั้งหมด แต่โดยรวมแล้วไทยยังมีรายได้เข้าประเทศมากกว่ารายจ่าย เพราะการนำเข้าสินค้าและวัตถดิบจากต่างประเทศของไทยติดลบมากกว่า ประกอบกับนักลงทุนไทยยังออกไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างน้อย ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งเป็นการบันทึกรายรับรายจ่ายภาคต่างประเทศของไทยยังเป็นบวกอยู่ แม้จะลดลงมาบ้างจากช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19

ซึ่งการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยยังเป็นบวกท่ามกลางวิกฤตแบบนี้ กลายเป็นแรงดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติมากขึ้น ค่าเงินบาทก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามความต้องการเงินบาทที่มากขึ้น

“ค่าเงินบาทแข็งค่า” กระทบสิ่งรอบตัวเราอย่างไร ?

แน่นอนว่าค่าเงินบาทแข็งค่าย่อมส่งผลกระทบกับคนที่ทำธุรกิจส่งออก เพราะมูลค่าเงินที่ได้รับกลับมาจากการขายของไปตลาดต่างประเทศจะลดลงเมื่อแปลงกลับมาเป็นเงินบาทไทย ขณะที่คนทำธุรกิจนำเข้าก็จะได้ประโยชน์จากการซื้อสินค้าและวัตถุดิบจากต่างประเทศได้ในราคาที่ถูกลง เพราะค่าเงินบาทมีมูลค่ามากขึ้น

เงินบาทแข็งค่ายังกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน เพราะโดยทั่วไปแล้วเมื่อเงินบาทแข็งค่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยก็จะแลกเงินบาทได้ในมูลค่าที่ลดลง ทำให้ในบางครั้งหากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาก ก็อาจทำให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายปลายทางไปประเทศอื่นแทน ธุรกิจท่องเที่ยวก็เสียโอกาสในการสร้างรายได้

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องประเด็นภาคท่องเที่ยวพี่ทุยอยากบอกว่า ในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินบาทโดยรวมก็มีทิศทางแข็งค่ามาโดยตลอด แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยกันอย่างครึกครื้น อย่างปีที่แล้วมีนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจยังเติบโตดีอยู่ นักท่องเที่ยวก็มีกำลังซื้อสูง ประกอบกับความมีเสน่ห์ของสถานที่และอาหารไทยที่เป็นจุดดึงดูดสำคัญ เป็นสิ่งที่ชดเชยและเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติตบเท้าเข้ามาในไทย แม้เงินบาทในบางช่วงเวลาจะแข็งค่าก็ตาม

นอกจากนี้ หากใครทำงานที่ได้รับเงินเดือนหรือรายรับเป็นสกุลเงินต่างชาติ ย่อมได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทอย่างเต็มๆ ตัวอย่างเช่น หากเราได้รับเงินเดือนที่ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ ถ้าเงินบาทอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อไปแลกเป็นเงินบาทจะได้รับเงินเดือนที 31,000 บาท แต่ถ้าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 29 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อไปแลกเงินบาทกลับมาจะเหลือเพียง 29,000 บาท หายไป 2,000 บาททันที

แนวโน้มค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร ?

พี่ทุยต้องบอกว่าการคาดการณ์ทิศทางค่าเงินเป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่างทางด้านเศรษฐกิจและการเงินที่อยู่เหนือเกินกว่าจะคาดเดาได้แม่นยำ แต่เราสามารถคาดการณ์โดยดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

การได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

โดยประเด็นแรกที่น่าสนใจคือ การได้รับชัยชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของนายโจ ไบเดน ที่มีแนวทางนโยบายที่เป็นมิตรกับเศรษฐกิจโลก และความรุนแรงของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในปัจจุบันที่ลดดีกรีลงไป รวมทั้งการเริ่มนำวัคซีนออกมาใช้ในหลายประเทศแล้ว สิ่งเหล่านี้ล่วนเป็นปัจจัยเชิงบวกที่ช่วยลดความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกลงไปได้

และเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มดูดีขึ้นในสายตาของนักลงทุน ประกอบกับในปีนี้ที่ทั้งภาครัฐและธนาคารกลางทั่วโลกอัดฉีดเม็ดเงินอย่างมหาศาลจนเรียกได้ว่าเกิดสภาพคล่องล้นโลก ทำให้นักลงทุนอาจย้ายเงินลงทุนจากฝั่งอเมริกามาสู่ฝั่งเอเชีย รวมทั้งไทยมากขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และกลายเป็นแรงกดดันทำให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียและค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้น

การส่งออกของไทยก็จะเริ่มกลับมาขยายตัว

นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวชัดเจนขึ้น การส่งออกของไทยก็จะเริ่มกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ รวมทั้งทางการไทยก็เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้นในปีหน้า ก็จะทำให้ไทยมีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น อีกทั้งผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยก็ยังสูงกว่าหลายประเทศโดยเปรียเทียบ จากอัตราดอกเบี้ยไทยที่เป็นบวกและเงินเฟ้อไทยที่ต่ำ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าไทยจำนวนมาก ความต้องการเงินบาทมากขึ้น ค่าเงินบาทก็ปรับตัวแข็งค่าขึ้นตามไปด้วย

ดังนั้นแล้ว ในยามวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกยังไม่สงบลง เศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว เพราะการขาดหายไปของรายได้จากภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวที่คิดเป็นประมาณ 70% ของ GDP ไทย การแข็งค่าของเงินบาทในปัจจุบันและในระยะข้างหน้าคงจะเป็นปัจจัยสำคัญมากขึ้นที่กดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

พี่ทุยคิดว่า ในช่วงที่เงินบาทแข็งค่าแบบสุด ๆ สถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยังรุนแรง และทางการไทยยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ตามปกติ แต่ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูแห่งการท่องเที่ยว แต่ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศได้ การหันมาท่องเที่ยวในไทย โดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก นอกจากจะเป็นการพักผ่อนช่วงปลายปีแล้ว หากเราถ่ายรูปและเช็คอินลงในโซเชียล ยังเป็นการช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอีกด้วย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย