รู้จัก คาร์กิล (Cargill) เอกชนผู้กุมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของโลก

รู้จัก คาร์กิล (Cargill) เอกชนผู้กุมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของโลก

4 min read  

ฉบับย่อ

  • วิลเลียม วอลเลซ คาร์กิล ลงทุนในธุรกิจฉางเก็บเมล็ดพืชในปี 1865 มีการขยายธุรกิจทั้งทำฟาร์ม ทำเกษตร เลี้ยงสัตว์ และแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ
  • ในปี 2000 คาร์กิลถูกกดดันให้ IPO แต่บริษัทเลือก Spin-off แบ่งหุ้น 64% ไปบริษัทลูกคือ Mosaic Company ทำให้หุ้นของคาร์กิลยังคงอยู่กับคนในตระกูล และเป็นบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีทรัพย์สิน 759,500 ล้านดอลลาร์
  • คาร์กิลในปัจจุบันทำธุรกิจค่อนข้างหลากหลาย โดยหลัก ๆ จะมีฝ้าย โกโก้ เกลือ โลจิสติกส์ขนส่งทางทะเล สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ธัญพืช เนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์ปีก ปลา อาหารสัตว์ อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ค้าปลีก
  • คาร์กิลเริ่มลงทุนในไทยเมื่อปี 1968 ปัจจุบันมี 14 สาขาทั่วประเทศ โดยเน้นใช้ไทยเป็นฐานผลิตสินค้าส่งออกไปต่างประเทศ และคาร์กิลมีแผนเข้ามาตีตลาด Plant-base Meat ในไทย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หากพูดถึงบริษัทที่ทำธุรกิจหลากหลายและมีพื้นฐานเป็นอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร คนไทยอย่างเรา ๆ คงจะนึกถึง CPGroup หรือไม่ก็เบทาโกร ซึ่งทั้งสองบริษัทถือว่าเป็นผู้กุมตลาดส่วนใหญ่ในไทย แต่หากเรามองไปที่ระดับโลกในเรื่องเกษตรและอาหาร ชื่อของ “คาร์กิล (Cargill)” อาจจะเคยผ่านหูผ่านตาหลายคนมาบ้าง

เพราะ Cargill เป็นชื่อที่ติด Top แทบทุกปีในแง่ของรายได้ ในปี 2021 Cargill ทำรายได้ไป 134,000 ล้านดอลลาร์ ยึดแท่นบริษัทเอกชนที่ทำรายได้สูงสุดในสหรัฐฯ และยังมีบริษัทกระจายอยู่ 70 ประเทศ รวมถึงมีตลาดอยู่กว่า 140 ประเทศทั่วโลก โดยครั้งนี้พี่ทุยจะพาทุกคนไปรู้จักกับคาร์กิล ว่าสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาได้ยังไง และมีความสำคัญขนาดไหนต่ออุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ถ้าพร้อมแล้วเรามาเริ่มกันได้เลย!

กำเนิด “คาร์กิล”

จุดเริ่มต้นของทุกอย่างมาจากชายที่ชื่อว่า “วิลเลียม วอลเลซ คาร์กิล (William Wallace Cargill)” ที่อาศัยอยู่ในเมืองเจนส์วิล, วิสคอนซิน สหรัฐฯ โดยวิลเลียมทำงานเก็บเงินได้ก้อนหนึ่งแล้วตัดสินใจเอาเงินไปลงทุนทำธุรกิจส่วนตัวซื้อ “ฉางเก็บธัญพืช (Elevator)” ในเมืองคอนโอเวอร์, ไอโอวา ปี 1865

และในปี 1867 น้องชายของวิลเลียม คือ แซมและซิลเวสเตอร์ มาร่วมลงทุนด้วย มีการขยายฉางเก็บธัญพืชและสร้างโรงเลื่อยไม้ ซึ่งธุรกิจเริ่มไปได้สวย ทำให้ในปี 1875 มีการย้ายธุรกิจไปเมืองที่ใหญ่กว่าเดิมคือเมืองลาครอส, วิสคอนซิน รวมถึงตัวของแซม คาร์กิล ก็ได้แยกไปทำธุรกิจแบบเดียวกันที่เมืองมินิอาโพลิส, มินเนสโซต้า โดยทำกำไรได้ทั้งสองที่

จึงเกิดเป็นบริษัทของครอบครัวคาร์กิลอยู่ทั้งสองรัฐ โดยในวิสคอนซินกลายเป็น W.W. Cargill Company of La Crosse ส่วนในมินเนสโซต้ากลายเป็น Cargill Elevator ซึ่งมีการขยายธุรกิจทั้งซื้อฟาร์ม ทำเกษตร และเลี้ยงสัตว์ เพื่อแปรรูปเป็นสินค้าต่าง ๆ

การเข้ามาลงทุนของครอบครัวคาร์กิลเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะพอดี เพราะรัฐบาลกำลังเร่งบุกเบิกพื้นที่ทางตะวันตก จนเกิดการสร้างทางรถไฟโยงใยไปทั่วประเทศเพื่อขนทั้งคนและสินค้าไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งทางรถไฟก็พาดผ่านทั้งวิสคอนซินและมินเนสโซต้า ทำให้คาร์กิลสามารถขยายตลาดไปรัฐอื่น ๆ ได้ บริษัทเลยโตอย่างรวดเร็วนั่นเอง

เส้นทางการเติบโตของ “คาร์กิล”

บริษัททั้ง 2 เติบโตไปควบคู่กัน จนในปี 1903 แซม คาร์กิล ก็เสียชีวิต ทำให้วิลเลียมรวม Cargill Elevator เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ W.W. Cargill Company of La Crosse โดยให้ลูกเขยคือ “จอห์น แมกมิลเลียน (John McMillian)” ไปดูแล Cargill Elevator

แต่พอในปี 1909 วิลเลียมก็เสียชีวิตลง ซึ่งบังเอิญตรงกับช่วงที่บริษัทเจอวิกฤตการเงินเป็นหนี้ 2.25 ล้านดอลลาร์ ครอบครัวคาร์กิลที่เห็นความสามารถของจอห์นเลยให้ขึ้นมาเป็นผู้นำบริษัทเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 

และในปี 1914 ก็เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเหมือนโชคหล่นทับคาร์กิล เพราะภาวะสงครามทำให้ความต้องการสินค้าเกษตรถีบตัวสูงขึ้น ราคาก็พุ่งสูงตามไปด้วย คาร์กิลสามารถทำรายได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ได้กำไรจนมีเงินมาปลดหนี้รอดพ้นจากวิกฤตการเงินของตัวเอง 

คาร์กิลใต้การนำของจอห์น โตจนกลายเป็นบริษัทเกษตรระดับ Top ของสหรัฐฯ เลยทีเดียว มีการขยายบริษัทเครือไปเปิดในนิวยอร์กและต่างประเทศอย่างแคนาดา อีกทั้งในปี 1936 ที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ราคาสินค้าเกษตรก็พุ่งขึ้นอีก คาร์กิลก็ทำกำไรจากภาวะนี้ได้มหาศาลกว่าเดิม แต่ก็มีการโจมตีว่าคาร์กิลกักตุนสินค้าของตัวเองและหาผลประโยชน์จากสงคราม เลยทำให้แม้กำไรจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ภาพลักษณ์ก็ลดลงเช่นเดียวกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คาร์กิลเริ่มขยายธุรกิจของตัวเองให้หลากหลายขึ้น จากในตอนแรกที่เน้นผลิตฝ้าย แปรรูปธัญพืชและเนื้อสัตว์ ก็มีธุรกิจอาหารสัตว์, Foodservices, ค้าปลีกอาหารและเครื่องดื่ม, ผลิตเกลือ รวมไปถึงควบคุมธุรกิจขนส่งทางทะเล

เจาะเครือของคาร์กิล มีอะไรบ้าง?

คาร์กิลมีบริษัทกระจายอยู่ 70 ประเทศทั่วโลก และมีพนักงานกว่า 155,000 คน ทำให้คาร์กิลเป็นบริษัทอุตสาหกรรมเกษตรที่ทำธุรกิจหลายอย่างมาก แต่พี่ทุยจะสรุปธุรกิจใหญ่ ๆ ที่เป็นจุดขายของคาร์กิลทั้งหมด 5 ธุรกิจ ดังนี้

1. การขนส่งทางทะเล

เป็นธุรกิจโลจิสติกส์ในเครือของคาร์กิลที่ควบคุมโดย Cargill Ocean Transportation เริ่มต้นในปี 1956 ซึ่งคาร์กิลเป็นเจ้าของเรือขนส่งสินค้ากว่า 100 ลำ และบริการขนส่งสินค้าไปท่าเรือต่างๆ กว่า 70 แห่งทั่วโลก ซึ่งในปี 2020 คาร์กิลขนสินค้าได้ในระดับ 185 ล้านตัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นเหล็ก ถ่านหิน ธัญพืช น้ำตาล ปุ๋ย และน้ำมัน

2. ฝ้าย

เป็นธุรกิจที่คาร์กิลเริ่มทำในช่วงแรก ๆ ของการตั้งบริษัทและยังคงเป็นจุดขายของคาร์กิลมาจนถึงปัจจุบัน มี Hohenberg Bros.Co ควบคุม โดยฐานการผลิตใหญ่ ๆ อยู่ที่สหรัฐฯ และบราซิล 

3. โกโก้

เป็นธุรกิจที่ควบคุมโดย Cargill Cocoa & Chocolate โดยมีฐานการผลิตในไอวอรี่โคสต์ บราซิล กานา แคเมอรูน และอินโดนีเซีย ซึ่งมีการเอาโกโก้ไปแปรรูปทำช็อกโกแลตหลาย ๆ แบรนด์ทั้งในอเมริกาเหนือและยุโรป ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ Wilbur ของสหรัฐฯ, Peter’s ของสวิตเซอร์แลนด์ และ Veliche ของเบลเยียม

4. เกลือ

คาร์กิลผลิตเกลือในแบรนด์ Diamond Crystal Salt ที่เริ่มในปี 1962 โดยคาร์กิลกว้านซื้อเหมืองเกลือทั่วสหรัฐฯ ทำให้ในปัจจุบันคาร์กิลเป็นผู้กุมตลาดเกลือรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

5. สารให้ความหวานแทนน้ำตาล

อันนี้ก็เป็นจุดขายที่สำคัญเช่นเดียวกัน โดยคาร์กิลร่วมลงทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Coca-Cola พัฒนาสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในแบรนด์ Truvia ซึ่งถือว่าเป็นผู้ค้ารายใหญ่ที่สุดในโลก มีส่วนแบ่งการตลาด (Market Share) กว่า 33%

ทั้ง 5 ธุรกิจเป็นจุดขายและจุดเด่นของคาร์กิล แต่อย่างที่พี่ทุยเคยบอกไปว่าคาร์กิลมีบริษัทอยู่ 70 ประเทศทั่วโลก ยังมีธุรกิจอีกหลายอย่างที่คาร์กิลกำลังทำอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ โดยใช้จุดเด่นของประเทศที่เข้าไปลงทุนและสร้างธุรกิจให้เข้ากับฐานการผลิตในประเทศนั้น ๆ

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจธัญพืช เนื้อวัว เนื้อหมู สัตว์ปีก ปลา อาหารสัตว์ อาหารสำเร็จรูป เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ค้าปลีก ล้วนเป็นธุรกิจที่คาร์กิลกำลังทำอยู่ เรียกได้ว่า คาร์กิลสามารถควบคุมปัจจัย 4 ได้แทบทั้งหมดเลยทีเดียว 

ธุรกิจครอบครัวและการกดดัน IPO

หากเราสังเกตจะเห็นได้ว่าคาร์กิลเป็นบริษัทที่อยู่ในมือของตระกูลคาร์กิลหรือตระกูลที่เป็นญาติมาโดยตลอด แต่ในเวลาต่อมาคาร์กิลที่มีการขยายธุรกิจ ทั้งสร้างแบรนด์ใหม่ ๆ และทำบริษัทสาขาในประเทศต่าง ๆ เลยต้องใช้เงินลงทุนเยอะตามไปด้วย

ตระกูลคาร์กิลเลยมักสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทอื่นเพื่อให้ช่วยซัพพอร์ทเรื่องเงินทุน  และในบางครั้งก็มีคนนอกเข้ามาเป็นบอร์ดบริหารอีกด้วย แต่หุ้น 90% ยังคงอยู่ในมือของคนในตระกูลอยู่นะ… 

คราวนี้ การใช้วิธีสร้างความสัมพันธ์เพื่อหาเงินทุน ทำให้คาร์กิลถูกกดดันให้ IPO อยู่หลายครั้ง 

พี่ทุยขออธิบายก่อนว่า IPO หรือ Initial Public Offering คือการหาเงินทุนวิธีหนึ่งของบริษัท โดยการออกหุ้นเพิ่มแล้วเอาหุ้นนั้นไปขายในตลาดหลักทรัพย์ให้คนทั่วไปอย่างเรา ๆ สามารถมาซื้อและเป็นเจ้าของกิจการได้ โดยบริษัทก็จะเอาเงินที่เราซื้อหุ้นไปลงทุนต่อนั่นเอง

และในปี 1993 ถึงแม้คาร์กิลจะทำกำไรได้ทุกปี แต่บริษัทโตค่อนข้างช้า เพราะขาดเม็ดเงินลงทุนต่อ คาร์กิลเลยโดนกดดันให้ IPO ซึ่งบริษัทก็ไม่เลือก IPO โดยตรง แต่เลือกใช้วิธี Spin-off แทน

ซึ่งหาร Spin-off คือการแยกบริษัทลูกออกมาจากบริษัทแม่ เพื่อลดภาระเงินทุนของบริษัทแม่ ส่วนบริษัทลูกก็สามารถหาเงินทุนโดยแบ่งหุ้นของตัวเองไป IPO

โดยในปี 2000 คาร์กิลเลือก Spin-off แบ่งหุ้น 64% ไปที่บริษัทลูกคือ Mosaic Company ที่ทำเกี่ยวกับปุ๋ยและอาหารสัตว์ ซึ่งหุ้นของคาร์กิลที่ถูกแบ่งไปให้ Mosaic ก็ถูกเอาไป IPO อีกที เพื่อที่ Mosaic จะได้มีเงินมาลงทุนต่อ

ส่วนคาร์กิลก็ลดภาระเงินทุนที่ใช้ดูแล Mosaic เอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนอย่างอื่นแทนได้และลดกระแสกดดัน IPO แถมยังรักษาหุ้นของบริษัทแม่ให้อยู่ในมือตระกูลของตัวเองได้อีก

และปัจจุบัน (ปี 2022) คาร์กิลก็ยังคงเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีตระกูลคาร์กิลเป็นเจ้าของ และย้อนกลับไปในปี 2018 มีการเปิดเผยทรัพย์สินโดยรวมของบริษัทซึ่งแตะระดับ 759,500 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

คาร์กิลและไทย

คราวนี้เราลองมาดูกันว่าคาร์กิลเกี่ยวข้องกับประเทศไทยในด้านไหนบ้าง?

โดยพี่ทุยได้เกริ่นไว้ตอนต้นแล้วว่าธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตรและอาหารในไทยนั้น เราจะคุ้นเคยกับแบรนด์ของ CP และเบทาโกรกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งแบรนด์ของคาร์กิลที่ตีตลาดไทยนั้นมีค่อนข้างน้อย

แต่จริง ๆ แล้ว คาร์กิลไม่ได้มองไทยเป็นตลาด แต่มองเป็นฐานการผลิตมากกว่า ทำให้ไทยก็เป็นหนึ่งใน 70 ประเทศที่คาร์กิลเลือกมาลงทุนสร้างบริษัทในเครือของตัวเอง โดยคาร์กิลเริ่มเข้ามาสร้างบริษัทในไทยเมื่อปี 1968 ซึ่งก็พัฒนามาจนมี 14 สาขาทั่วประเทศในปัจจุบัน 

แล้วธุรกิจที่คาร์กิลเลือกทำในไทยมีอะไรบ้าง?

หลัก ๆ เลย คือทำส่วนผสมอาหาร อาหารสัตว์ ไก่ปรุงสุก แปรรูปเนื้อสัตว์  ผลิตธัญพืชและเมล็ดพืชน้ำมัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตเพื่อส่งออกไปขายในต่างประเทศ 

แต่ยังมีสินค้าบางประเภทของคาร์กิลที่เข้ามาตีตลาดในไทยด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งคาร์กิลก็จับกระแสที่กำลังมาแรงในตอนนี้อยู่คือเทรนด์รักสุขภาพและมังสวิรัติ ผลิตสินค้าที่เรียกว่า Plant-base Meat หรือเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช เป็นสินค้าทางเลือกของคนรักสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

ซึ่งคาร์กิลก็เริ่มหันมาวิจัยทุ่มงบกว่า 7,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด และรสชาติคล้ายเนื้อสัตว์จริงมากที่สุดแต่ยังคงส่วนผสมของพืชเอาไว้ โดยในปี 2021 คาร์กิลก็เริ่มเข้ามาตีตลาดไทยโดยเปิดตัวนักเก็ตที่ทำจากพืช และเป็นช่วงที่ Plant-base Meat กำลังเติบโตในไทยเช่นเดียวกัน มีแบรนด์ที่แข่งขันกันอยู่ประมาณ 10 แบรนด์แต่ยังคงเป็นแค่รายย่อยเท่านั้น

ส่วนตัวพี่ทุยคิดว่าคาร์กิลที่มีทุนมหาศาลและจริงจังกับ Plant-base Meat ในอนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า อาจก้าวขึ้นมาเป็นผู้กุมตลาดรายใหญ่ของเนื้อสัตว์ทางเลือกในไทยได้เลยทีเดียว

เปรียบเทียบคาร์กิลกับบริษัทอื่น

อย่างที่เราได้รู้กันไปแล้วว่าคาร์กิลถูกจัดให้เป็นบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ทำธุรกิจหลายอย่าง แต่มีพื้นฐานอยู่ที่อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร คราวนี้พี่ทุยจะลองเปรียบเทียบคาร์กิลกับบริษัทอื่นที่มีลักษณะคล้าย ๆ กัน เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น โดยบริษัทที่เทียบนั้นมีพื้นฐานเหมือนคาร์กิล แต่อาจจะแตกต่างตรงธุรกิจย่อยของแต่ละบริษัทที่ทำไม่เหมือนกัน 

รู้จัก คาร์กิล (Cargill) เอกชนผู้กุมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของโลก

อ่านเพิ่ม

เป็นยังไงกันบ้างกับเรื่องราวของคาร์กิล พี่ทุยเชื่อว่าคงทำให้หลายคนได้รู้จักกับยักษ์ใหญ่ด้านเกษตรและอาหารของโลกมากยิ่งขึ้น รวมถึงเห็นเส้นทางการปรับตัวตลอด 157 ปี ทั้งการสร้างพื้นฐานของตัวเอง การขยายธุรกิจ การลงทุนในประเทศต่าง ๆ การหาเงินทุน หรือแม้กระทั่งการหลีกเลี่ยง IPO เพื่อรักษาหุ้นให้อยู่ในมือของคนในตระกูลได้จนปัจจุบัน

ทำให้เห็นว่าคาร์กิลค่อนข้างเข้มแข็ง ขยายธุรกิจของตัวเองอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนจะยังคงรักษาความยิ่งใหญ่ในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของตัวเองไปอีกยาวนานด้วยเช่นเดียวกัน

อ้างอิง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย