วัคซีน โควิด-19

ทำไมเศรษฐกิจโลก ปี 2564 ฟื้นตัวได้จาก “วีคซีน” เท่านั้น !?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • เศรษฐกิจไทยปี 2563 หดตัวมากที่สุดในรอบ 22 ปี จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ฉุดให้ภาคการส่งออกของไทยติดลบหนัก และรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปมหาศาล
  • จีน ไต้หวัน และเวียดนาม กลับเป็น 3 ประเทศของโลกที่อยู่ในภูมิภาคเอเชียที่เศรษฐกิจปี 2563 สามารถขยายตัวได้ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก 
  • ขณะที่เศรษฐกิจโลกปี 2564 มีแนวโน้มฟื้นตัวจากปี 2563 แต่มีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการฉีดวัคซีน ประเทศที่มีความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนมากจะทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้เทียบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19
  • ประเทศไทยได้รับวัคซีนล็อตแรกแล้วจากบริษัท Sinovac และ AstraZeneca 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ประเทศไทยได้รับ “วัคซีน” ล็อตแรกแล้วจากบริษัท Sinovac และ AstraZeneca  

ในช่วงต้นปีแบบนี้ตัวเลข GDP ของแต่ละประเทศก็ทยอยออกกันมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งไทยด้วย ล่าสุด GDP ไทยปี 2563 ติดลบ 6.1% ต่ำสุดในรอบ 22 ปี หรือตั้งแต่ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยมีสาเหตุหลักมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทุกประเทศทั่วโลกต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลให้การค้าขายทั่วโลกชะงักลง ทำให้ภาคการส่งออกของไทยที่คิดเป็นประมาณ 70% ของ GDP ติดลบอย่างหนัก

ทั้งการส่งออกสินค้าที่ติดลบถึง 6.6% และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เหลือเพียง 7 ล้านคน ทำให้รายได้เข้าประเทศหายไปราว 80% จากช่วงปกติ

แต่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว ก็มีส่วนทำให้การส่งออกของไทยนั้นเริ่มกลับมาฟื้นตัวได้ตาม ขณะที่แรงกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาอย่างต่อเนื่องก็ช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทยได้ดีพอสมควร ทำให้คาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 นี้ จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ราว 3-4%

จีน ไต้หวัน และเวียดนาม เป็นเพียง 3 ประเทศของโลกที่ขยายตัวได้ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

คราวนี้มาดู GDP ปี 2563 ของประเทศอื่นกันบ้าง ซึ่งพี่ทุยพบสิ่งที่น่าสนใจว่าในบรรดาประเทศที่เราคุ้นเคยกันมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือพูดง่าย ๆ ว่าเศรษฐกิจสามารถขยายตัวเป็นบวกได้ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั่นคือ จีน ไต้หวัน และเวียดนาม

ซึ่งเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียทั้งหมดที่มีการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ดีมาโดยตลอด มีส่วนผลักดันให้ภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ เติบโตได้อย่างเต็มที่

GDP ปี 2563

  • จีน : +2.3%
  • ไต้หวัน : +3.0%
  • เวียดนาม : +2.9%

สำหรับเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกนั้นเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ GDP ปี 2563 ขยายตัวเป็นบวกได้ที่ 2.3% จากการเผชิญและควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ก่อนใครเพื่อน ทำให้เศรษฐกิจในประเทศกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

ขณะที่ GDP ของไต้หวันก็ขยายตัว 3.0% ถือเป็นประเทศที่มีระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดในเอเชียและของโลก สาเหตุสำคัญก็เพราะวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ทำให้เกิด Mega Trend ใหม่ นั่นคือ Work From Home และการติดต่อสื่อสารทางไกลผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ทำให้สินค้าส่งออก เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิปประมวลผล และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าอุตสาหกรรมที่ไต้หวันเก่งและถนัดอยู่แล้วนั้นเติบโตขึ้นอย่างมาก จนช่วยให้เศรษฐกิจไต้หวันได้ประโยชน์เต็ม ๆ จากวิกฤตครั้งนี้

เช่นเดียวกับเศรษฐกิจเวียดนามที่ GDP ขยายตัวที่ 2.9% นั้น เวียดนามก็ใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสในการแทรกตัวส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ Work From Home และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไปยังตลาดโลกด้วย ซึ่งเวียดนามเป็นประเทศที่ภาคการส่งออกเติบโตมากที่สุดในเอเชีย 

ขณะเดียวกัน ก็เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศที่ควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่อยู่ จนเกิดระลอก 2 ระลอก 3 ตามมานั้น ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่อยู่หลายครั้งหลายหน โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลให้ GDP ปี 2563 ของประเทศเหล่านี้ติดลบมากที่สุดเป็นประวัติการณ์กันเลยทีเดียว 

GDP ปี 2563

  • สหรัฐฯ : -3.5%
  • ยุโรป : -6.8%
  • ญี่ปุ่น : -4.8%

ดังนั้นจะเห็นว่าภาพเศรษฐกิจโลกแต่ละประเทศในปี 2563 ที่ผ่านมาจะดีหรือไม่นั้น สิ่งสำคัญคือขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

เศรษฐกิจโลกปี 2564 ขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการฉีด “วัคซีน”

เมื่อมองไปข้างหน้าจากตัวเลขคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2564 ของ IMF ล่าสุด ชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกจะกลับมาขยายตัวในแดนบวกหรือฟื้นตัวขึ้นจากปี 2563 แต่ก็มีข้อสังเกตว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันออกไป

โดยประเทศที่เศรษฐกิจปี 2564 จะกลับมาเติบโตได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เช่น

  • สหรัฐฯ ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก GDP ปี 2564 จะขยายตัวได้ 5.1% หลังจากปี 2563 ติดลบไป 3.4% และปี 2562 ที่ขยายตัวได้เพียง 2.2%
  • ขณะที่ GDP จีนปี 2564 จะขยายตัวที่ 8.1% ต่อเนื่องจากปี 2563 ที่ 2.3% และปี 2562 ที่ 6.0%
  • และอินเดียที่ GDP ปี 2564 จะขยายตัวสูงถึง 11.5% ฟื้นตัวขึ้นจากปี 2563 ที่ติดลบหนักถึง 8.0% และปี 2562 ที่ขยายตัวได้เพียง 4.2% ซึ่งอินเดียจะกลายเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่มีตัวเลขการเติบโตของ GDP มากที่สุดและรวดเร็วที่สุดของโลก   

ในทางตรงกันข้าม ประเทศที่เศรษฐกิจปี 2564 ยังไม่สามารถกลับมาเติบโตได้เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เช่น

  • ยุโรปที่ GDP ปี 2564 ขยายตัวเพียง 4.2% เทียบกับปี 2563 ที่ติดลบไปถึง 7.2% และปี 2562 ที่ขยายตัวเพียง 1.3%
  • และญี่ปุ่นที่ GDP ปี 2564 ขยายตัวที่ 3.1% เทียบกับปี 2563 ที่ติดลบไป 5.1% และปี 2562 ที่ขยายตัว 0.3%

ซึ่งจะเห็นว่า แม้เศรษฐกิจปี 2564 ของทั้งยุโรปและญี่ปุ่นจะกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ยังไม่สามารถชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นในปีวิกฤตโควิด-19 ได้

แม้ว่าเศรษฐกิจปี 2564 ของทุกประเทศจะดูดีขึ้นกันถ้วนหน้าแต่ก็มีความแตกต่างกัน สิ่งสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เหมือนปี 2563 เพียงอย่างเดียว แต่ปีนี้จะขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไว้รัสโควิด-19 ซึ่งประเทศที่มีความคืบหน้าเรื่องวัคซีนมากกว่าจะมีส่วนสำคัญให้เศรษฐกิจกลับไปโตได้เทียบเท่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ได้ 

ความคืบหน้าในการฉีด “วัคซีน” ของแต่ละประเทศ

สหรัฐฯ มีการฉีดวัคซีนไปแล้วมากที่สุดในโลกจำนวนกว่า 64 ล้านโดส และฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศ

ขณะที่จีนแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศเพียง 3% ของประชากรทั้งประเทศ แต่มีการฉีดวัคซีนจำนวนโดสมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลกกว่า 40 ล้านโดส

ในส่วนของอินเดียแม้ว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศไม่มากคิดเป็น 1% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ก็มีจำนวนโดสของการฉีดวัคซีนไปแล้วมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกกว่า 10 ล้านโดส และเป็นประเทศที่มีการจองวัคซีนมากที่สุดในโลกกว่า 2,000 ล้านโดส พร้อมตั้งเป้าว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศราว 300 ล้านคนให้ได้ภายในกลางปีนี้

ขณะที่ 4 ประเทศเศรษฐกิจหลักของยุโรป อย่างเช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี และสเปน มีความคืบหน้าเรื่องวัคซีนค่อนข้างล่าช้าพอสมควร เพราะมีการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศไปแล้วเพียง 5-6% ของประชากรทั้งประเทศ และฉีดวัคซีนไปจำนวนไม่กี่ล้านโดสเท่านั้น ทั้งที่การแพร่ระบาดยังคงอยู่ในระดับที่รุนแรงและยังมีการล็อกดาวน์ในบางพื้นที่อยู่ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะยังไม่ได้รับวัคซีนตามที่ตกลงกันไว้กับบริษัทผู้ผลิต

เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้วเพียงหลักหมื่นโดสเท่านั้น และฉีดให้กับประชาชนในประเทศไปเพียงไม่ถึง 1% ของประชากรทั้งประเทศ และบางรายที่ได้รับวัคซีนก็มีปัญหาข้างเคียงตามมาด้วย

ในส่วนของไทยเองล่าสุด (24 ก.พ. 64) ได้รับ “วัคซีน” ล็อตแรกแล้วส่งตรงมาจากจีนจำนวน 200,000 โดสจากบริษัท Sinovac และ 100,000 โดสจากบริษัท AstraZeneca 

นับว่าไทยเองก็มีความคืบหน้าในการจัดหา “วัคซีน” มาให้คนไทยและเป็นไปตามที่หลายคนคาดหวังกันไว้ ซึ่งพี่ทุยก็หวังเช่นกันว่าการได้รับวัคซีนมาแล้ว จะเป็นอีกหนึ่งแรงหนุนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับเศรษฐกิจไทยกลับมาฟื้นตัวได้ นอกเหนือจากเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจอย่างการส่งออกและการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ..

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย