"Startup" ระดับยูนิคอร์น อินโดนีเซีย

ทำไมอินโดนีเซีย มี “Startup” ระดับยูนิคอร์น แต่ไทยไม่มี ?

2 min read  

ฉบับย่อ

  • อินโดนีเซียมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น 5 แห่ง ได้แก่ Gojek ผู้ให้บริการเรียกรถ Tokopedia และ Bukalapak ผู้ให้บริการอีกคอมเมิร์ซ Traveloka ผู้ให้บริการด้านท่องเที่ยว และ OVO ผู้ให้บริการทางการเงินออนไลน์ 
  • ปัจจัยหลักปัจจัยแรกที่ช่วยให้อินโดนีเซียมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นได้ เกิดจากจำนวนประชากรในประเทศที่มากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และยังพร้อมเปิดรับเศรษฐกิจดิจิทัล 
  • ปัจจัยที่สองคือการเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของแต่ละท้องที่และรู้ว่าต้องแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร ขณะที่ปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมคือแนวคิดแบบการสร้างตัวให้ใหญ่และเร็ว รวมถึงไม่ได้หยุดมองแค่ตลาดในอินโดนีเซีย
  • ภาครัฐเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนที่ช่วยบ่มเพาะให้เกิดการพัฒนาสตาร์ทอัพ โดยอินโดนีเซียได้พัฒนาให้การทำธุรกิจในประเทศง่ายขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

“Startup” ระดับยูนิคอร์น คืออะไร ?

“Startup” ระดับยูนิคอร์นคือ Startup ที่มีมูลค่าหุ้นรวมกับหนี้สิน ซึ่งหมายรวมถึงเงินลงทุนที่ได้รับจากนักลงทุน มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยราวๆ  3 หมื่นล้านบาท โดยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรามีสตาร์ทอัพที่ถึงมูลค่าดังกล่าวเช่นกัน

ในขณะที่ประเทศไทยกำลังมองหาสตาร์ทอัพรายแรกที่จะมาถึงระดับยูนิคอร์นได้ ประเทศอินโดนีเซียได้มี Startup ระดับยูนิคอร์นไปแล้วถึง 5 แห่ง และหลายแห่งได้เข้ามาดำเนินการธุรกิจในไทยด้วยเช่นกัน พี่ทุยเชื่อว่าหลายคนคงเคยใช้ผู้ให้บริการเรียกรถ แท็กซี่ หรือส่งของส่งอาหารอย่าง Gojek และผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวอย่าง Traveloka กันมาแล้ว

4 ปัจจัยหลักที่พาอินโดนีเซียมี “Startup” ระดับยูนิคอร์น

แล้วอะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญซึ่งช่วยให้อินโดนีเซียกลายเป็นม้ามือที่มีสตาร์ทอัพยูนิคอร์นมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พี่ทุยได้แบ่งออกมาเป็น 4 ปัจจัยหลัก ๆ

1. ประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก 

อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 271 ล้านคน ซึ่งมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก โดยไม่ใช่แค่มีเพียงประชากรมากเท่านั้น สัดส่วนประชากรผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นยังน้อยกว่าประเทศไทยเท่าตัว อยู่ที่ราว 6% เท่านั้น 

เท่ากับว่าอินโดนีเซียได้เปรียบในเรื่องของจำนวนประชากร ที่ไม่ได้มีดีแค่จำนวน แต่ยังเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาในชีวิตอีกด้วย เห็นได้ชัดจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอินโดนีเซีย ซึ่งประเมินโดย Google, Temesek และ Bain & Company พบว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียมีแนวโน้มจะเติบโตถึง 23% ในอีก 5 ปีข้างหน้า 

ในรายงานของ Google ได้ประเมินว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียจะมีมูลค่ามากถึง 124,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 มากที่สุดในบรรดาเศรษฐกิจหลักของอาเซียนซึ่งรวมไปถึงสิงคโปร์ ไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยแม้ไทยมีแนวโน้มที่จะมีอัตราเติบโตมากกว่าที่ 25% แต่มูลค่ายังตามหลังอยู่มาก อยู่ที่ราว 53,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2025 เท่านั้น

2. Localization จุดแข็งดึงดูดทุนต่างชาติ 

ไม่มีใครจะเข้าใจประเทศบ้านเกิดได้ดีเท่ากับคนที่เกิดและเติบโตในประเทศนั้น และ Startup ของอินโดนีเซียก็เข้าใจจุดนั้นดี ยกตัวอย่าง Gojek ผู้ให้บริการเรียกรถสำหรับเป็นแท็กซี่ ส่งของ หรือส่งอาหาร ก็เริ่มจากความเข้าใจในจุดนั้น 

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย (รวมถึงไทยและเวียดนาม) มักนิยมนั่ง “มอเตอร์ไซค์” เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการเข้าไปตามตรอกซอกซอย รวมถึงสะดวกในการการฝ่ารถติดในวันที่ทุกถนนเป็นสีแดงเข้ม ทำให้แทนที่ Gojek จะเป็นแอปพลิเคชั่นเรียกรถยนต์ไปไหนก็ได้แบบเดียวกับ Uber แต่สตาร์ทอัพจากอินโดนีเซียแห่งนี้กลับเริ่มให้ความสำคัญที่ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์เป็นอันดับแรก

นอกเหนือจากนั้น อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีอัตราการใช้เงินสดสูงมาก โดยมีอัตราการการครอบครองบัตรเครดิตที่ต่ำเพียง 2% และมีอัตราเติบโตที่ 0% เมื่อเทียบกับไทยที่มีอัตราครอบครองบัตรเครดิตที่ราว 10% และมีอัตราเติบโตที่มากกว่า 40% ตามการประเมินของธนาคารโลก (World Bank) ขณะที่การเข้าถึงธนาคารของชาวอินโดนีเซียก็อยู่ที่ราว 48% เท่านั้น เมื่อเทียบกับไทยที่สูงเกือบ 80% 

ตรงจุดนี้เองที่ทำให้ชาวอินโดนีเซียไม่ได้รับความสะดวกสบายจากการทำธุรกรรมออนไลน์ และ Gojek ก็มองเห็นปัญหาในจุดนั้น ในตอนเริ่มแรกของการให้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ Gojek ได้ใช้เครือข่ายมอเตอร์ไซค์ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการให้ลูกค้าสามารถเติมเงินได้ผ่านทางพนักงานขับขี่มอเตอร์ไซค์ของ Gojek แทน 

เพื่อกระตุ้นให้คนหันมาใช้ E-wallet แทนการใช้เงินสดแบบดั้งเดิม Gojek ได้ใช้วิธีการให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ถามลูกค้าเมื่อใช้บริการเสร็จว่า

ต้องการให้เอาเงินถอนเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลเลยไหมครับ ?

การเข้าใจตลาดท้องถิ่นเป็นเรื่องที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ โดยเฉพาะทุนใหญ่จากฝั่งสหรัฐที่ต่างมองความล้มเหลวของ Uber ในการไม่สามารถเจาะตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นบทเรียน 

ปัจจุบัน Gojek ไปถึงระดับ Decacorn แล้ว หรือยูนิคอร์นตัวใหญ่ที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

อ่านต่อเรื่อง ทำไม Tesla ถึงสนใจลงทุนในอินโดนีเซีย ?

3. ไปให้ใหญ่ ไปให้ไกล ไปให้เร็ว

ในขณะที่ธุรกิจทั่วไปมักวางแผนระยะยาวเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น แต่สตาร์ทอัพมักวางแผนในระยะสั้น ๆ โดยพัฒนาไปทีละขั้นอย่างรวดเร็ว และนำบทเรียนที่ได้รับจากแต่ละขั้นตอนกลับมาพัฒนาตัวเอง หรือที่เรียกกันว่า Agile Startup 

Startup ของอินโดนีเซียก็พัฒนาด้วยวิธีการในลักษณะนั้น เช่น Gojek ได้วางแผนพยายามกลายเป็น Super App ที่รวมเอาทุกอย่างไว้ด้วยกันตั้งแต่เรียกแท็กซี่ ทำความสะอาด ไปจนถึงการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านแอปพลิเคชัน เช่นเดียวกับสตาร์ทอัพคู่แข่งจากสิงคโปร์ (ที่มีต้นกำเนิดจากมาเลเซีย) อย่าง Grab ที่กำลังเดินหน้าเพื่อสร้างตัวเป็น Super App เช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน Bukalapak สตาร์ทอัพด้านอีคอมเมิร์ซที่ได้รับเงินทุนจากบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของสหรัฐ Microsoft เอง ก็ไม่ได้หยุดอยู่ที่แค่การขายของออนไลน์เพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการขายบัตรโดยสารเครื่องบินและรถไฟ ไปจนถึงสินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

นอกจากนี้ สตาร์ทอัพของอินโดนีเซียยังไม่ได้มองแค่ตลาดอินโดนีเซียเพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นคงไม่สามารถเรียกเงินลงทุนจากนักลงทุนฝั่งโลกตะวันตกได้ บรรดาสตาร์ทอัพของอินโดนีเซียยังมองไปยังตลาดโลกด้วย ดังที่เห็นการเจาะตลาดประเทศไทยของ Gojek และ Traveloka ซึ่งรายหลังยังเตรียมแผนไปเปิดตลาดในออสเตรเลียอีกด้วย 

แพลตฟอร์มค้าออนไลน์ Tokopedia ยูนิคอร์นที่ได้รับเงินทุนจาก Google เคยเปิดเผยกับทาง Dealstreetasia สื่อออนไลน์ภายใต้ Nikkei Inc. จากญี่ปุ่นเมื่อปี 2019  ว่าเตรียมจะนำสินค้าของอินโดนีเซียไปสู่ตลาดโลก โดยแม้แผนการในตอนนี้ยังอยู่ในขั้นต้นเท่านั้น แต่ก็แสดงให้เห็นว่า Tokopedia เตรียมจะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมือเพื่อก้าวออกจากประเทศบ้านเกิดเช่นเดียวกัน

4. การสนับสนุนจากภาครัฐ

ในยุคสมัยภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด หรือ “โจโกวี” อินโดนีเซียได้ปรับเปลี่ยนหลายอย่างเพื่อช่วยให้เกิดความง่ายในการดำเนินธุรกิจ โดยจากอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) ซึ่งจัดทำโดยธนาคารโลก พบว่า อันดับอินโดนีเซียดีขึ้นจากอันดับที่ 120 ก่อนโจโกวีจะรับตำแหน่งในปี 2014 มาอยู่ที่ 79 ในปัจจุบัน 

แม้อันดับของอินโดนีเซียจะยังคงตามหลังประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอย่างสิงคโปร์ที่อยู่ที่อันดับ 2 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ส่วนมาเลเซียที่อยู่อันดับที่ 12 ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 21 และเวียดนามอยู่ที่อันดับ 40 แต่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าจะไปให้ถึงอันดับ 40 ให้จงได้ และยังมีนโยบายต่าง ๆ ที่จะสนับสนุน Startup ด้วย

รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าที่จะมีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นเพิ่มขึ้นอีกภายในปี 2024 โดยได้จัดตั้งโครงการ 3 โครงการขึ้น ได้แก่ โครงการสอนการเขียนโค้ดให้แก่นักเรียนนักศึกษาเพื่อสร้างโปรแกรมเมอร์ในอนาคต โครงการ 1,000 สตาร์ทอัพที่คอยส่งเสริมและฝึกสอนชาวอินโดนีเซียที่ต้องการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมไปถึงโครงการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคมและการสื่อสารด้วย 

เป้าหมายที่จะสร้างสตาร์ทอัพยูนิคอร์นตัวต่อไปนั้น รัฐบาลอินโดนีเซียมองไปที่ 7 ภาคธุรกิจ ได้แก่ การเกษตร การประมง การศึกษา การดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว การเดินเรือ และการขนส่ง 

ในขณะที่อินโดนีเซียกำลังหวังให้มีสตาร์ทอัพตัวใหม่ ทางด้านประเทศไทยที่กำลังมองหาสตาร์ทอัพแรกที่จะถึงระดับยูนิคอร์นนั้น อยู่ในสถานการณ์ที่อาจเรียกได้ว่าไม่สู้ดีนัก โดย Dtac Accelerate หนึ่งในองค์กรที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพของไทย ได้โบกมือลาวงการไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาหลังดำเนินการมาตลอด 7 ปี เนื่องจากไม่สามารถทำกำไรได้จากการลงทุนในสตาร์ทอัพ

อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่ยังมีความหวังอยู่ พี่ทุยก็กล้าที่จะฝันเช่นเดียวกัน โดยแม้เราจะเสียองค์กรที่บ่มเพาะสตาร์ทอัพของเมืองไทยไปรายหนึ่ง แต่ยังมีบริษัทอีกหลายแห่งที่คอยสนับสนุนสตาร์ทอัพ เช่น ไลน์ แอปพลิเคชันแชทที่เรารู้จักกันดี ก็ได้จัดโครงการเฟ้นหาสตาร์ทอัพที่จะไปสู่ระดับยูนิคอร์นด้วยเช่นกัน โดยเพิ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2019 และปิดรับสมัครรุ่น 2 ไปเมื่อเดือนเม.ย. ที่ผ่านมา

พี่ทุยเองก็กำลังจับตามองว่าใครจะเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทยอยู่เหมือนกัน..

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย