รถไฟฟ้าสายสีส้ม ประมูล

[สรุปโพสต์เดียวจบ] ทำไม “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ถึงถูกยกเลิกประมูล ?

3 min read  

ฉบับย่อ

  • รถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นมีทั้งสิ้น 29 สถานี  แบ่งเป็นใต้ดิน 22 สถานี ทางยกระดับ 7 สถานี รวมระยะทาง 39.6 กิโลเมตร โดยแบ่งเป็นฝั่งตะวันตก(บางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมฯ)และฝั่งตะวันออก(ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี) โดยช่วงที่มีประเด็นคือเส้นทางฝั่งตะวันตก
  • โครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ได้ทำการเปิดประมูลโดยการขายซองประมูลและให้ผู้ประมูลยื่นซองประมูลซอง ประกอบด้วย ด้านเทคนิค ด้านผลตอบแทน ด้านคุณสมบัติและด้านข้อเสนออื่น
  • ล่าสุดวันที่ 3 ก.พ. 64 คณะกรรมการการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีมติให้ยกเลิกการประมูลโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม”
  • ประเด็นเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 104 บาท ที่ถือว่าราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำที่ 302 บาท ซึ่งอาจจะส่งผลทำให้คนที่จำเป็นต้องใช้งานไม่สามารถแบกรับค่าโดยสารได้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

พี่ทุยเชื่อว่าหลาย ๆ คนคงเคยได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” มาบ้าง ว่าแต่เราเห็นข่าวการเปิดประมูลยื่นซองกันตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ทำไมตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปอีก วันนี้พี่ทุยจะมาสรุปให้ทุกคนฟังกันแบบโพสต์เดียวจบเลย

“รถไฟฟ้าสายสีส้ม” คือเส้นทางไหน ?

ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” กันก่อนดีกว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มนั้นมีทั้งสิ้น 29 สถานี  แบ่งเป็นใต้ดิน 22 สถานี ทางยกระดับ 7 สถานี รวมระยะทาง 39.6 กิโลเมตร และแบ่งเป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก โดยฝั่งตะวันตกมีเส้นทางบางขุนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมและฝั่งตะวันออกคือเส้นทางศูนย์วัฒนธรรมถึงมีนบุรี โดยช่วงที่มีประเด็นคือเส้นทางฝั่งตะวันตกนี่เอง

ทำไมโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ถึงล่าช้า ?

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เปิดประมูลโดยการขายซอง โดยการให้ผู้ประมูลยื่นซองประมูล 4 ซอง ประกอบด้วย 

  • ด้านคุณสมบัติ
  • ด้านผลตอบแทน
  • ด้านเทคนิค
  • ด้านข้อเสนอเพิ่มเติม 

ซึ่งได้ทำการปิดซองประมูลไปเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 63  หลังจากนั้นไม่นาน วันที่ 7 ส.ค. 63 บริษัท อิตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ทำหนังสือส่งถึงผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขอให้ทบทวนวิธีการคัดเลือกผู้นำเสนอ ว่าไม่ควรดูเรื่องทางการเงินเพียงอย่างเดียวและทาง สคร. ได้ส่งเรื่องให้ผู้ว่า รฟม. พิจารณาเรื่องนี้

จากนั้นเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 63 คณะกรรมการมีมติให้ปรับเปลี่ยน TOR โดยใช้หลักเกณฑ์ทางเทคนิค 30% และทางการเงิน 70% ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการปรับเปลี่ยน TOR หลักจากได้มีการยื่นซองประมูลมาแล้ว 

สุดท้ายแล้วในวันที่ 9 พ.ย. 63 ก็เหลือผู้ส่งซองประมูลเพียง 2 ราย

  • รายแรก คือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
  • รายที่สอง คือ บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ (BTSC) ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง BTS และ STECON

และจะทำการเปิดซองพิจารณาในวันที่ 23 พ.ย. 63 และคาดว่าจะทราบผล 1 – 2 เดือนหลังจากนี้ 

แต่ทางด้าน บริษัท ขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC (ผู้ฟ้องคดี) ได้ทำการยื่นฟ้อง คณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 แห่งพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์ – มีนบุรีต่อศาลปกครองกลาง ให้เพิกถอนมติคณะกรรมการกลาง มาตรา 36 และเอกสาร RFP ที่เกี่ยวกับการปรับปรุงเกณฑ์การประเมินข้อเสนอโครงการและยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้ระงับการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการคัดเลือกบริษัทเอกชนไว้ก่อน 

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 63 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวและให้กลับไปใช้เกณฑ์การคัดเลือกเดิมหลังจากนั้นทางด้านรฟม.ได้ทำการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองกลางและคดียังอยู่ระหว่างการตัดสิน  

รฟม. ล้มประมูล “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” 

ล่าสุดวันที่ 3 ก.พ. 64 นายกิตติกร ดันเปาว์ รองผู้ว่าการด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง รฟม. ได้บอกไว้ว่าคณะกรรมการสั่งให้ฝ่ายเลขาฯ จัดประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในระยะเวลา 1 เดือน แต่ตอนนี้ล่าช้ามากว่า 2 เดือนแล้ว ยังไม่มีความคืบหน้า จึงติดตามโครงการไม่ให้มีความล่าช้าต่อไปและคิดว่าการยกเลิกการประมูลและเร่งขั้นตอนใหม่เพื่อให้โครงการเป็นไปตามแผนงาน

ที่ประชุมมีมติยกเลิกการประมูลโครงการ “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” เส้นทาง “บางขุนนนท์ – มีนบุรี” เพื่อหาทางออกหลัก และไม่ให้เกิดความล่าช้าไปมากกว่านี้ ที่ประชุมจึงเห็นว่า การยกเลิกการประมูลและเร่งขั้นตอนใหม่ให้เป็นไปตามแผนงานจะทำให้ไม่กระทบต่อภาพรวมโครงการ

นาย กิตติกร ดันเปาว์  ยังกล่าวอีกว่า ต่อจากนี้จะนำมติส่งให้ รฟม. เพื่อรับดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบ พ.ร.บ. 2562 ต่อไป ทั้งนี้จะใช้ระยะเวลากี่เดือนอยู่ที่ รฟม. เป็นผู้กำหนดกรอบการดำเนินการ แต่ทางคณะกรรมการต้องการเร่งรัดให้มีความรวดเร็วในการประมูล เพื่อให้โครงการเดินหน้าตามแผนงานที่กำหนด

ค่าโดยสาร “รถไฟฟ้า” แพงไปไหม ? 

ท้ายที่สุดไม่ว่ารถไฟฟ้าสายสีส้มจะเป็นของ BTS หรือ BEM พี่ทุยขอให้ค่าโดยสารเป็นธรรมกับมนุษย์เงินเดือนในกรุงเทพอย่างเรา ๆ กันหน่อย เพราะรายได้ขั้นต่ำเฉลี่ยของประชากรในกรุงเทพอยู่ที่ 302 บาท จากการที่เคาะค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS สูงสุด 104 บาท ตลอดสาย ถ้าไปกลับก็ 208 บาท พี่ทุยว่าไม่น้อยเลยเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ขั้นต่ำของคนกรุงเทพ

และแน่นอนว่าถ้าค่าโดยสารอย่างเดียวก็คิดเป็น 60% ของรายได้ขั้นต่ำต่อวันแบบนี้ ต้องมีหลายคนที่จำเป็นต้องใช้แต่ไม่สามารถใช้ได้ ซึ่งถือว่าผิดจุดประสงค์ของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแบบนี้เลยก็ว่าได้ พี่ทุยว่าน่าเสียดายมาก ๆ เลย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย