ฟังเรื่อง “JOOX” แอพพลิเคชั่นฟังเพลงสุดฮิต

3 min read  

ฉบับย่อ

  • ปัจจุบันคนหันมาฟังเพลงผ่านบริการ Music Streaming กันแล้วเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์
  • คนไทยฟังเพลงผ่าน Joox มากกว่า 2,000 ล้านครั้ง
  • Joox ใช้กลยุทธ์แบบ O2O (online to offline) เพื่อเชื่อมโลกการฟังเพลงออนไลน์เข้ากับโลกออฟไลน์ ตั้งแต่การฟังเพลงโปรดในมือถือไปจนถึงการฟังเพลงโปรดในคอนเสิร์ต

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เวลาเบื่อๆ เราก็อยากเปิดเพลงฟังผ่อนคลายอารมณ์ ลองเปิดเพลงเบาๆจิบกาแฟสักแก้ว ซึ่งในยุคปัจจุบันก็มีวิธีที่ง่ายกว่าการกดเลือกเพลงใน Youtube นั่นคือการฟังเพลงผ่านบริการ Music Streaming ที่ทำให้อุตสาหกรรมเพลงในปัจจุบันกลับมาเติบโตอีกครั้ง และ “JOOX” ก็เป็นหนึ่งในบริการ Music Streaming ยอดฮิตของคนไทย เราลองมาฟังเรื่องของแอพพลิเคชั่นฟังเพลงสุดฮิตนี้กันดู

JOOX (จูกซ์) เป็นบริการสตรีมเพลงที่มีผู้ใช้บริกาหลายล้านคน โดย Joox เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2558 และมาเปิดตัวครั้งแรกในไทยปี 2559 ด้วยความร่วมมือระหว่างบริษัท Tencent บริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนผู้ให้บริการ We Chat และเว็บไซต์ Sanook.com ที่คนไทยคุ้นเคยกันดี นอกจากนั้นยังเป็นบริการสตรีมเพลงที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ไทย และประเทศแถบแอฟริกาใต้

ซึ่งถ้าพูดถึงตลาด Music Streaming ในประเทศไทย จะเห็นว่าเติบโตแบบก้าวกระโดด เนื่องจากการที่คนหันมาฟังเพลงผ่านบริการสตรีมกันเกือบ 100% ซึ่งในปี 2017 ที่ผ่านมาคนไทยฮิตฟังเพลงแบบสตรีมมิ่งบนแอพฯ ของ Joox มากกว่า 2,000 ล้านครั้ง และมียอดดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นทุกๆช่องทางอยู่ที่ 50 ล้านครั้ง (ระบบ Android 81% และ iOS 19%)

ความน่าสนใจอีกอย่างที่พี่ทุยชอบใช้แอพฯนี้ คือ เราสามารถฟังได้ทั้งแบบออนไลน์กับออฟไลน์ โดยที่ผ่านมาผู้ใช้งานทั้งหมดสามารถจำแนกตามพฤติกรรมได้ คือ สตรีมมิง (ออนไลน์) 65% และออฟไลน์ 35% โดยคนส่วนใหญ่ก็ยังนิยมฟังเพลงไทยมากกว่าเพลงสากลถึง 80%

ถ้าถามว่าคนใช้งาน JOOX เป็นใครกันบ้าง เราก็จะเจอว่ากลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในไทยแบ่งได้ ดังนี้

  • อายุต่ำกว่า 18 ปี 20%
  • อายุ 18-24 ปี 25%
  • อายุ 25-34 ปี 25%
  • อายุ 35-44 ปี 20%
  • อายุ 44 ปีขึ้นไป 10%

และผู้ใช้งานส่วนใหญ่นั้นก็อาศัยอยู่ที่กรุงเทพมหานครเกือบ 50 % เรียกได้ว่าเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ และกลุ่มคนเมืองที่นิยมใช้บริการแอพพลิเคชันนี้

แล้วรายได้ของ “JOOX” มาจากไหน ?

รายได้ของ JOOX ในปัจจุบันกว่า 50 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากสมาชิกที่สมัครใช้บริการแบบ VIP (บริการจ่ายเงินรายเดือน) และรับรายรับที่ได้จากค่าโฆษณา ซึ่งในช่วง 3 ปีแรกก็มีตัวเลขที่ขาดทุนอยู่ แต่ Joox มองว่าการเป็นเบอร์ 1 ของตลาด Music Streaming ยังไม่จำเป็นว่าต้องคืนทุน เพราะมีเป้าหมายในระยะยาวเรื่องของการสร้างผู้ใช้ ด้วยการโฟกัสการผลักดันให้ผู้ใช้หันมาใช้บริการแบบ VIP โดยในปี 2017 นั้นเป็นปีแรกที่ JOOX มีการเติบโตด้านรายได้มากกว่า 4 เท่า หรือ 400%

กลยุทธ์ที่เน้นหนักของ JOOX คือการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอย่าง Apple Music, Spotify ที่สู้กันเรื่องประสบการณ์ในการใช้บริการ โดยเพิ่มคอนเทนต์และบริการใหม่ๆ เพื่อฉีกจากความเป็นแค่ “แอพฟังเพลง”

โดยมีทั้งบริการ “Fan Space” ช่องทางให้ศิลปิน Live Streaming พูดคุยกับแบบส่วนตัวกับแฟนคลับ, Karaoke Cover ที่มีเนื้อเพลงให้ร้องคาราโอเกะตาม, Music Award งานประกาศรางวัลที่มีศิลปินมากมายมาร่วมงาน และมีการถ่ายทอดสด, JOOX Secret Session คอนเสิร์ตแบบเอ็กซ์คลูซีฟในสถานที่ลับ ที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้รับเชิญจากทีมงาน JOOX เท่านั้น, Thailand Top 100 by JOOX คอนเสิร์ตใหญ่ที่รวบรวมศิลปินจาก 100 อันดับเพลงฮิตที่สุดใน JOOX มาเล่นคอนเสิร์ตด้วยกัน

เรียกว่าเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ เพราะใช้กลยุทธ์แบบ O2O (online to offline) เพื่อเชื่อมโลกการฟังเพลงออนไลน์เข้ากับโลกออฟไลน์ ที่มาพร้อมรายได้ให้กับธุรกิจ ผ่านกิจกรรมต่างๆ ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยการจัดคอนเสิร์ตขายบัตรไปพร้อมๆ กับสร้างบริการใหม่ๆให้กับผู้ใช้งาน และสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่องจนเรารู้สึกได้ว่าบริการของ JOOX เริ่มต้นจากเสียงเพลงที่อยู่ในสายหูฟัง ไปจนถึงการฟังเพลงผ่านคอนเสิร์ตที่จัดขึ้น เปรียบเหมือนการสะสมประสบการณ์ให้ผู้ใช้ไปแบบไม่รู้จบ

พี่ทุยว่าเป็นอีกหนึ่งโมเดลที่น่าสนใจ เพราะมันจะทำให้ผู้ใช้บริการนั้นคุ้นชินจนเกิดอาการ “ติด” ได้เหมือนกัน ในทุกวันนี้เวลาอยากฟังเพลงแล้วคิดไม่ออก ก็มักจะเปิดแอพฯขึ้นมาเเล้วกดเลือกสักเพลลิสต์ไปก่อน และทำให้เห็นว่าถ้าเราทำธุรกิจใดๆ แล้วไม่ได้ผูกตัวเองกับ “ความเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง” เราก็จะมองเห็นอะไรใหม่ๆที่กว้างขึ้น และสามารถแตกตัวเองออกไปเข้าใจ สัมผัสกับผู้ใช้งานได้อีกหลายแง่มุมเลยทีเดียว 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย