"Freemium" โมเดลธุรกิจสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้มีเฉพาะวงการเทคโนโลยี

“Freemium” โมเดลธุรกิจสร้างสรรค์ ที่ไม่ได้มีเฉพาะวงการเทคโนโลยี

 

ฉบับย่อ

  • หนึ่งในโมเดลธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อวงการธุรกิจยุคใหม่มากที่สุด เรียกว่า “Freemium” ซึ่งมาจากคำว่า “Free” กับ “Premium” มีความหมายตรงตัว คือ เป็นสินค้าหรือบริการที่ใช้ได้ฟรี ถ้าลูกค้าอยากได้ความ Premium ค่อยจ่ายเงินให้เรา
  • คอนเซปท์ของ Freemium มีมาเนิ่นนานแล้วและอยู่ในหลากหลายวงการ เช่น วงการสื่อทางโทรทัศน์ เราสามารถดูช่องพื้นฐาน (Free TV) ได้ฟรี แต่ถ้าอยากจะดูได้มากกว่านี้ เราก็ต้องจ่ายเงินเพื่อติดตั้งจานดาวเทียม
  • ด้วยบริการเปลี่ยนแบตเตอรี่อย่างรวดเร็วภายใน 1 นาทีที่จุดชาร์ตไฟฟ้า “ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla จะเลือกได้ว่าจะเติมไฟฟ้าฟรีๆแต่ต้องรอ หรือจะจ่ายเงินแต่ได้ความรวดเร็ว” อีลอน มัสก์ ได้กล่าวไว้ ฟังดูคุ้นๆกันมั้ย? พี่ทุยว่านี่เป็นอีกตัวอย่างการใช้โมเดลธุรกิจ Freemium อย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจมากเลยล่ะ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เทคโนโลยีก่อให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นบนโลกเสมอ สิ่งหนึ่งที่พี่ทุยชอบมาก คือการได้เห็นธุรกิจแปลกใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือแม้แต่ไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ กลายมาเป็นสินค้าหรือบริการที่เราใช้กันอยู่ทุกวี่วัน ในอดีตเราคงไม่เคยคิดว่าจะสามารถเรียกรถแท็กซี่จากโทรศัพท์มือถือ หรืออ่านหนังสือเป็นร้อยๆเล่มโดยไม่ต้องก้าวเข้าไปในห้องสมุดได้

ไม่เพียงแค่ธุรกิจเท่านั้นที่มีหน้าตาแปลกใหม่ แต่วิธีการสร้างรายได้ของธุรกิจ หรือที่เรามักจะได้ยินคนเรียกกันว่า “โมเดลธุรกิจ” (Business Model) ก็แปลกใหม่ขึ้นตามไปด้วย หนึ่งในโมเดลธุรกิจที่มีอิทธิพลต่อวงการธุรกิจยุคใหม่มากที่สุด เรียกว่า “Freemium” ซึ่งมาจากคำว่า “Free” กับ “Premium” มีความหมายตรงตัว นั่นคือ “สินค้า หรือบริการของเราใช้ได้ฟรีนะ ยกเว้นถ้าอยากได้อะไรที่ Premium ค่อยจ่ายเงินให้เรา”

“Freemium” ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในธุรกิจยุคใหม่ และประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยเหตุผลหลัก 3 ข้อ นั่นคือ

1. ข้อมูลของลูกค้า คือสิ่งที่ธุรกิจยุคใหม่ต้องการมากที่สุด

แน่นอนว่าใครๆก็ชอบของฟรี (พี่ทุยก็เช่นกัน) หลายๆครั้งที่มีร้านค้าเปิดใหม่ เราก็มักจะได้รับการแจกของฟรี เช่น ร้านอาหารที่ให้ชิมฟรี เป็นต้น การแจกของฟรีถือเป็นวิธีที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน และได้ผลดี เพราะใครๆก็อยากจะลองดูก่อนว่าสินค้าของร้านนี้จะดีจริงมั้ย ก่อนจะตัดสินใจซื้อ

แต่เมื่อมาถึงยุคแห่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน ร้านค้าทุกๆร้านนอกจากจะอยากให้ลูกค้าลองสินค้าแล้ว ยังอยากเก็บข้อมูลของลูกค้าไว้ด้วย เพื่อจะได้แวะกลับไปทักทาย และก็ชักชวนมาซื้อสินค้าในอนาคต หรืออย่างน้อยที่สุดจะได้รู้ฟีดแบค (Feedback) ของสินค้า ในกรณีนี้การขอข้อมูลด้วยจะเริ่มยากขึ้นแล้ว ลองนึกดูว่าถ้ามีร้านอาหารเปิดใหม่ มีพนักงานมายืนแจกให้ชิมฟรีอยู่หน้าร้าน แต่เดี๋ยวก่อน! ถ้าจะชิมรบกวนกรอกชื่อที่อยู่ให้ด้วยน้า แบบนี้เราคงรีบเดินหนีอย่างรวดเร็ว เพราะกลัวจะโดนโทรมาตามขายของทีหลังแน่ๆ

Freemium เข้ามาทำลายข้อจำกัดตรงนี้ทิ้งไป และช่วยให้ลูกค้ายอมมอบข้อมูลส่วนตัวได้ง่ายขึ้นโดยไม่ตะขิดตะขวงใจ ผ่านการลงทะเบียนก่อนใช้งาน เพราะลูกค้าสามารถใช้สินค้า หรือบริการได้ฟรีๆ และไม่ต้องกลัวว่าจะเสียเงินในอนาคต ถ้าไม่ต้องการอัพเกรดสินค้าให้พรีเมี่ยมก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินใดๆทั้งสิ้น หลายๆคนคงเคยใช้บริการในลักษณะนี้ เช่น บริการเก็บข้อมูลบน Cloud ของ Google Drive หรือ Dropbox ซึ่งใช้ได้ฟรีๆ ยกเว้นเราต้องการเก็บข้อมูลเยอะมากๆเกินที่กำหนดไว้ ก็ค่อยจ่ายเงินเพื่อเพิ่มพื้นที่

2. ธุรกิจ “Freemium” มักถูกบอกต่อได้ง่าย

ไม่เพียงแค่เจ้าของธุรกิจนะที่อยากจะโปรโมทร้านค้าของตัวเอง แต่เหล่าบล็อกเกอร์ หรือนักเขียนบทความต่างก็อยากจะสร้างคอนเทนท์ (Content) ดีๆให้กับผู้อ่านของตัวเอง จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เมื่อมีสินค้าหรือบริการใหม่ๆ บล็อกเกอร์ก็อยากจะเอาสินค้าไปเขียนรีวิว ยิ่งถ้าสินค้าเราใช้ได้ฟรี นั่นหมายความว่าบล็อกเกอร์ก็สร้างคอนเทนท์ใหม่ๆได้โดยไม่ต้องมีต้นทุนเลย ถึงแม้บล็อกเกอร์คนนั้นอาจจะไม่ได้เป็นลูกค้าของเรา แต่ใครละรู้ล่ะ คนอ่านบล็อกของเขาอาจจะเป็นก็ได้นะ

สินค้าหรือบริการฟรีๆไม่เพียงแต่จะดึงดูดสื่อให้เข้ามาช่วยโปรโมทได้ดี แต่ยังช่วยให้เกิดการแนะนำแบบปากต่อปากระหว่างคนทั่วไปได้ง่ายขึ้นด้วย ลองนึกดูว่าถ้าเราจะแนะนำสิ่งที่เราชอบซักอย่างให้เพื่อน ระหว่าง “นี่ลองอันนี้สิ แต่ต้องจ่ายตังค์น้า” กับ “นี่ๆลองอันนี้สิ เราชอบมากเลย แถมฟรีด้วย” รับรองว่า อย่างหลังจะพูดง่ายกว่าเยอะเลยเนอะ ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้บริการจดบันทึกของ “Evernote” และบริการตัวช่วยสำหรับการทำงานเป็นทีมออนไลน์ (Collaboration hub) ของ “Slack” ประสบความสำเร็จ

การบอกต่อ ต้องถือว่าเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญมากๆในปัจจุบัน จนถึงขนาดที่ Bill Macaitis ผู้บริหารการตลาดของ Slack บอกว่า “เราไม่แคร์ว่าจะขายได้รึเปล่า เราแคร์แค่ว่าลูกค้าจะแนะนำต่อรึเปล่า”

3. ใช้ไปซักพัก มักจะเคยชินจนขาดไม่ได้

การได้ของฟรีในตอนแรกจะทำให้เราไม่ลังเลใจที่จะทดลองสินค้าหรือบริการนั้นๆ เมื่อใช้ไปใช้มาเราก็ใช้จนติดซะแล้ว ยิ่งถ้าสิ่งนั้นมันช่วยให้ชีวิตเราง่ายจริงๆ จะให้กลับไปใช้ชีวิตยากๆเหมือนเมื่อก่อนหน่ะหรอ พี่ทุยก็ขอบาย สุดท้ายก็ยอมจ่ายเพิ่มอีกแค่นิดหน่อยเพื่อให้ได้ของที่ดียิ่งขึ้น

กระบวนการหลอกล่อเราลักษณะนี้นี่แหละ ที่ทำให้ธุรกิจอย่าง “Zapier” ประสบความสำเร็จ Zapier ทำอะไรหน่ะหรอ พี่ทุยจะยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ สมมติเราขายสินค้าอยู่ในร้านออนไลน์ เมื่อลูกค้าสั่งซื้อสินค้าและกรอกข้อมูลสำหรับการจัดส่ง สิ่งแรกที่เราจะทำก็อาจจะเป็นการเปิดบิลขาย (บนเว็บไซต์ให้บริการทางบัญชีที่เราใช้อยู่) และส่งคำสั่งซื้อสินค้าไปให้คลังสินค้าเพื่อตัดสต็อก (ผ่านทางไลน์ หรือโปรแกรมทำงานอื่นๆที่ทีมเราใช้อยู่) จากนั้นเราก็อยากจะเก็บอีเมลล์ลูกค้าไปรวบรวมไว้ในไฟล์ สำหรับใช้ส่งโปรโมชั่นไปหลอกล่อลูกค้าต่อในอนาคต กระบวนการทำงานทั้งหมดนี้ Zapier สามารถทำให้มันกลายเป็นระบบอัตโนมัติจาก 1 ไป 2 ไป 3 และต่อๆไปได้ โดยที่เราไม่ต้องเปิดคอมพิวเตอร์เลยล่ะ (แต่จะสามารถสร้างระบบอัตโนมัตินี้ได้ไม่กี่งานนะ ถ้าอยากทำหลายๆงานหน่ะหรอ จ่ายเงินเพิ่มอีกนิดนึงไง) พี่ทุยรับรองได้เลยว่า ถ้างานของเรากลายเป็นเรื่องอัตโนมัติไปแล้วล่ะก็ จะให้จ่ายเท่าไหร่ก็ยอม แต่ไม่ขอกลับไปทำเองทีละขั้นตอนอีกแล้ว

จากตัวอย่างที่พี่ทุยเล่ามาทั้งหมด บางคนอาจจะคิดว่า โมเดลธุรกิจ Freemium ใช้กันอยู่แค่ในวงการเทคโนโลยีเท่านั้นรึเปล่าน้า พี่ทุยขอบอกเลยว่า ไม่ใช่! การนำไปใช้ ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละคนเลย พี่ทุยจะยกตัวอย่างให้ฟัง

ที่จริงคอนเซปท์ของ Freemium มีมาเนิ่นนานแล้ว และอยู่ในหลากหลายวงการ เช่น วงการสื่อทางโทรทัศน์ เราสามารถดูช่องพื้นฐาน (Free TV) ได้ฟรีๆ แต่ถ้าอยากจะดูได้มากกว่านี้ เราก็ต้องจ่ายเงินเพื่อติดตั้งจานดาวเทียม หรือถ้าจะลองวิเคราะห์ย้อนกลับไปให้ไกลกว่านี้ พี่ทุยว่านักดนตรีข้างถนนเองก็มีรูปแบบการทำรายได้คล้ายๆกัน นั่นคือ เล่นเพลงให้คนฟังฟรีๆ เมื่อฟังนานๆเข้า หรือเมื่ออยากขอเพลงเป็นพิเศษ ผู้ฟังก็มักจะควักกระเป๋าจ่ายให้

บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง “Tesla” ก็ใช้โมเดลธุรกิจแบบ “Freemium” ด้วย

ข้ามฟากมาสู่วงการรถยนต์ในปัจจุบัน หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อของ “Tesla” บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอันโด่งดัง ที่มีความฝันอยากจะเปลี่ยนโลกนี้ให้กลายเป็นโลกที่ปราศจากการใช้พลังงานแบบเดิมๆ อย่างน้ำมันหรือก๊าซชนิดต่างๆ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) CEO ของ Tesla มองเห็นภาพของโลกที่มีแต่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มท้องถนน เพราะไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาดที่มนุษย์สามารถสร้างได้อย่างไม่จำกัด โดยไม่ต้องไปขุดเจาะพื้นผิวโลก

เมื่อต้องการให้รถทุกคันกลายเป็นรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคุณภาพสูง ดีไซน์งดงามออกมาขายในราคาที่จับต้องได้แล้ว Tesla ยังต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สะดวกสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วย และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือ สถานีชาร์ตไฟฟ้าที่ต้องมีอยู่ทั่วทุกหนแห่ง เหมือนอย่างที่เรามีปั๊มน้ำมันให้อุ่นใจไม่ว่าจะเดินทางไปไหน ไม่เพียงเท่านั้น Tesla ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจุดชาร์ตไฟฟ้าที่มีอยู่ทุกแห่งนั้นจะต้องชาร์ตไฟได้ฟรีๆด้วย!

แต่การชาร์ตแบตเตอรี่เติมไฟฟ้าให้กับรถทั้งคันก็ใช้เวลาพอสมควรเลย โดยเฉลี่ยแล้วรถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla จะสามารถวิ่งได้ไกลประมาณ 50 กิโลเมตร หากชาร์ตเป็นเวลา 1 ชั่วโมง นั่นหมายถึงการต้องรอเป็นเวลานาน และอาจเกิดภาพที่รถต่อคิวกันชาร์ตไฟยาวเป็นหางว่าว

Tesla ได้เตรียมรับมือสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว ด้วยบริการเปลี่ยนแบตเตอรี่อย่างรวดเร็วภายใน 1 นาทีที่จุดชาร์ตไฟฟ้า “ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla จะได้เลือกว่าจะเติมไฟฟ้าฟรีๆแต่ต้องรอ หรือจะจ่ายเงินแต่ได้ความรวดเร็ว” อีลอน ได้กล่าวไว้ พี่ทุยว่านี่เป็นอีกตัวอย่างการใช้โมเดลธุรกิจ Freemium อย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจมากเลยล่ะ

แน่นอนว่าโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ยังจะนำมาซึ่งกรณีศึกษาของธุรกิจใหม่ๆอีกนับไม่ถ้วน การศึกษาเรื่องราวรอบตัวอยู่ตลอดจะทำให้เราก้าวทันโลก และมีมุมมองที่เปิดกว้าง สามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างสร้างสรรค์ ใครจะรู้อีกหน่อยเราอาจจะเจอ Freemium ในวงการการศึกษา “เรียนฟรีได้ 10 บทเรียน จ่ายเงินสำหรับทั้งคอร์ส” หรือแม้แต่วงการอาหาร “ทานอาหารว่างฟรี จ่ายเพิ่มสำหรับจานหลัก” ที่วันดีคืนดีก็ดังเป็นพลุแตกขึ้นมาก็ได้

References:

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย