AOT ผู้ผูกขาดในธุรกิจ "ท่าอากาศยาน" ของไทย

AOT ผู้ผูกขาดในธุรกิจ “ท่าอากาศยาน” ของไทย

 

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

หุ้นที่ร้อนแรงและเป็นกระแสมากที่สุดตัวนึงพี่ทุยว่ายังไงก็คงหนีไม่พ้น AOT “ท่าอากาศยาน” ของไทย ทั้งราคาขึ้นไปทำ All time High แบบสวยๆ แล้วก็ตามมาด้วยการแตกพาร์เข้าไปอีก ราคาก็เลยวิ่งแบบไม่หยุดฉุดไม่อยู่  คำถามที่น่าสนใจสำหรับหลายๆคนก็คือ AOT เป็นบริษัทอะไร ทำธุรกิจอะไรอยู่ในตอนนี้ เกี่ยวอะไรกับธุรกิจท่าอากาศยาน แน่นอน แล้วทำไม AOT ถึงถูกมองว่าเป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจท่าอากาศยานของไทย

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือที่เราเรียกกันว่า “AOT” คือใคร ?

ธุรกิจหลักของ AOT คือ การจัดการ การดำเนินงาน และการพัฒนาท่าอากาศยานไทย ถือได้ว่าเป็นผู้เล่นรายใหญ่ที่สุดที่อยู่ในธุรกิจท่าอากาศยาน เนื่องจากท่าอากาศยานหลักของไทยอยู่ภายใต้การบริหารของ AOT ทั้งหมด โดยท่าอากาศยานที่อยู่ภายใต้การบริหารของ AOT มีทั้งหมด 6 แห่งในประเทศไทย คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย พูดง่ายๆก็คือ บริหารธุรกิจสนามบินใหญ่ทั้ง 6 แห่งของไทย

การผูกขาดในธุรกิจ “ท่าอากาศยาน” ของ AOT

ต้องบอกว่าการเป็นผู้ให้บริการ “ท่าอากาศยาน” หลักของไทยทั้ง 2 แห่ง คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง แต่เพียงผู้เดียว ทำให้ใครก็ตามที่ต้องการเดินทางโดยการขนส่งทางอากาศไปยังในประเทศและต่างประเทศย่อมต้องมาใช้บริการท่าอากาศยานทั้งสองแห่งอย่างแน่นอน ซึ่งท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในไทย คือท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และเป็นท่าอากาศยานนานาชาติหลักของไทย มีพื้นที่มากถึง 20,000 ไร่ เน้นการให้บริการการเดินทางไปยังต่างประเทศมากกว่าการเดินทางภายในประเทศ

AOT ผู้ผูกขาดในธุรกิจ "ท่าอากาศยาน" ของไทย

ท่าอากาศยานสุวรรณภูมินี้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปี แต่ปีล่าสุด พ.ศ. 2560 มีผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 59 ล้านคน (ขณะที่ประเทศไทยที่มีประชากรแค่ 69 ล้านคน โอ้โห อีกนิดก็จะเท่าจำนวนคนไทยทั้งประเทศเลย) สามารถรองรับการขนถ่ายสินค้า 3 ล้านตันต่อปี เทียบได้กับการใช้รถบรรทุก 10 ล้อขนาดใหญ่ขนส่งสินค้าถึง 150,000 คัน และรองรับเที่ยวบินได้ 76 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ซึ่งมีสายการบินให้บริการแบบประจำรวม 110 สายการบิน

แล้วที่สำคัญอีกที่นึงก็คือ ท่าอากาศยานดอนเมือง เป็นท่าอากาศยานที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุดเป็นอันดับสองของไทย ปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการ 37 ล้านคน รองมาจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเน้นการเดินทางภายในประเทศเป็นหลัก และต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกหรือประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศไทย ท่าอากาศยานดอนเมืองมีสายการบินให้บริการแบบประจำรวม 19 สายการบินเท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสายการบิน Low Cost โดยจะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันค่อนข้างมากของจำนวนสายการบินที่ให้บริการ ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของเส้นทางที่ให้บริการ

AOT ผู้ผูกขาดในธุรกิจ "ท่าอากาศยาน" ของไทย

ในแง่ของรายได้ ปี พ.ศ. 2560 AOT มีรายได้ 54,901 ล้านบาท รายได้โตจากปี พ.ศ. 2559 ถึง 3,940 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.73%  ซึ่งรายได้หลักของ AOT มาจากการให้บริการสนามบิน ค่าบริการขึ้น-ลงของอากาศยาน ค่าบริการผู้โดยสารขาออก (PSC: Passenger Service Charge) แต่ว่า AOT ไม่ได้มีแค่ธุรกิจการบินเท่านั้น แต่ยังมีรายได้มาจากกิจการโรงแรม การให้เช่าคลังสินค้า บริการท่อส่งน้ำมันและเติมน้ำมัน รวมถึงให้บริการครัวการบิน

นับได้ว่า AOT เป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจท่าอากาศยานของไทยได้เลย ซึ่งบริษัทอื่นๆยากที่จะเข้ามาทดแทน และแข่งขันได้ในธุรกิจนี้ เนื่องจากการใช้เงินลงทุนที่สูง รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่ง AOT มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่มากที่สุดถึง 70%

นอกจากนี้พี่ทุยก็อยากจะบอกว่า AOT เค้ายังมีการขยายกิจการอย่างต่อเนื่องด้วย เดิมทีท่าอากาศยานสุวรรณภูมิมีขีดความสามารถในการรับรองผู้โดยสาร 45 ล้านคน แต่ในปัจจุบันมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการมากถึง 59 ล้านคน ซึ่งมากเกินกว่าขีดความสามารถที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะรับได้ และภาคการท่องเที่ยวของไทยยังคงเติบโต AOT เลยมีแผนการดำเนินงานที่จะขยายกิจการ โดยการสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 15 ล้านคน จากเดิม 45 ล้านคน เป็น 60 ล้านคน โดยเริ่มก่อสร้าง ก.ย. 2559 และคาดว่าจะเสร็จ พ.ย. 2562 ซึ่งงานก่อสร้างหลักคือ การสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก รวมถึงงานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 แม้ว่า AOT จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขยายกิจการ แต่ขณะเดียวกันโครงการนี้ต้องใช้งบประมาณมากถึง 53,457 ล้านบาท

AOT ผู้ผูกขาดในธุรกิจ "ท่าอากาศยาน" ของไทย

ส่วนขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก

AOT ผู้ผูกขาดในธุรกิจ "ท่าอากาศยาน" ของไทย

อาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1

แล้วนอกจาก 6 แห่งที่ AOT เป็นเจ้าของแล้ว “ท่าอากาศยาน” อื่นๆที่เหลือใครเป็นคนบริหาร ?

จริงๆแล้วในประเทศไทยมีท่าอากาศยานมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ โดยเป็นท่าอากาศยานที่เปิดให้คนทั่วไปสามารถใช้บริการได้ และอีกประเภทหนึ่งเป็นท่าอากาศยานที่ไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์ให้บริการ นอกจากท่าอากาศยานที่เราใช้กันหลักๆและที่ทุกคนคุ้นเคยอย่างสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และตามจังหวัดใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวจะอยู่ภายใต้การบริหารของ AOT ซึ่งเป็นหน่วยงานของเอกชนแล้ว ท่าอากาศยานที่เหลือตามจังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้การบริหารของกรมท่าอากาศยาน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยยิ่งขยายตัวมากเท่าไหร่  AOT ก็จะยิ่งเติบโตตามไปด้วยเท่านั้น

ปี พ.ศ. 2560 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยสร้างรายได้รวมที่ 2.76 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP: Gross Domestic Product) รายได้หลักๆมาจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติราว 35 ล้านคน ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท และจากคนไทยท่องเที่ยวในประเทศ 9.5 แสนล้านบาท

นักท่องเที่ยวชาวจีนถือเป็นกลุ่มหลักของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) วางเป้าหมายเพิ่มรายได้ในปี พ.ศ. 2561 เพิ่มอีก 10% เป็น 3.1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 2.1 ล้านล้านบาท และในปี พ.ศ. 2564 คาดว่ารายได้จะเพิ่มเป็น 4 ล้านล้านบาท และจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเพิ่มเป็น 40 ล้านคน

จากที่พี่ทุยไปคุยกับ ททท. มา เค้าก็มีกลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้จากการเจาะนักท่องเที่ยวราย Segment รายกลุ่ม คือ การเพิ่มนักท่องเที่ยวหน้าใหม่ในกลุ่มประเทศเอเชียและแปซิฟิกใต้ เช่น เจาะตลาดคู่แต่งงานของจีน ฮ่องกง และออสเตรเลียให้มาท่องเที่ยวในไทย เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวหญิง โดยจับมือกับพันธมิตรร้านค้าและบริการเพื่อมอบสิทธิประโยชน์แก่นักท่องเที่ยวหญิงทั่วโลกในเดือนสิงหาคม เป็นต้น ส่วนตลาดระยะไกลอย่างอเมริกาเหนือ ละตินอเมริกา ยุโรป แอฟริกา และตะวันออก จะมีการไปตั้งสำนักงานตามประเทศต่างๆในภูมิภาคนั้นๆ เพื่อให้ข้อมูลทำให้คนรู้จักประเทศไทย เพื่อเพิ่มฐานนักท่องเที่ยว ซึ่งการเติบโตในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อ AOT เพราะการที่เน้นให้ชาวต่างชาติ รวมถึงคนไทยท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น ย่อมทำให้เกิดการเดินทางเพิ่มปริมาณการใช้บริการท่าอากาศยานมากขึ้น AOT มีโอกาสที่รายได้จะเติบโตในอนาคตตามการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปด้วยกันอย่างแน่นอน

“ท่าอากาศยาน” ของประเทศไหน มีผู้โดยสารเยอะที่สุด ?

AOT ผู้ผูกขาดในธุรกิจ "ท่าอากาศยาน" ของไทย

ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา แชมป์ผู้โดยสารมากที่สุดตกเป็นของสนามบินนานาชาต Hartsfield- Jackson Atlanta มีผู้โดยสารมากถึง 103 ล้านคนต่อปี รองลงมาก็เป็นสนามบินนานาชาติ Beijing Capital ของจีน และสนามบินนานาชาติ Dubai ตามลำดับ

ทีนี้ถ้าเรามาดูของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่เป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของไทยกันบ้าง จะเห็นได้ว่าไม่ติดอันดับ 1 ใน 20 เลย เพราะว่าปี พ.ศ. 2560 มีจำนวนผู้โดยสาร 59 ล้านคนเท่านั้น แต่ก็ยังมีความใกล้เคียงกับจำนวนผู้โดยสารของท่าอากาศยานนานาชาติเดนเวอร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 61.37 ล้านคน ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าอากาศยานที่อยู่ในอันดับ 20 ของท่าอากาศยานที่มีจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดในโลก โดยมีจำนวนผู้โดยสารต่างกับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิประมาณ 2.37 ล้านคน ถ้าในอนาคต ททท. สามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและชาวต่างชาติได้ พี่ทุยว่าเราอาจจะเห็นท่าอากาศยานสุวรรณภูมิของไทยขึ้นไปติดเป็น 1 ใน 20 ก็ได้นะ

แต่ถึงไม่ติดอันดับจำนวนผู้โดยสารมากที่สุดในโลก แต่พี่ทุยอยากจะบอกว่าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิติด 1 ใน 3 ของท่าอากาศยานที่ดีที่สุดของอาเซียนนะ จะบอกให้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย