เรื่องอื้อฉาวทางการเงิน

5 เรื่องอื้อฉาวทางการเงิน ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์

2 min read  

ฉบับย่อ

  • ในวงการธุรกิจและการเงินที่มีเม็ดเงินมหาศาลไหลเวียนอยู่ กฎข้อบังคับมีมากมาย เพื่อควบคุมและป้องกันพฤติกรรมไม่ซื่อตรงของคน “หัวหมอ” ทั้งหลาย
  • ในบทความนี้ พี่ทุยจะนำการโกงชั้นเซียน 5 เหตุการณ์มาเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนระมัดระวังตัว และคอยศึกษาหาความรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอ จะได้ไม่กลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในคราบนักธุรกิจเหล่านี้

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เรื่องเงิน ไม่เข้าใครออกใคร หรือแปลไทยเป็นไทยได้ความว่า เรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์อันเป็นตัว “เงิน” แม้เราจะไว้ใจกันแค่ไหน การคดโกงก็อาจจะเกิดขึ้นได้ ในวงการธุรกิจและ “การเงิน” ที่มีเม็ดเงินมหาศาลไหลเวียนอยู่ กฎข้อบังคับมีมากมาย เพื่อควบคุมและป้องกันพฤติกรรมไม่ซื่อตรงของคน “หัวหมอ” ทั้งหลาย ถึงกระนั้นก็ยังไม่วาย เกิดการโกง (Fraud) มี เรื่องอื้อฉาวทางการเงิน หลากหลายรูปแบบตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันที่เรายังคงได้ยินข่าวกันอยู่ทุกเช้า

ในประวัติศาสตร์ของการโกง มีเหตุการณ์ที่โด่งดังไปทั่วโลก และเป็นที่กล่าวขวัญถึงอยู่หลายเหตุการณ์ (บางเหตุการณ์มักถูกนำมาใช้เป็นบทเรียนให้นักธุรกิจรุ่นหลังเห็นถึงความฉลาดล้ำของผู้โกง และจุดอ่อนของระบบ) ในบทความนี้ พี่ทุยจะนำการโกงชั้นเซียน 5 เหตุการณ์มาเล่าให้ฟัง เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้ทุกคนระมัดระวังตัว และคอยศึกษาหาความรู้อยู่อย่างสม่ำเสมอ จะได้ไม่กลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพในคราบนักธุรกิจเหล่านี้

1. การฉ้อโกงแบบพอนซี่ (Ponzi)

ในปี 1919 ชายผู้อพยพชาวอิตาเลี่ยน นามว่า นายชาร์ลส์ พอนซี่ (Charles Ponzi) ก่อตั้งกิจการซื้อขายสินค้าชนิดหนึ่งขึ้น สินค้านั้นคือ “วิมัยบัตร” หรือ คูปองที่สามารถนำไปแลกเป็นแสตมป์เพื่อส่งของไปต่างประเทศได้ (International reply coupon หรือ IRC)

ในอดีตที่โลกยังไม่รู้จักอีเมลล์ IRC เป็นสินค้าที่ใช้กันแพร่หลาย เนื่องจากการส่งจดหมายไปต่างประเทศจะต้องติดแสตมป์ของประเทศปลายทาง ยกตัวอย่างเช่น พี่ทุยอยากจะส่งจดหมายทางธุรกิจจากไทยไปหานักลงทุนที่สหรัฐอเมริกา และต้องการให้นักลงทุนเซ็นต์ตอบกลับมา พี่ทุยจะต้องหาแสตมป์ของประเทศสหรัฐฯมาติด จึงจะส่งไปได้ ในขณะที่เมื่อนักลงทุนได้รับจดหมาย และเซ็นต์เรียบร้อย เขาจะต้องหาแสตมป์ของประเทศไทยมาติด เพื่อส่งกลับมาให้พี่ทุย

ในกรณีนี้ พี่ทุยสามารถหาซื้อ IRC และแนบไปในจดหมาย เมื่อจดหมายถึงมือนักลงทุน เขาสามารถนำ IRC ไปแลกเป็นแสตมป์ของประเทศไทยได้เลย และส่งจดหมายกลับมาถึงพี่ทุยได้โดยไม่เสียเงินซักบาท

ไอเดียของพอนซี คือการไปหาซื้อ IRC จากประเทศอื่นที่ขายในราคาถูก เพื่อมาขายต่อในสหรัฐฯในราคาปกติ แล้วทำกำไรจากส่วนต่าง (การทำเงินในลักษณะนี้เรียกว่า อาร์บิทราจ (Arbitrage))

พอนซี่หว่านล้อมให้นักลงทุนเชื่อว่า นี่เป็นกิจการที่ดีและควรค่าแก่การลงทุน จนทำให้พอนซี่ได้รับเงินสนับสนุนมหาศาล

เมื่อกิจการไม่ทำกำไรอย่างที่คิด อันเนื่องมาจากต้นทุนทางโลจิสติกส์และการบริหารจัดการสูงเกินคาด จนกลายเป็นหนี้พอกพูนขึ้นทุกวัน พอนซี่จึงทำสิ่งที่เขาเก่งที่สุด นั่นคือโฆษณาชวนเชื่อนักลงทุนรายใหม่ๆ (พร้อมทั้งตกแต่งตัวเลขของกิจการให้กลายเป็นบวก) ให้ยอมมาลงทุนในกิจการของเขาเพิ่ม โดยเอาเงินของนักลงทุนใหม่มาเป็นค่าแรงให้ตัวเอง และปันผลให้นักลงทุนรายเก่า เพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนให้เห็นว่ากิจการนั้นมีกำไร ทำเช่นนี้ซ้ำไปเรื่อย ๆ

ท้ายที่สุด พอนซี่ถูกจับได้ และถูกตัดสินจำคุกฐานฉ้อฉลเป็นเวลา 5 ปี

เหตุการณ์นี้โด่งดังจนชื่อของพอนซี่ กลายมาเป็นชื่อของการโกงในลักษณะดังกล่าว เราเรียกการโกงแบบนี้ว่า การฉ้อฉลแบบพอนซี่ หรือ พอนซี่สกีม (Ponzi scheme)

2. การล้มละลายของเอ็นร่อน (Enron)

นิตยสารฟอร์จูน เคยมอบรางวัลบริษัทที่มีนวัตกรรมสูงสุด 6 ปีซ้อนให้กับเอ็นร่อน บริษัทพลังงานที่ฮ๊อตที่สุดในช่วงปี 1995 ถึง 2000

ความฮ๊อตของเอ็นร่อน เกิดจากการประกาศรายได้ที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ระดับ 750% และเติบโตขึ้นปีละ 65% (ทั้งๆที่บริษัทพลังงานอื่นๆเติบโตกันปีละ 2%) ส่งผลให้หุ้นของเอ็นร่อนสูงทะลุเพดาน และผู้บริหารต่างทำกำไรกันสบายใจเฉิบ

แต่เบื้องหลังทางธุรกิจของเอ็นร่อน ไม่ได้สวยหรูอย่างที่เห็น

แท้จริงแล้วเอ็นร่อนไม่ได้มีสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน เช่น โรงไฟฟ้า หรือท่อส่งก๊าซใดๆเลย แต่ดำเนินธุรกิจเป็นนายหน้าจับคู่ผู้ที่ต้องการซื้อและผู้ขายสินค้าพลังงานต่างๆ

การดำเนินกิจการแบบเอ็นร่อนไม่ใช่เรื่องผิด แต่ว่าเอ็นร่อนระบุให้สินทรัพย์ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขาย ถูกลงบัญชีเป็นรายได้ของตัวเอง และใช้การลงบัญชีแบบรับรู้รายได้ล่วงหน้า (ทั้งๆที่เงินสดจริงๆยังไม่เข้ากระเป๋า) ทั้งหมดนี้ เพื่อแสดงงบการเงินอันตระการตาโชว์ตลาดหุ้น

ท้ายที่สุด เมื่อเรื่องราวถูกเปิดโปง เอ็นร่อนต้องประกาศล้มละลาย พร้อมกับที่พนักงานต้องตกงานกว่าหมื่นคน

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทบัญชีระดับโลกอย่าง “อาร์เทอร์ แอนเดอร์เซ่น” (Arthur Andersen) ซึ่งเคยเป็น 1 ใน 5 บริษัทตรวจสอบบัญชีใหญ่ (ปัจจุบันเหลือ 4 แห่ง) ก็ต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตผู้ตรวจสอบบัญชี และออกจากธุรกิจตามเอ็นร่อนไปพร้อมกับบทเรียนราคาแพง

และการล่มสลายของเอ็นร่อน ทำสถิติกลายเป็นการล้มละลายที่มีมูลค่าสูงสุดของสหรัฐฯทันที

5 เรื่องอื้อฉาวทางการเงิน ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์

3. จรรยาบรรณทางบัญชีของเวิลด์คอม (Worldcom)

เอ็นร่อนครองตำแหน่งการล้มละลายด้วยมูลค่าสูงสุดได้เพียง 1 ปี ก็ถูก “เวิลด์คอม” บริษัทสื่อสารของสหรัฐฯล้มแชมป์ลง

หลังเข้าทำงานได้เพียง 2 ปี “สก๊อต ซัลลิแวน” (Scott Sullivan) ก็ก้าวขึ้นเป็นประธานบริหารทางการเงิน (CFO) ของเวิลด์คอม และสนิทสนมกับ “เบอร์นาร์ด เอ็บเบอร์” (Bernard Ebbers) ประธานบริษัท (CEO) เป็นอย่างมาก และทั้งคู่ช่วยกันปิดดีลทางธุรกิจ สร้างกำไรให้กิจการมหาศาล

แต่แล้วเรื่องก็เริ่มแดงออกมาว่า ต้นทุนของบริษัทดูจะสูงกว่าที่เห็นในงบทางบัญชี และวอลสตรีทก็เริ่มจะไม่ค่อยเชื่อมั่นในเวิลด์คอม ประจวบกับที่ผู้จัดการฝ่ายระดับกลาง 2 คนของบริษัท คือ “เบ็ตตี้ วินสัน” (Betty Vinson) และ “ทรอย นอร์แมนด์” พบความจริงว่าต้นทุนมหาศาลบางส่วน ถูกนำไปซ่อนไว้ในหัวข้อสินทรัพย์ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวของบริษัท ส่งผลให้บริษัทสามารถประกาศกำไรได้อย่างที่วอลสตรีทคาดหวัง

ทั้งคู่พยายามทักท้วง แต่กลับถูกซัลลิแวนด์เกลี้ยกล่อมให้ยอมทำตาม (พี่ทุยว่า พวกเขาคงกลัวตกงานด้วย) ท้ายที่สุดฝ่ายตรวจสอบภายในของบริษัทซึ่งนำโดย “ซินเทีย คูเปอร์” (Cynthia Cooper) ก็ค้นพบการฉ้อฉลนี้ อันนำมาซึ่งการยื่นล้มละลาย และการว่างงานกว่า 20,000 ตำแหน่ง

หลังเหตุการณ์จบลง คูเปอร์โด่งดังจากการเปิดเผยการโกงของเวิลด์คอม ซัลลิแวนได้รับโทษจำคุก 5 ปี ส่วนเอ็บเบอร์ต้องโทษจำคุกถึง 25 ปี (เพราะเอ็บเบอร์เป็นคนเซ็นต์อนุมัติการประกาศงบ เรื่องจึงมาแดงภายหลังว่าเอ็บเบอร์นี่แหละ ตัวการใหญ่สุด)

และในตอนนี้ เอ็บเบอร์ก็ได้เข้าไปอยู่ในทำเนียบซีอีโอที่ขี้โกงที่สุดตลอดกาลเป็นที่เรียบร้อย

5 เรื่องอื้อฉาวทาง "การเงิน" ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์

Bernard Ebbers

4. เรื่องอื้อฉาวทางการเงิน ของเมดอฟฟ์ (Madoff)

“เบอร์นาร์ด เมดอฟฟ์” (Bernard Madoff) เป็นหนึ่งในผู้ฉ้อฉล “พอนซี่สกีม” ด้วยมูลค่าสูงที่สุดในประวัติศาสตร์

เมดอฟฟ์ ก่อตั้งบริษัท เบอร์นาร์ด แอล เมดอฟฟ์ อินเวสท์เมนท์ ซีเคียวริตี้ (Bernard L Madoff Investment Security หรือ BIMIS) ขึ้นในปี 1960

ด้วยชื่อเสียงของเมดอฟฟ์ ซึ่งเคยเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก (Nasdaq) ถึง 3 สมัย ช่วยให้นักลงทุนเชื่อถือในโฆษณาของ BIMIS ที่ว่าจะสร้างผลตอบแทนปีละ 12-20% โดยไม่เกี่ยงว่าสภาพตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร

นักลงทุนต่างเชื่อมั่นใน BIMIS และแห่กันไปลงทุนเป็นหมื่นๆราย ทุกคนได้รับผลตอบแทนเป็นอย่างดี ซึ่งมาจากเงินที่นักลงทุนใหม่เอามาลงทุนนั่นแหละ BIMIS ไม่เคยต้องซื้อหุ้นซักตัว

สุดท้าย เมื่อวิกฤตเศรษฐกิจมาเยีอนในปี 2008 นักลงทุนเริ่มขาดความเชื่อมั่นในตลาดหุ้น และต้องการถือเงินสดเพื่อลดความเสี่ยง จึงพากันมาถอนเงินลงทุนเป็นจำนวนกว่า 7,000 ล้าน USD

แน่นอน เงินในบริษัทมีอยู่เพียงหลักร้อยกว่าล้านเท่านั้น

ท้ายที่สุดเมดอฟฟ์ในวัย 71 ปี จึงต้องสารภาพความจริง และเข้ามอบตัว โดยเขาต้องโทษจำคุกถึง 150 ปี จากความเสียหายที่เกิดขึ้นกว่า 65,000 ล้าน USD

5 เรื่องอื้อฉาวทาง "การเงิน" ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์

Bernard Madoff

เรื่องอื้อฉาวทางการเงิน : 5. การล่มสลายของเลห์มัน บราเทอร์ส (Lehman Brothers)

วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 ไม่เพียงแต่เปิดโปงเมดอฟฟ์เท่านั้น แต่ยังทำให้ธนาคารอันดับ 4 ของสหรัฐฯในเวลานั้นอย่าง “เลห์มัน บราเทอร์ส” ล่มสลายลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอีกด้วย

เลห์มัน บราเทอร์ส คือธนาคารที่มีประวัติยาวนานกว่า 150 ปี และได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์จูนให้เป็นองค์กรที่มีความมั่นคงสูงสุด ในปี 2007

ความผิดพลาดของเลห์มัน บราเทอร์สมีอยู่หลายประการ หนึ่งในนั้น คือการกู้เงินมาลงทุน หรือที่เรียกว่า Leverage เช่น มีเงิน 100 บาท แต่กู้เงินมาเพิ่ม 20 บาทเพื่อลงทุน จึงมีเงินลงทุนทั้งหมด 120 บาท อย่างไรก็ดี ในเวลานั้น เลห์มัน บราเทอร์ส กู้เงินมาลงทุนถึง 44 เท่าของเงินที่ตัวเองมี

เลห์มัน บราเทอร์ส นำเงินไปลงทุนในสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เป็นจำนวนมาก เพราะตลาดอสังหาฯในขณะนั้นเติบโตสุดขีด คนขอเงินกู้ซื้อบ้านกันแทบทุกครัวเรือน

เมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์เริ่มก่อตัว การผิดนัดชำระหนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และวอลสตรีทเริ่มเห็นความลำบากของเลห์มัน บราเทอร์ส สิ่งที่ธนาคารทำคือการลงบัญชีหนี้อสังหาฯที่ด้อยค่า (หรือหนี้ที่ผิดชำระ) ไปเป็นยอดขายแทน ดังนั้น แทนที่ในบัญชีจะบอกว่ามีสินทรัพย์ด้อยค่า 100 บาท กลับกลายเป็น มียอดขายเพิ่ม 100 บาทแทน

ท้ายที่สุด สภาพตลาดอสังหาฯก็ไม่ฟื้นกลับมา ทำให้เลห์มัน บราเทอร์ส ทนแบกเงินกู้ที่นำมาลงทุนไม่ไหว และต้องยื่นล้มละลายในที่สุด

เลห์มัน บราเทอร์ส ยื่นล้มละลายด้วยสินทรัพย์จำนวน 6,390 ล้าน USD และหนี้สิน 6,190 ล้าน USD มูลค่าแซงทุกๆการฉ้อฉลที่พี่ทุยกล่าวมาทั้งหมด

5 เรื่องอื้อฉาวทาง "การเงิน" ที่โด่งดังที่สุดในประวัติศาสตร์

Lehman Brothers

เป็นยังไงกันบ้าง กับ 5 เรื่องสุดฉาวโฉ่งในวงการธุรกิจ และ การเงิน” หวังว่าเรื่องราวเหล่านี้จะคอยเตือนใจให้ทุกคนลงทุนอย่างระมัดระวัง และปราศจากความโลภ ที่สำคัญต้องหมั่นหาความรู้ จะได้ไม่หลงกลคนขี้โกงกันเนอะ !

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย