หุ้น WARRIX ราคาร่วง -19% หุ้นหายไปไหน?

   Money Buffalo

ฉบับย่อ

  • WARRIX ก่อตั้งเมื่อปี 2556 โดยคุณวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นในปี 2559 เมื่อชนะการประมูลมูลค่า 400 ล้านบาท คว้าสิทธิ์ผลิตชุดแข่งฟุตบอลทีมชาติไทยระหว่างปี 2560-2563
  • คุณวิศัลย์ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าหุ้นที่นำไปฝากเพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้กับ Custodian หายไปจำนวน 15,000,000 หุ้น นักลงทุนมีความกังวลว่า Custodian ได้นำหุ้นที่ฝากไว้ไป Short Sell หรือไม่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎและกระทบความน่าเชื่อถือ
  • ยังต้องติดตามว่าฝากหุ้นไว้กับ Custodian ที่อยู่ต่างประเทศหรือไม่ การดำเนินการตามกฎหมายจะทำอย่างไร และข้อมูลเพิ่มเติม ณ วันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่พบว่าหุ้น WARRIX ถูกนำไปวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จิน รวม 23.79% ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว จะถูก Force Sell ตามรอยบัญชีมาร์จินที่เคยเกิดกับหุ้นบริษัทอื่นหรือไม่?

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ขณะที่ตลาดหุ้นไทยกลับมาฟื้นตัวรับการเมืองมีความชัดเจน ก็มีเหตุการณ์ธุรกรรมแปลกเกิดขึ้นอีกครั้งกับหุ้น WARRIX เริ่มจากคุณวิศัลย์ ผู้ก่อตั้ง WARRIX ขายหุ้นให้บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จํากัด ต่อด้วยหุ้นที่ฝากไว้กับ Custodian หาย ส่งราคาหุ้นร่วงไปกว่า 19%

มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง แล้วที่มาที่ไปบริษัทนี้เป็นอย่างไร รายได้และกำไรดีหรือแย่ขนาดไหน พี่ทุยชวนทุกคนไปติดตาม ถ้าพร้อมแล้วลุยกันเลย

ประวัติ WARRIX แบรนด์กีฬาไทย ที่ IPO สำเร็จ

ใครที่ติดตามกีฬาไทยมานานหน่อยก็คงคุ้นหูชื่อแบรนด์สัญชาติไทยอย่าง FBT และ Grand Sport แต่ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาชื่อแบรนด์ WARRIX มาแรงแซงทุกแบรนด์เข้าจดทะเบียน IPO ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว

บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตอุปกรณ์กีฬาของไทยภายใต้แบรนด์ WARRIX ก่อตั้งเมื่อปี 2556 โดยคุณวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ซึ่งพื้นเพอยู่ในธุรกิจครอบครัวเป็นโรงงานทอผ้า เข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นเดิม แล้วนำความรู้มาพัฒนาคุณภาพเนื้อผ้ากีฬา

จุดเปลี่ยนก็เกิดขึ้นในปี 2559 เมื่อชนะการประมูลมูลค่า 400 ล้านบาท คว้าสิทธิ์ผลิตชุดแข่งฟุตบอลทีมชาติไทยระหว่างปี 2560-2563 และทุ่มอีก 400 ล้านบาท ได้สิทธิ์ผลิตชุดแข่งต่อระหว่างปี 2564-2571

นอกจากนี้ยังเอาแบรนด์ไปปรากฏบนชุดแข่งหรือป้ายโฆษณาในสนามรวมถึงงานอีเวนท์กีฬา เพื่อสร้าง Brand Awareness และขยายฐานแฟนคลับโดยเฉพาะกีฬาฟุตบอล เช่น สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, สโมสรพีที ประจวบ, สโมสรบีจี ปทุม ยูไนเต็ด และยังรวมไปถึงเสื้อผ้าการแข่งขันกีฬาระดับสถาบันการศึกษา เช่น โรงเรียนในเครือจตุรมิตร

บริษัทยังผลิตเสื้อผ้าและสินค้าตาม Lifestyle รวมถึงอุปกรณ์และเครื่องกีฬาอื่น เช่น ลูกฟุตบอล, รองเท้าวิ่ง เพื่อเพิ่มความหลากหลายของฐานลูกค้าและลดการพึ่งพาสินค้าที่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่

สินค้าแบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ

1.) สินค้าลิขสิทธิ์ (License Product) เช่น สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่รับสิทธิ์จากทีมชาติ, ชุดกีฬาและผลิตภัณฑ์ทีมระดับสโมสร, ชุดกีฬาและผลิตภัณฑ์สำหรับสถานศึกษา
2.) สินค้าไม่มีลิขสิทธิ์ (Non-License Priduct) เช่น สินค้าคอลเลคชั่นตาม Lifestyle, สินค้าทั่วไปใส่ได้ทุกโอกาส, สินค้า Made to Order, สินค้าอื่น ๆ

ส่อง 2 ธุรกรรมแปลก ทำหุ้นร่วง 2 วันรวม -19%

เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2567 คุณวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2567 ได้ขายหุ้น WARRIX จำนวน 14,942,530 หุ้น หรือ 2.49% ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว ให้บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จํากัด ผู้รับจ้างผลิตให้แบรนด์ระดับโลก เช่น Nike และ The North Face มีโรงงานทั้งในไทยและประเทศกลุ่มอาเซียน

ในช่วงแรกที่มีข่าวนี้ยังไม่มีการให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าการขายหุ้นดังกล่าวทำธุรกรรมผ่านบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) นักลงทุนมีข้อมูลจำกัดจึงกังวลว่าโดยปกติแล้วธุรกรรมแบบนี้จะเป็นรายการล็อตใหญ่ (บิ๊กล็อต) บนกระดาน เพื่อประโยชน์ทางภาษี แต่คุณวิศัลย์กลับเลือกขายนอกตลาดต้องเสียภาษี แถมขายที่ราคาต่ำกว่ากระดานถึง 21%

ส่วนอีกประเด็นมาจากคุณวิศัลย์ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่าหุ้นที่นำไปฝากเพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้กับ Custodian หายไปจำนวน 15,000,000 หุ้น โดยยังไม่มีผิดนัดชำระเงินกู้ สำหรับหุ้นที่เหลืออีกจำนวน 105,211,000 หุ้น คุณวิศัลย์ขอคำสั่งศาลอายัดหุ้นดังกล่าวไว้ และอยู่ระหว่างการฟ้องร้องเพื่อติดตามหุ้นที่หายและให้ Custodian ส่งมอบหุ้นที่ฝากไว้คืนทั้งหมด

นักลงทุนมีความกังวลเพิ่มเติมว่า Custodian ได้นำหุ้นที่ฝากไว้ไป Short Sell หรือไม่ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎและลดความน่าเชื่อถือของ Custodian กระทบต่อบรรยากาศการลงทุนตามไปด้วย

รู้จัก Custodian ผู้ดูแลหุ้นให้ทุกคนอยู่เบื้องหลัง

Custodian เป็นได้ทั้งสถาบันการเงินหรือธนาคารที่ได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้รับเก็บรักษาหลักทรัพย์ของนักลงทุน เช่น หุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร บางครั้งก็เป็นตัวกลางสำหรับใช้หลักทรัพย์ที่รับฝากเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน ซึ่งจะถอนหลักทรัพย์ได้ตามสัญญาที่ตกลงกันไว้เท่านั้น

รายได้ กำไร อัตราส่วนหนี้ เยอะจน WARRIX น่าเป็นห่วงจริงหรือไม่?

พี่ทุยเอาข้อมูลรายได้และกำไรตั้งแต่ปี 2564 ถึงปัจจุบันมาดูกันหน่อย โดยมีดีงนี้

  • ปี 2564 รายได้ 658.09 ล้านบาท กำไรสุทธิ 14.24 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 1,074.62 ล้านบาท กำไรสุทธิ 128.49 ล้านบาท
  • และปี 2566 รายได้ 1,251.01 ล้านบาท กำไรสุทธิ 127.38 ล้านบาท
  • ไตรมาส 2/67 รายได้ 355.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 16.8 ล้านบาท

ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เมื่อไตรมาส 1/65 อยู่ที่ 6.15 เท่า พอมาถึงไตรมาส 1/66 ลดมาที่ 0.31 เท่า จนมาถึงปัจจุบันอัตราส่วนนี้อยู่ที่เพียง 0.27 เท่า

พอดูรายได้และกำไรสุทธิที่เติบโตประกอบกับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนที่ลดลงต่อเนื่อง ภาพรวมสถานะการเงินของบริษัท WARRIX ไม่มีอะไรต้องกังวล

ดังนั้นทุกสายตาจึงจับจ้องไปธุรกรรมส่วนตัวของคุณวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ว่ามีอะไรที่ยังไม่เปิดเผยและจะทำลายบรรยากาศในตลาดหุ้นไทยไปอีกขนาดไหน?

มีชื่อติดหุ้นวางค้ำมาร์จินเกิน 20% ลุ้นไม่ซ้ำรอยหุ้นถูก Force Sell

ขอพาไปเคลียร์การขายหุ้นให้บริษัท ไฮ-เทค แอพพาเรล จํากัด กันก่อน ถึงแม้ล่าสุดจะมีข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นธุรกรรมที่ทำรายการผ่านบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) แต่ก็น่าสงสัยว่าการขายด้วยส่วนลดถึง 21% อาจเป็นการถูก Force Sell หรือไม่?

ต่อมากรณีฝากหุ้นกับ Custodian มีข้อสังเกตุว่าอาจเป็น Custodian ที่อยู่ต่างประเทศ เพราะข้อมูล ณ วันที่ 21 ส.ค. 2567 สัดส่วนการถือหุ้นบริษัทเป็นดังนี้

  1. นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล ถือหุ้น 186,676,470 หุ้น สัดส่วน 31.11%
  2. DB AG SG DCS CLT ACC FOR SAFARI ASIA LIMITED ถือหุ้น 105,211,000 หุ้น สัดส่วน 17.54%
  3. นายพงษ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี ถือหุ้น 24,178,500 หุ้น สัดส่วน 4.03%

จะเห็นว่าจำนวนหุ้นที่ DB AG SG DCS CLT ACC FOR SAFARI ASIA LIMITED ถือเท่ากับจำนวนที่คุณวิศัลย์ขอคำสั่งศาลอายัด จะดำเนินการได้หรือไม่ กฎหมายไทยให้การคุ้มครองไปถึง Custodian ที่อยู่ต่างประเทศหรือไม่?

ถ้าเป็น Custodian ต่างประเทศ ก็มีคำถามเพิ่มอีกว่าทำไมคุณวิศัลย์ถึงเลือกฝากหุ้นกับ Custodian ต่างประเทศ?

ล่าสุดมีข้อมูลเพิ่มเติม ณ วันที่ 31 ก.ค. 2567 พบว่าหุ้น WARRIX ถูกนำไปวางเป็นหลักประกันในบัญชีมาร์จินรวมทั้งหมด 142,762,132.5 หุ้น คิดเป็น 23.79% ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว ไม่มีใครรู้หรือรับประกันได้ว่า Force Sell ตามรอยบัญชีมาร์จินที่เคยเกิดกับหุ้นบริษัทอื่น และทำบรรยากาศในตลาดหุ้นไทยซึมไปพักใหญ่

ข้อสงสัยทั้งหมดนี้ต้องรอการตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การดำเนินตามกฎหมาย และเวลาจะให้คำตอบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อเห็นความเสี่ยงแล้ว นักลงทุนก็ควรปกป้องพอร์ตจากความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด รอจนเห็นอะไรชัดเจนขึ้นแล้วค่อยตัดสินใจอีกที

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile