ท่ามกลางตลาดหุ้นไทยกำลังปรับตัวลงไม่พักแบบนี้ แถมยังมีแรงเทขายกระหน่ำจากกองทุน LTF มาซ้ำเติมอีก ทำให้นักลงทุนหลายคนคงอาจจะกังวลใจไม่น้อย
พี่ทุยได้รับข่าวมาว่า กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอต่อที่ประชุม ครม. เพื่อแปลงกองทุน LTF ให้กลายเป็นกองทุนรูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า Thai ESG X หรือ TESGX
หลายคนอาจจะสงสัยว่า TESGX คืออะไร ? คนที่ถือ LTF ควรจะทำอย่างไร ? จะโยกเงินหรือขายออกดีมั้ย ? แล้วกองทุนใหม่นี้จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยหรือเปล่า ? พี่ทุยรวบรวมข้อมูลมาตอบให้แล้ว ครบจบในที่เดียว
TESGX คืออะไร มีเงื่อนไขอะไรบ้าง
จากข่าวระบุว่า กระทรวงการคลังกำลังจะเสนอให้ ครม. อนุมัติการเปลี่ยนชื่อและวัตถุประสงค์ของกองทุน LTF ให้เป็นกองทุน Thai ESG X (หรือเรียกสั้นๆ ว่า TESGX) โดยที่หน่วยลงทุนของเราจะถูกโอนย้ายแบบอัตโนมัติเลย เพียงแค่เราแจ้งความประสงค์กับ บลจ. เท่านั้นเอง
พี่ทุยมองว่ากองทุน Thai ESG X นี้ ก็คือกองทุนที่ออกมารองรับเงินลงทุนจากกองทุน LTF นั่นแหละ แต่ความพิเศษคือ การคัดเลือกหุ้นและดัชนีอ้างอิงจะเป็นไปตามแบบกองทุน Thai ESG ซึ่งใช้ดัชนี SETESG เป็นเกณฑ์ หรือกล่าวคือจะมีแต่บริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนเท่านั้น
สำหรับเพื่อน ๆ ที่ถือหน่วยลงทุนกองทุน LTF อยู่แล้วและต้องการเปลี่ยนเป็นกองทุน Thai ESG X จะต้องถือหน่วยลงทุนต่อไปอีก 5 ปี แต่ข่าวดีก็คือ เราสามารถนำมูลค่าหน่วยลงทุนที่เรามีอยู่ (ไม่ใช่มูลค่าต้นทุนนะ) ไปลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาทต่อปี
เช่น สมมติ เราซื้อ LTF ไว้ 100,000 บาท และปัจจุบันมูลค่าเหลืออยู่ 50,000 บาท ดังนั้น จะสามารถนำไปลดหย่อนได้ 50,000 บาท นั่นเอง
กองทุน TESGX ต่างจากกองทุน Thai ESG ยังไง ?
ในแง่ความเหมือน พี่ทุยขอเล่าให้ฟังว่า จากข่าวที่ออกมาเห็นได้ชัดเลยว่ากองทุน Thai ESG X จะใช้นโยบายและขอบเขตการลงทุนเหมือนกับกองทุน Thai ESG ทุกประการเลย รวมถึงมีระยะเวลาถือครองหน่วยลงทุนเท่ากันคือ 5 ปี
ส่วนความแตกต่างที่สำคัญก็คือ กองทุน Thai ESG X นั้นถูกออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อรองรับเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน LTF โดยเฉพาะ แต่ ๆๆ มีข้อควรทราบสำคัญคือ กองทุนนี้จะไม่เปิดให้มีการซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มเติม
ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนสนใจที่จะลงทุนเพิ่ม ก็จำเป็นต้องไปซื้อกองทุน Thai ESG แบบปกติแทน ซึ่งพี่ทุยอยากแจ้งให้ทราบว่า กองทุน Thai ESG เดิม ซึ่งก็จะสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี
คนที่ถือ LTF โยกเงินมากองทุน Thai ESG X ได้เมื่อไหร่ ?
เรื่องนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอเข้าที่ประชุม ครม. นะ ซึ่งก็หมายความว่ายังไม่ได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการ
เราจำเป็นต้องรอจนกว่าจะมีการอนุมัติและประกาศอย่างเป็นทางการก่อน โดยจากข้อมูลที่พี่ทุยได้รับมา คาดว่าขั้นตอนนี้น่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2568
หลังจากนั้น ทางการจะเปิดให้ผู้ถือหน่วยลงทุนสามารถแจ้งความประสงค์กับ บลจ. ได้ภายในเดือนสิงหาคม ดังนั้น คนที่สนใจก็อาจจะต้องติดตามข่าวสารกันอย่างใกล้ชิดกันสักหน่อย
สภาพตลาดหุ้นไทยสาหัส มีแรงเทขาย LTF ออกมาแล้วเกือบ 20,000 ล้านบาท
ต้องบอกว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ค่อนข้างน่าเป็นห่วงจริง ๆ นับตั้งแต่เข้าปีใหม่จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ เราเห็นแรงเทขายจากนักลงทุน 3 กลุ่มหลักอย่างต่อเนื่อง ได้แก่:
นักลงทุนต่างประเทศขายไปแล้ว 6,667.44 ล้านบาท
นักลงทุนสถาบันในประเทศขายไป 6,573.69 ล้านบาท
นักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ขายไป 3,914.57 ล้านบาท
มีเพียงนักลงทุนในประเทศ (รายย่อย) เท่านั้นที่ยังซื้ออยู่ที่ 17,155.70 ล้านบาท ส่งผลให้ดัชนี SET ร่วงลงมาแล้วถึง 14% เทสต์ระดับ 1,200 จุด
เมื่อเห็นกลุ่มนักลงทุนหลักที่มีทั้งเม็ดเงินอย่างนักลงทุนต่างประเทศและมีข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกอย่างนักลงทุนสถาบันในประเทศเทขายหุ้นออกมาเต็มที่แบบนี้ พี่ทุยมองว่าค่อนข้างชัดเจนแล้วว่ามุมมองต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ก็คงจะไม่ค่อยสดใสเท่าไหร่
ปัญหาหลัก ๆ ที่กระทบตลาดหุ้นไทยมีมากมายทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่ยังไม่มีทางแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ไล่เรียงตั้งแต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบภาคอุตสาหกรรมและความสามารถแข่งขันของสินค้าส่งออก รวมถึงปัญหานักลงทุนหมดศรัทธาในธรรมภิบาลของบริษัทในตลาดหุ้นไทย ก็เลยไม่แปลกใจสักนิดที่เหล่าผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุน LTF พากันเทขายออกมา
โดยจากข้อมูลพบว่าเพียงเดือนมกราคมเดือนเดียว มีแรงขายจากกองทุน LTF แล้วประมาณ 18,000 ล้านบาท โดยยังเหลือเม็ดเงินในกองทุน LTF อีกประมาณ 200,000 ล้านบาท
คำถามสำคัญที่พี่ทุยอยากชวนคิดคือ แล้วตลาดหุ้นไทยจะได้ประโยชน์จากกองทุน Thai ESG X หรือไม่? และถ้าเรายังถือกองทุน LTF อยู่ ควรทำอย่างไรต่อไป ?
ตลาดหุ้นไทยจะได้ประโยชน์หรือไม่ คนถือกองทุน LTF เอาไงต่อดี ?
เห็นชัดเลยว่าสภาพตลาดหุ้นไทยที่เละเทะแบบนี้ มีสาเหตุมาจากปัญหาเศรษฐกิจไทยที่สะสมมานาน ประกอบกับข่าวที่ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้ต้องการการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นระบบ ซึ่งขณะนี้ยังไม่เห็นทั้งแนวทางการแก้ปัญหาและมาตรการที่ชัดเจน
ซึ่งการอออกกองทุน Thai ESG X ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาเลย อาจเบรคแรงเทขายจากกองทุน LTF ได้แค่บางส่วนเท่านั้น แต่โดยรวมก็คงทำได้เพียงสร้างความฮือฮาน่าสนใจบนหน้าสื่อระยะสั้น แต่โดยภาพรวมแล้ว ตลาดหุ้นไทยแทบไม่ได้ประโยชน์จากกองทุนนี้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับการลงทุนในกองทุน LTF ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อการลดหย่อนภาษีนั้น ก็เห็นอยู่ว่าว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยแทบไม่ขยับ ทำให้เงินที่ประหยัดได้จากการลดหย่อนภาษีเริ่มไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ติดลบ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ซื้อกองทุน LTF ในช่วงที่ตลาดหุ้นไทยอยู่ในจุดสูงสุด ผลตอบแทนกองทุนคงไม่คุ้มกับเงินที่ประหยัดได้จากการลดหย่อนภาษีแล้ว
มื่อพิจารณาว่าปัญหาต่าง ๆ คงไม่ได้รับการแก้ไขในเร็ววันนี้ ทิศทางตลาดหุ้นไทยก็อาจไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก และสิ่งที่เกิดขึ้นกับกองทุน LTF ก็คงตอบคำถามนี้ไปแล้วว่าประโยชน์จากสิทธิลดหย่อนภาษีเทียบกับผลตอบตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวไม่น่าคุ้มค่า เผลอ ๆ เอาเงินไปซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีประเภทตราสารหนี้ยังคุ้มค่าแถมสบายใจกว่าด้วย
แบบนี้ก็แสดงว่าการมีกองทุน TESGX ไม่สร้างประโยชน์อะไรเลยจริงหรือไม่ ?
อย่างไรก็ตาม พี่ทุยอยากชี้ให้เห็นว่า กองทุน Thai ESG X อาจมีประโยชน์บางประการ
1.เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับจาก LTF
2.อาจช่วยลดแรงเทขายในตลาดที่อาจเกิดจากการขายคืนหน่วยลงทุน LTF จำนวนมาก
3.ส่งเสริมการลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ซึ่งเป็นแนวโน้มการลงทุนที่สำคัญในระยะยาว
แต่ถ้ามองในภาพรวม กองทุน Thai ESG X ไม่ใช่คำตอบสำหรับปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดทุนไทย และไม่สามารถทดแทนการปฏิรูปเศรษฐกิจและตลาดทุนอย่างจริงจัง
โบรกคาดมี “หุ้นตัวไหน” ได้ประโยชน์บ้าง ?
เมื่อเปลี่ยนดัชนีอ้างอิงใหม่เป็น SETESG ซึ่งมีรายละเอียดที่ต่างจาก SET Index ที่เป็นดัชนีอ้างอิงเดิม ทำให้ต้องมีการปรับสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งอาจส่งผลดีและผลกระทบต่อหุ้นหลายตัว
ข้อมูลการวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่าการเปลี่ยนดัชนีอ้างอิงจะส่งผลให้มีหุ้น 2 กลุ่มที่มีโอกาสโดนลดสัดส่วน คือ
- มีสัดส่วนเกิน 5% ของตลาด และต้องสัดส่วนลงให้ไม่เกิน 5% ตามเกณฑ์ดัชนี SETESG เช่น DELTA, PTT, GULF, ADVANC
- หุ้นใหญ่มีสภาพคล่องแต่ไม่มี ESG Rating เช่น TRUE, BH, TIDLOR, IRPC, AAV เป็นต้น
ส่วนหุ้นที่มีโอกาสได้รับเม็ดเงินจากกองทุน LTF เช่น PTTEP, CPALL, SCB, KBANK, BDMS, KTB
ด้านการวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มองว่าหุ้นกลุ่มที่มี ESG Rating ระดับ AAA อาจรับ Setiment เชิงบวก เช่น AMATA, BCPG, BTG, CPALL, GULF, KBANK เป็นต้น
สรุป Thai ESG X หรือ TESGX
การเปิดกองทุนลดหย่อนภาษีแบบใหม่ Thai ESG X เป็นเพียงที่รองรับเม็ดเงินจากกองทุน LTF ซึ่งมีแรงเทขายออกมาจำนวนมาก แต่ปัญหาของตลาดหุ้นไทยเกิดจากหลายปัจจัยที่เรื้อรังมานาน กองทุน Thai ESG X อาจช่วยกระตุ้น Sentiment แค่ระยะสั้น
ส่วนใครที่อยากโยกจากกองทุน LTF มาเป็น TESGX ก็ต้องพิจารณาว่าผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยในระยะยาวคุ้มค่ากับสิทธิลดหย่อนภาษีที่ได้หรือไม่ โดยต่อจากนี้รอติดตามการอนุมัติจากที่ประชุม ครม. อย่างเป็นทางการ