เป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันทั่วโลกสำหรับการไม่นำประเด็นการเมืองเข้าไปสู่วงการกีฬา แต่ต้องยอมรับว่าบางครั้งก็แยกออกจากกันไม่ขาด ยิ่งเป็นการแข่งขันกันระหว่างชาติที่มีความขัดแย้งโดยตรง ยิ่งเลี่ยงไม่ได้เลย พี่ทุยเลยอยากพาไปดูอีกแง่มุม สงครามโอลิมปิก จะมีประเทศไหนฟาดฟันกันผ่านโอลิมปิกกันบ้าง ไปดูกัน
สงครามโลก สงครามเย็น สู่ สงครามโอลิมปิก
สหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตคู่ปรับยุคสงครามเย็นแข่งขันกันอย่างหนักในทุกด้าน รวมถึงไปด้านกีฬา ซึ่งการแข่งขันโอลิมปิกเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่สุดในโลก การเป็นผู้ชนะในโอลิมปิกก็เปรียบได้กับเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ทำให้เวทีกีฬาแห่งนี้แปรเปลี่ยนเป็นอีกสมรภูมิแสดงความเป็นผู้นำระหว่างสองชาติมหาอำนาจ
ตั้งแต่จบสงครามโลกครั้งที่สองในวันที่ 2 ก.ย. 1945 โลกสุขสงบได้ไม่กี่เดือนก็เข้าสู่ยุคสงครามเย็น ฝั่งสหภาพโซเวียตรวมอำนาจควบคุมเหนือประเทศยุโรปตะวันออกด้วยการเข้ารัฐประหารและแทรกแซงการเมืองภายใน ทางสหรัฐฯ เริ่มใช้กลยุทธ์สกัดการแผ่อำนาจของฝ่ายโซเวียตด้วยการให้ความช่วยเหลือทางทหารและการเงินให้กับประเทศยุโรปตะวันตก
นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างสองฝ่ายจนกลายเป็นวิกฤติการณ์ครั้งแรก เมื่อฝั่งโซเวียตปิดล้อมกรุงเบอร์ลินไม่ให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรเข้าช่วยเหลือชาวเบอร์ลินฝั่งตะวันตก แต่ชาติตะวันตกได้ส่งความช่วยเหลือทางอากาศ
จากนั้นสถานการณ์สงครามเย็นก็แปรเปลี่ยนจากการเผชิญหน้าโดยตรงไปสู่สงครามตัวแทน เช่น สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม วิกฤติการณ์ขีปนาวุธคิวบา
ทั้งสองฝ่ายยังต่อสู้กันอย่างดุเดือดในด้านอื่นด้วยทั้งเทคโนโลยีอวกาศรวมไปถึงเรื่องกีฬา ซึ่งเวทีที่ทั้งสองฝ่ายจะแสดงความเป็นผู้นำด้านกีฬาได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้นมหกรรมกีฬาโอลิมปิก
การแข่งขันเป็นเจ้าเหรียญทองของสหรัฐและโซเวียต
ความเป็นผู้นำในมหกรรมกีฬาวัดกันด้วยการเป็นเจ้าเหรียญทอง และการแข่งขันกันระหว่างสองชาติบนเวทีกีฬาระดับโลกเริ่มขึ้นในโอลิมปิกปี 1952 ที่เฮลซิงกิ ครั้งนั้นโซเวียตอัดงบอุปกรณ์กีฬาที่แปลงมูลค่าเป็นปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 8,200 ล้านดอลลาร์ หมายมั่นคว้าเจ้าเหรียญทองเหนือสหรัฐฯ แต่กลับเป็นสหรัฐฯ ที่คว้าเจ้าเหรียญทองด้วยจำนวน 40 เหรียญ ฝั่งโซเวียตได้มา 22 เหรียญ
ทางโซเวียตกลับมาครองเจ้าเหรียญทองได้ในโอลิมปิกปี 1956 ที่เมลเบิร์น คว้าไป 37 เหรียญทาง ด้านสหรัฐฯ ได้ไป 32 เหรียญทอง และครองต่อเนื่องไปอีกในโอลิมปิกปี 1960 ที่โรม ซึ่งโซเวียตได้เหรียญทอง 43 เหรียญ ทิ้งห่างสหรัฐฯ ซึ่งได้ 34 เหรียญ มากขึ้น
หลังจากนั้นสหรัฐฯ กลับมาทวงบัลลังก์เจ้าเหรียญทองในโอลิมปิกปี 1964 ที่โตเกียว ด้วยจำนวน 36 เหรียญ ตามด้วยโซเวียตที่ 30 เหรียญ และครองอีกครั้งในปี 1968 ที่เม็กซิโก ซิตี้ ก่อนที่โซเวียดจะครองเจ้าเหรียญทองในปี 1972 ที่มิวนิก คว้าไปถึง 50 เหรียญ ส่วนสหรัฐฯ ได้เพียง 33 เหรียญ ต่อเนื่องถึงปี 1976 ที่มอนทริออล
เรียกได้ว่าทั้งสองฝั่งไม่มีใครยอมใครทั้งสิ้น หากเสียความเป็นเจ้าเหรียญทองก็จะใช้เวลาไม่นานกลับมาทวงตำแหน่งคืนให้ได้
การแข่งขันก็ห่างหายไปสักพักหนึ่ง เพราะในปี 1980 สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรคว่ำบาตรการแข่งขันโอลิมปิกที่มอสโคว เนื่องจากโซเวียตบุกประเทศอัฟกานิสถาน ทีนี้โซเวียตก็เอาคืน ไม่เข้าร่วมการแข่งขันในปี 1984 ที่ลอสแอนเจลิส
และแล้วการแข่งขันก็กลับมาอีกครั้งในปี 1988 ที่โซล ครั้งนี้โซเวียตคว้าเจ้าเหรียญทองด้วยจำนวน 55 เหรียญ ส่วนสหรัฐฯ ร่วงไปอยู่อันดับ 3 ด้วยจำนวน 36 เหรียญ ซึ่งนี่เป็นการแข่งขันกันบนเวทีโอลิมปิกครั้งสุดท้าย โดยในปี 1991 สหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย
สื่อฝั่งสหรัฐฯ มองว่าการแข่งขันอาจไม่ค่อยเป็นธรรม ซึ่งตัวอย่างแรกก็เห็นได้ชัดจากกีฬาบาสเกตบอลที่ยุคนั้นสหรัฐฯ ไม่สามารถส่งผู้เล่นอาชีพระดับ NBA ไปแข่งโอลิมปิก และต้องใช้ผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัยแทน ส่วนฝั่งโซเวียตแม้จะไม่มีระบบนักกีฬาอาชีพ แต่นักกีฬาเหล่านั้นก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโซเวียตในระดับเดียวกับนักกีฬาอาชีพ ดังนั้นรูปแบบและความเข้มข้นในการเตรียมตัวจึงต่างกันมาก
อีกประเด็นมาจากชนิดกีฬาที่ตัดสินอันดับกันด้วยการให้คะแนนจากกรรมการ เช่น ยิมนาสติก ซึ่งหลายครั้งกรรมการจากค่ายคอมมิวนิสต์ให้คะแนนนักกีฬาจากฝั่งเดียวกันมากกว่ากรรมการคนอื่น และให้คะแนนนักกีฬาจากชาติตะวันตกน้อยกว่า
2 เหตุการณ์สุดดราม่าใน สงครามโอลิมปิก
นอกจากแข่งขันกันเป็นเจ้าเหรียญทองแล้ว ก็ต้องมีบางครั้งที่สองฝ่ายต้องแข่งขันกันโดยตรง และสร้างเหตุการณ์สุดดราม่าระดับตำนานไว้ในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์แรกคือ นัดชิงเหรียญทองบาสเกตบอล ปี 1972 เป็นเหตุการณ์ใน 3 วินาทีสุดท้ายที่ส่งเหรียญทองในมือสหรัฐฯ ไปสู่สหภาพโซเวียต
ตั้งแต่บาสเกตบอลเข้าสู่โอลิมปิกเมื่อปี 1936 สหรัฐฯ คว้าเหรียญทองได้ทุกครั้ง แม้จะไม่ได้ใช้นักกีฬาระดับ NBA แต่ผู้เล่นที่เรียกติดทีมชาติก็มีฝีมือไม่น้อย เพราะเข้าสู่ NBA ในอีกไม่กี่ปีต่อมา ทางฝั่งโซเวียตก็เจ็บใจมาไม่น้อย หลังเข้ารอบชิงได้ถึง 4 ครั้ง แต่แพ้สหรัฐฯ ทุกครั้ง คราวนี้จึงจัดผู้เล่นชั้นยอดหวังโค่นสหรัฐฯ ให้ได้
และทั้งสองชาติก็เข้ามาเจอกันในรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งในเกมส์นั้นการแข่งขันดุเดือด มีผู้เล่นถูกไล่ออก แต้มขับเคี่ยวกันสูสี จนมาถึง 3 วินาทีสุดท้าย หลังสหรัฐฯ ชู๊ตลูกโทษลง 2 ลูก พลิกกลับมานำ 50-49 แต้ม โค้ชโซเวียตประท้วงว่าได้ขอเวลานอกหลังยิงลูกโทษลูกแรก แต่กรรมการไม่ให้เวลานอก เกมส์หยุดลงเพื่อหาข้อเท็จจริง ก่อนจะตัดสินว่าโซเวียตขอเวลานอกจริง และต้องกลับมาแข่งกันด้วยเวลา 3 วินาทีที่เหลืออยู่
ฝ่ายโซเวียตที่ต้องการอย่างน้อย 1 แต้ม มีโอกาสเซ็ตเกมส์บุกใส่ แต่ก็คว้าโอกาสนั้นไม่ได้ ผู้เล่นสหรัฐฯ ได้เฮกับชัยชนะ แต่แล้วการแข่งขันยังไม่จบ เพราะนาฬิกาในสนามมีปัญหา ทำให้การบุกครั้งนั้นเป็นโมฆะ และได้บุกใหม่ สุดท้ายผู้เล่นโซเวียตก็ทำ 2 แต้ม แซงชนะสหรัฐฯ ได้สำเร็จ
อีกเหตุการณ์เกิดขึ้นในปี 1980 เป็นยุคที่ทีมฮอกกี้น้ำแข็งของโซเวียตครองเมือง ทางฝั่งสหรัฐฯ ไม่เรียกผู้เล่นระดับทีมชาติติดทีม แต่กลับใช้ผู้เล่นระดับมหาวิทยาลัยทั้งหมด ซึ่งโค้ชให้เหตุผลว่าผู้เล่นชุดใหญ่เคยแพ้โซเวียตมาแล้วจะรู้จักแต่ความกลัว ส่วนผู้เล่นเด็กรุ่นใหม่ยังไม่รู้จักความกลัว
และก็เป็นเด็กชุดนี้แหละที่ยิง 2 ประตูในพีเรียดสุดท้าย แซงชนะโซเวียตในกีฬาที่เป็นเลิศที่สุดไปด้วยสกอร์ 4-3 ประตู
ส่องความขัดแย้งชาติคู่แค้นอื่นในโอลิมปิก
เยอรมนีเป็นชาติที่รับผลจากสงครามเย็นโดยตรง ถูกแบ่งเป็นเยอรมันตะวันตกอยู่กับโลกเสรีและเยอรมันตะวันออกอยู่กับโลกคอมมิวนิสต์ ด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองและการปกครองที่ต่างกันชัดเจน ส่งให้ทั้งสองฝ่ายต่างต้องการแสดงจุดยืนต่อทั่วโลก จึงเรียกร้องต่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากลให้รับรองการแบ่งนักกีฬาเยอรมนีออกเป็น 2 ทีม สุดท้ายได้รับการอนุมัติในโอลิมปิกปี 1968
จีน-ไต้หวัน อีกความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทั้งสองฝ่ายต้องการให้ทั่วโลกยอมรับตนเองในฐานะตัวแทน “จีน” เพียงหนึ่งเดียว ปี 1952 ไต้หวันไม่ส่งนักกีฬาเข้าแข่งขัน เพราะไม่พอใจที่คณะกรรมโอลิมปิกให้จีนเข้าร่วมแข่งขัน และโอลิมปิกฤดูหนาวในปี 1954 คราวนี้เป็นฝั่งจีนที่ไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วม เพราะไม่พอใจที่ไต้หวันยังเป็นสมาชิกโอลิมปิก
หลังจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจก็ใช้การกดดันในเวทีระดับโลก ทำให้ไต้หวันที่เคยใช้ชื่อแข่งขันอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐจีน (Republic of China) ต้องยกเลิกการใช้ชื่อนี้เข้าแข่งขัน ซึ่งไต้หวันก็ไม่พอใจและไม่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมโอลิมปิกในปี 1976 และกลับมาอีกครั้งในปี 1984 ในชื่อว่า จีนไทเป (Chinese Taipei) ซึ่งใช้มาจนถึงทุกวันนี้
ความขัดแย้งที่ สงครามโอลิมปิก 2024 กำลังเผชิญ
ท่ามกลางความขัดแย้งทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ทำให้มหกรรมโอลิมปิก 2024 ครั้งนี้มีนัยยะทางการเมืองระหว่างประเทศมากที่สุดในรอบหลายสิบปี
คณะกรรมการโอลิมปิกสั่งนักกีฬารัสเซียและเบลารุสห้ามแข่งขันภายใต้ธงชาติของประเทศตัวเอง แต่ให้ลงแข่งในนามชาติเป็นกลาง และต้องไม่สนับสนุนการทำสงครามในยูเครน
ด้านผู้อำนวยการสำนักงานความมั่นคงไซเบอร์ของฝรั่งเศสเผยว่าการรุกรานยูเครนของรัสเซียทำให้ทางการฝรั่งเศสอ่อนไหวต่อความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการรบกวน การสร้างความเสียหาย และการทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญจากการโจมตีทางไซเบอร์
ฝรั่งเศสปฏิเสธคำขอทำบัตรสื่อของชาวรัสเซียจำนวนมากสำหรับกีฬาโอลิมปิก ด้วยความกังวลว่าอาจมีความพยายามรวบรวมข่าวกรอง หรือก่อเหตุโจมตีทางไซเบอร์
ส่วนนักกีฬาอิสราเอลต้องเผชิญการประท้วงจากผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ แถมยังมีการเรียกร้องให้ตัดอิสราเอลออกจากการแข่งขัน เนื่องจากละเมิด Olympic Truce ที่เป็นประเพณีที่ขอให้ประเทศต่างๆ หยุดสู้รบก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 7 วัน และหลังจากพาราลิมปิก 7 วัน โดยกล่าวหาว่าอิสราเอลยังโจมตีฉนวนกาซ่าต่อ ซึ่งประธานคณะกรรมการโอลิมปิกยังไม่ส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะคว่ำบาตรอิสราเอล
ด้านคณะกรรมการโอลิมปิกของรัสเซียถูกแบนอย่างไม่มีกำหนดตั้งแต่ปี 2022 ส่วนคณะกรรมการโอลิมปิกของปาเลสไตน์ได้รับการยอมรับ มีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกับคณะกรรมการโอลิมปิกชาติอื่น
พี่ทุยหวังว่าบทเรียนจากความขัดแย้งในอดีตจะช่วยให้ความขัดแย้งที่ยังมีอยู่ในปัจจุบันคลี่คลาย และแอบหวังว่าจะมีสักวันหนึ่งที่ความขัดแย้งน้อยมากจนไม่จำเป็นต้องแยกเรื่องการเมืองออกจากการแข่งขันกีฬาอีกต่อไปแล้ว
อ่านเพิ่ม