ช่วงปลายปีแบบนี้แล้ว เป็นช่วงที่เหล่ามนุษย์เงินเดือนจะเริ่มมองหาเครื่องมือช่วยลดหย่อนภาษี แต่สำหรับวัยเริ่มทำงานอาจยังงงว่ามีการลดหย่อนภาษีอะไรบ้าง เงื่อนไขแต่ละอันเป็นอย่างไร แล้วต้องคำนวณยังไง? บทความนี้พี่ทุยเลยสรุปทุก เทคนิคเลือกลดหย่อนภาษี ที่ควรรู้ ทุกขั้นตอน พร้อมรายละเอียด และการคำนวณ ที่จะช่วยให้วัยเริ่มทำงานรวมถึงมนุษย์เงินเดือนทุกคนได้เอาไปเป็นคู่มือลดหย่อนภาษี
รู้หรือไม่? ทุกคนเสียภาษีน้อยลงได้ด้วยค่าลดหย่อนภาษี
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่าผู้มีรายได้ทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่รู้หรือไม่ว่ากฎหมายได้ให้โอกาสผู้มีรายได้เสียภาษีน้อยลงด้วยค่าลดหย่อนภาษี ซึ่งมีทั้งส่วนที่เป็นสิทธิพื้นฐานและเพิ่มเติมได้ตามความสนใจ ประกอบด้วย
- ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัวและครอบครัว
เป็นสิทธิพื้นฐานที่ทุกคนได้รับ จำนวนเงินภาษีที่ลดหย่อนได้ขึ้นอยู่กับสถานภาพสมรสและครอบครัวของแต่ละคน เช่น ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว 60,000 บาท, ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส (จดทะเบียนและคู่สมรสต่องไม่มีรายได้) 60,000 บาท, ค่าลดหย่อนฝากครรภ์ ไม่เกินครรภ์ละ 60,000 บาท และอื่นๆ อีกมากมาย
- ค่าลดหย่อนภาษีเงินบริจาค
การบริจาคเงินที่อยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมายสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เช่น เงินบริจาคทั่วไปให้วัดหรือมูลนิธิ ลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น, เงินบริจาคเพื่อการศึกษา กีฬา และสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาค แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าลดหย่อนกลุ่มอื่น, เงินบริจาคให้พรรคการเมือง ตามจ่ายจริงสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท
- ค่าลดหย่อนตามการกระตุ้นจากภาครัฐ
ถ้าตอนนี้กู้ยืมสินเชื่อที่พักอาศัยอยู่ สามารถเอาดอกเบี้ยมาลดหย่อนภาษีได้ตามจ่ายจริงไม่เกิน 100,000 บาท และก็มีมาตรการกระตุ้นของรัฐซึ่งต้องคอยติดตามข่าว เช่น มาตรการ Easy E-Recipt ลดหย่อนตามจ่ายจริงสูงสุด 50,000 บาท
- ค่าลดหย่อนภาษีกลุ่มการลงทุน ประกัน และเงินออม
เป็นส่วนที่ต้องซื้อหรือลงทุนผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพิ่มเติมตามที่เกณฑ์กฎหมายกำหนด ซึ่งเหมาะกับวัยเริ่มทำงาน เพราะได้ทั้งลดหย่อนภาษีและวินัยการออมการลงทุน
พี่ทุยขอพาไปรู้จักอันที่น่าสนใจ ใครๆ ก็ซื้อเพิ่มได้ แล้วเดี๋ยวมาลงรายละเอียดกัน เช่น กองทุนรวม RMF, กองทุนรวม SSF, กองทุน Thai ESG, เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ, เบี้ยประกันสุขภาพและเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ, เบี้ยประกันชีวิตและสะสมทรัพย์
เทคนิคเลือกลดหย่อนภาษี กองทุนและประกัน ต่างกันยังไง?
ก็เพราะบทความนี้จัดมาเพื่อวัยเริ่มทำงาน พี่ทุยก็เลยขอพาไปเจาะรายละเอียดเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของกองทุนและประกันลดหย่อนภาษี เพราะไม่ว่าใครก็ซื้อหรือลงทุนได้ ทั้งง่ายและเหมาะกับวัย แถมเริ่มก่อนได้ประโยชน์ก่อน ระยะยาวอาจเกษียณไปใช้ชีวิตตามสไตล์ที่ชอบเร็วยิ่งขึ้น
พี่ทุยขอไปเริ่มกันที่ฝั่งกองทุนลดหย่อนภาษีก่อน
- กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF): ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และรวมกับกองทุนลดหย่อนภาษีอื่นต้องไม่เกิน 500,000 บาท ต้องถือหน่วยลงทุนไม่น้อยกว่า 10 ปี นับจากวันที่ซื้อ และไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
กองทุน SSF มีให้เลือกลงทุนทุกสินทรัพย์ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปถึงสูง ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนผสม หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ สินค้าโภคภัณฑ์และทองคำ
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF): ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท ต้องถือลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อและต้องมีอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ แต่ต้องซื้อทุกปีหรืออย่างน้อยปีเว้นปี
กองทุน RMF มีให้เลือกลงทุนทุกสินทรัพย์ตั้งแต่ความเสี่ยงต่ำไปถึงสูง ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตร ตราสารหนี้ไทย ตราสารหนี้ต่างประเทศ กองทุนผสม หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ สินค้าโภคภัณฑ์และทองคำ เช่นเดียวกับกองทุน SSF
- กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG): ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท ไม่นับรวมกับกองทุนลดหย่อนภาษีอื่น ต้องถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี นับจากวันที่ซื้อ และไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ ไม่ต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี
กองทุน Thai ESG ลงทุนหุ้นและตราสารหนี้ในไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ตามหลัก ESG จึงมีกองทุน Thai ESG ที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ไทย กองทุนผสมตราสารหนี้และหุ้นในไทย และกองทุนหุ้นไทย
แล้วไปต่อกันที่ฝั่งเบี้ยประกันซึ่งมีหลายแบบ ดังนี้
- เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ สูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท และต้องเป็นประกันบำนาญที่มีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- เบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท แต่ต้องมีระยะเวลาคุ้มครอง 10 ปีขึ้นไป
- เบี้ยประกันสุขภาพและเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ ลดหย่อนได้สูงสุด 25,000 บาท เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตและประกันแบบสะสมทรัพย์แล้วลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท
เทคนิคเลือกลดหย่อนภาษี วัย 20+
จะเห็นว่าทั้งกองทุนและประกันลดหย่อนภาษีมีรายละเอียดทั้งประเภทสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน ประเภทของประกัน และเงื่อนไขรายละเอียดที่หลากหลาย ดังนั้นจึงต้องเลือกกองทุนหรือประกันลดหย่อนภาษีให้คุ้มค่าและตรงกับเป้าหมายที่ตัวเองต้องการมากที่สุด ซึ่งพี่ทุยมีขั้นตอนมาฝากกัน ดังนี้
- ประเมินเป้าหมายการลดหย่อนภาษี
ต้องรู้ก่อนว่าเงินก้อนที่จะซื้อกองทุนหรือประกันมีเป้าหมายเพื่ออะไร เช่น แค่ลดหย่อนภาษี ไม่ได้ต้องการให้เงินอยู่ในกองทุนหรือประกันนาน, ต้องการเก็บเงินเพื่อเป้าหมายระยะยาว, เก็บเงินเกษียณ
ต่อมาต้องกำหนดระยะเวลาที่พร้อมถือครองกองทุนหรือประกัน ซึ่งมักสอดคล้องกับส่วนเป้าหมาย ดังนี้
- ระยะสั้น (น้อยกว่า 5 ปี) ต้องไปเน้นที่การลดหย่อนภาษีและความมั่นคงเป็นหลัก อาจมีผลตอบแทนบ้างเล็กน้อย รอครบกำหนดแล้วนำเงินไปใช้ต่อได้ เช่น กองทุน Thai ESG ที่ลงทุนในตราสารหนี้
- ระยะกลาง (5-10 ปี) ถ้ารับความเสี่ยงไม่ค่อยได้ ก็ต้องเน้นไปที่กองทุน Thai ESG, SSF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ หรืออาจหันไปซื้อประกันสะสมทรัพย์ แต่ถ้ารับความเสี่ยงได้ กองทุน SSF ตอบโจทย์นี้
- ระยะยาว (10 ปีขี้นไป) เป้าหมายหลักอาจเน้นไปที่การเกษียณ มีผลิตภัณฑ์ในหลายความเสี่ยงให้เลือกมากมาย ทั้งกองทุน RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญ
- พิจารณาความเสี่ยงที่รับได้
ทีนี้ไปดูต่อกับความเสี่ยงที่รับได้ จุดนี้ค่อนข้างสำคัญเลย เพราะถ้าเลือกประเภทกองทุนหรือประกันที่มีความเสี่ยงเกินกว่าความเสี่ยงที่รับได้ การลดหย่อนภาษีจะสร้างความกังวลแทนที่จะเป็นจุดเริ่มต้นการออมการลงทุนที่ดี
- ความพร้อมในการลงทุนต่อเนื่อง
กองทุนหรือประกันลดหย่อนภาษีบางประเภท เช่น กองทุน RMF และประกันชีวิตแบบบำนาญ มีข้อกำหนดให้ต้องซื้อต่อเนื่องในระยะยาว ยิ่งถ้าเราเพิ่งอายุ 20 กว่า เงินที่ลงใน RMF เราจะยังไม่สามารถดึงมาใช้ได้ไปอีก 30 ปี จึงต้องประเมินก่อนว่ามีความพร้อมซื้อได้ต่อเนื่อง ไม่กระทบสภาพคล่อง
เมื่อได้ทั้งเป้าหมายการลดหย่อนภาษี ความเสี่ยงที่รับได้ และความพร้อมในการลงทุนต่อเนื่องแล้ว คนเพิ่งเริ่มทำงานวัยเพิ่ง 20+ ก็ถึงเวลามาเลือกประเภทผลิตภัณฑ์ เช่น มีเป้าหมายแค่ลดหย่อนภาษี มีเป้าหมายระยะกลาง 5-10 ปี และเพิ่งจบใหม่จึงยังไม่อยากลงทุนต่อเนื่อง แบบนี้ตัดตัวเลือกเหลือแค่กองทุน Thai ESG หรือกองทุน SSF ที่ลงทุนตราสารหนี้ หรือประกันสะสมทรัพย์
แล้วจะต้องซื้อเพิ่มเท่าไหร่ คำนวณยังไง?
เมื่อเลือกได้แล้วว่าจะลดหย่อนภาษีด้วยผลิตภัณฑ์อะไร ก็ต้องไปหาว่าต้องซื้อเท่าไหร่ ซึ่งก็เริ่มจากเงินได้ต่อปี
- ขั้นที่ 1: คำนวณเงินได้สุทธิ
ภาษีจะคิดจากเงินได้สุทธิ ซึ่งเงินได้สุทธิจะคิดจากรายได้ทั้งปีแล้วหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว คิดจาก
เงินได้สุทธิ = รายได้ทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน
- ขั้นที่ 2: คำนวณภาษีที่ต้องจ่าย
นำเงินได้สุทธิมาเทียบอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได โดยใช้สูตร
ภาษีที่ต้องจ่ายทั้งหมด = [(เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิสูงสุดของขั้นก่อนหน้า) x อัตราภาษี] + ภาษีสะสมสูงสุดรวมทั้งหมดของขั้นก่อนหน้า
- ขั้นที่ 3: คำนวณเงินที่ควรซื้อกองทุนหรือประกันลดหย่อนภาษี
การซื้อกองทุนหรือประกันลดหย่อนภาษีสูงสุดต้องไม่เกินเงื่อนไขทางกฎหมายที่กำหนดไว้ และไม่ควรเกิน: เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิขั้นบันไดที่ได้รับการยกเว้น
ตัวอย่างการคำนวณ
กรณีที่ 1 มีเงินได้ทั้งปี 400,000 บาท มีเงินได้สุทธิ = 400,000 – 100,000 – 60,000 – 9,000 = 231,000 บาท ถ้าซื้อกองทุน SSF 30% ของรายได้ จะใช้เงิน 120,000 บาท แต่จะมากเกินไปหรือไม่?
ต้องคำนวณด้วย เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิขั้นบันไดที่ได้รับการยกเว้น = 231,000 – 150,000 = 81,000 บาท หมายความว่าใช้เงินซื้อกองทุน SSF เพียง 81,000 บาท ก็พอ
เงินได้สุทธิที่เอาไปคิดภาษีหลังซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี = 400,000 – 100,000 – 60,000 – 9,000 – 81,000 = 150,000 บาท
กรณีที่ 2 มีเงินได้ทั้งปี 1,000,000 บาท มีเงินได้สุทธิ = 1,000,000 – 100,000 – 60,000 – 9,000 = 831,000 บาท ถ้าซื้อกองทุน SSF 30% ของรายได้ จะใช้เงิน 300,000 บาท แต่จะเกินวงเงินสูงสุดที่ 200,000 บาท ทีนี้ก็ซื้อกองทุน Thai ESG เพิ่มเติมได้อีก แล้วจะต้องซื้อเท่าไหร่?
ก็คำนวณด้วย เงินได้สุทธิ – เงินได้สุทธิขั้นบันไดที่ได้รับการยกเว้น = 831,000 – 150,000 = 681,000 บาท ซึ่งซื้อกองทุน SSF ไปแล้ว 200,000 บาท เหลือให้ซื้อกองทุนอื่นอีก 481,000 บาท ก็เลยเลือกกองทุน Thai ESG ซื้อเต็มวงเงินสูงสุดที่ไม่เกิน 300,000 บาท เหลือวงเงินอีก 181,000 บาท ก็สามารถเอาส่วนนี้ไปซื้อกองทุน RMF หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ
เงินได้สุทธิที่เอาไปคิดภาษีหลังซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี = 1,000,000 – 100,000 – 60,000 – 9,000 – 681,000 = 150,000 บาท
จะเห็นว่าบางกรณีก็ใช้เงินจำนวนมาก พี่ทุยเลยอยากบอกว่าไม่จำเป็นต้องซื้อกองทุนหรือประกันลดหย่อนภาษีเต็มจำนวนก็ได้ เพราะอาจกระทบสภาพคล่องทั้งในปัจจุบันและอนาคต ทีนี้จะกลายเป็นว่าได้ประหยัดภาษีนะ แต่ใช้ชีวิตลำบากมาก
อาจใช้วิธีซื้อแค่ให้ลดฐานภาษี เช่น จากที่ต้องเสียภาษีที่ขั้นบันได 10% ก็ซื้อกองทุนหรือประกันลดหย่อนให้ลดมาที่ขั้นภาษี 5% ไม่จำเป็นต้องซื้อจนถึงขั้นที่ได้รับยกเว้นภาษี
พี่ทุยหวังว่าบทความนี้จะช่วยให้วัยรุ่นวัยเริ่มต้นทำงาน รู้เครื่องมือลดหย่อนภาษี รู้ว่าต้องใช้เงินซื้อกองทุนหรือประกันลดหย่อนภาษีเท่าไหร่ และพี่ทุยขอให้การลดหย่อนภาษีนี้เป็นจุดเริ่มต้นการออมการลงทุนที่ประสบความสำเร็จในอนาคต
อ่านเพิ่ม