รถหลุดจำนำคืออะไร ซื้อมาขับจะปลอดภัยมั้ย ?

“รถหลุดจำนำ” คืออะไร ซื้อมาขับจะปลอดภัยมั้ย ?

4 min read  

ฉบับย่อ

  • รถหลุดจำนำที่ถูกนำมาขายในราคาถูก ส่วนมากจะติดไฟแนนซ์ที่ยังผ่อนไม่หมด กรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถก็ยังเป็นของไฟแนนซ์อยู่
  • การโอนลอยไม่ถือเป็นการโอนย้ายเจ้าของอย่างสมบูรณ์ ต้องไปทำเรื่องอย่างเป็นทางการที่กรมการขนส่งอีกทีในภายหลัง
  • รถที่ไม่ได้รับการโอน เจ้าของหรือผู้ครอบครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะต่อ พ.ร.บ. หรือทำประกันไม่ได้
  • ถ้าโดนไฟแนนซ์ตามเจอก็จะโดนยึดรถและถ้ามีการฟ้องร้องอาจจะโดนข้อหารับของโจรไปอีกกระทงหนึ่งด้วย

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

เมื่อวันก่อนพี่ทุยได้มีโอกาสไปเจอรถยนต์ในราคาถูกมากๆ อย่าง Honda Civic ไม่เก่ามาก ขาย 150,000 บาท หรือ Nissan Teana ในราคาไม่ถึง 3 แสนบาท รถยนต์สภาพดีๆราคาล่อตาล่อใจขนาดนี้ กับเงื่อนไขนิดหน่อย มันก็น่าซื้อมาใช้ใช่มั้ยล่ะ

แต่เงื่อนไขนิดหน่อยตรงนั้นก็คือ “เป็นรถหลุดจำนำมา” “ไม่มีเล่มรถให้นะ” “แต่ปลอดภัยแน่นอนไอน้อง สภาพดีขับกันยาวๆ” ว่าแต่ไอ “รถหลุดจำนำ” ที่ยังติดไฟแนนซ์อยู่ มันคืออะไร ถ้าซื้อมาขับจะปลอดภัยจริงๆหรอ

ของทุกอย่างมีมูลค่าในตัว อะไรที่ลดราคามักมีเหตุผลเสมอ

ไม่มีอะไรในโลกที่เป็นของฟรี ของลดราคาก็เช่นกัน ถ้ามองในมุมของการตลาดทั่วไปแล้ว ถ้าของดีแต่ราคาถูก ทุกคนก็จะแย่งกันซื้อ แข่งกันเสนอราคาที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้ของชิ้นนั้นมา ถือเป็นกลไกตลาดที่จะทำให้ของแต่ละชิ้นมีราคาสมกับมูลค่าของมันเสมอ ในกรณีนี้ก็เช่นกัน เมื่อเจอของที่ราคาถูกผิดปกติ การตั้งข้อสงสัยไว้ก่อนถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเลยล่ะ

ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องรถหลุดจำนำ พี่ทุยอยากให้ทุกคนเข้าใจถึงสถานภาพของการเป็นเจ้าของรถยนต์ และ ผู้ครอบครองรถยนต์ซะก่อน ว่าจริงๆแล้วมันไม่เหมือนกันนะ และสัญญาต่างๆในการซื้อขาย การโอนลอยต่างๆ ไม่ยากอย่างที่คิดหรอก ไปดูกันเลย​ !

ถ้าเราไม่ได้ซื้อรถด้วยเงินสด การผ่อนรถกับบริษัทไฟแนนซ์ทางกฎหมายจะนับเป็นการเช่าซื้อ จนกว่าจะผ่อนกับทางไฟแนนซ์หมด กรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถจะถือว่าเป็นของบริษัทไฟแนนซ์ โดยผู้เช่าซื้อจะเป็นผู้ครอบครองเฉยๆ นั่นเท่ากับว่า เราไม่สามารถเอารถไปขายต่อใครได้จนกว่าจะผ่อนหมดนั่นเอง

ส่วนเรื่องการโอนลอย หมายถึง การที่เจ้าของรถขายรถไปให้ผู้อื่น แต่การลงนามในเอกสารการโอนรถ ไม่ได้ทำที่สำนักงานขนส่ง ผู้ที่ทำการซื้อขาย จะต้องไปทำเอกสารให้สมบูรณ์ที่กรมขนส่งในภายหลัง ซึ่งวิธีนี้จะเป็นการทำเอกสารที่สะดวก ใช้ในการซื้อขายแบบทันทีได้ โดยไม่ต้องใช้หลักฐานอะไรเลย แต่ถ้าเกิดรถมีปัญหาทางกฎหมายขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น เอกสารขาด ถูกปลอมแปลง รถติดคดีความ ทางขนส่งก็จะไม่รับฟังเลยแหละ

ทีนี้ในกรณีของรถหลุดจำนำ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการที่ผู้เช่าซื้อรถกับทางไฟแนนซ์มีปัญหาทางการเงินไม่สามารถผ่อนต่อได้ จึงได้นำรถที่ยังผ่อนไม่หมดนี้ไปจำนำกับผู้รับจำนำ โดยทำสัญญาเพียงแค่การโอนลอยเท่านั้น ผู้รับจำนำส่วนมากก็จะได้รับรถมาในราคาที่ถูกกว่าความเป็นจริง เนื่องจากรถที่นำมาจำนำมีแค่สิทธิ์การครอบครอง สิทธิ์ของการเป็นเจ้าของรถยังเป็นของไฟแนนซ์อยู่

เมื่อรถที่ติดไฟแนนซ์คันนี้อยู่ในสถานะที่จำนำไว้อยู่ คนที่มาฝากจำนำไว้ก็จะต้องผ่อนไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเจ้าของเก่าไม่มาผ่อนต่อแล้ว ทางผู้รับจำนำก็จะยึดรถที่นำมาจำนำ และเอารถคันนี้ไปขายต่อในราคาถูกกว่าท้องตลาด เหมือนอย่างที่พี่ทุยไปเจอมาไงล่ะ แน่นอนว่า เล่มรถหรือเอกสารความเป็นเจ้าของรถนั้นไม่มี ถ้าพี่ทุยซื้อรถหลุดจำนำมา พี่ทุยก็จะได้มาแค่รถเท่านั้น

แล้วถ้าเป็นเรื่องการต่อ พ.ร.บ.หรือการทำประกันต่างๆ ก็คงจะเป็นไปไม่ได้อย่างแน่นอน เพราะเรามีแค่รถและกุญแจที่เป็นของเราเท่านั้น ทั้งกรรมสิทธิ์การเป็นเจ้าของรถและชื่อผู้ครอบครองก็ไม่ใช่ชื่อเราเลย

“รถหลุดจำนำ” ที่เห็นว่าราคาถูกนั้น ไม่ว่ารถจะอยู่กับใคร เจ้าของรถก็คือไฟแนนซ์อยู่ดี

ถ้าในตามกฎหมายแล้ว เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันนี้จะถือเป็นของไฟแนนซ์อยู่เช่นเดิม ผู้ครอบครองรถก็คือเป็นเจ้าของเก่าคนที่เป็นคนลงชื่อผ่อนไว้ ซึ่งตอนนี้ก็เอาเงินที่ได้จากการจำนำรถ หนีหายไปไหนแล้วก็ไม่รู้ ทางผู้รับจำนำก็คงไม่ได้สนใจหรอกเพราะได้รถมาในราคาถูก

ตอนแรกก็ฟังดูเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรใช่มั้ยล่ะ รถที่ได้มา ทั้งสภาพดีและราคาถูก แต่จริงๆ แล้วรถที่ได้มาด้วยวิธีการแบบนี้มันผิดกฎหมายเต็มๆเลยนะ เนื่องจากเจ้าของเก่าเขายังผ่อนไม่หมด ไฟแนนซ์ที่เป็นผู้ครอบครองมีสิทธิ์ที่จะยึดรถคืนได้ทันที เนื่องจากการผิดสัญญาการจ่ายหนี้

รถที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ขับไปไหนมาไหนก็ต้องคอยกังวลว่าจะมีใครตามเจอมั้ย ถ้าเกิดอุบัติเหตุสักครั้งละก็เรื่องคงถึงไฟแนนซ์ หรือก่อนจะถึงหูไฟแนนซ์ ตำรวจอาจจะมาขอดูเอกสารเรา ถ้าพบว่ามันไม่ถูกต้องก็คงจะต้องมีเรื่องกันยาว

ซึ่งความผิดในตามกฎหมายเนี่ย สิ่งที่เราจะต้องโดนแน่ๆ คือ รับของโจร เนื่องจากว่าผู้ครอบครองรถผิดนัดชำระหนี้ แถมรถที่จะต้องใช้คืนไฟแนนซ์ก็ไม่อยู่ซะแล้ว พูดง่ายๆก็เหมือนผ่อนของยังไม่ทันหมด แต่ก็เอาไปขายต่อซะอย่างงั้น อย่างงี้มันโจรชัดๆ ซึ่งถ้าพี่ทุยไปซื้อรถพวกนี้มาก็ไม่ต่างกับการรับของโจรเลย

ถ้าใครสนใจจะซื้อมาขับ ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงในด้านนี้กันไป แต่พี่ทุยก็ไม่แนะนำให้ซื้อรถที่ผิดกฎหมายมาขับกันเท่าไหร่ ถ้ามองในมุมการเงิน ทรัพย์สินแบบนี้มีความเสี่ยงสูงมาก และถ้าในด้านของจิตใจก็ไม่คุ้มเช่นกัน ขับไปไหนมาไหนต้องคอยระวังทั้งตำรวจและไฟแนนซ์มาตามเจอ

ซื้อรถทั้งที เราควรจะวางแผนทางการเงินดีๆ เก็บเงินซื้อให้ถูกต้องตามกฎหมายจะดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสองต่างก็มีข้อดีคนละแบบ ก่อนซื้อศึกษาให้ดี ดูเอกสารให้เรียบร้อย เงินตั้งหลายแสนหลายล้าน ซื้อมาแล้วทำให้สบายใจ ยังไงก็ดีกว่าเยอะ

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย