จากเด็กเกเรที่โดนไล่ออกสู่ผู้ก่อตั้ง “Under Armour”

3 min read  

ฉบับย่อ

  • แบรนด์ Under Armour เกิดขึ้นมาจากเด็กมหาวิทยาลัยที่เกเรคนหนึ่งมีปัญหาจากการสวมใส่เสื้อกีฬา จึงเกิดแรงบันดาลใจให้ผลิตเสื้อกีฬาเอง เพื่อให้เป็นเสื้อกีฬาที่ดีที่สุดในโลก
  • การต่อสู้แบบ Underdog คือวิถีของแบรนด์รองอย่าง Under Armour ในธุรกิจเสื้อผ้ากีฬา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นวิธีที่ประสบความสำเร็จกับการก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ในตลาด Sportwear ประเทศสหรัฐอเมริกาในปี 2016
  • กลยุทธ์การตลาดที่เฉียบขาดของทีมการตลาด คือ การดึงตัว สตีเว่น เคอรี่ นักบาสเกตบอลพรีเซนเตอร์ของคู่แข่งอย่างไนกี้ เข้ามาเป็นพรีเซนเตอร์ของตัวเอง

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile

ถ้าพูดถึงแบรนด์กีฬายอดนิยมที่ทุกคนทั่วโลกรู้จักคงหนีไม่พ้น Nike และ Adidas สองแบรนด์ยักใหญ่แน่นอน แต่อีกแบรนด์กีฬาเท่ๆที่มาแรงไม่แพ้กันในช่วงนี้ นั่นก็คือ “Under Armour”

หลายคนอาจจะเข้าใจว่านี่คือแบรนด์กีฬาที่เพิ่งเกิดใหม่ แต่นั่นคือความเข้าใจที่ผิด เพราะ Under Armour มีอายุเท่ากับวัยรุ่น 1 คน นั่นคือ 22 ปีถ้วน เมื่อหักลบกับอายุ 46 ปีของ เควิน พลังค์ ผู้ก่อตั้งและ CEO คนปัจจุบันเข้าไป จะเห็นได้ว่าแบรนด์นี้ถูกก่อตั้งด้วยวัยรุ่นอายุ 24 ปีเท่านั้นเอง แถมเด็กหนุ่มในวันนั้นไม่ได้ก่อตั้งจากเงินทุนสนับสนุนจากทางบ้าน เพราะชีวิตของ เควิน พลังค์ ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ชีวิตนั้นยากลำบากมาก ชีวิตของ เควิน พลังค์ เป็นอย่างไร พี่ทุยจะมาเล่าให้ฟังกัน

จากเด็กเกเรที่โดนไล่ออกสู่ผู้ก่อตั้ง “Under Armour”

ในครอบครัวของ เควิน พลังค์ มีพี่น้องทั้งหมด 5 คน โดยเขาเองเป็นน้องเล็กคนสุดท้อง เขามีชีวิตที่ลำบากเพราะพ่อเสียชีวิตกะทันหันตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดต้องตกอยู่กับผู้เป็นแม่ จึงทำให้หนุ่มน้อยเควิน ต้องทำงานแบ่งเบาภาระครอบครัว รวมถึงเพื่อเป็นทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยด้วย เขาเคยถูกไล่ออกช่วง ม.ปลาย เนื่องจากผลการเรียนที่ย่ำแย่และปัญหาความประพฤติ แต่ก็ยังประคับประคองเรียนจนจบชั้น ม.ปลายในอีกโรงเรียนหนึ่ง ในระหว่างนั้นเควิน เป็นหนุ่มนักกีฬาที่เล่นอเมริกันฟุตบอล โดยได้เล่นในทีมของมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ที่ซึ่งต่อมา แมรีแลนด์นี่เองได้ให้สิ่งที่สำคัญแก่เควิน นั่นคือ เขาได้ไอเดียในการสร้างธุรกิจ Under Armour และจบการศึกษาปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจในปี 1996

พยายามจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองจนกลายเป็นผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่

ไอเดียในการสร้าง Under Armour มาจากปัญหาในการระบายความชื้นของเสื้อผ้าคอตต้อนที่เขาใส่เล่นกีฬาที่ให้ความรู้สึกไม่สบายในการสวมใส่เวลาเหงื่อออก โดยสังเกตว่าตัวเขานั้นเป็นชายที่เสื้อชุ่มเหงื่อมากที่สุดในสนาม เควินไม่ละเลยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อจบการศึกษาในปี 1996 เขาจึงเริ่มค้นหาวัตถุดิบทำเสื้อผ้าที่สามารถระบายเหงื่อออกจากร่างกายได้ดีและแห้งเร็วกว่าเสื้อผ้ากีฬาจากแบรนด์ดังที่มีราคาแพงแต่คุณภาพต่ำ ด้วยความมุ่งมั่นว่าเขาจะผลิตเสื้อกีฬาที่ดีที่สุดในโลก

ปี 1996 เริ่มต้นธุรกิจในชั้นใต้ดินบ้านคุณยาย ด้วยเงินลงทุนทั้งหมด 17,000 เหรียญ ที่ได้มาจากการทำงานรับส่งดอกกุหลาบในวันวาเลนไทน์สมัยเรียนอยู่มหาวิทยาลัย

หลังจากลองผิดลองถูกอยู่นาน เขาก็ได้วัตถุดิบผลิตเสื้อผ้าที่ตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการ หลังจากผลิตก็ได้นำไปให้นักกีฬาในมหาวิทยาลัยทดลองใช้ โดยตระเวนขับรถไปแจกจ่ายหลายต่อหลายที่ ผลตอบรับที่ได้เกินคาด เพราะทุกคนที่ใส่ล้วนชอบใจในเสื้อ ทำให้มียอดสั่งซื้อเข้ามาถล่มทลาย

ปี 1999 Under Armour ได้ทำการซื้อโฆษณา ESPN แม็คกาซีน เพื่อโปรโมตแบรนด์ ผลตอบรับที่ได้ คือ แบรนด์เป็นที่รู้จักในวงกว้างนำมาสู่ยอดขายกว่า 1 ล้านเหรียญในปีถัดมา และหลังจากนั้นยอดขายของบริษัทก็เติบโตมากขึ้นๆทุกปี จนทำให้เมื่อปี 2005 บริษัท Under Armour ได้ ทำการ IPO (การเสนอขายหุ้นครั้งแรกต่อสาธารณะ) ในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ด้วยตัวย่อ UAA

เดินหน้าคว้าตัวพรีเซนเตอร์ที่มีชื่อเสียงเข้ามาประดับแบรนด์

แบรนด์ Under Armour ทรงพลังขึ้นเมื่อสามารถเซ็นสัญญาคว้าตัว สตีเฟ่น เคอรี่ ยอดมือยิง 3 แต้มจากลีกเอ็นบีเอ เข้ามาเป็นพรีเซ็นเตอร์ให้กับแบรนด์โดยแย่งมาจากไนกี้ ในปี 2016 มีการประเมินมูลค่าของสตีเฟ่น เคอรี่ที่ส่งผลต่อธุรกิจของ Under Armour พบว่ามีตัวเลขสูงถึง 1.4 หมื่นล้านเหรียญ รวมถึงยังมีโปรเจกต์ ร็อค อันเดอร์ อาร์เมอร์ ที่ได้ตัวเดอะร็อค (ดเวย์น จอห์นสัน) มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ด้วย

ผลประกอบการของ “Under Armour” 4 ปีย้อนหลัง มีดังนี้
ปี 2015  รายได้ 3,963 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กำไรสุทธิ 232.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ      
ปี 2016  รายได้ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กำไรสุทธิ 197.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปี 2017  รายได้ 4,976 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กำไรสุทธิ -48.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปี 2018  รายได้ 5,190 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กำไรสุทธิ -50.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

เควิน พลังค์ได้แสดงให้เห็นว่าความยากลำบากในวัยเด็กไม่ได้เป็นสิ่งวัดว่าอนาคตจะลำบาก พี่ทุยมองว่าเขาเป็นคนที่หัวดื้อและเอาจริงเอาจังในการจัดการปัญหา อาจจะผิดพลาดไปบ้างในวัยเด็กที่ถูกไล่ออกในช่วง ม.ปลาย จากปัญหาพฤติกรรม แต่ความจริงจังในการแก้ปัญหานี้ก็มาเกิดเป็นผลสำเร็จในตอนท้าย เพียงแค่ใช้มันให้ถูกที่ถูกเวลา พบปัญหาที่เผชิญกับตัวเองและมุ่งมั่นว่าอยากจัดการปัญหานี้ให้ออกมาเป็นเสื้อที่ดีที่สุดในโลก เมื่อทุกอย่างลงตัวประกอบกับผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ต่อปัญหาที่ตั้งไว้ ผลลัพธ์ที่ได้จึงออกมาสู่สายตาชาวโลกจนทำให้ Under Armour ขึ้นแท่น TOP5 แบรนด์ Sportwear ชั้นนำของโลกในปัจจุบัน

รูปบน ของ desktop
รูปล่าง ของ mobile
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย
FBS Trader เทรดได้อย่างปลอดภัย